วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกไอไม่หยุด
เด็กทารก ลูกเล็กไอ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้าม เพราะอาการไอเพียงเล็กน้อยก็อาจลุกลามส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เมื่อลูกมีอาการไอต้องหาสาเหตุการไอว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ให้คุณหมอรักษาอาการไอได้อย่างถูกจุดเพื่อจะได้หายขาด และนี่คือวิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้กันค่ะ
สรุป
- อาการไอในเด็กสาเหตุที่พบบ่อยมักมาจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด
- อาการไอตอนกลางคืนในเด็ก มีสาเหตุมาจากระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอ และอาจมาจากการเจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ และโรคไซนัสอักเสบ
- อาการไอในเด็กไม่ควรมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาการลูกไอไม่หยุด เกิดจากอะไร?
- ลักษณะอาการทารกไอ เด็กไอแบบไหนมีความเสี่ยง?
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย
- ลูกมีอาการไอ เป็นภูมิแพ้หรือเปล่า?
- ลูกไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ เกิดจากอะไรได้บ้างและควรดูแลยังไง
- ลูกไอตอนกลางคืนบ่อยๆ มีวิธีแก้ลูกไอตอนกลางคืนไหม
- ลูกไอแบบไหน คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์
- อาการทารกไอ บ่งบอกโรคได้
การไอในเด็กทารกมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุที่พบบ่อยคือมาจากโรคหวัด ซึ่งส่งผลให้มีอาการคัน ระคายคอจนทำให้ต้องไอออกมา อาการไอในเด็กมีทั้งไอแห้ง ๆ ไอแบบระคายคอ และไอแบบมีเสมหะ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยดีขึ้นจากอาการไอ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลบรรเทาอาการไอเบื้องต้นให้ลูกได้ดังนี้
- เมื่อลูกไอ ควรทำอย่างไร ลูกบางครั้งอาจพบว่าลูกมีอาการไอมาก แต่ไอไม่ออก ไอจนเหนื่อย หรือไอจนปวดท้องก็ยังไม่หยุดไอ มักเกิดจากเสมหะที่เหนียวมาก และอาจเกิดจากการไอที่ไม่ถูกวิธี อาจเปรียบเสมหะที่ค้างในหลอดลมได้กับซอสมะเขือเทศที่เหลือติดก้นขวด ซึ่งการที่จะนำซอสออกมา เราต้องคว่ำขวดลงใช้มือเคาะก้นขวด แล้วเขย่าขวดแรง ๆ เฉกเช่นเดียวกันกับเสมหะที่อยู่ในหลอดลม
- การจัดท่านอนหรือนั่งในแนวที่ทำให้เสมหะไหลออกมาได้สะดวก จากนั้นมี การเคาะระบายเสมหะ เพื่อให้เสมหะหลุดออกจากหลอดลม การสั่นสะเทือน เพื่อกระตุ้นไอ ตลอดจนฝึก การไอ อย่างมีประสิทธิภาพเสมหะจึงหลุดออกมาได้
- ในกรณีเด็กเล็กที่อาจไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาได้ แค่การเคาะและการไอที่ถูกต้อง จะทำให้เสมหะหลุดออกมาจากหลอดลม ในกรณีที่มีเสมหะมากในเด็กเล็ก อาจต้องใช้ลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปาก ถ้าหากมีบางส่วนกลืนลงไปบ้างร่างกายก็จะขับออกมาเองได้
อาการลูกไอไม่หยุด เกิดจากอะไร?
เมื่อลูกมีอาการไอหนัก ไอไม่หยุด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. การติดเชื้อ:
สาเหตุหนึ่งของการไอมักมาจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบหรืออักเสบฉับพลัน และโรคปอดบวม เป็นต้น
2. อาการกรดไหลย้อน:
กรดที่ไหลลงในหลอดลม จะทำให้ลูกเกิดอาการไอ หายใจไม่สะดวกในช่วงเวลานอนกลางคืน
3. โรคหอบหืด:
จะทำให้หลอดลมมีการอักเสบรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้หายใจมีเสียงหวีด หายใจได้ลำบาก และไอเรื้อรัง
4. โรคไอกรน:
เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการไอที่หนักมาก ในเด็กบางคนไอถึงขั้นตัวเขียว หรือไอจนหยุดหายใจจนเสียชีวิต
5. อาการภูมิแพ้:
สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด มีฝุ่น ควันพิษต่าง ๆ จนลูกเกิดมีอาการภูมิแพ้ ก็เป็นเหตุให้เกิดการไอขึ้นได้
ลักษณะอาการทารกไอ เด็กไอแบบไหนมีความเสี่ยง?
การไอในเด็กหากมีอาการไอนานมากกว่า 8 สัปดาห์ พร้อมกับมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอมีเสมหะปนเลือด สำลัก กลืนอาหารไม่ได้ และปอดมีการอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น ถือเป็นสัญญาณอันตราย แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลทันที
ลูกไอแบบมีเสมหะ (Wet cough)
- เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดธรรมดา ฯลฯ ส่งผลให้ร่างกายมีการขับเอาสารคัดหลั่งออกมาในระบบทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดมีอาการไอร่วมกับการมีเสมหะ
ลูกไอแห้ง (Dry cough)
- การระคายคันคอจะทำให้มีอาการไอแห้ง ๆ ไออย่างเดียวไม่มีเสมหะ สาเหตุมาจากโรคหลอดลมอักเสบ และกรดไหลย้อน
ลูกไอกรน ('Whooping' cough)
- เกิดจากการที่ระบบทางเดินหายใจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการไอถึงขั้นตัวเขียว หรือไอจนหยุดหายใจจนเสียชีวิต
ลูกไอเสียงวี้ด (Cough with wheezing)
- สิ่งที่กระตุ้นให้ลูกไอมีเสียงวี้ด ๆ ออกมา สาเหตุอาจมาจากอากาศเย็น หรือได้กลิ่นควันบุหรี่ ทำให้หายใจแล้วหน้าอกบุ๋ม หรือหายใจเร็วมากกว่าปกติ โดยมากจะเป็นหนักในช่วงกลางคืน
ลูกไอตอนกลางคืน (Nighttime cough)
- อาการไอที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนมาจากระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองขึ้น สาเหตุเนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอ และอาจมาจากการเจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ และโรคไซนัสอักเสบ ฯลฯ
ลูกไอตอนกลางวัน (Daytime cough)
- เกิดจากการระคายเคืองที่มาจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด ฯลฯ
ลูกไอและมีไข้ (Cough with a fever)
- เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด ส่งผลทำให้มีอาการไอ และเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น
ลูกไอและอาเจียน (Cough with vomiting)
- ลูกน้อยอาจกำลังป่วยจากไวรัสโรต้า หลังจากได้รับเชื้อ 1-2 วัน มักจะแสดงอาการท้องเสีย มีไข้ มีน้ำมูก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ลูกไอเรื้อรัง (Persistent cough)
- อาการไอที่เป็นนานตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป ถือเป็นการไอเรื้อรัง ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด และรับการรักษาได้ทันท่วงที สำหรับอาการไอเรื้อรัง มักจะมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอมีเลือดในเสมหะ สำลักน้ำและอาหาร เสียงแหบ ฯลฯ
ลูกไอเพราะสิ่งแปลกปลอม (Sudden cough)
- หากมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจของเด็ก ให้สังเกตเวลาที่หายใจ จะมีเสียงดังและหายใจได้ลำบาก พร้อมกับมีอาการไอสำลัก
วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย
- เด็กเล็ก:
- แนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 2-3 หยดลงในจมูก น้ำเกลือจะช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก ช่วยให้โล่งจมูก หายใจได้สบาย
- เด็กโต:
- งดหรือเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด แนะนำให้รับประทานเป็นอาหารอ่อน ๆ
- จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ และงดการดื่มน้ำเย็น
- รับประทานยาตามที่แพทย์จัดให้
- ทำร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ไม่หนาวเย็นจนเกินไป
ลูกมีอาการไอ เป็นภูมิแพ้หรือเปล่า?
หากลูกเป็นหวัดแล้วมีอาการไอต่อเนื่องนาน 3 สัปดาห์ ไม่หายจากอาการไอสักที ถือเป็นการไอเรื้อรัง และมีน้ำมูกเรื้อรัง น้ำมูกที่ไหลลงคอ ทำให้ไอแล้วมีเสียงครืดคราดในคอ อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จมูก ซึ่งจะมีอาการร่วมต่าง ๆ ดังนี้อยู่ตลอดเวลา
- จาม
- คันตา คันจมูก
- มีน้ำมูกใส ๆ เวลาเจออากาศเย็น
ลูกไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ เกิดจากอะไรได้บ้างและควรดูแลยังไง
อาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ร่วมด้วย อาจเป็นเพราะบริเวณลำคอ และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดการระคายเคืองขึ้น ส่วนใหญ่การไอแห้ง ๆ มักพบว่ามีภาวะป่วยจากโรคกรดไหลย้อน หรือโรคหลอดลมอักเสบ
หากสังเกตว่าลูกมีอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ และไม่มีไข้ สามารถดูแลบรรเทาอาการไอเบื้องต้นให้กับลูก ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในทุกวัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสูดดม ฝุ่น ควันต่าง ๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนด้วยการนอนถือเป็นการซ่อมแซมร่างกายที่ดีมาก และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศเย็นเป็นเวลานาน อากาศเย็น ความเย็น จะยิ่งกระตุ้นให้หลอดลมมีการหดรัดตัวมากขึ้น
หากอาการไอแห้งของลูกไม่ดีขึ้น และส่งผลทำให้สุขภาพแย่ลงจากเดิม แนะนำให้พาลูกพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องกับโรคที่เป็น
ลูกไอตอนกลางคืนบ่อย ๆ มีวิธีแก้ลูกไอตอนกลางคืนไหม
อาการไอตอนกลางคืนเกิดขึ้นได้บ่อย สาเหตุเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จากอากาศเย็น หรืออุณหภูมิในห้องนอนมีความแห้ง ห้องนอนมีความชื้นปริมาณน้อย จนทำให้เยื่อบุบริเวณจมูกเกิดการระคายเคืองขึ้น การดูแลบรรเทาอาการไอตอนกลางคืน ได้แก่
- ทำความสะอาดห้องนอน จัดห้องนอนอย่าให้รก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้อยู่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น
ลูกไอแบบไหน คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์
อาการไอในเด็กไม่ควรมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการไอเป็น ๆ หาย ๆ ไอเรื้อรัง ลักษณะของอาการไอ ได้แก่ ไอแห้ง ๆ มีการระคายเคืองที่ลำคอ และ ไอมีเสมหะ น้ำมูกลงคอ มีอาการไอจนกระทบกับสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์เฉพาะทางทันที
อาการทารกไอ บ่งบอกโรคได้
- อาการไอในทารก: ทารกไอแต่ไม่มีไข้ ข้อบ่งชี้อาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด
- อาการไอในเด็กเล็ก: เด็กเล็กไอ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นของหลอดลม และการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคไอกรน หรืออาจไอเพราะมีสิ่งของแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลม เป็นต้น
การส่งเสริมให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการดีสมวัยในทุกด้าน ไม่สะดุดเพราะอาการไอ คุณพ่อคุณแม่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ส่งเสริมให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด (ปราศจากฝุ่น ควันบุหรี่) ได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ร่างกายได้รับโภชนาการสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพาลูกไปรับฉีดวัคซีนตามวัยให้ครบ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับทุกการเรียนรู้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหน ที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คำถามเรื่องลูก ที่คุณแม่มือใหม่ ควรรู้ เพื่อให้ คุณแม่มือใหม่เตรียมพร้อมรับมือและดูแลลูกน้อยให้ดีที่สุด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- อาการไอในเด็ก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 6 วิธีดูแลลูกน้อยอย่างไรเมื่อเป็นไข้หวัด, โรงพยาบาลเจ้าพระยา
- ลูกไอนานไม่ดีแน่ พ่อแม่ต้องเร่งหาสาเหตุ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน(2), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- หอบหืด โรคที่ทำให้ปอดคุณหายใจจนเหนื่อย, โรงพยาบาลพิษณุเวช
- โรคไอกรนในเด็กอันตรายถึงตาย อาการคล้ายโรคหวัดธรรมดา, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ลักษณะอาการไอ บอกอะไรเราได้บ้าง แบบไหนเรียกว่าอันตราย, โรงพยาบาลนวเวช
- ไอบอกโรค, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- ถ้าลูกหายใจดังวี้ดๆ ตลอดคืนต้องระวัง “โรคหืด” ให้ดี, โรงพยาบาลพญาไท
- เด็กมีไข้ ไอ น้ำมูก เป็นอาการเสี่ยงจากโรคอะไรได้บ้าง?, โรงพยาบาลพญาไท
- หน้าหนาว ระวังไวรัสโรตา !, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- วิธีสังเกตเมื่อเด็กมีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอม, โรงพยาบาลพญาไท
- ทำไมลูกจึงไอเรื้องรัง, โรงพยาบาลวิภาวดี
- การดูแลเด็ก เมื่อมีอาการไอ, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- 5 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ช่วยเด็กเพื่อไอเอาเสมหะออกเองได้อย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี
อ้างอิง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567