ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย

ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย พร้อมวิธีแก้ทารกไม่ถ่าย

02.02.2024

การขับถ่ายของทารกเป็นสัญญาณหนึ่งที่ใช้ในการสังเกตว่า ลูกน้อยได้รับน้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่ โดยปกติทารกควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ลักษณะเป็นเนื้อสีเหลืองปนน้ำ แต่หากทารกไม่ถ่ายหลายวัน ถือเป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่ ทารกไม่ถ่ายได้นานสุดกี่วันถึงเรียกว่าผิดปกติ ทารกกินนมแม่ เด็กกินนมผง ไม่ถ่ายหลายวัน เกิดจากอะไร และควรทำอย่างไร หรือควรให้ลูกกินอะไรเพื่อช่วยให้ลูกน้อยขับถ่ายได้ดี บทความนี้มีคำตอบ

headphones

PLAYING: ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย พร้อมวิธีแก้ทารกไม่ถ่าย

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • ทารกไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน หากทารกไม่ถ่ายหลายวัน แต่ลักษณะอุจจาระนิ่ม ไม่ปวดเบ่ง ไม่มีอาการอึดอัด ถ่ายยาก ถือว่าปกติ
  • เด็กท้องผูกคือ เด็กที่ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ และในขณะถ่ายท้อง เด็กจะมีอาการปวดเบ่งนาน บางครั้งอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย
  • การบรรเทาอาการท้องผูกในเด็กทำได้โดยการปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรม รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น นวดท้องเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโภชนาการ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้เกี่ยวกับการขับถ่ายของลูกน้อย ทารกที่กินนมแม่อาจถ่ายทุกครั้งหลังกินนมเสร็จ ถือเป็นอาการปกติ ไม่ใช่อาการท้องเสีย หากลูกน้อยท้องเสียสามารถสังเกตได้จากลักษณะอุจจาระ เหลวเป็นน้ำ ไม่มีกากปน ไม่ได้นับจากจำนวนครั้งที่ขับถ่าย

 

แต่หากลูกน้อยไม่ถ่ายทุกวัน ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อย อาจถ่ายวันเว้นวัน หรือหลายวันอาจถ่ายเพียงหนึ่งครั้ง หากทารกไม่ถ่ายหลายวัน แต่อุจจาระที่ออกมามีลักษณะนิ่ม ลูกน้อยไม่มีอาการว่าถ่ายลำบาก ถือว่าปกติ สำหรับสัญญาณที่บอกว่า ทารกท้องผูก ให้สังเกตว่าลูกน้อยถ่ายลำบาก เบ่งไม่ออก มีอาการอึดอัด ท้องอืด ร้องโยเย หรืออาเจียน หากมีอาการแบบนี้ควรพาไปปรึกษาแพทย์

 

ทารกกินนมแม่ ไม่ถ่ายหลายวันเกิดจากอะไร

ทารกปกติบางคนอาจถ่ายอุจจาระห่างหรือร้องมากเวลาเบ่งถ่าย ในทารกวัย 1-3 เดือนบางคนที่ทานนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายอุจจาระห่างได้ เช่น ถ่ายเพียงครั้งเดียวในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่อุจจาระมีลักษณะนุ่ม ทารกบางคนร้องมากเวลาเบ่งถ่ายแต่ในที่สุดก็ถ่ายอุจจาระลักษณะนุ่มๆ ออกมา ทั้งสองแบบนี้ไม่นับเป็นท้องผูก อีกทั้งน้ำนมแม่ยังเป็นยาระบายตามธรรมชาติ ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจึงแทบไม่เคยมีอาการท้องผูกเลย

 

เด็กกินนมผง ไม่ถ่ายหลายวันเกิดจากอะไร

เป็นเรื่องปกติที่เด็กกินนมผงจะถ่ายยากกว่าเด็กที่กินนมแม่ เพราะนมผงนั้นย่อยยากกว่านมแม่ ตามปกติเด็กกินนมผงจะขับถ่ายทุก 4-5 วัน หากลูกน้อยไม่ถ่าย หรือถ่ายยาก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทารก

 

เด็กกินนมผง ทารกไม่ถ่ายหลายวันเกิดจากอะไร

 

ลูกน้อยไม่ถ่ายนานแค่ไหน ถึงควรไปปรึกษาแพทย์

หากลูกน้อยไม่ถ่ายหลายวัน มีอาการปวดท้อง อึดอัด แต่ถ่ายไม่ออก ถ่ายเป็นก้อนแข็ง หรือมีเลือดปน เวลาเบ่งมักจะร้องไห้ หรือเด็กบางคนที่ชอบกลั้นอุจจาระ จะมีอาการเกร็งที่ขาหนีบและก้น มักยืนบิดไปมาตามมุมห้อง เมื่อลูกมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ กิจวัตรประจำวัน อาหารที่กิน นมที่ดื่ม ดูน้ำหนัก ส่วนสูง สอบถามอาการ ท่าทางการเบ่งขณะขับถ่าย รวมถึงตรวจร่างกาย มักพบว่า ท้องอืด ท้องป่อง คลำแล้วเป็นก้อน รวมถึงมีแผลปริที่รูก้นจากการเบ่งถ่าย

 

ทารกตดบ่อย เกิดจากอะไร

ทารกตดบ่อย ส่วนใหญ่เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ค่อนข้างมาก เป็นเรื่องปกติที่ทารกจะตดบ่อยถึง 13-21 ครั้งต่อวัน เพราะทารกมีโอกาสกลืนอากาศเข้าไปในท้อง จากการดูดนมเร็วเกินไป หรือดูดนมผิดวิธี การดูดจุกหลอก การร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกน้อยจะมีอาการ เรอ ตดบ่อย หงุดหงิด ท้องป่อง ท้องแข็ง รวมถึง ร้องไห้งอแง รู้สึกไม่สบายตัว เมื่อมีอากาศในท้องมากเกินไป การได้ตดและเรอช่วยขับแก๊สในช่องท้องออกมาทำให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น

 

เด็กท้องผูก จะมีอาการอย่างไร

เด็กท้องผูกส่วนใหญ่พบได้ตั้งแต่เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มกินอาหารตามวัย และอาจกินผักผลไม้น้อยเกินไป ทำให้มีอาการท้องผูก และพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุ 1 ปี เนื่องจากเด็กเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เริ่มเดินได้ เริ่มออกนอกบ้าน สนใจอยากสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น ทำให้เด็กบางคนกลั้นอุจจาระเพราะห่วงเล่น หรือบางคนกลั้นอุจจาระเพราะไม่อยากขับถ่ายนอกบ้าน จึงเริ่มมีอาการท้องผูก

 

หากคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกน้อยไม่ถ่าย หรือถ่ายน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีอาการถ่ายยาก ปวดเบ่งมาก หรือร้องงอแงเจ็บปวด อุจจาระแข็ง มีลักษณะเหมือนเม็ดกระสุน หรือถ่ายก้อนใหญ่ แสดงว่าลูกมีปัญหาท้องผูก และหากเด็กท้องผูก ลูกไม่ถ่ายนานกว่า 2 สัปดาห์ ก็จะนับว่าเป็นอาการท้องผูกเรื้อรัง

 

เทคนิคนวดท้องให้ลูก ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ เมื่อทารกไม่ถ่าย

 

 

เทคนิคนวดท้องให้ลูก ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้

การนวดท้องเบา ๆ ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ บรรเทาอาการท้องผูกได้

  • จับลูกน้อยนอนหงาย และขยับขาเบา ๆ เหมือนกับการขี่จักรยาน จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว
  • ลูกน้อยนอนหงาย นวดท้องเบา ๆ ด้วยท่า I Love U
    I – เริ่มโดยใช้มือซ้ายของแม่ลูบบริเวณท้องด้านขวาของลูกน้อย เป็นเส้นตรงจากด้านล่างขึ้นด้านบน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ช้า ๆ เป็นจังหวะ
  • LOVE – ลูบมือเป็นตัว L กลับหัวลูบจากด้านล่างขึ้นบน แล้วพาดผ่านหน้าท้อง ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ช้า ๆ เป็นจังหวะ
  • U – ลูบมือเป็นตัว U คว่ำจากด้านขวาของลูกน้อย ทั่วทั้งหน้าท้องและลงไปทางด้านซ้าย การเคลื่อนที่ของ U สามารถทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งโดยใช้มือข้างเดียว หรือใช้มือทั้งสองข้างก็ได้ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ช้า ๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1-3 หลาย ๆ ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที

 

ควรให้ลูกรับประทานอะไร ให้ช่วยการขับถ่าย

การดูแลเรื่องอาหารของลูกน้อย เมื่อลูกท้องผูก ลูกไม่ถ่าย ควรปรับเรื่องอาหาร ดังนี้

  1. กินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง อาจให้ดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำองุ่น หรือน้ำแอปเปิ้ล ส่วนในเด็กวัยที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว ควรเพิ่มผักผลไม้ เช่น ผสมผักเพิ่มเข้าไปในอาหาร เพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  2. ดื่มน้ำสะอาด การที่ลูกถ่ายยาก ถ่ายแข็ง อาจเป็นเพราะกินนมน้อย หรือดื่มน้ำน้อย เมื่อร่างกายขาดน้ำส่งผลให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก ท้องผูก ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจเพิ่มน้ำสะอาดในปริมาณเล็กน้อย ไม่เกิน 1-2 ออนซ์ หรือ 60 มิลลิลิตรต่อวัน หากคาดว่าทารกได้รับน้ำไม่เพียงพอ จนทำให้มีอาการท้องผูก
  3. ดื่มนม หรือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติก และโพรไบโอติก เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์สุขภาพอย่าง Probiotic เช่น B. lactis ที่มีประโยชน์ในการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและดีต่อการขับถ่าย

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ช่วยได้

นอกจากปรับเปลี่ยนอาหารแล้ว ควรปรับพฤติกรรมควบคู่กันไป ดังนี้

  1. ฝึกให้ลูกออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้บีบตัวได้ดี ทำให้อาหารไม่ตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน จึงช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้
  2. ฝึกให้เข้าห้องน้ำเป็นเวลา ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกน้อย โดยให้เข้าห้องน้ำเป็นเวลาหลังรับประทานอาหาร เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่มีการบีบตัว สามารถขับอุจจาระออกมาได้ง่าย และควรกำหนดให้ลูกน้อยใช้เวลาขับถ่ายไม่เกิน 10-15 นาที ระหว่างเข้าห้องน้ำไม่ควรเล่นของเล่น โทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือไปด้วย เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการขับถ่าย อย่าลืมชื่นชม หรือให้รางวัลเมื่อลูกพยายามขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

จากข้อมูลข้างต้น ทารกไม่ถ่ายหลายวัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทารกกินนมแม่ และเด็กกินนมผง หากอุจจาระยังนิ่ม ไม่มีอาการปวดเบ่ง ทรมาน ยังไม่นับว่า ผิดปกติ แต่หากลูกน้อยไม่ถ่าย หรือถ่ายน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจาระทารกแข็ง ปวดเบ่งมาก แสดงว่า ลูกท้องผูก คุณแม่สามารถช่วยให้ทารกขับถ่ายได้ง่ายขึ้นด้วยการนวดท้องทารก เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ปรับเปลี่ยนอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ หากท้องผูกมาก อุจจาระมีเลือดปน ควรไปปรึกษาแพทย์

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ตารางแสดงว่าทารกได้รับนมแม่เพียงพอ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  2. ทารกแรกเกิดมีอาการแบบนี้ รีบพามาพบคุณหมอด่วน!, โรงพยาบาลศิครินทร์
  3. How Long Can A Baby Go Without Pooping?, ChildrenMD.org
  4. เมื่อทารกไม่ถ่าย คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร, pobpad
  5. เมื่อเจ้าตัวเล็กท้องผูก จะทำอย่างไรดี, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  6. Infant Gas: How to Prevent and Treat It, WebMD
  7. ABDOMINAL MASSAGE, Children’s Minnesota
  8. Starting Baby on Solid Food, Longwood Pediatrics
  9. โพรไบโอติกและพรีไบโอติก ต่างกันอย่างไร?, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  10. ท้องผูก ถ่ายยาก ทำไงดี, โรงพยาบาลรามาธิบดี
  11. สังเกตยังไง...ว่าลูกกำลังมีภาวะท้องผูก, โรงพยาบาลพญาไท
  12. ‘ท้องผูกในเด็ก’ ปัญหาเรื้อรัง…ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม, โรงพยาบาลไทยนครินทร์

อ้างอิง ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2566

บทความแนะนำ

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร คุณแม่ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร เมื่อให้นมลูกเยอะเกิน พร้อมวิธีให้นมลูกน้อยที่ถูกต้อง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากสาเหตุอะไร ไขที่หัวทารกอันตรายไหมกับลูกน้อยไหม ไขที่หัวทารกกี่วันถึงหายไป ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ไหม พร้อมวิธีดูแลและทำความสะอาดไขบนหัวลูก

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ทำยังไงดี ลูกกัดเต้าจนหัวนมแม่เป็นแผล คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม ทำไมลูกถึงชอบกัดหัวนมแม่ พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกกัดเต้าเป็นแผล

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง เมื่อลูกน้อยรู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้อง การไล่ลมในท้องทารกต้องทำยังไง ไปดูวิธีไล่ลมในท้องทารก ช่วยให้ลูกสบายท้องกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก