วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมหด น้ำนมไม่ไหล กู้น้ำนมยังไงดี
คุณแม่หลายคนชอบคิดว่าน้ำนมแม่ไม่ไหลเป็นเพราะน้ำนมน้อยทำให้พลาดโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไป ความจริงแล้วยิ่งคุณแม่ไม่ยอมให้ลูกดูดนม น้ำนมของคุณแม่ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงและแห้งไปในที่สุด เนื่องจากหลักการการผลิตน้ำนมของคุณแม่เกิดจากการกระตุ้นน้ำนมโดยอาศัยการดูดนมของลูกซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ
PLAYING: วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมหด น้ำนมไม่ไหล กู้น้ำนมยังไงดี
สรุป
- เมื่อลูกดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมถูกผลิตขึ้นซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ ยิ่งลูกดูดได้เร็ว ดูดได้บ่อย และดูดได้นาน จะยิ่งช่วยเพิ่มน้ำนมแม่ขึ้นเรื่อย ๆ
- ในระยะแรกหลังคลอดคุณแม่อาจพบปัญหาน้ำนมไม่ค่อยมี หรือน้ำนมมาน้อยเป็นเรื่องปกติ คุณแม่ต้องอาศัยการกระตุ้นน้ำนมบ่อย ๆ ไม่นานน้ำนมแม่ก็จะไหลเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย
- คุณแม่จะรู้ได้ว่าลูกน้อยได้รับนมไม่พอจากการร้องไห้งอแงหลังกินนมของลูก เสียงการกลืนนมของทารก การขับถ่าย และน้ำหนักตัวของลูกน้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- น้ำนมหด นมน้อย นมไม่พอ เกิดจากอะไร
- น้ำนมไม่ค่อยมี ผิดปกติหรือไม่
- น้ำนมน้อย ส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างไร
- รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
- น้ำนมไหลน้อย น้ำนมไม่ไหล คุณแม่จะมีวิธีกู้น้ำนมได้อย่างไรบ้าง?
การกู้น้ำนมหรือการเรียกคืนน้ำนมแม่กลับมาที่เรียกว่า “รีแลคเทชั่น (Relactation)” คือ การพยายามกระตุ้นการสร้างน้ำนมจากคุณแม่ที่เคยมีน้ำนมให้ลูกกินมาก่อน แล้วหยุดให้นมลูกไปนานแล้วพยายามเรียกน้ำนมแม่กลับมา โดยอาจใช้วิธีให้ลูกดูดนมเพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เนื่องจากกลไกตามธรรมชาติของการสร้างน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเซลล์เล็ก ๆ ในเต้านมจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำนมออกมาทางหัวนมให้ลูกน้อยได้กิน ยิ่งลูกดูดนมแม่ได้เร็ว ดูดได้บ่อย และดูดได้นาน น้ำนมของคุณแม่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
น้ำนมหด นมน้อย นมไม่พอ เกิดจากอะไร
หลังจากคลอดลูก คุณแม่ทุกคนพร้อมจะให้น้ำนมลูกเสมอ คุณแม่หลายท่านหลังคลอดได้พยายามให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมให้ลูกกินแต่กลับประสบปัญหาน้ำนมไม่ไหลหรือน้ำนมไหลน้อย จนทำให้คุณแม่เครียดและล้มเลิกให้ลูกกินนมแม่ไปในที่สุด แต่ความจริงแล้วน้ำนมหดหรือน้ำนมน้อยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- คุณแม่เริ่มต้นให้ลูกดูดนมช้า: การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมให้ประสบความสำเร็จ คุณแม่ต้องให้ลูกดูดนม 30 นาที หรือมากกว่านั้น พอคุณแม่ให้ลูกดูดบ่อย ๆ จะทำให้กระบวนการกระตุ้นการสร้างน้ำนมมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณแม่ก็จะมีน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ
- ท่าอุ้มให้นมแม่: ท่าอุ้มของคุณแม่ส่งผลต่อการดูดนมของทารกด้วยเช่นกัน หากคุณแม่อุ้มลูกในท่าที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ลูกน้อยไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ น้ำนมจึงถูกกระตุ้นน้อยทำให้น้ำนมแม่ไหลน้อยตามมา
- ลูกดูดนมผิดวิธี: ปกติแล้วทารกจะดูดนมแม่โดยการอมจากหัวนมจนลึกเข้าไปจนถึงลานนม เมื่อลูกไม่สามารถดูดนมได้ลึกตามที่ควรจะเป็น นมจึงไหลออกมาได้น้อย
- ปัญหาหัวนมของคุณแม่: บางครั้งคุณแม่อาจมีหัวนมแบนหรือหัวนมบอดทำให้ลูกไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ เมื่อน้ำนมไม่ถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสม น้ำนมแม่จึงค่อย ๆ หดลงไปเรื่อย ๆ
- ลูกดูดนมไม่บ่อย: หัวใจหลักของการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด คือ การให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 8 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยเริ่มร้องไห้งอแงเพราะอยากกินนมคุณแม่จะต้องให้ลูกดื่มนมจากเต้าทันที
- ทานน้ำไม่เพียงพอ: น้ำเปล่าเป็นตัวช่วยในการเพิ่มน้ำนมของคุณแม่หลังคลอดได้เป็นอย่างดี เพียงแค่คุณแม่ดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 2-3 ลิตร ก็จะช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้
- พักผ่อนน้อย: ในช่วงแรกหลังคลอดคุณแม่อาจมีการนอนน้อย นอนไม่พอ เนื่องจากลูกมักตื่นบ่อยกลางดึกและร้องไห้งอแงไม่ทราบสาเหตุ ทำให้คุณแม่พักผ่อนได้น้อย อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรหาเวลางีบพักผ่อนร่างกายเพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น
- ตกรอบปั๊มนมเป็นประจำ: คุณแม่หลายคนจำเป็นจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้โดยตรงจึงต้องอาศัยการปั๊มนมแล้วค่อยนำไปให้ลูกกินทีหลัง ซึ่งการปั๊มนมในช่วงเวลาทำงานอาจทำให้คุณแม่ไม่สามารถปั๊มได้ตามรอบ เมื่อคุณแม่ตกรอบปั๊มนมบ่อย ๆ ก็จะทำให้น้ำนมถูกกระตุ้นน้อยลง และน้ำนมก็จะค่อยเริ่มหายไป
- อาการเจ็บป่วย: ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคบางโรคอาจส่งผลต่อน้ำนมของคุณแม่ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ รวมถึงการใช้ยาบางประเภทด้วย
น้ำนมไม่ค่อยมี ผิดปกติหรือไม่
แม่หลังคลอดทำไมน้ำนมยังไม่มา พยายามให้ลูกดูดนมแล้วแต่น้ำนมยังไม่ค่อยไหล น้ำนมไม่ค่อยมี หรือน้ำนมมาน้อยเป็นเรื่องปกติของคุณแม่หลังจากคลอดลูก เหตุผลเพราะทารกยังดูดนมได้ไม่เต็มที่ ทำให้กระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเล็กอยู่ทำให้ในช่วงแรกลูกน้อยยังดูดนมได้ไม่มากนัก ทำให้น้ำนมแม่ไม่ค่อยมี แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะถ้าคุณแม่พยายามให้ลูกดูดนมกระตุ้นเต้านมบ่อย ๆ ไม่นานน้ำนมคุณแม่ก็จะไหลมาเอง
น้ำนมน้อย ส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างไร
นมแม่ เป็นโภชนาการเดียวของทารก มีสารอาหารมากมายที่ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตแล้วยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย จึงช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วย เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น ตระกูลบิฟิโดแบคทีเรียม บีแล็กทิส ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ของลูกน้อย นมแม่จึงช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ช่วยต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ และเสริมสร้างสติปัญญาให้กับทารก หากคุณแม่มีน้ำนมที่น้อยอาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้ไม่เต็มที่ จนส่งผลให้เด็กมีขนาดตัวที่เล็ก น้ำหนักตัวน้อย และส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคตได้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
- ทารกร้องไห้งอแงตลอดเวลา และยังแสดงอาการหงุดหงิดหรือทำท่าไม่พอใจหลังจากดื่มนมแม่
- ส่งเสียงดังขณะดูดนม หากลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี คุณแม่จะไม่ค่อยได้ยินเสียงการดูดนมของทารกเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณแม่ได้ยินเสียงการดูดนมของลูกที่ผิดปกติหรือมีเสียงดูดที่ดังหรือไม่ได้ยินเสียงกลืนนมของเด็ก แสดงว่าคุณแม่ให้ลูกดูดนมผิดวิธี ทำให้ลูกน้อยได้รับนมไม่เพียงพอ แม้ว่าจะใช้เวลาในการให้นมนานก็ตาม
- ในเด็กทารกที่อายุประมาณ 4 วัน ให้สังเกตจากการขับถ่าย หากทารกได้รับนมไม่พอ อุจจาระของลูกน้อยจะไม่เปลี่ยนจากสีเทาไปเป็นสีเหลือง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อวัน และมีการปัสสาวะน้อยกว่า 6 ครั้งต่อวัน โดยสีปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือส้ม
- ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวลดไม่เป็นไปตามเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็ก เพราะโดยปกติแล้วทารกแรกเกิดต้องมีพัฒนาการของทั้งน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณแม่พบว่าลูกน้อยมีน้ำหนักตัว ที่ลดน้อยลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น สาเหตุก็อาจมาจากเด็กได้รับนมแม่ที่ไม่เพียงพอ
น้ำนมไหลน้อย น้ำนมไม่ไหล คุณแม่จะมีวิธีกู้น้ำนมได้อย่างไรบ้าง?
หากคุณแม่หลังคลอดน้ำนมไหลน้อย มีวิธีการกระตุ้นน้ำนมดังนี้
- ให้ลูกดูดนมเร็ว: การกระตุ้นน้ำนมได้ผลดีที่สุด คือ คุณแม่จะต้องให้ลูกดูดนมหลังคลอดโดยเร็วที่สุดภายในระยะเวลา 15-30 นาที
- ให้ลูกดูดนมบ่อย: คุณแม่ต้องพยายามให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือวันละ 8-12 ครั้ง หรือมากกว่านั้นตามที่ลูกต้องการ พยายามสลับข้างให้ลูกดูดเพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนมทั้งสองข้าง
- ให้ลูกดูดนมนาน: ในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมคุณแม่ควรให้ลูกดูดนานอย่างน้อยข้างละ 15 นาที หรือปล่อยให้ลูกดูดนมไปจนกว่าลูกจะเลิกดูดนมไปเอง
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่ยกทรงที่รัดแน่นเกินไป: ปัญหาส่วนใหญ่ของคุณแม่หลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรกมักจะเป็นเรื่องของอาการคัดเต้านมทำให้น้ำนมไม่ไหล หรือไหลได้น้อย รวมถึงการที่คุณแม่ใส่ยกทรงรัดแน่นมากเกินไปทำให้น้ำนมไหลไม่สะดวก
- ใช้น้ำอุ่นประคบเต้านม: ในกรณีที่คุณแม่คลำเจอก้อนในเต้านมซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาการคัดเต้านม คุณแม่สามารถใช้น้ำอุ่นมาประคบบริเวณก้อนที่พบเพื่อให้ความร้อนช่วยสลายก้อนแข็งและช่วยให้น้ำนมไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
- นวดเต้านม: หลังจากที่ให้ลูกดูดนมแล้วคุณแม่ควรนวดคลึงเต้านมเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากนำผ้าชุบน้ำอุ่นก่อน แล้วประคบท้องไว้ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นนวดเป็นวงกลมโดยใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางไล่ตั้งแต่ฐานเต้านมไปจนถึงหัวนม
- ระบายน้ำนมออก: วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ง่าย ๆ เพียงเริ่มจากให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อน จากนั้นค่อย ๆ บีบระบายน้ำนมออกโดยใช้นิ้วมือจับเต้าเป็นรูปตัว C หรือตัว U ในระยะห่างจากฐานเต้านม 3-4 เซนติเมตร อย่างเบามือในลักษณะบีบแล้วคลาย ทำแบบนี้จนรอบเต้า
ถ้าผ่านไป 2-3 วันหลังคลอดแล้วคุณแม่ยังรู้สึกว่าน้ำนมยังไหลน้อยอยู่ น้ำนมไหลช้า คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะว่าทารกยังดูดนมได้น้อยอยู่ แต่เมื่อกระเพาะอาหารของลูกน้อยใหญ่ขึ้นลูกจะค่อย ๆ ดูดนมเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำนมคุณแม่ถูกกระตุ้นมากขึ้น ไม่นานน้ำนมของคุณแม่ก็จะไหลพุ่งปรี๊ดออกมาให้ลูกน้อยได้กินไปอีกนาน นอกจากนี้ คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องอาหารเพิ่มน้ำนม และพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และพยายามให้ลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมเป็นประจำ เพื่อเพิ่มน้ำนมคุณแม่ และเร่งการกระตุ้นน้ำนมให้กลับมาไหลมากเหมือนเดิม
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
อ้างอิง:
- เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี
- Q&A การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซนเตอร์
- การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน (Relactation), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- น้ำนมน้อย อยากเพิ่มน้ำนมแม่ สาเหตุ และวิธีแก้ไข, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน, โรงพยาบาลสมิติเวช
- มารดามักมีความเชื่อเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ1, ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครทรวิโรฒ
- ลูกได้น้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คู่มือมารดาหลังคลอด และการดูแลทารก สำหรับคุณแม่, กรมอนามัย
- คุณแม่หลังคลอดรับมือให้ถูก อะไรควรเพิ่ม อะไรต้องลด, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- 3 เทคนิคดูแลภาวะน้ำนมน้อยในคุณแม่, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- แพทย์ชี้ โภชนาการเด็กขวบปีแรกสำคัญ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567