คลอดก่อนกำหนด ภาวะที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม
หญิงตั้งครรภ์ที่คลอดตามกำหนดคลอดจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ แต่การคลอดก่อนกำหนดนั้นจะเกิดขึ้นก่อน 37 สัปดาห์ ซึ่งผลกระทบการคลอดก่อนกำหนด อาจไม่มีผลกับแม่ท้องมากนัก แต่จะมีผลโดยตรงกับทารกเนื่องจากคลอดออกมาก่อนที่ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่ หรือยังไม่มีความพร้อมที่จะออกมาดูโลก เช่น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของระบบต่าง ๆ ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน ระบบการหายใจ และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ อาจมีผลทำให้ทารกเสียชีวิตหรือเกิดความพิการได้
สรุป
- คลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเสียชีวิตหรือพิการ เพราะอวัยวะภายในร่างกายและระบบต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์
- ปัจจัยจากแม่ที่ส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เช่น มีความเครียด มีโรคประจำตัว ไขมัน ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ หรือมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนักมากเกินไป ล้วนส่งผลให้แม่ท้องคลอดก่อนกำหนดได้
- การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องดูแลด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน เช่น ดูแลและติดตามระบบการหายใจ การควบคุมอุณหภูมิ ตรวจเลือดตามความจำเป็น ดูแลการได้รับโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก โดยทางโรงพยาบาลจะดูแลทารกจนกว่าน้ำหนักตัวมากกว่า 2,000 กรัม จึงจะสามารถกลับบ้านได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เมื่อไรเรียกคลอดก่อนกำหนด
- คลอดก่อนกำหนดเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
- ทารกคลอดก่อนกำหนด ส่งผลอะไรบ้าง
- ทารกคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้การดูแลแบบไหน
- วิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณพ่อคุณแม่
- การดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่เลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี
- ประโยชน์ของการฝากครรภ์ ที่คุณแม่ควรรู้
เมื่อไรเรียกคลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเสียชีวิตหรือพิการ เพราะอวัยวะภายในร่างกายและระบบต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ปกติแล้วการคลอดก่อนกำหนดอันตรายมักจะเกิดกับตัวทารกมากกว่าตัวคุณแม่ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดมีปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากตัวคุณแม่ เช่น แม่ท้องอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือแม่ท้องอายุมากกว่า 35 ปี และปัจจัยจากตัวทารกเอง เช่น ทารกมีความพิการแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด
คลอดก่อนกำหนดเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
1. การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากแม่
การคลอดก่อนกำหนด ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุหลักมักจะเกิดจากคุณแม่ โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- อายุของแม่ท้อง แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยหรืออายุมาก ส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ แม่ท้องที่อายุน้อยเกินไป คือ มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือแม่ท้องที่อายุมากเกินไป คือ มีอายุมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- แม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
- แม่ท้องมีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด
- แม่ท้องที่ตั้งครรภ์แฝด มดลูกขยายตัวมากเกินไป หรือมีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
- ปากมดลูกสั้น ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของแม่ท้อง
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ในขณะที่ตั้งครรภ์มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และติดเชื้อตามมา ส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
- ช่องคลอดอักเสบ
- แม่ท้องดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
- ฟันผุหรือเหงือกอักเสบ
2. การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากลูก
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด นอกจากเกิดจากแม่ท้องแล้ว ปัจจัยจากทารกในครรภ์ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน คือ
- ทารกเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดหรือทารกมีความพิการ
- ทารกในครรภ์เติบโตช้า
ทารกคลอดก่อนกำหนด ส่งผลอะไรบ้าง
คลอดก่อนกำหนด ที่คลอดตั้งแต่อายุครรภ์ต่ำกว่า 37 สัปดาห์ การพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทารกยังเจริญเติบโตและพัฒนาไม่เต็มที่ คลอดก่อนกำหนดส่งผลต่อทารก ดังนี้
ระบบทางเดินหายใจ
- เนื่องจากการทำงานของปอดไม่สมบูรณ์ ภาวะหายใจลำบากเกิดจากการขาดสารลดแรงตึงผิวเป็นปัญหาของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคลอดในช่วงอายุครรภ์น้อย ๆ โอกาสเกิดปัญหาระบบหายใจยิ่งเพิ่มมากขึ้น สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) คือ สารที่เป็นตัวพยุงทำให้ถุงลมในปอดไม่แฟบเมื่อหายใจออก และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ปกติ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสารลดแรงตึงผิวยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในระบบหายใจทำได้ไม่ดี หายใจลำบาก สังเกตเวลาที่ลูกน้อยหายใจ ได้แก่ ทารกจะหายใจเร็ว อกบุ๋ม จมูกบาน ตัวเขียว
- ภาวะหยุดหายใจ เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ทารกไม่ต้องหายใจเองหรืออาจจะหายใจเองบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว โดยเฉพาะแรกคลอด ทารกคลอดก่อนกำหนดจะนอนนิ่ง ๆ หรือบางคนเงียบไปเลย ในช่วงที่หลับจะมีภาวะหยุดหายใจ เนื่องจากศูนย์ควบคุมการหายใจยังทำงานได้ไม่เต็มที่
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน สำหรับทารกที่คลอดปกติ เส้นเลือดหัวใจจะเป็นทางลัดผ่านของเลือดจากหัวใจห้องล่างขวาไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย ซึ่งไปเลี้ยงส่วนล่างของลำตัว เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วหลอดเลือดหัวใจจะหดตัวเล็กลงจนปิด แต่สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดนี้จะยังคงเปิดอยู่ จึงมีลักษณะคล้ายการเกิดรูรั่วในหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
- ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง มักเกิดในทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถเกิดขึ้นได้หลังคลอด เพราะสมองทารกแรกคลอดโดยเฉพาะคลอดก่อนกำหนดจะเปราะบางมาก
- ภาวะติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายจนถึงช่วงขวบปีแรก เพราะระบบกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคที่ได้รับจากคุณแม่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ
- ภาวะลำไส้เน่า เกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของทารกที่เกิดมามีขนาดตัวเล็กมาก ยิ่งตัวเล็กมากเท่าไรโอกาสเกิดภาวะลำไส้เน่ายิ่งเพิ่มมากขึ้น
- น้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนดมักจะมีน้ำหนักน้อย ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ได้รับโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก
- การมองเห็น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้เส้นเลือดจอประสาทตาทำงานยังไม่สมบูรณ์ มีความเปราะบางและแตกง่ายกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย อาจเกิดแผลในจอประสาทตา จอประสาทตาหลุด ส่งผลต่อการมองเห็นของทารกต่อไป
- การได้ยิน เด็กคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ ดังนั้นทารกต้องได้รับการตรวจการได้ยินก่อนออกจากโรงพยาบาล และควรได้รับวัคซีนซ้ำเมื่อทารกมีอายุ 3-6 เดือน
- ภาวะโลหิตจาง ร่างกายของทารกจะสะสมธาตุเหล็กในปริมาณที่น้อย มีโอกาสเกิดภาวะโลหิตจางตามธรรมชาติได้ง่าย
- มีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบปีแรก หลังจากนั้นหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจะเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนเด็กทั่วไป
ทารกคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้การดูแลแบบไหน
สิ่งสำคัญสำหรับการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด คือ ต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ คุณหมอแนะนำดังนี้
- ร่วมพูดคุยรายละเอียดภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นของทารกกับคุณพ่อคุณแม่
- ดูการหายใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีทารกบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม
- ตรวจเลือดตามความจำเป็น
- สนับสนุนให้ทารกได้รับนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียมและสฟิงโกไมอีลิน ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ดูแลทารกจนกว่าน้ำหนักตัวจะขึ้นถึง 2,000 กรัมถึงจะให้กลับบ้านได้
วิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณพ่อคุณแม่
การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ มีแนวทางดังนี้
- จัดสถานที่ สภาพแวดล้อมให้สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงรบกวน
- ควรให้ทารกได้ดูดนมแม่บ่อย ๆ แม้ว่าทารกจะนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ คุณแม่ควรปลุกให้ทารกดูดนมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทารกน้อยได้รับสารอาหารจากนมแม่อย่างเพียงพอ
- หลังจากให้ทารกดูดนมแม่เรียบร้อย ควรระมัดระวังไม่ให้ทารกแหวะนมหรือสำรอกนมออกมา จัดท่าทางให้ทารกเรอออกมาเพื่อไล่ลมในท้อง ช่วยลดอาการท้องอืด
- ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีภาวะตัวเย็นได้ง่าย ทำให้ลูกไม่สบายบ่อย ๆ หากทารกน้อยมีอาการไข้ มีน้ำมูก หรือเสมหะ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
- ปกติแล้วเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กคลอดตามกำหนดประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งทารกคลอดก่อนกำหนดแต่ละคนจะมีปัจจัยแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารกได้ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ หรือแขวนโมบายกรุ๊งกริ๊งไว้ให้ลูกน้อยมอง หรืออยากไขว่คว้า จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกได้
- ไม่ควรพาทารกน้อยไปสถานที่แออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก่อนอุ้มทารกคุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมถึงแจ้งและทำความเข้าใจกับญาติ ๆ หรือผู้มาเยี่ยมเนื่องจากทารกน้อยเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจะมีมากกว่าทารกที่คลอดปกติทั่วไป เพราะเชื้อโรคอาจแฝงมากับผู้มาเยี่ยมได้
- สังเกตการขับถ่ายหากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นมูก ถ่ายเหลว หรือมีกลิ่นผิดปกติ หรือความผิดปกติของผิวหนัง เช่น เกิดตุ่มพองโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังแห้ง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ
- พาทารกน้อยไปพบคุณหมอตามกำหนดการตรวจสุขภาพตรงเวลา สม่ำเสมอตามนัด เพื่อติดตามดูแลรักษาต่อเนื่อง
การดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
จากสถิติ ประเทศไทยมีเด็กคลอดก่อนกำหนดประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ดังนี้
- ควรตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หากตรวจพบความผิดปกติในร่างกายที่เกิดขึ้น และรักษาหรือควบคุมโรคก่อนการตั้งครรภ์
- หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพราะการตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ ภายใน 2 เดือนแรก จะช่วยยืนยันอายุครรภ์ได้ดีที่สุด และควรแจ้งคุณหมอหากตนเองมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เช่น เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดในท้องที่ผ่านมา หรือมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
- แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด หากคุณหมอตรวจพบว่า คุณแม่มีปากมดลูกสั้น แพทย์จะให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ใช้สอดในช่องคลอดเพื่อป้องกันไม่ให้ปากมดลูกสั้นลง จากข้อมูลพบว่า การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หากให้ฮอร์โมนแล้วยังเกิดความเสี่ยง คุณหมออาจใช้วิธีใช้ห่วงซิลิโคน (Pessary) เข้าไปรัดปากมดลูก หรือเย็บปากมดลูก
คุณแม่เลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี
หากคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ข้อควรคำนึงถึงวิธีการเลือกฝากครรภ์เพื่อความสบายใจและความปลอดภัย ดังนี้
- มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
- ทีมแพทย์พยาบาลสามารถให้คำแนะนำได้อย่างใกล้ชิด
- มีเครื่องมือครบครัน มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
ประโยชน์ของการฝากครรภ์ ที่คุณแม่ควรรู้
- คุณแม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องทั้งทางร่างกายและจิตใจ คุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและตอบคำถามที่คุณแม่สงสัย หรือข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องขณะตั้งครรภ์จนถึงคลอด
- เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์ รวมถึงการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง เป็นต้น รวมถึงตรวจดูท่าทางของทารกในครรภ์ หรือตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารกและหาแนวทางรักษาต่อไป
- คุณหมอจะทำการตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปโดยปกติและคลอดลูกออกมาอย่างปลอดภัย หากเกิดโรคแทรกซ้อนจะทำการรักษาโดยด่วนเพื่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด
- ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับทารก เพราะการฝากครรภ์ช่วยลดอัตราการแท้ง การคลอดลูกก่อนกำหนด หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิต ป้องกันทารกในครรภ์ไม่ให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมออกมาดูโลกด้วยความปลอดภัย
การคลอดก่อนกำหนด เกิดจากปัจจัยทั้งแม่ท้องและปัจจัยจากทารก อย่างไรก็ตามหากทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามที่นัด เพราะคุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- เด็กคลอดก่อนกำหนด ดูแลรักษาถูกวิธี พัฒนาการดีสมวัย, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ภาวะ “คลอดก่อนกำหนด”, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- คลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลเปาโล
- ปัญหาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเหลือง หายใจลำบาก ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี
- เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร ตอบข้อสงสัยคุณแม่มือใหม่, โรงพยาบาลนครธน
อ้างอิง ณ วันที่ 30 มกราคม 2567