พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ทารก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ทารก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

08.03.2024

ชีวิตแม่ลูกอ่อนผ่านไปเร็วมาก ไม่ทันไรลูกน้อยของเราก็จะย่างเข้าวัยขวบปีแล้ว เด็ก 11 เดือนของแม่เติบโตมีความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และควรต้องได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อม การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู จึงเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้พัฒนาการเด็ก 11 เดือน มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งกายและใจ เพื่อจะเรียนรู้โลกกว้าง และก้าวเป็นเด็กวัย 1 ขวบ อย่างมั่นคงทั้งทางร่ายกายและจิตใจ
 

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ทารก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

อ่าน 10 นาที

สรุป

  • พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว สามารถยืนนิ่งทรงตัวได้สั้นๆ ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้หยิบจับสิ่งของได้มากขึ้น และยังใช้นิ้วอื่น ๆ ได้ดี
  • พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านการสื่อสาร แสดงความต้องการด้วยการส่งเสียง แสดงท่าทาง พูดคำที่มีความหมายได้มากกว่าเดิม
  • พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านการเรียนรู้ เข้าใจความหมาย เข้าใจคำสั่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ช่างสังเกต และคอยเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่ เริ่มโยกตัวตามเพลง เลียนแบบทำท่าทางตามเพลงของเด็ก จดจำผู้คนได้มากขึ้น
  • พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านอารมณ์ ต้องการความไว้ใจจากพ่อแม่ สามารถบอกความต้องการให้พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดรู้โดยไม่ร้องไห้ งอแง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน มีการพัฒนาการรวดเร็วอย่างมาก จากที่ใช้มือเหนี่ยวเกาะทรงตัว ก็สามารถที่จะยืนนิ่งทรงตัวได้ด้วยตัวเองสั้นๆโดยไม่ต้องมีใครช่วย เด็กบางคนอาจสามารถก้าวเดินได้ เด็ก 11 เดือนจะใช้มือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ หยิบจับสิ่งของได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังใช้นิ้วอื่นได้ดี ใช้มือจับลูกบอล กลิ้งลูกบอลเล่นไปมาได้ เริ่มจับแก้วน้ำเองได้

 

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านการสื่อสาร

เด็ก 11 เดือนแสดงความต้องการของตัวเองได้แล้ว ด้วยการส่งเสียง ทำท่าทางแสดงความต้องการของตนเองให้พ่อแม่ได้รับรู้ เช่น ยื่นมือไปหาพ่อแม่เมื่ออยากให้อุ้ม ชี้ไปที่สิ่งของเมื่ออยากให้พ่อแม่ดู พูดเป็นคำที่มีความหมายมากขึ้น นอกจากคำว่า หม่ำ จ๊ะ จ๋า เปล่งออกเสียงเป็นภาษาได้มากกว่าเดิม แม้คำบางคำเป็นภาษาของเด็กก็ตาม

 

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านการเรียนรู้

ในด้านการเรียนรู้ พัฒนาการเด็ก 11 เดือน จะเริ่มเรียนรู้ได้มากขึ้น เข้าใจความหมาย เข้าใจคำสั่งต่าง ๆ มากขึ้น สามารถยกมือขึ้นมาโบกเองโดยไม่ต้องมีคนทำให้ดู เช่น เมื่อบอกว่ากลับบ้านแล้ว บ๊ายบายสิลูก เด็กก็จะเรียนรู้ว่า บ๊ายบาย คือการยกมือขึ้นมาโบก สวัสดีได้ หอมแก้มเป็น เด็ก 11 เดือนจะสังเกต และคอยเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่ เริ่มโยกตัวตามเพลง เลียนแบบทำท่าทางตามเพลงของเด็ก จดจำผู้คนได้มากขึ้น

 

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ด้านอารมณ์

พัฒาการเด็ก 11 เดือนทางด้านอารมณ์ เด็กสามารถบอกความต้องการให้พ่อแม่รู้ได้โดยไม่ต้องร้องไห้งอแง ในวัยนี้เด็กต้องการความไว้ใจจากผู้เลี้ยง จากพ่อแม่ เพื่อช่วยให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงในอนาคต ผู้ใกล้ชิดเด็กควรเรียนรู้เข้าใจสนองความต้องการของเขา ไม่ควรปล่อยปละละเลย

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงทารก 11 เดือน

1. ระมัดระวังขอบโต๊ะ ขอบตู้

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน มักเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พ่อแม่จึงควรระมัดระวัง ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ของบ้าน และความแหลมคมของมุมเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เช่น ขอบโต๊ะ ขอบตู้ ขอบเตียงนอน ควรหายางมาหุ้มเพื่อป้องกันลูกชน หรือกระแทก

 

2. ระมัดระวังคำพูด และน้ำเสียงที่ไม่เหมาะสม

คำพูด น้ำเสียงในการพูดของพ่อแม่นั้นสำคัญกับจิตใจ และพฤติกรรมของลูก เด็ก 11 เดือน เรียนรู้ภาษามากกว่าตอนเป็นทารก เข้าใจในภาษาและน้ำเสียงมากขึ้น การพูดคุยไม่สุภาพ หรือใช้คำไม่เหมาะสม จะทำให้เด็กจดจำและซึมซับคำพูด น้ำเสียง ลักษณะการพูดของพ่อแม่ หากเป็นคำพูดไม่ดี เด็กก็จะจดจำคำพูดไม่ดี น้ำเสียงที่ไม่เหมาะและยึดถือเป็นแบบอย่าง การตะคอก ใช้น้ำเสียงที่ไม่เหมาะสม จะทำให้กระทบสภาพจิตใจของเด็กได้ เมื่อโตมาอาจมีแนวโน้มให้เป็นเด็กก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย ขี้โมโหง่าย กับคนรอบตัว

 

3. อย่าบังคับ หรือกดดันลูกจนเกินไป

การสั่ง บังคับ หรือตั้งความคาดหวังกับลูกมากเกินไป ให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ อาจทำให้ลูกเกิดความกดดันโดยไม่รู้ตัว เด็ก 11 เดือน ยังสื่อสารบอกถึงความรู้สึกตัวเองไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อถูกสั่ง ห้าม บังคับมากขึ้น ลูกจะเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าที่จะทำ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ยิ่งกดดันมากขึ้น จะสะสมกลายเป็นความเครียด ไม่ไว้ใจคนในบ้าน และแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ทำให้เกิดความสัมพันธ์ไม่ดีกับคนในครอบครัว

 

4. ปล่อยให้ลูกเล่นตามลำพังบ้าง

การเล่นของเด็ก ไม่มีผิดไม่มีถูก พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็ก 11 เดือน ได้เล่นตามลำพังแบบอิสระบ้าง โดยไม่บอก ไม่สั่ง ไม่ห้าม จะทำให้เด็กได้เพิ่มทักษะด้านการเรียนรู้มากขึ้น ยิ่งได้เล่นก็จะยิ่งเรียนรู้ การปล่อยให้ลูกได้เล่นตามใจ เล่นในแบบที่ตัวเองคิดเอง มีอิสระนั้น จะช่วยฝึกความเป็นผู้นำให้ลูกอีกด้วย

 

5. ควรสอนลูกทุกครั้งที่ทำผิด

เมื่อเด็ก 11 เดือน ทำผิด พ่อแม่ควรตั้งสติ อย่าเพิ่งดุด่า อย่าใส่อารมณ์กับเขา เพราะการแสดงทางอารมณ์ที่ไม่ดีของพ่อแม่ จะทำให้เขาตกใจ หวาดกลัว และรู้สึกไม่ดี เมื่อทำผิดบ่อย ๆ แล้วเจอกับความเกรี้ยวกราดเป็นประจำ อาจทำให้ร้องไห้ ไม่ยอมรับในความผิดของตนเอง และโทษคนอื่นในที่สุด เมื่อลูกทำผิดพ่อแม่ควรตักเตือนลูก ค่อย ๆ บอก สอนลูกอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างให้ลูกมั่นใจว่า ไม่ว่าทำผิดพลาดก็จะมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ หากมีปัญหาในวันข้างหน้า ลูกจะยังรู้ว่ามีพ่อแม่คอยอยู่รับฟังและช่วยตักเตือน เพื่อจะได้ไม่ทำความผิดอีกต่อไป และหากเมื่อพ่อแม่ทำผิด ก็ควรขอโทษลูก ขอโทษคนในบ้านให้ลูกดู และรู้จักแก้ไขในความผิดนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงทารก 11 เดือน

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการทารก 11 เดือน

1. หัดให้ลูกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่อหยิบจับของ

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน เริ่มหยิบจับสิ่งของเล็ก ๆ ได้ดีขึ้น ควรช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูก ด้วยการตัดแบ่งอาหาร หรือขนม ที่ละลายในปาก ไม่เสี่ยงสำลัก ตัดเป็นชิ้นขนาด 1 เซนติเมตร มาใส่ในชามให้ลูกหยิบจับ พ่อแม่อาจใช้นิ้วชี้ กับนิ้วหัวแม่มือทำท่าหยิบจับให้ลูกได้ทำตาม เริ่มหยิบจากชามใบที่หนึ่ง เคลื่อนย้ายไปที่ชามใบที่สอง ระมัดระวังว่า การฝึกหัดนี้ ต้องมีพ่อแม่อยู่ด้วยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการหยิบจับอาหาร และขนมเข้าปากแล้วเกิดการสำลัก

 

2. หัดให้ลูกทานอาหาร และดื่มน้ำเอง

เมื่อเด็ก 11 เดือน เริ่มหยิบจับอาหารด้วยมือได้ดีขึ้นแล้ว พ่อแม่ควรให้ลูกทานอาหารบำรุงสมองและอาจเพิ่มทักษะในการทานอาหารด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ช้อน หรือ แก้วน้ำ พ่อแม่ควรเตรียมใจไว้ก่อนเลยว่า การฝึกให้ลูกใช้ช้อน แก้วน้ำ จาน ชามนั้น ลูกอาจไม่ได้ทานอาหารได้มากขึ้น แต่เป็นการฝึกทักษะให้มือน้อย ๆ ของเขามีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรง ได้คุ้นชินในการหยิบจับอุปกรณ์ ใช้มือให้สัมพันธ์กับตา ในช่วงแรกการเริ่มต้นฝึกใช้ช้อน ลูกอาจตักอาหารทานได้ไม่มาก ควรเตรียมอาหารเผื่อไว้สองชุด ชุดแรกคืออาหารสำหรับจานของลูก อีกชุดคือจานที่เราเตรียมไว้คอยป้อนเสริมให้ลูก หากกลัวว่าลูกจะกินน้อยเกินไป สำหรับจานและแก้วน้ำของลูกนั้น ให้ใส่อาหารและน้ำเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงมื้ออาหารก็ให้ลูกทานอาหารโดยใช้ช้อน ค่อย ๆ ประคองมือของลูกให้จับช้อน จับแก้วน้ำ แล้วค่อย ๆ ให้ลองฝึก หยิบ ยก ขึ้นใส่ปาก ไม่เร่ง ไม่กดดัน ที่สำคัญอย่าลืมชื่นชม และปรบมือให้กำลังใจลูกด้วย

 

3. หัดให้ลูกช่วยเหลือตัวเองแบบง่าย ๆ ผ่านการเล่น

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน เรียนรู้ สังเกตคนรอบข้าง ชอบที่จะทำตาม การชวนลูกฝึกช่วยเหลือตัวเองผ่านการเล่น ในสถานการณ์ต่าง ๆ จะช่วยเสริมทักษะให้ลูกได้ พ่อแม่ช่วยฝึกด้วยการเตรียมของใช้สำหรับเด็กไว้ เช่น แปรงสีฟัน ช้อน แก้วน้ำ หรือหวี เริ่มจากทำให้ลูกเห็น แล้วยื่นของใช้ให้ลูกทำตาม แล้วคอยดูว่าเขาจับอุปกรณ์ของใช้ แสดงท่าทางได้ถูกต้องกับของใช้นั้น ๆ หรือเปล่า เช่น ใช้หวีหวีผม ใช้แปรงสีฟันสีกับฟัน ใช้ช้อนตักข้าว นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้ลูกน้อยเล่นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย

 

4. หัดให้ลูกพยุงตัวยืนด้วยตัวเองให้นานขึ้น

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน จะเริ่มยืนนิ่งได้นานกว่าเดิม พ่อแม่สามารถหัดให้ลูกพยุงตัวเองให้ยืนนานขึ้น ด้วยการค่อย ๆ ประคองลำตัว พยุงลูกให้ยืนขึ้น พอลูกยืนทรงตัวได้นิ่งขณะหนึ่งแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นจับที่ข้อมือของลูกแทน เมื่อลูกยืนนิ่งไม่ไหวเอนแล้วก็ลองปล่อยมือ เพื่อให้ลูกได้ยืนด้วยตัวเอง

 

การเสริมสร้าง ฝึกทักษะพัฒนาการเด็ก 11 เดือนนั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเด็กเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านได้ พ่อแม่จึงควรให้ความรัก เอาใจใส่ดูแล คอยสังเกต ติดตามพัฒนาการในทุกย่างก้าวของลูก หมั่นฝึกทักษะให้ลูกอยู่เสมอ เพื่อที่เขาจะได้เติบโต สมวัย แข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  2. พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 48 ของลูกน้อย, HelloKhunmor
  3. การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด - 1 ปี, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
  4. พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
  5. การป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก, ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข
  6. 8 คำพูด ที่ไม่ควรพูดกับลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  7. เมื่อเด็กพูดคำหยาบ, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
  8. ตะคอกใส่เด็กบ่อยๆ ส่งผลเสียอย่างไร, Hellokhunmor
  9. ข้อมูลความรู้/บทความวิชาการ ที่สนับสนุนความสำเร็จของการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย โดย ครอบคลุมประเด็นพัฒนาการเด็ก ในด้านกิจกรรมทางกาย (การเล่น), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  10. สอนลูก ให้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำผิด ควรทำอย่างไร, HelloKhunmor
  11. คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  12. ฝึกนิสัยการกินให้ลูกน้อย, โรงพยาบาลเปาโล

อ้างอิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือลูกน้อย

เด็กพูดติดอ่าง เกิดจากสาเหตุอะไร อาการลูกพูดไม่ชัดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมไหม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกพูดไม่ชัด พร้อมวิธีรับมือปัญหา อาการลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยไหม ลูกไม่พูดสักที จะเป็นอันตรายหรือเปล่า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีฝึกลูกพูดตามช่วงวัย เสริมพัฒนาการลูกน้อย

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

วัยทอง 1 ขวบ คืออะไร ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกน้อยมีอาการวัยทอง 1 ขวบ เอาแต่ใจ พร้อมวิธีรีบมือ

เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย ทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย ทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย พฤติกรรมก้าวร้าวของลูกน้อยอันตรายกับเด็กไหม เด็กก้าวร้าวกับพ่อแม่ เกิดจากสาเหตุอะไร พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกอารมณ์ร้าย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก