วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน

วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกไอไม่หยุด

23.02.2024

เด็กทารก ลูกเล็กไอ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้าม เพราะอาการไอเพียงเล็กน้อยก็อาจลุกลามส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เมื่อลูกมีอาการไอต้องหาสาเหตุการไอว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ให้คุณหมอรักษาอาการไอได้อย่างถูกจุดเพื่อจะได้หายขาด และนี่คือวิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้กันค่ะ 

headphones

PLAYING: วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกไอไม่หยุด

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • อาการไอในเด็กสาเหตุที่พบบ่อยมักมาจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด
  • อาการไอตอนกลางคืนในเด็ก มีสาเหตุมาจากระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอ และอาจมาจากการเจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ และโรคไซนัสอักเสบ
  • อาการไอในเด็กไม่ควรมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การไอในเด็กทารกมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุที่พบบ่อยคือมาจากโรคหวัด ซึ่งส่งผลให้มีอาการคัน ระคายคอจนทำให้ต้องไอออกมา อาการไอในเด็กมีทั้งไอแห้ง ๆ ไอแบบระคายคอ และไอแบบมีเสมหะ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยดีขึ้นจากอาการไอ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลบรรเทาอาการไอเบื้องต้นให้ลูกได้ดังนี้

  • เมื่อลูกไอ ควรทำอย่างไร ลูกบางครั้งอาจพบว่าลูกมีอาการไอมาก แต่ไอไม่ออก ไอจนเหนื่อย หรือไอจนปวดท้องก็ยังไม่หยุดไอ มักเกิดจากเสมหะที่เหนียวมาก และอาจเกิดจากการไอที่ไม่ถูกวิธี อาจเปรียบเสมหะที่ค้างในหลอดลมได้กับซอสมะเขือเทศที่เหลือติดก้นขวด ซึ่งการที่จะนำซอสออกมา เราต้องคว่ำขวดลงใช้มือเคาะก้นขวด แล้วเขย่าขวดแรง ๆ เฉกเช่นเดียวกันกับเสมหะที่อยู่ในหลอดลม
  • การจัดท่านอนหรือนั่งในแนวที่ทำให้เสมหะไหลออกมาได้สะดวก จากนั้นมี การเคาะระบายเสมหะ เพื่อให้เสมหะหลุดออกจากหลอดลม การสั่นสะเทือน เพื่อกระตุ้นไอ ตลอดจนฝึก การไอ อย่างมีประสิทธิภาพเสมหะจึงหลุดออกมาได้
  • ในกรณีเด็กเล็กที่อาจไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาได้ แค่การเคาะและการไอที่ถูกต้อง จะทำให้เสมหะหลุดออกมาจากหลอดลม ในกรณีที่มีเสมหะมากในเด็กเล็ก อาจต้องใช้ลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปาก ถ้าหากมีบางส่วนกลืนลงไปบ้างร่างกายก็จะขับออกมาเองได้

 

อาการลูกไอไม่หยุด เกิดจากอะไร?

เมื่อลูกมีอาการไอหนัก ไอไม่หยุด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. การติดเชื้อ:

สาเหตุหนึ่งของการไอมักมาจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบหรืออักเสบฉับพลัน และโรคปอดบวม เป็นต้น

 

2. อาการกรดไหลย้อน:

กรดที่ไหลลงในหลอดลม จะทำให้ลูกเกิดอาการไอ หายใจไม่สะดวกในช่วงเวลานอนกลางคืน

 

3. โรคหอบหืด:

จะทำให้หลอดลมมีการอักเสบรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้หายใจมีเสียงหวีด หายใจได้ลำบาก และไอเรื้อรัง

 

4. โรคไอกรน:

เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการไอที่หนักมาก ในเด็กบางคนไอถึงขั้นตัวเขียว หรือไอจนหยุดหายใจจนเสียชีวิต

 

5. อาการภูมิแพ้:

สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด มีฝุ่น ควันพิษต่าง ๆ จนลูกเกิดมีอาการภูมิแพ้ ก็เป็นเหตุให้เกิดการไอขึ้นได้

 

ลักษณะอาการทารกไอ เด็กไอแบบไหนมีความเสี่ยง?

การไอในเด็กหากมีอาการไอนานมากกว่า 8 สัปดาห์ พร้อมกับมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอมีเสมหะปนเลือด สำลัก กลืนอาหารไม่ได้ และปอดมีการอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น ถือเป็นสัญญาณอันตราย แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลทันที

ลูกไอแบบมีเสมหะ (Wet cough)

  • เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดธรรมดา ฯลฯ ส่งผลให้ร่างกายมีการขับเอาสารคัดหลั่งออกมาในระบบทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดมีอาการไอร่วมกับการมีเสมหะ

 

ลูกไอแห้ง (Dry cough)

  • การระคายคันคอจะทำให้มีอาการไอแห้ง ๆ ไออย่างเดียวไม่มีเสมหะ สาเหตุมาจากโรคหลอดลมอักเสบ และกรดไหลย้อน

 

ลูกไอกรน ('Whooping' cough)

  • เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการไอถึงขั้นตัวเขียว หรือไอจนหยุดหายใจจนเสียชีวิต

 

ลูกไอเสียงวี้ด (Cough with wheezing)

  • สิ่งที่กระตุ้นให้ลูกไอมีเสียงวี้ด ๆ ออกมา สาเหตุอาจมาจากอากาศเย็น หรือได้กลิ่นควันบุหรี่ ทำให้หายใจแล้วหน้าอกบุ๋ม หรือหายใจเร็วมากกว่าปกติ โดยมากจะเป็นหนักในช่วงกลางคืน

 

ลูกไอตอนกลางคืน (Nighttime cough)

  • อาการไอที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนมาจากระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองขึ้น สาเหตุเนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอ และอาจมาจากการเจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ และโรคไซนัสอักเสบ ฯลฯ

 

ลูกไอตอนกลางวัน (Daytime cough)

  • เกิดจากการระคายเคืองที่มาจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด ฯลฯ

 

ลูกไอและมีไข้ (Cough with a fever)

  • เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด ส่งผลทำให้มีอาการไอ และเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น

 

ลูกไอและอาเจียน (Cough with vomiting)

  • ลูกน้อยอาจกำลังป่วยจากไวรัสโรต้า หลังจากได้รับเชื้อ 1-2 วัน มักจะแสดงอาการท้องเสีย มีไข้ มีน้ำมูก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

 

ลูกไอเรื้อรัง (Persistent cough)

  • อาการไอที่เป็นนานตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป ถือเป็นการไอเรื้อรัง ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด และรับการรักษาได้ทันท่วงที สำหรับอาการไอเรื้อรัง มักจะมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอมีเลือดในเสมหะ สำลักน้ำและอาหาร เสียงแหบ ฯลฯ

 

ลูกไอเพราะสิ่งแปลกปลอม (Sudden cough)

  • หากมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจของเด็ก ให้สังเกตเวลาที่หายใจ จะมีเสียงดังและหายใจได้ลำบาก พร้อมกับมีอาการไอสำลัก

 

วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย

  1. เด็กเล็ก:
    • แนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 2-3 หยดลงในจมูก น้ำเกลือจะช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก ช่วยให้โล่งจมูก หายใจได้สบาย
  2. เด็กโต:
    • งดหรือเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด แนะนำให้รับประทานเป็นอาหารอ่อน ๆ
    • จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ และงดการดื่มน้ำเย็น
    • รับประทานยาตามที่แพทย์จัดให้
    • ทำร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ไม่หนาวเย็นจนเกินไป

 

ลูกมีอาการไอ เป็นภูมิแพ้หรือเปล่า?

หากลูกเป็นหวัดแล้วมีอาการไอต่อเนื่องนาน 3 สัปดาห์ ไม่หายจากอาการไอสักที ถือเป็นการไอเรื้อรัง และมีน้ำมูกเรื้อรัง น้ำมูกที่ไหลลงคอ ทำให้ไอแล้วมีเสียงครืดคราดในคอ อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จมูก ซึ่งจะมีอาการร่วมต่าง ๆ ดังนี้อยู่ตลอดเวลา

  • จาม
  • คันตา คันจมูก
  • มีน้ำมูกใส ๆ เวลาเจออากาศเย็น

 

ลูกไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ เกิดจากอะไรได้บ้างและควรดูแลยังไง

อาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ร่วมด้วย อาจเป็นเพราะบริเวณลำคอ และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดการระคายเคืองขึ้น ส่วนใหญ่การไอแห้ง ๆ มักพบว่ามีภาวะป่วยจากโรคกรดไหลย้อน หรือโรคหลอดลมอักเสบ

 

หากสังเกตว่าลูกมีอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ และไม่มีไข้ สามารถดูแลบรรเทาอาการไอเบื้องต้นให้กับลูก ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในทุกวัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสูดดม ฝุ่น ควันต่าง ๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนด้วยการนอนถือเป็นการซ่อมแซมร่างกายที่ดีมาก และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศเย็นเป็นเวลานาน อากาศเย็น ความเย็น จะยิ่งกระตุ้นให้หลอดลมมีการหดรัดตัวมากขึ้น

 

หากอาการไอแห้งของลูกไม่ดีขึ้น และส่งผลทำให้สุขภาพแย่ลงจากเดิม แนะนำให้พาลูกพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องกับโรคที่เป็น

 

ลูกไอตอนกลางคืนบ่อย ๆ มีวิธีแก้ลูกไอตอนกลางคืนไหม

อาการไอตอนกลางคืนเกิดขึ้นได้บ่อย สาเหตุเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จากอากาศเย็น หรืออุณหภูมิในห้องนอนมีความแห้ง ห้องนอนมีความชื้นปริมาณน้อย จนทำให้เยื่อบุบริเวณจมูกเกิดการระคายเคืองขึ้น การดูแลบรรเทาอาการไอตอนกลางคืน ได้แก่

  • ทำความสะอาดห้องนอน จัดห้องนอนอย่าให้รก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้อยู่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น

 

ลูกไอแบบไหน คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์

อาการไอในเด็กไม่ควรมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการไอเป็น ๆ หาย ๆ ไอเรื้อรัง ลักษณะของอาการไอ ได้แก่ ไอแห้ง ๆ มีการระคายเคืองที่ลำคอ และ ไอมีเสมหะ น้ำมูกลงคอ มีอาการไอจนกระทบกับสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์เฉพาะทางทันที

 

อาการทารกไอ บ่งบอกโรคได้

  • อาการไอในทารก: ทารกไอแต่ไม่มีไข้ ข้อบ่งชี้อาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด
  • อาการไอในเด็กเล็ก: เด็กเล็กไอ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นของหลอดลม และการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคไอกรน หรืออาจไอเพราะมีสิ่งของแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลม เป็นต้น

 

การส่งเสริมให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการดีสมวัยในทุกด้าน ไม่สะดุดเพราะอาการไอ คุณพ่อคุณแม่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ส่งเสริมให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด (ปราศจากฝุ่น ควันบุหรี่) ได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ร่างกายได้รับโภชนาการสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพาลูกไปรับฉีดวัคซีนตามวัยให้ครบ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับทุกการเรียนรู้

 

สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหน ที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คำถามเรื่องลูก ที่คุณแม่มือใหม่ ควรรู้ เพื่อให้ คุณแม่มือใหม่เตรียมพร้อมรับมือและดูแลลูกน้อยให้ดีที่สุด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 

อ้างอิง:

  1. อาการไอในเด็ก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. 6 วิธีดูแลลูกน้อยอย่างไรเมื่อเป็นไข้หวัด, โรงพยาบาลเจ้าพระยา
  3. ลูกไอนานไม่ดีแน่ พ่อแม่ต้องเร่งหาสาเหตุ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน(2), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. หอบหืด โรคที่ทำให้ปอดคุณหายใจจนเหนื่อย, โรงพยาบาลพิษณุเวช
  6. โรคไอกรนในเด็กอันตรายถึงตาย อาการคล้ายโรคหวัดธรรมดา, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. ลักษณะอาการไอ บอกอะไรเราได้บ้าง แบบไหนเรียกว่าอันตราย, โรงพยาบาลนวเวช
  8. ไอบอกโรค, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  9. ถ้าลูกหายใจดังวี้ดๆ ตลอดคืนต้องระวัง “โรคหืด” ให้ดี, โรงพยาบาลพญาไท
  10. เด็กมีไข้ ไอ น้ำมูก เป็นอาการเสี่ยงจากโรคอะไรได้บ้าง?, โรงพยาบาลพญาไท
  11. หน้าหนาว ระวังไวรัสโรตา !, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
  12. วิธีสังเกตเมื่อเด็กมีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอม, โรงพยาบาลพญาไท
  13. ทำไมลูกจึงไอเรื้องรัง, โรงพยาบาลวิภาวดี
  14. การดูแลเด็ก เมื่อมีอาการไอ, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  15. 5 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน, โรงพยาบาลศิครินทร์
  16. ช่วยเด็กเพื่อไอเอาเสมหะออกเองได้อย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี

อ้างอิง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารก คืออะไร เด็กทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน กระหม่อมทารกบุ๋ม อันตรายไหม คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมวิธีสังเกตกระหม่อมทารก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม ทารกผิวลอก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เด็กทารกผิวลอกสามารถหายเองได้ไหม ผิวทารกลอกแบบไหนอันตราย พร้อมวิธีดูแลผิวเด็กทารกให้ปลอดภัย

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟันทุกคืน อันตรายต่อสุขภาพฟันของลูกน้อยไหม ลูกนอนกัดฟันบ่อย คุณแม่ดูแลลูกน้อยยังไงดี พร้อมวิธีป้องกันที่คุณแม่ควรรู้

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน การเลือกเสื้อผ้าให้ทารกแรกเกิดสำคัญอย่างไร เลือกเสื้อผ้าแบบไหนให้ลูกรู้สึกสบายตัวและปลอดภัยกับผิวของเด็กทารก ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก