พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

05.03.2024

เด็ก 8 เดือน เป็นวัยที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการผจญภัย พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กพัฒนาการเด็ก 8 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลเสริมสร้างพัฒนาการ และสนุกไปกับลูกน้อยวัย 8 เดือนกัน

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

อ่าน 11 นาที

สรุป

  • เด็กวัย 8 เดือน จะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน สามารถคลานได้คล่องแคล่ว ชอบเลียนเสียงสิ่งที่อยู่รอบตัว และเป็นช่วงที่กำลังติดพ่อหรือแม่ ชอบเรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษ
  • คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อยวัย 8 เดือน เพื่อเข้าใจและส่งเสริมพัฒนาการพวกเขามากขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 8 เดือน ลูกน้อยสามารถนั่งเองได้แล้วอย่างมั่นคงโดยไม่ต้องมีใครคอยช่วยพยุง เด็กบางคนอาจเริ่มคลานหรือไต่ตามพื้นได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น

 

นอกจากนี้ ลูกน้อยวัย 8 เดือนสามารถพยุงตัวเองเพื่อลุกขึ้นโดยการจับหรือเกาะตามเฟอร์นิเจอร์เพื่อลุกขึ้นยืน ส่งผลให้ลูกเคลื่อนที่ได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้เด็กแต่ละคนย่อมมีพัฒนาการที่เร็วและช้าแตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปหากลูกน้อยยังไม่คลาน เพราะบางคนอาจข้ามขั้นการคลาน เป็นเริ่มเดินเลยก็เป็นได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับการเริ่มต้นผจญภัยของลูก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสายไฟ จัดพื้นที่ให้ลูกน้อยยึดเกาะได้อย่างมั่นคง เก็บสิ่งของอันตรายให้อยู่เกินมือเอื้อม

 

นอกจากนี้อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดกับเด็ก 8 เดือนนั้นเป็นเรื่องปกติ เช่น ลูกอาจจะล้มบ้าง แม้จะจัดบ้านให้ปลอดภัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไป การปล่อยให้ลูกน้อยสำรวจโลกภายนอกและเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญถึงแม้ลูกจะพัฒนาการตามเกณฑ์แล้ว แต่ก็ควรสังเกตหากสัมผัสได้ถึงอาการผิดปกติ เช่น ลูกเดินไม่ได้เลย ยืนขาโก่ง เป็นต้น หากพบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

  • สร้างกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลาน ไต่ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แขน ขา ลำตัว ให้เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การดึงตัวเองขึ้นยืน และการเดิน
  • ประสานการทำงานของร่างกาย การเคลื่อนไหวช่วยฝึกการประสานการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อ และระบบประสาท ซึ่งส่งผลดีต่อการทรงตัว การทำท่าทาง ช่วยให้ลูกน้อยสามารถเดินและวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว
  • กระตุ้นพัฒนาการด้านอื่น การสำรวจรอบ ๆ บ้าน ช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการรับรู้ เช่น สายตา การมองเห็นของทารก การสัมผัส ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ฝึกแก้ปัญหาเบื้องต้น
  • เสริมสร้างความผูกพัน เล่นคลานไล่กับลูกน้อย สร้างเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน เสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านการสื่อสาร

ด้านการสื่อสารของเด็ก 8 เดือนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นเขาพยายามทำท่าทาง สีหน้า และใช้เสียงหัวเราะหรือร้องอ้อแอ้ น่าเอ็นดู เพื่อดึงดูดความสนใจ

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกพัฒนาการของเด็ก 8 เดือนด้วยการพูดคุยจากกิจกรรมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือการเล่นและอ่านนิทานให้ฟัง ล้วนเป็นโอกาสในการพูดคุยสื่อสารกับลูกน้อยได้ และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านภาษาอีกด้วย ยิ่งลูกน้อยสนใจท่าทางและน้ำเสียงของคุณมากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเขา

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทางด้านการเคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านการเรียนรู้

ช่วงนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น พวกเขาจะสังเกตริมฝีปากของคุณพ่อคุณแม่เมื่อพูดคุยกับเขา และจะพยายามเลียนเสียงที่คุณพ่อคุณแม่ส่งเสียงมา ดังนั้นอย่าลืมระวังคำพูดของคุณเมื่อพูดต่อหน้าพวกเขา นอกจากการพูดอ้อแอ้และเรียนรู้เสียงใหม่ ๆ ตลอดเวลาแล้ว ลูกน้อยของคุณอาจจะสามารถรับรู้ชื่อต่าง ๆ เช่น "แม่" และ "พ่อ" ได้แล้ว เริ่มเข้าใจความหมายของคำบางคำ เช่น กิน นอน เล่น และเริ่มรู้จักชื่อของตัวเอง หันตามเสียงเมื่อได้ยินชื่อของเขา

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านอารมณ์

ในช่วงเวลานี้ ลูกน้อยเริ่มมีอารมณ์หลากหลายมากขึ้น เช่น หัวเราะ ร้องไห้ กลัว หงุดหงิด และเริ่มเรียนรู้การตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่คือบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเจ้าตัวเล็ก จึงไม่แปลกเลยที่เค้าอาจจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า

 

ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงพัฒนาการนี้ ความขี้อายและการติดหนึบคุณแม่แบบนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อพวกเขาโตขึ้น ดังนั้นจึงควรให้พื้นที่กับลูกน้อยในการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมตามจังหวะพัฒนาการของพวกเขา คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นเจ้าตัวเล็กวัย 8 เดือน เริ่มผูกพันกับสิ่งยึดเหนี่ยวใจมากขึ้น เช่น ผ้าห่มหรือตุ๊กตา นี่ก็เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการเช่นกัน สิ่งยึดเหนี่ยวใจของลูกน้อยนี้เหมือนเป็นตัวแทนของคุณแม่ที่ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่คนเดียว ทำให้เวลาไปไหนมาไหนก็จะเรียกร้องให้คุณพ่อคุณแม่พกความสบายใจนี้ของเขาติดตัวไปได้ด้วย

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงเด็ก 8 เดือน

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงเด็ก 8 เดือน

1. ระวังของใช้ในบ้านที่มีเหลี่ยม มีคม

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ในช่วงวัยนี้พวกเขาอยากรู้อยากเห็นและชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เรามาดูเคล็ดลับต่าง ๆ ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยไปพร้อมกัน

  • จัดบ้านให้มีความปลอดภัย: สิ่งของอันตราย เช่น ยา สารเคมี สิ่งของมีคม ของเล่นชิ้นเล็ก แนะนำว่าให้คุณพ่อคุณแม่เก็บใส่กล่องหรือวางบนชั้นสูงพ้นมือเอื้อมถึง ปิดฝาปลั๊กไฟและเต้ารับเพื่อป้องกันเด็ก ๆ เอานิ้วไปแหย่เล่น ติดตั้งประตูกันเด็กที่บันไดป้องกันการปีนไต่ และไม่ลืมเก็บสายไฟ มู่ลี่ ม่าน ให้พ้นจากการเอื้อมถึง
  • จัดเฟอร์นิเจอร์: คุณพ่อคุณแม่ควรหาอุปกรณ์สำหรับปิดขอบเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมุมแหลมคม และยึดชั้นหนังสือ โทรทัศน์ ตู้กับผนังเพื่อป้องกันการล้มทับ นอกจากนี้ เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งที่มีน้ำหนักเบาที่ลูกอาจปีนหรือดึงล้มได้
  • จัดพื้นที่เล่นให้น่าสนใจ: ปูพื้นด้วยเสื่อ หรือรองพื้นกันกระแทก จัดมุมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น มุมอ่านหนังสือ มุมสร้างสรรค์ มุมฝึกเดิน

 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยช่วยให้ลูกน้อยสนุกสนานกับการสำรวจโลกใบนี้ได้อย่างเต็มที่ แม้จะจัดเตรียมสภาพแวดล้อมอย่างดีแล้ว การสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิดยังสำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตพฤติกรรมลูก พูดคุยสื่อสารอย่างชัดเจนจะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับพวกเขา

 

2. ไม่ควรตามใจลูกมากเกินไป

เด็ก 8 เดือนจะยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาจดจำได้ว่าเวลาอยากได้อะไร แค่ร้องไห้ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ จนในที่สุดลูกก็จะเอาแต่ใจตนเอง ไม่ควบคุมอารมณ์และอาจเกิดเป็นความรุนแรงได้ในอนาคต เมื่อลูกร้องไห้สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ละเลยพวกเขา เมื่อเขาได้รับความสนใจ และมีคนรับฟังจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เชื่อมโยงเข้าหากัน นี้คือสิ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางอารมณ์ หากลูกน้อยได้รับการปฏิบัติที่สม่ำเสมอ คาดเดาได้ และได้รับความเอื้ออาทรจากพ่อแม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะงอแงและติดพ่อแม่น้อยลง ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาให้ลูกน้อยตามความเหมาะสม เช่น ร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะง่วงนอน

 

3. ไม่ละเลยที่จะสอนลูก ในเรื่องที่ทำผิด

เมื่อลูกน้อยเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคิดเกี่ยวกับสิ่งต้องห้าม หรือกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อตัวลูกน้อย และเริ่มให้พวกเขาได้เรียนรู้เข้าใจกฎระเบียบ

 

อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กวัยนี้ต้องการเพียงแค่สำรวจเท่านั้น ยังไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะแค่การพูดคำว่า "ไม่ อย่าทำ" เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้ คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้การปฏิบัติตามกฎง่ายขึ้นมาก เช่น เมื่อลูกน้อยคลานเข้าใกล้ปลั๊กไฟ อาจจะพูดว่า 'อ้า!' ในเสียงที่ตลกและน่ากลัวเพื่อให้เขาหยุด แรก ๆ พวกเขาอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเล่นสนุกด้วย ให้คุณพ่อคุณแม่ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกเข้าใกล้ ลูกน้อยก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งนี้อันตราย

 

เมื่อลูกน้อยทำผิด คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะสอนพวกเขา เริ่มจากง่าย ๆ จากการพูดและแสดงสีหน้าท่าทางว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ถูกต้อง เช่น พูดคำว่า “ไม่” หรือ “No” ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล และทำท่าทางส่ายหน้าเพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำสิ่งนี้ไม่ได้

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

เคล็ดลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ เตรียมตัวตื่นตาตื่นใจไปกับพัฒนาการตามวัยอันน่าทึ่งของลูกน้อยวัย 8 เดือนได้เลย ขอให้ไว้วางใจว่าเขากำลังเรียนรู้เพื่อเติบโตและเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น

1. เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่

ช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มทานอาหารได้มากขึ้น ซึ่งเด็ก 8 เดือนต้องการพลังงานประมาณ 800-1,000 แคลอรีต่อวัน พลังงานส่วนหนึ่งมาจากอาหารในรูปแบบสับละเอียดที่สามารถหยิบกินเองได้ พลังงานอีกส่วนหนึ่งมาจากนมแม่หรือนมสำหรับเด็กตามช่วงวัย

 

ในแต่ละวัน คุณแม่สามารถออกแบบตารางการกินแบบง่าย ๆ เช่น แบ่งมื้อหลัก 2 มื้อกับของว่างเมนูง่าย ๆ สำหรับลูกน้อย เริ่มต้นที่ข้าว 4 ช้อนโต๊ะ ไข่สุกครึ่งฟอง สลับ หมู ไก่ กับปลาน้ำจืด ตับบด 1 ช้อนโต๊ะต่อมื้อร่วมกับผักสุกหรือ ฟักทองสับละเอียด ไม่แนะนำให้บดอาหารทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพราะเด็กมักมีปัญหาไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรือเคี้ยวข้าวไม่เป็น ให้สับละเอียดอาหารก็เพียงพอแล้ว

 

ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่

  • คุณแม่ควรเลือกอาหาร กลิ่น และรสชาติใหม่ ๆ ให้ลูกน้อย ช่วงแรกลูกอาจปฏิเสธ เพราะเมนูอาหารหลากหลายขึ้น พวกเค้าอาจเริ่มมีอาหารที่ชอบและไม่ชอบ แนะนำว่าให้เขาทานซ้ำ 10-15 ครั้งภายในหนึ่งเดือน โดยเปลี่ยนรูปแบบการปรุงหรือจัดจาน
  • ควรให้เด็ก 8 เดือน ทานอาหารเสริมบำรุงสมองเด็ก และฝึกเคี้ยวอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้นเล็กน้อย เช่น โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต กล้วยบด หรืออาหารนึ่ง ย่าง ต้ม หรืออบ ให้ผักและผลไม้มีความนุ่ม
  • สามารถให้เด็กฝึกหยิบจับอาหารเองได้ด้วย เช่น ผลไม้ชิ้นเล็ก ขนมปังนุ่ม ๆ

 

การหยิบกินได้เองเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูกน้อยวัยนี้ เพราะเป็นช่วงที่อยากสำรวจและฝึกฝนการป้อนอาหารเอง แม้จะเลอะเทอะไปบ้าง แต่นี่นับเป็นขั้นตอนสำคัญของพัฒนาการเลยก็ว่าได้

 

2. หัดให้ลูกคลานตามของเล่น

การกระตุ้นให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยเขาเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมสนุก ๆ สำหรับกระตุ้นลูกน้อยเพื่อฝึกพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

  • สร้างเสียงล่อ: เขย่ากระพรวน ร้องเพลง เดินไปมา ให้ลูกน้อยคลานตามหาที่มาของเสียง
  • คลานแข่ง: ลงไปคลานกับลูกน้อย ชวนแข่งกันไปถึงเส้นชัย เอาของเล่นชิ้นโปรดเป็นรางวัล
  • สร้างเส้นทางผจญภัย: วางหมอน ผ้าห่ม เป็นอุโมงค์ ซิกแซก ให้ลูกน้อยคลานลอด

 

คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกน้อยโดยไม่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัย เคลียร์พื้นที่ให้โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือมุมแหลมคม ให้ความสำคัญกับความสนุกสนาน ไม่กดดัน ไม่เปรียบเทียบ และชื่นชมทุกลีลาการเคลื่อนไหวของลูกน้อย ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติม

 

3. หัดให้ลูกออกเสียงใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยพูด

เด็ก 8 เดือนมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น โดยเข้าใจคำศัพท์หรือประโยคง่าย ๆ ได้บ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาด้านการพูดและเข้าใจภาษาให้พวกเขาได้ ดังนี้

  • จากเสียงอ้อแอ้เป็นพยางค์: เสียงที่เคยฟังเหมือนอ้อแอ้ ๆ จะกลายเป็นพยางค์ง่าย ๆ อย่าง "มา" "ปะ" และค่อย ๆ กลายเป็นคำง่าย ๆ
  • เข้าใจคำพูดมากขึ้น: ลูกน้อยเริ่มฟังและเข้าใจคำพูดของคุณมากขึ้น เช่น ถ้าคุณพูดถึงของเล่นชิ้นโปรดที่อยู่ไกล ๆ แล้วพวกเขามองไปทางนั้น แสดงว่าเขาเข้าใจแล้ว
  • ตอบสนองต่อชื่อและคำสั่ง: ลูกน้อยอาจเริ่มหันเมื่อได้ยินชื่อของตัวเอง และเริ่มเข้าใจคำว่า "ไม่" หรือการห้ามมากขึ้น

 

นับว่าเป็นอีกความท้าทายอย่างหนึ่งของพ่อแม่ในการเรียนไปพร้อม ๆ กับลูกน้อยวัย 8 เดือน สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของพวกเค้ามาจนเกินไป เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้ประสบการณ์และสนุกกับการสำรวจโลก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้พวกเขาได้คือ เตรียมพร้อมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและสนุกกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 


อ้างอิง:

  1. Your baby's growth and development - 8 months old, Pregnancy birth baby
  2. 8-9 months: baby development, Raising children
  3. 8-Month-Old Baby, What to expect
  4. YOUR 8-MONTH-OLD BABY’S DEVELOPMENT, Emmasdiary
  5. เด็กทารกอายุ 8 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร ?, Pobpad
  6. Your baby's growth and development - 8 months old, Pregnancy birth baby
  7. Infant development: Milestones from 7 to 9 months, Mayo clinic
  8. พ่อแม่ต้องรู้ไว้ 8 ผลเสียของการตามใจลูกมากเกินไป, Parents one
  9. Can you spoil a baby, or is that a myth?, Sanford health
  10. When Should You Start Disciplining Your Baby?, Parents
  11. ทานอาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย สำหรับทารกแรกเกิด ถึง 1 ปี, โรงพยาบาลพญาไท
  12. พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย แบบไหนเข้าข่าย “พัฒนาการล่าช้า”, โรงพยาบาลสุขุมวิท

อ้างอิง ณ วันที่ 21 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกผื่นสาก

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร ทารกมีผื่นสาก บอกอะไรได้บ้าง ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ ทารกผื่นสาก เป็นอันตรายไหม มีสาเหตุมาจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแล

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแล

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ บางครั้งมีผื่นแดงขึ้นตามตัวและคัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลว่าลูกเป็นอะไร ไปดูวิธีดูแลเมื่อลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้

ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี

ผดร้อนทารก ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี

ผดร้อนทารก ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน เกิดจากอะไร สาเหตุอะไรได้บ้าง ที่ทำให้ลูกมีผดร้อนทารกและลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลูกมีผื่นคัน

นมย่อยง่าย เหมาะสำหรับเด็กเสี่ยงภูมิแพ้ จริงหรือไม่?

นมย่อยง่าย เหมาะสำหรับเด็กเสี่ยงภูมิแพ้ จริงหรือไม่?

นมย่อยง่าย คืออะไร เหมาะสำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้จริงไหม ทำไมคุณแม่ถึงควรรู้เกี่ยวกับนมย่อยง่าย สำหรับลูก ไปทำความรู้จักและหาคำตอบพร้อมกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก