ประจำเดือนหลังคลอดจะเริ่มมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนหลังคลอดมากี่วัน
ประจำเดือนหลังคลอด คือ การมีประจำเดือนครั้งแรกหลังจากคลอดทารก โดยทั่วไปร่างกายของคุณแม่ที่ให้นมบุตรร่วมกับนมชงจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ในการฟื้นฟูระบบฮอร์โมนให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งส่งผลต่อการกลับมาของการมีประจำเดือน ส่วนคุณแม่ที่ให้นมบุตรเพียงอย่างเดียวในบางราย อาจไม่มีประจำเดือนตลอดระยะเวลาที่ให้นมบุตรเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการกลับมาของประจำเดือนหลังคลอดนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
PLAYING: ประจำเดือนหลังคลอดจะเริ่มมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนหลังคลอดมากี่วัน
สรุป
- ประจำเดือนหลังคลอดมาช้าหรือเร็วอยู่ที่ปัจจัยของคุณแม่แต่ละคน ในเรื่องฮอร์โมน สภาพร่างกาย และการให้นมลูก
- โดยทั่วไป หากคุณแม่ไม่ได้ให้นมลูก ประจำเดือนหลังคลอดเริ่มมาประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังคลอด
- ประจำเดือนหลังคลอดที่กลับมาในช่วงแรก อาจไม่สม่ำเสมอ แต่จะกลับมาเป็นปกติในที่สุด เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ
- การดูแลร่างกายอย่างถูกต้อง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นดูแลสุขอนามัย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากิจกรรมผ่อนคลายทำ จะช่วยให้ประจำเดือนหลังคลอดกลับมาปกติ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาเมื่อไหร่
- ประจําเดือนหลังคลอดมากี่วัน จะรู้ได้ไงว่าผิดปกติ
- ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประจำเดือนหลังคลอดมาช้า
- คลอดเองกับผ่าคลอด ประจำเดือนหลังคลอดจะมาช้าเร็วต่างกันไหม
- หลังคลอดลูก ประจำเดือนหลังคลอดมาแบบไหน
- มีประจำเดือนหลังคลอดแล้วปวดท้องมาก กินยาแก้ปวดได้ไหม
- วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด เพื่อให้ประจำเดือนหลังคลอดมาปกติ
ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาเมื่อไหร่
การกลับมาของการมีประจำเดือนหลังคลอดบุตรนั้น อาจมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา สุขภาพร่างกาย และการให้นมบุตร โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
- คุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกหรือให้นมลูกร่วมกับนมชง โดยทั่วไปคุณแม่จะกลับมามีประจำเดือนภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากเกิน 3 เดือนแล้วประจำเดือนยังไม่มา ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุดูว่า มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือเปล่า
- คุณแม่ที่ให้นมลูกเพียงอย่างเดียว ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อผลิตน้ำนมจะไปยับยั้งการตกไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนอาจจะไม่มาตลอดช่วงที่ให้นมลูก ไม่ถือว่าผิดปกติ ทั้งนี้ ความถี่และปริมาณการให้นมลูก ส่งผลต่อการกลับมามีประจำเดือน หากคุณแม่ให้นมลูกน้อยลง ประจำเดือนหลังคลอดอาจกลับมาเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะหยุดการตกไข่ในช่วงให้นมลูกเสมอไป คุณแม่บางรายที่ให้นมลูกอาจกลับมามีประจำเดือนหลังคลอด 1 เดือน หรือคุณแม่บางรายอาจมีประจำเดือนช้าหลายเดือน ทั้งนี้ประจำเดือนหลังคลอดของคุณแม่แต่ละรายอาจมาช้าเร็วแตกต่างกันไปด้วยหลายปัจจัย
ประจําเดือนหลังคลอดมากี่วัน จะรู้ได้ไงว่าผิดปกติ
ลักษณะของประจำเดือนหลังคลอดนั้นคล้ายกับประจำเดือนปกติ อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วยในช่วงแรก ปริมาณเลือด อาจมาก แต่จะกลับมาเป็นปกติในที่สุด เนื่องจากในช่วงแรก ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดต้องการเวลาปรับตัว ประจำเดือนจึงอาจมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย
โดยทั่วไปแล้ว ประจำเดือนจะมาหลังจากน้ำคาวปลาหมดประมาณ 1 เดือน สำหรับคุณแม่ให้นมลูก ประจำเดือนอาจมาช้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ให้นมบุตร และสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ คุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะกลับมาตกไข่ได้เร็ว ส่งผลให้ประจำเดือนกลับมาได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพบภาวะ เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ในกรณีต่อไปนี้
- เลือดออกมากกว่าปกติ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย 1 ชิ้นต่อชั่วโมง
- น้ำคาวปลา มีสีแดงสดนานเกิน 4 วัน หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- ปวดท้องน้อย 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด หรือปวดท้องกะทันหันอย่างรุนแรง
- เป็นไข้เฉียบพลัน หรือมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีประจำเดือนมากกว่า 7 วัน
- มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ ออกมาร่วมกับเลือดประจำเดือน เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประจำเดือนหลังคลอดมาช้า
การไม่มีประจำเดือนหลังคลอด หรือประจำเดือนมาช้าหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลใจ ระยะเวลาที่ประจำเดือนจะกลับมาหลังคลอดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน สุขภาพร่างกาย และการให้นมบุตร ดังนี้
- ฮอร์โมน ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมรอบเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ส่งผลต่อการกลับมาของประจำเดือน
- ความสมบูรณ์ของร่างกาย คุณแม่ที่อายุยังน้อย สุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจกลับมามีประจำเดือนได้เร็วกว่า
- การให้นมลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้นมบุตร 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ประจำเดือนมาช้า หรืออาจไม่มาเลยตลอดช่วงที่ให้นมบุตร เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินที่ผลิตน้ำนมจะไปยับยั้งการตกไข่
คลอดเองกับผ่าคลอด ประจำเดือนหลังคลอดจะมาช้าเร็วต่างกันไหม
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประจำเดือนหลังคลอดมาช้าเร็วแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องของฮอร์โมนที่จะค่อย ๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ความสมบูรณ์ของร่างกายคุณแม่แต่ละคน รวมไปถึงความถี่และระยะเวลาในการให้นมบุตร ดังนั้น ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดเองกับผ่าคลอด ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่ากัน
หลังคลอดลูก ประจำเดือนหลังคลอดมาแบบไหน
หลังคลอดบุตร ร่างกายของคุณแม่จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในช่วงแรก แต่หากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยมาก มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณเลือดมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด
- มีไข้เฉียบพลัน หากคุณแม่มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก รู้ไม่สบายตัวจนทนไม่ไหว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
- มีอาการปวดท้องรุนแรง อาการปวดท้องน้อยเป็นอาการที่พบได้บ่อยขณะมีประจำเดือน แต่หากปวดท้องรุนแรงมาก กะทันหัน หรือปวดท้องแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์ทันที
- ประจำเดือนหลังคลอดไม่มานานกว่า 3 เดือน สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก ประจำเดือนอาจไม่มาเลย ตลอดระยะเวลาที่ให้นมไม่ถือว่าผิดปกติ แต่หากคุณแม่ไม่ได้ให้นมลูก ไม่ควรปล่อยให้ประจำเดือนหลังคลอดไม่มานานเกิน 3 เดือน เนื่องจากปกติประจำเดือนหลังคลอดควรจะมาภายใน 6-8 สัปดาห์ หากประจำเดือนหลังคลอดไม่มาเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
มีประจำเดือนหลังคลอดแล้วปวดท้องมาก กินยาแก้ปวดได้ไหม
หากมีอาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนหลังคลอด เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัว และมดลูกกำลังหดตัวเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ คุณแม่สามารถประคบอุ่น เพื่อบรรเทาอาการปวด ในกรณีปวดประจำเดือนมาก มีความจำเป็นต้องใช้ ยาแก้ปวด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับชนิดและปริมาณยาที่เหมาะสม
วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด เพื่อให้ประจำเดือนหลังคลอดมาปกติ
การดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย กลับมาทำงานเป็นปกติ รวมถึงการกลับมาของประจำเดือนด้วย คุณแม่ลองปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้ดู
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายกลับมาสู่ภาวะสมดุล ซึ่งมีผลต่อการกลับมาของประจำเดือน
- ดูแลสุขอนามัย เปลี่ยนผ้าอนามัยสม่ำเสมอ การเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ และทำให้รู้สึกสะอาดสบายตัว
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ และไข่ ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ซึ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัว ดื่มน้ำสะอาดประมาณวันละ 8 แก้ว ช่วยให้ร่างกายขับของเสีย และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น
- หากิจกรรมผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือทำสมาธิ ช่วยลดความเครียดและช่วยให้จิตใจสงบ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสามี ญาติ หรือเพื่อนฝูง เพื่อให้คุณได้พักสมองจากการดูแลลูกตลอดเวลา
ประจำเดือนหลังคลอดมาช้าหรือเร็วอยู่ที่ปัจจัยของคุณแม่แต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพร่างกาย ระยะเวลาที่ร่างกายต้องปรับตัว และการให้นมบุตร แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล ในช่วงแรกประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้ประจำเดือนหลังคลอดมาปกติ แต่หากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- 7 วิธีลดหน้าท้องหลังคลอดอย่างปลอดภัย ให้คุณแม่กลับมาเฟิร์มอีกครั้ง
- โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงสำคัญกับคุณแม่ตั้งครรภ์แค่ไหน
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับคุณแม่ท้องและลูกในครรภ์อย่างไร
- คนท้องเท้าบวมเพราะอะไร ปกติหรือไม่ มีวิธีลดบวมยังไงบ้าง
- คนท้องเป็นกรดไหลย้อนอันตรายไหม คุณแม่มือใหม่รับมือแบบไหนดี
- คนท้องท้องอืด แก้ยังไงดี พร้อมเมนูอาหารแก้ท้องอืดสำหรับคนท้อง
- คนท้องปวดหลัง เกิดจากอะไร วิธีดูแลคนท้องปวดหลังพร้อมวิธีแก้ปวด
- คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ
- คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย บอกอะไรได้บ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ
อ้างอิง:
- ประจำเดือนหลังคลอด เริ่มมาตอนไหน และต้องดูแลตัวเองอย่างไร, Pobpad
- หลังคลอดประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่ และคุณแม่ต้องดูแลตนเองอย่างไร?, โรงพยาบาลพญาไท
- Worried about first period after delivery?, CKB Hospital
- 13 คำถามยอดฮิตสำหรับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- 13 อาการผิดปกติหลังคลอด, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2567