ภาวะเเท้งคุกคาม เกิดจากอะไร สังเกตได้อย่างไร พร้อมวิธีป้องกัน

ภาวะเเท้งคุกคาม เกิดจากอะไร สังเกตได้อย่างไร พร้อมวิธีป้องกัน

18.04.2024

แท้งคุกคามเป็นเรื่องน่ากลัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งท้องของคุณแม่ จะมีเลือดออกเล็กน้อยทางอวัยวะเพศโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ ต้องมีการวินิจฉัยจากคุณหมอ ถ้ามีอาการนี้เพื่อตรวจสอบว่าหัวใจของลูกรักที่ยังไม่เกิดมานั้นยังเต้นอยู่หรือเปล่า กรณีที่มีภาวะนี้คุณหมอจะแนะนำให้หยุดทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง อยากให้คุณแม่พักผ่อนอย่างเต็มที่ และดูอาการภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ ถ้าคุณแม่ท้องเรียนรู้ภาวะคุกคามนี้ จะทำให้สังเกตตัวเองได้เร็ว อาการของคุณแม่จะได้ผ่อนหนักกลายเป็นเบา และอาจเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดีในความดูแลของคุณหมอได้

headphones

PLAYING: ภาวะเเท้งคุกคาม เกิดจากอะไร สังเกตได้อย่างไร พร้อมวิธีป้องกัน

อ่าน 7 นาที


สรุป

  • ภาวะแท้งคุกคามเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรก หรือในช่วงสามเดือนแรกของอายุครรภ์คุณแม่ คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการเลือดออกทางอวัยวะเพศ และปวดท้อง
  • หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีเพื่อจะช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจหาความผิดปกติหรือสาเหตุ และให้คำแนะนำในการระวังการดูแลสุขภาพ
  • คุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อน ไม่ใช่เพราะการแท้งมาก่อนทำให้เกิดการแท้งซ้ำ แต่เป็นเพราะการแท้งก่อนหน้าหรือการแท้งครั้งแรกมีสาเหตุที่ยังไม่ได้ถูกระบุ คุณแม่สามารถขอเข้ารับการตรวจจากคุณหมอได้เพื่อหาสาเหตุนั้น หรืออาจไปหาคุณหมอเพื่อตรวจประเมินแต่เนิ่น ๆ หากมีประวัติแท้งลูกจะได้วางแผนการตั้งครรภ์
  • หากมีภาวะแท้งคุกคามควรจะอยู่เฉย ๆ ให้มาก ใช้แรงให้น้อย โดยคอยดูแลรักษาสุขภาพสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกายตามคำแนะนำของคุณหมอ จะทำให้ครรภ์แข็งแรง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

แท้งคุกคาม เกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่แท้จริงของภาวะแท้งคุกคามยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยง ได้แก่

  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการตั้งท้อง
  • การบาดเจ็บที่ช่องท้อง ได้รับแรงกระแทก
  • คุณแม่มีอายุมาก (อายุเกิน 35 ปี)
  • การใช้หรือสัมผัสยาหรือสารเคมีบางชนิด
  • โรคที่ยังไม่ได้รับการจัดการหรือดูแลอย่างเหมาะสม เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ เป็นปัญหาสุขภาพในตัวแม่ที่เพิ่มความเสี่ยง

 

นอกจากนี้ถ้าคุณแม่รับประทานยาหรืออาหารเสริมบางอย่างอยู่เป็นประจำก่อนตั้งท้อง เมื่อพบคุณหมอควรแจ้งไปตามจริงเพื่อให้คุณหมอดูแลแนะนำต่อ จะได้ปลอดภัยระหว่างตั้งท้อง หลีกเลี่ยงภาวะแท้งคุกคามนี้

 

อาการของภาวะเเท้งคุกคาม

อาการตั้งครรภ์มีเลือดออก  ตั้งแต่เริ่มต้นของการตั้งท้องเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในคุณแม่ที่เผชิญกับภาวะแท้งคุกคาม คุณแม่จะสังเกตเห็นเลือดที่มีสีชมพูอ่อนปนอยู่บนกระดาษชำระหลังจากที่คุณแม่เช็ดทำความสะอาด หรือเลือดออกเยอะและมีลิ่มเลือดเพิ่มขึ้นมา บางคนอาจมีอาการปวดเหมือนประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างไปพร้อมกันด้วย คุณแม่หลายคนที่ประสบภาวะเสี่ยงนี้มาก่อนสังเกตเห็นว่ามีตกขาวเพิ่มขึ้นด้วย

 

ทำไมต้องเฝ้าระวังภาวะแท้งคุกคาม ในช่วง 3 เดือนแรก

ช่วงไตรมาสแรกคือช่วงระยะสามเดือนแรก ความเป็นไปได้ที่แท้งคุกคามจะกลายเป็นแท้งจริงคือ 50:50 หากเลือดหยุดไหล คุณแม่ตั้งท้องจะยังสามารถอุ้มท้องต่อไปได้ แต่ในทางกลับกันหากเลือดยังไหลอยู่ต่อเนื่อง เรื่อย ๆ บ่อย ๆ และปวดท้องส่วนล่าง ก็มีโอกาสแท้งได้ ดังนั้นยิ่งจดจำและสังเกตได้เร็วแต่เนิ่น ๆ รีบปรึกษากับคุณหมอเมื่อมีข้อสงสัย ก็มีโอกาสจะได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างทันท่วงที

 

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแท้งคุกคาม

ช่วงเวลาตั้งท้อง เป็นช่วงแห่งความสุขและความหวัง แต่การอุ้มท้องอาจไม่ได้ราบรื่นเสมอไป สิ่งสำคัญคือคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงควรทำความเข้าใจปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง จะได้พูดคุยกับคุณหมอสำหรับแนวทางดูแลสุขภาพ

1. คุณแม่ที่ถุงตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์

ถุงตั้งครรภ์เป็นโครงสร้างที่เต็มไปด้วยของเหลวซึ่งล้อมรอบตัวอ่อน ที่กำลังพัฒนาในระยะแรกของการตั้งท้อง ในคุณแม่บางท่าน ขนาดของถุงตั้งครรภ์ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาที่คาดว่าตั้งท้อง เป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้จากการอัลตราซาวด์ บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแท้งบุตร และมีแนวโน้มจะแสดงอาการของภาวะแท้งคุกคามออกมาก่อนเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะต้องนัดติดตามเพื่อตรวจอาการ ในการตรวจอัลตราซาวด์เพียงหนเดียวไม่ได้ยืนยันได้ว่าจะเกิดการแท้งขึ้น

 

2. คุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อน

ประมาณ 1 ใน 100 ของคุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อน พบว่ามีการแท้งบุตรซ้ำ ไม่ใช่เพราะว่าการแท้งหรอก จะเห็นว่าคุณแม่กลับตัวเลขสถิติแล้ว อีก 99 ใน 100 คนสามารถตั้งท้องได้ด้วยสุขภาพดี นั่นแสดงว่าสาเหตุของการแท้งครั้งแรกเป็นเหตุให้เกิดการแท้งอีกครั้ง และอาจเป็นสาเหตุในการแท้งครั้งต่อ ๆ ไปด้วย ซึ่งสาเหตุก็อาจเนื่องมาจาก ปัญหาการแข็งตัวของเลือด ปัญหาฮอร์โมน ความผิดปกติของภูมิต้านทาน น้ำตาลในเลือดสูง หรือกลุ่มอาการรังไข่หลายใบ (PCOS) หากคุณแม่ประสบการแท้งบุตรมาก่อน อาจจะปรึกษากับคุณหมอเพื่อทำการทดสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่เป็นไปได้ เพื่อจะวางแผนตั้งท้องอย่างปลอดภัย

 

3. คุณแม่ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

สามารถเจอกับการสูญเสียจากภาวะแท้งคุกคามในระยะแรกได้ มีงานวิจัยทางคลินิก พบว่าอัตราสูญเสียในระยะแรกคิดเป็น 9-17 เปอร์เซ็นต์ ในผู้หญิงอายุ 20-30 ปี และเพิ่มเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้หญิงอายุ 35 ปีกับ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 40 ปี และเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 45 ปี ดังนั้นถ้าคุณแม่มีอายุมาก ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งท้องไม่ควรผิดนัดคุณหมอ และควรใส่ใจสุขภาพอย่างมาก

 

เคล็ดลับดูแลครรภ์ให้แข็งแรง ป้องกันแท้งคุกคาม

 

สิ่งที่คุณแม่ต้องทำ เมื่อสังเกตว่ามีความผิดปกติ

การรับรู้ว่ามีอาการที่น่าสงสัยในระหว่างตั้งท้อง อาจเป็นสาเหตุให้คุณแม่วิตกกังวลอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ความรู้และความเข้าใจถึงสิ่งที่ควรทำก็จะช่วยลดความตึงเครียดลง และเพิ่มโอกาสสร้างความปลอดภัยให้แก่สุขภาพเพื่อลูกน้อยที่จะเกิด ต่อไปนี้เป็นการดำเนินการที่จำเป็นเมื่อเผชิญกับอาการที่น่าสงสัย

  • รีบไปปรึกษาแพทย์ทันที ถ้าคุณแม่สังเกตเห็นอาการใด ๆ ก็ตามที่น่าสงสัยว่าเป็นภาวะแท้งคุกคาม เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือปวดท้องมาก อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ทันที เวลาเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อการตั้งท้อง คุณหมอจะได้รีบทดสอบและประเมินภาวะสุขภาพของคุณแม่ ระบุสถานะของการตั้งท้อง และแนะนำวิธีการดูแลร่างกายหรือรักษาที่เหมาะสม
  • งดการเดินทาง สิ่งที่คุณหมอต้องการจริง ๆ คือให้ครรภ์คุณแม่ไม่กระทบกระเทือน คุณแม่ควรจะอยู่ให้นิ่ง ๆ มาก ๆ อาจจะนอนเฉย ๆ พักอยู่เป็นชั่วโมง ๆ ระหว่างวัน เจรจากับที่ทำงานขอทำงานจากบ้านจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แนะนำให้เลื่อนหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนจนกว่าคุณหมอจะเห็นชอบให้กลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ
  • งดการทำงานบ้าน หรือออกกำลังกาย นอกจากงดเดินทางแล้ว คุณหมออาจแนะนำให้ลดกิจกรรมอื่น ๆ ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้มีน้อยรายที่พบว่าคุณหมอสั่งห้ามทำอะไรมากแต่เน้นให้นอนพักอยู่เฉย ๆ ในแต่ละวัน แต่ก็มีจริง ๆ ที่คุณแม่ที่ได้รับคำแนะนำเช่นนั้น เพราะจะปลอดภัยกว่าทั้งคุณแม่และคุณลูก ถ้าเลี่ยงทำกิจกรรมที่อาจจะกระเทือนไปถึงครรภ์ได้ การเดินขึ้นลงบันไดก็ควรทำน้อยครั้งที่สุด หรือพึ่งพาสมาชิกคนอื่นในครอบครัวเพื่อจะได้พักผ่อนอยู่เฉย ๆ

 

เคล็ดลับดูแลครรภ์คุณแม่ให้แข็งแรง

1. ทานวิตามินที่จำเป็นสำหรับคนท้อง

โภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในระหว่างตั้งท้อง การรับประทานวิตามินสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการได้  วิตามินเหล่านี้มักประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็น เช่น กรดโฟลิก เหล็ก แคลเซียม และวิตามินบีต่าง ๆ กรดโฟลิกมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงท้องระยะแรก  จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค และป้องกันภาวะแท้ง

 

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับที่เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณแม่ตั้งท้อง คุณแม่ต้องจัดลำดับความสำคัญของการพักผ่อน สร้างสภาพแวดล้อมในการนอนที่สะดวกสบาย และฝึกเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของคุณแม่

 

3. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นที่รู้กันว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งท้องอาจทำให้เกิดการแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก และยังมีผลเสียต่อลูกน้อยอีกด้วย

 

4. ออกกำลังกายเบา ๆ

การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องระหว่างตั้งครรภ์มีประโยชน์ต่อคุณแม่ เช่น อารมณ์ดีขึ้น ลดความเครียด และสุขภาพโดยรวมดีขึ้น ออกกำลังกายระดับเบาถึงปานกลาง เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือโยคะก่อนคลอด เมื่อได้รับคำแนะนำจากคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยป้องกันการเพิ่มน้ำหนักมากเกินไปในระหว่างตั้งท้อง และช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดให้ดีขึ้นด้วย

 

5. เน้นสารอาหารที่มีประโยชน์

คุณแม่ควรใส่ใจกับการรับประทานอาหาร จัดลำดับความสำคัญเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง  ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมผลไม้ ผัก โปรตีนไร้ไขมัน ธัญพืชเต็มเมล็ด และผลิตภัณฑ์จากนมหลากหลายชนิดในมื้ออาหารของคุณแม่และครอบครัวด้วย อาหารที่มีเส้นใยสูงสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกด้วย

 

เพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพของคุณแม่ตั้งท้องที่ดี ความรู้ การเฝ้าระวัง และการดูแลตัวเอง เป็นพฤติกรรมที่ดีสำหรับคุณแม่  การทำความเข้าใจสาเหตุและอาการของการแท้งคุกคามในช่วงสามเดือนแรก ช่วยให้รีบตัดสินใจไปพบคุณหมอได้ทันที เพื่อจะได้คลายความสงสัยและปลอดภัยในการดูแลของคุณหมอ ตลอดเวลาของการตั้งครรภ์ การดูแลโภชนาการให้เหมาะสม การนอนหลับที่เพียงพอ ใช้ชีวิตให้ห่างจากควันบุหรี่และแอลกอฮอล์ จะช่วยให้มั่นใจถึงความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งคุณแม่และลูกน้อยที่กำลังเติบโต

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. What is threatened miscarriage?, โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. Threatened Abortion (Threatened Miscarriage), Healthline
  3. What Causes a Threatened Miscarriage?, Parents
  4. Small Gestational Sac in Early Pregnancy, Verywell Family
  5. Pregnancy After Miscarriage: Answers to Your Questions, Healthline
  6. Early Pregnancy Loss, ACOG
  7. Signs of Threatened Miscarriage, What to Expect
  8. คุณแม่ยุคใหม่... ใส่ใจทานวิตามิน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  9. เคล็ดลับการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  10. การเตรียมตัวตั้งครรภ์ของคุณแม่ยุคดิจิตอลที่อยากมีลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  11. เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน

อ้างอิง ณ วันที่ 19 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งและลดความเสี่ยงทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีโฟเลตสูงก่อนท้อง เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์ อันตรายไหม หากคุณแม่ปวดหน่วงน้องท้องน้อยตั้งครรภ์และมีอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะสังเกตได้อย่างไร คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง ไปดูกัน

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ควรรู้อะไรก่อนบ้าง สัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ไปดูกัน

ทำลูกแฝดยากไหม คุณแม่อยากมีลูกแฝด ทำอย่างไรได้บ้าง

อยากได้ลูกแฝดต้องอ่าน! วิธีทำลูกแฝด ทั้งทางการแพทย์และวิธีธรรมชาติ

คุณแม่อยากมีลูกแฝด การทำลูกแฝดยากไหมในปัจจุบัน หากอยากทำลูกแฝด มีวิธีไหนบ้าง ไปดูขั้นตอนการทำลูกแฝดทางการแพทย์และความแตกต่างของแฝดแท้และแฝดเทียม

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก