พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย

08.03.2024

เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ หรือเด็กก่อนวัยเรียนนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ เด็กจะมีการพัฒนาทักษะทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก การสื่อสาร การเข้าสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกกว้าง การส่งเสริมพัฒนาการของลูกในช่วง 5 ขวบ ปีแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ และเป็นหนึ่งในความท้าทายที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สัมผัส เพราะการส่งเสริมพัฒนาการของลูกตั้งแต่วัยนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย

อ่าน 9 นาที

สรุป

  • เด็ก 5 ขวบเป็นช่วงวัยที่กำลังพัฒนาทักษะทางความคิด อารมณ์ การสื่อสาร คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพัฒนาการลูก
  • เด็ก 5 ขวบ มีการพัฒนาทางร่างกายอย่างชัดเจน เคลื่อนไหวและทรงตัวได้คล่องแคล่วมากขึ้น
  • คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกวัย 5 ขวบรู้จักการดูแลตัวเอง ฝึกทำงานบ้านง่าย ๆ รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

งานวิจัยของกรมอนามัย ปี พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยมีเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปีที่มีพัฒนาการล่าช้ามากถึงร้อยละ 27.5 หรือประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เด็กรับประทาน การเลี้ยงดูโดยผู้ใหญ่ หรือการเติบโตมาโดยที่ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการส่งเสริมพัฒนาการเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเริ่มต้นสร้างบุคลิกภาพ และกำหนดแนวคิดของเด็ก เพื่อให้สามารถเติบโตอย่างสมบูรณ์และมีพัฒนาการที่สมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของลูก 5 ขวบในแต่ละด้านได้ ดังนี้

 

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ด้านการเคลื่อนไหว

เด็กอายุ 5 ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางร่างกายที่โดดเด่น ชัดเจน ทั้งการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วมากขึ้น ทรงตัวได้ดีขึ้น สามารถใช้อวัยวะต่าง ๆ เช่น แขน ขา ประสานงานกันได้เป็นอย่างดี สามารถวิ่ง กระโดด เตะ เดินถอยหลัง ยืนขาเดียว ตีลังกา ปีนป่าย ใช้มือหยิบจับข้าวของได้คล่องแคล่วมากขึ้น เทน้ำเองได้ เริ่มรู้จักการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนง่าย ๆ จับดินสอได้ถูกวิธี ด้วยการจับให้ดินสออยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ และนิ้วกลาง โดยจับสูงกว่าปลายดินสอประมาณ 1-2 เซนติเมตร วาดรูปตามแบบได้ ใช้ช้อนส้อมตักอาหารเข้าปากได้ เข้าห้องน้ำเองได้ โดยที่ไม่ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วย สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนเทียบเท่ากับผู้ใหญ่

 

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ด้านการเคลื่อนไหว

 

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ด้านการสื่อสาร

เด็ก 5 ขวบจะเริ่มสื่อสารได้ดีมากขึ้น พูดชัดเจนมากขึ้น สามารถพูดโต้ตอบด้วยประโยคที่มีจำนวนคำมากกว่า 5 คำได้ รู้จักการใช้คำนาม สรรพนาม กริยา บุพบท เป็นต้น สามารถพูดคุย เล่าเรื่องต่าง ๆ ได้ เมื่อถูกถามคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างการถามว่า “ทำไม” เด็กก็สามารถบอกเหตุผลของตัวเองได้ เด็กสามารถบอกความรู้สึก บอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ บอกความรู้สึกของตัวเองได้ เช่น กำลังรู้สึกหิว ร้อน หนาว ไม่สบาย เป็นต้น สามารถเล่นบทบาทสมมติ เลียนแบบผู้ใหญ่ เลียนแบบคนทำงานอาชีพต่าง ๆ ได้

 

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ด้านการเรียนรู้

พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก 5 ขวบ มีหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น สามารถนับเลขได้เกิน 10 เริ่มเขียนตัวอักษรหรือตัวเลขบางตัวได้ สามารถแยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น สามารถแยกความแตกต่างของสีได้ไม่ต่ำกว่า 8 สี สามารถแยกความแตกต่างของเหรียญเงินแต่ละแบบได้ แยกแยะความจริงกับโลกในจินตนาการได้ สามารถต่อภาพ และเล่นจิ๊กซอว์ที่มีจำนวนไม่เกิน 8 ชิ้นได้ จำชื่อคน และชื่อสถานที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น สามารถบอกได้ว่าอะไรคืออันดับที่หนึ่ง อะไรคืออันดับสุดท้าย รู้จักการคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รู้จักการทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การแปรงฟันก่อนนอน การต่อคิวรอซื้อของ เป็นต้น รวมไปถึงเริ่มทำความเข้าใจเรื่องเพศ รับรู้ว่าตัวเองเป็นเพศอะไร

 

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ ด้านอารมณ์

คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกวัย 5 ขวบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะพบว่าลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวลดลง ทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง เมื่อมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน ลูกก็เริ่มยอมทำตามข้อตกลงนั้นมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักการขอโทษ เลิกกลัวสิ่งที่เคยกลัว เช่น ผี ความมืด เป็นต้น เริ่มมีความรู้สึกอิจฉาเพื่อน อยากเป็นอย่างเพื่อน อยากให้เพื่อนชอบ

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงลูกอายุ 5 ขวบ

1. ไม่ควรละเลยการสอนให้แปรงฟันอย่างถูกวิธี

เด็กอายุ 5 ขวบ สามารถใช้มือของตนเองหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกแปรงฟันด้วยตัวเอง เพื่อให้ลูกฝึกใช้มือ เป็นการฝึกให้ลูกพึ่งพาตัวเอง ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้ได้ ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกแปรงฟันเอง แล้วค่อยแปรงซ้ำให้จนกว่าลูกจะอายุครบ 6-8 ปี โดยควรให้ลูกแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ตอนเช้าและก่อนนอน

 

2. อย่าปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอนานเกินไป

เด็กอายุ 5 ขวบ เป็นวัยที่สามารถสื่อสาร โต้ตอบ พูดคุยได้ดีมากขึ้น ช่างคิด ช่างจินตนาการ ช่างสงสัย ชอบซักถามสิ่งต่าง ๆ หากปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอนานเกินไป ลูกจะขาดโอกาสที่จะได้สื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการในด้านความคิดและการสื่อสารของลูกได้ด้วยการหมั่นพูดคุยกับลูก คอยตอบคำถามที่ลูกสงสัย สนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือ เล่นบทบาทสมมุติ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการ และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

 

3. ตอบคำถามลูกอย่างมีเหตุมีผลทุกครั้ง

เด็กวัยนี้เป็นเด็กที่มีจินตนาการสูง สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เริ่มแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ลูกจึงมักจะเกิดคำถามขึ้นมากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วยการใส่ใจกับคำถามของลูกหมั่นพูดคุย ตอบคำถาม ด้วยการตอบแบบสั้น ง่าย ได้ใจความ และเข้าใจง่าย เพื่อให้เด็กรู้จักการคิด ตั้งคำถาม และกล้าที่จะซักถามเมื่อรู้สึกสงสัย

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 5 ขวบ

1. พาลูกออกไปเล่นและเรียนรู้นอกบ้านบ้าง

เด็กวัยนี้เป็นเด็กที่มีจินตนาการ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกออกไปเล่นนอกบ้าน หรือไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มจินตนาการ ตอบข้อสงสัยในสิ่งที่ลูกสนใจ และเพิ่มทักษะการเข้าสังคม ด้วยการออกไปทำกิจกรรมสำหรับเด็ก เล่นกับเพื่อน ไปเที่ยวสถานที่ที่เหมาะสำหรับเด็กเพื่อเปิดหูเปิดตา และเสริมความรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น

 

2. ให้เล่นของเล่นเสริมการเรียนรู้ มากกว่าให้เล่นโทรศัพท์

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลและควบคุมการใช้โทรศัพท์ แท็บเล็ต และโทรทัศน์ของลูกไม่ให้มากเกินไป มีเวลาพูดคุยกับลูก เล่นด้วยกัน อ่านหนังสือด้วยกัน เพื่อเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา ให้ลูกฝึกคิด ฝึกลูกพูด เรียนรู้ และเสริมจินตนาการ หรือชวนลูกทำงานบ้านง่าย ๆ อย่างเช่นการเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จแล้ว หรือจัดโต๊ะกินข้าว เป็นต้นเพื่อให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง

 

3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และฝึกรับประทานผักผลไม้

เด็กอายุ 5 ขวบ เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต จึงควรได้รับสารอาหารบำรุงสมองและร่างกายที่เพียงพอและเหมาะสม โดยเด็ก 5 ขวบ สามารถรับประทานอาหารทั่วไปได้เหมือนสมาชิกคนอื่นในครอบครัว แต่ควรลดปริมาณเกลือในอาหารของเด็ก และควรเสริมอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง เช่น นม ไข่แดง ปลาตัวเล็กตัวน้อย เพื่อเสริมการเจริญเติบโตของกระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อ

 

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกให้รับประทานผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ สอนลูกให้รู้จักประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิด สอนว่าอาหารประเภทไหนรับประทานได้ อาหารประเภทไหนไม่ควรรับประทาน หากลูกไม่ชอบรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คุณพ่อคุณแม่สามารถดัดแปลงอาหารนั้นให้น่ารับประทานมากขึ้น และรับประทานง่ายมากขึ้น เช่น การผสมผักในมันบด เพื่อให้ลูกสามารถรับประทานผักได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

 

4. พาลูกไปเรียนว่ายน้ำ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ และเรียนรู้การเอาตัวรอด

เด็กอายุ 5 ขวบ สามารถใช้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้แขนกับขา การพาลูกไปเรียนว่ายน้ำจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อของลูกให้แข็งแรงมากขึ้น ได้ฝึกการเคลื่อนไหวในน้ำอย่างนุ่มนวล ไม่รุนแรง นอกจากนี้การว่ายน้ำยังเป็นทักษะในการเอาตัวรอดที่ลูกควรมีติดตัวอีกด้วย

 

5. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เด็กควรได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เพราะจะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ที่สดใส เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายเพื่อป้องกันโรค ช่วยให้ลูกเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาจนกลายเป็นกิจวัตร สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้น่านอน เงียบ สงบ หรืออาจเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อกล่อมลูกนอน พูดคุยหรือเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และปลอดภัย เป็นต้น

 

พัฒนาการของลูกเริ่มต้นได้จากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ช่วง 5 ขวบแรกของลูกจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลูกจะพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างสมบูรณ์ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่อนาคต คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะให้ความรัก การดูแลเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพของลูก ช่วยให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง และมีพัฒนาการที่สมวัย สามารถดูแลตัวเองและเอาตัวรอดในสังคมได้

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. พัฒนาการเด็กเล็กตามช่วงวัยใน 5 ปีแรก กับสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้, pobpad
  2. ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  3. เด็กวัย 4-5 ปี ช่วงพัฒนาทักษะทางความคิด สติปัญญา และความอยากรู้อยากเห็น, โรงพยาบาลพญาไท
  4. วิธีกระตุ้นพัฒนาการ แก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก, โรงพยาบาลสินแพทย์
  5. Checklist ลูกคุณมีพัฒนาการสมวัยหรือเปล่า, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  6. พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
  7. อาหารในแต่ละช่วงวัยของชีวิต, โรงพยาบาลทักษิณ
  8. เฝ้าดูฟัน 5 ขวบปีแรก, สำนักทันตสาธารณสุข
  9. การนอนในเด็ก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 18 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัยกับผิวลูก

วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัยกับผิวลูก

วิธีทำสไลม์ ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับลูกน้อย สูตรทำสไลม์แบบง่าย ๆ และปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายกับผิวลูก จะมีวิธีทำยังไงบ้าง ไปดูกัน

ลูกหัวโน หัวปูด อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีรับมือ  เบื้องต้นเมื่อลูกหัวโน

ลูกหัวโน หัวปูด อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีรับมือ เบื้องต้นเมื่อลูกหัวโน

ลูกหัวโน ลูกหกล้มจนหัวปูด อันตรายไหม คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตอาการหัวโนของลูกน้อยอย่างไร เมื่อลูกหกล้มหัวโน อาการแบบไหนที่ควรรีบพาลูกไปหาหมอ

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง ทำผ่านออนไลน์ได้ไหม มีขั้นตอนอย่างไร ลูกน้อยต้องอายุเท่าไหร่ถึงเปลี่ยนนามสกุลได้ พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร ลูกเป็นเหา คันหนังศีรษะ คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาอย่างไร หากปล่อยไว้นาน ไม่กำจัดเหา จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม พร้อมวิธีป้องกันเหาในเด็ก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก