พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

05.03.2024

เด็ก 8 เดือน เป็นวัยที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการผจญภัย พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กพัฒนาการเด็ก 8 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลเสริมสร้างพัฒนาการ และสนุกไปกับลูกน้อยวัย 8 เดือนกัน

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทารก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

อ่าน 11 นาที

สรุป

  • เด็กวัย 8 เดือน จะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน สามารถคลานได้คล่องแคล่ว ชอบเลียนเสียงสิ่งที่อยู่รอบตัว และเป็นช่วงที่กำลังติดพ่อหรือแม่ ชอบเรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษ
  • คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อยวัย 8 เดือน เพื่อเข้าใจและส่งเสริมพัฒนาการพวกเขามากขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 8 เดือน ลูกน้อยสามารถนั่งเองได้แล้วอย่างมั่นคงโดยไม่ต้องมีใครคอยช่วยพยุง เด็กบางคนอาจเริ่มคลานหรือไต่ตามพื้นได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น

 

นอกจากนี้ ลูกน้อยวัย 8 เดือนสามารถพยุงตัวเองเพื่อลุกขึ้นโดยการจับหรือเกาะตามเฟอร์นิเจอร์เพื่อลุกขึ้นยืน ส่งผลให้ลูกเคลื่อนที่ได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้เด็กแต่ละคนย่อมมีพัฒนาการที่เร็วและช้าแตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปหากลูกน้อยยังไม่คลาน เพราะบางคนอาจข้ามขั้นการคลาน เป็นเริ่มเดินเลยก็เป็นได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับการเริ่มต้นผจญภัยของลูก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสายไฟ จัดพื้นที่ให้ลูกน้อยยึดเกาะได้อย่างมั่นคง เก็บสิ่งของอันตรายให้อยู่เกินมือเอื้อม

 

นอกจากนี้อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดกับเด็ก 8 เดือนนั้นเป็นเรื่องปกติ เช่น ลูกอาจจะล้มบ้าง แม้จะจัดบ้านให้ปลอดภัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไป การปล่อยให้ลูกน้อยสำรวจโลกภายนอกและเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญถึงแม้ลูกจะพัฒนาการตามเกณฑ์แล้ว แต่ก็ควรสังเกตหากสัมผัสได้ถึงอาการผิดปกติ เช่น ลูกเดินไม่ได้เลย ยืนขาโก่ง เป็นต้น หากพบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

  • สร้างกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลาน ไต่ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แขน ขา ลำตัว ให้เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การดึงตัวเองขึ้นยืน และการเดิน
  • ประสานการทำงานของร่างกาย การเคลื่อนไหวช่วยฝึกการประสานการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อ และระบบประสาท ซึ่งส่งผลดีต่อการทรงตัว การทำท่าทาง ช่วยให้ลูกน้อยสามารถเดินและวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว
  • กระตุ้นพัฒนาการด้านอื่น การสำรวจรอบ ๆ บ้าน ช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการรับรู้ เช่น สายตา การมองเห็นของทารก การสัมผัส ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ฝึกแก้ปัญหาเบื้องต้น
  • เสริมสร้างความผูกพัน เล่นคลานไล่กับลูกน้อย สร้างเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน เสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านการสื่อสาร

ด้านการสื่อสารของเด็ก 8 เดือนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นเขาพยายามทำท่าทาง สีหน้า และใช้เสียงหัวเราะหรือร้องอ้อแอ้ น่าเอ็นดู เพื่อดึงดูดความสนใจ

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกพัฒนาการของเด็ก 8 เดือนด้วยการพูดคุยจากกิจกรรมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือการเล่นและอ่านนิทานให้ฟัง ล้วนเป็นโอกาสในการพูดคุยสื่อสารกับลูกน้อยได้ และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านภาษาอีกด้วย ยิ่งลูกน้อยสนใจท่าทางและน้ำเสียงของคุณมากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเขา

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ทางด้านการเคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านการเรียนรู้

ช่วงนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น พวกเขาจะสังเกตริมฝีปากของคุณพ่อคุณแม่เมื่อพูดคุยกับเขา และจะพยายามเลียนเสียงที่คุณพ่อคุณแม่ส่งเสียงมา ดังนั้นอย่าลืมระวังคำพูดของคุณเมื่อพูดต่อหน้าพวกเขา นอกจากการพูดอ้อแอ้และเรียนรู้เสียงใหม่ ๆ ตลอดเวลาแล้ว ลูกน้อยของคุณอาจจะสามารถรับรู้ชื่อต่าง ๆ เช่น "แม่" และ "พ่อ" ได้แล้ว เริ่มเข้าใจความหมายของคำบางคำ เช่น กิน นอน เล่น และเริ่มรู้จักชื่อของตัวเอง หันตามเสียงเมื่อได้ยินชื่อของเขา

 

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน ด้านอารมณ์

ในช่วงเวลานี้ ลูกน้อยเริ่มมีอารมณ์หลากหลายมากขึ้น เช่น หัวเราะ ร้องไห้ กลัว หงุดหงิด และเริ่มเรียนรู้การตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่คือบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเจ้าตัวเล็ก จึงไม่แปลกเลยที่เค้าอาจจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า

 

ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงพัฒนาการนี้ ความขี้อายและการติดหนึบคุณแม่แบบนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อพวกเขาโตขึ้น ดังนั้นจึงควรให้พื้นที่กับลูกน้อยในการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมตามจังหวะพัฒนาการของพวกเขา คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นเจ้าตัวเล็กวัย 8 เดือน เริ่มผูกพันกับสิ่งยึดเหนี่ยวใจมากขึ้น เช่น ผ้าห่มหรือตุ๊กตา นี่ก็เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการเช่นกัน สิ่งยึดเหนี่ยวใจของลูกน้อยนี้เหมือนเป็นตัวแทนของคุณแม่ที่ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่คนเดียว ทำให้เวลาไปไหนมาไหนก็จะเรียกร้องให้คุณพ่อคุณแม่พกความสบายใจนี้ของเขาติดตัวไปได้ด้วย

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงเด็ก 8 เดือน

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงเด็ก 8 เดือน

1. ระวังของใช้ในบ้านที่มีเหลี่ยม มีคม

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ในช่วงวัยนี้พวกเขาอยากรู้อยากเห็นและชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เรามาดูเคล็ดลับต่าง ๆ ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยไปพร้อมกัน

  • จัดบ้านให้มีความปลอดภัย: สิ่งของอันตราย เช่น ยา สารเคมี สิ่งของมีคม ของเล่นชิ้นเล็ก แนะนำว่าให้คุณพ่อคุณแม่เก็บใส่กล่องหรือวางบนชั้นสูงพ้นมือเอื้อมถึง ปิดฝาปลั๊กไฟและเต้ารับเพื่อป้องกันเด็ก ๆ เอานิ้วไปแหย่เล่น ติดตั้งประตูกันเด็กที่บันไดป้องกันการปีนไต่ และไม่ลืมเก็บสายไฟ มู่ลี่ ม่าน ให้พ้นจากการเอื้อมถึง
  • จัดเฟอร์นิเจอร์: คุณพ่อคุณแม่ควรหาอุปกรณ์สำหรับปิดขอบเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมุมแหลมคม และยึดชั้นหนังสือ โทรทัศน์ ตู้กับผนังเพื่อป้องกันการล้มทับ นอกจากนี้ เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งที่มีน้ำหนักเบาที่ลูกอาจปีนหรือดึงล้มได้
  • จัดพื้นที่เล่นให้น่าสนใจ: ปูพื้นด้วยเสื่อ หรือรองพื้นกันกระแทก จัดมุมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น มุมอ่านหนังสือ มุมสร้างสรรค์ มุมฝึกเดิน

 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยช่วยให้ลูกน้อยสนุกสนานกับการสำรวจโลกใบนี้ได้อย่างเต็มที่ แม้จะจัดเตรียมสภาพแวดล้อมอย่างดีแล้ว การสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิดยังสำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตพฤติกรรมลูก พูดคุยสื่อสารอย่างชัดเจนจะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับพวกเขา

 

2. ไม่ควรตามใจลูกมากเกินไป

เด็ก 8 เดือนจะยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาจดจำได้ว่าเวลาอยากได้อะไร แค่ร้องไห้ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ จนในที่สุดลูกก็จะเอาแต่ใจตนเอง ไม่ควบคุมอารมณ์และอาจเกิดเป็นความรุนแรงได้ในอนาคต เมื่อลูกร้องไห้สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ละเลยพวกเขา เมื่อเขาได้รับความสนใจ และมีคนรับฟังจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เชื่อมโยงเข้าหากัน นี้คือสิ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางอารมณ์ หากลูกน้อยได้รับการปฏิบัติที่สม่ำเสมอ คาดเดาได้ และได้รับความเอื้ออาทรจากพ่อแม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะงอแงและติดพ่อแม่น้อยลง ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาให้ลูกน้อยตามความเหมาะสม เช่น ร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะง่วงนอน

 

3. ไม่ละเลยที่จะสอนลูก ในเรื่องที่ทำผิด

เมื่อลูกน้อยเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคิดเกี่ยวกับสิ่งต้องห้าม หรือกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อตัวลูกน้อย และเริ่มให้พวกเขาได้เรียนรู้เข้าใจกฎระเบียบ

 

อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กวัยนี้ต้องการเพียงแค่สำรวจเท่านั้น ยังไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะแค่การพูดคำว่า "ไม่ อย่าทำ" เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้ คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้การปฏิบัติตามกฎง่ายขึ้นมาก เช่น เมื่อลูกน้อยคลานเข้าใกล้ปลั๊กไฟ อาจจะพูดว่า 'อ้า!' ในเสียงที่ตลกและน่ากลัวเพื่อให้เขาหยุด แรก ๆ พวกเขาอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเล่นสนุกด้วย ให้คุณพ่อคุณแม่ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกเข้าใกล้ ลูกน้อยก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งนี้อันตราย

 

เมื่อลูกน้อยทำผิด คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะสอนพวกเขา เริ่มจากง่าย ๆ จากการพูดและแสดงสีหน้าท่าทางว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ถูกต้อง เช่น พูดคำว่า “ไม่” หรือ “No” ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล และทำท่าทางส่ายหน้าเพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำสิ่งนี้ไม่ได้

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

 

เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 8 เดือน

เคล็ดลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ เตรียมตัวตื่นตาตื่นใจไปกับพัฒนาการตามวัยอันน่าทึ่งของลูกน้อยวัย 8 เดือนได้เลย ขอให้ไว้วางใจว่าเขากำลังเรียนรู้เพื่อเติบโตและเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น

1. เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่

ช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มทานอาหารได้มากขึ้น ซึ่งเด็ก 8 เดือนต้องการพลังงานประมาณ 800-1,000 แคลอรีต่อวัน พลังงานส่วนหนึ่งมาจากอาหารในรูปแบบสับละเอียดที่สามารถหยิบกินเองได้ พลังงานอีกส่วนหนึ่งมาจากนมแม่หรือนมสำหรับเด็กตามช่วงวัย

 

ในแต่ละวัน คุณแม่สามารถออกแบบตารางการกินแบบง่าย ๆ เช่น แบ่งมื้อหลัก 2 มื้อกับของว่างเมนูง่าย ๆ สำหรับลูกน้อย เริ่มต้นที่ข้าว 4 ช้อนโต๊ะ ไข่สุกครึ่งฟอง สลับ หมู ไก่ กับปลาน้ำจืด ตับบด 1 ช้อนโต๊ะต่อมื้อร่วมกับผักสุกหรือ ฟักทองสับละเอียด ไม่แนะนำให้บดอาหารทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพราะเด็กมักมีปัญหาไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรือเคี้ยวข้าวไม่เป็น ให้สับละเอียดอาหารก็เพียงพอแล้ว

 

ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่

  • คุณแม่ควรเลือกอาหาร กลิ่น และรสชาติใหม่ ๆ ให้ลูกน้อย ช่วงแรกลูกอาจปฏิเสธ เพราะเมนูอาหารหลากหลายขึ้น พวกเค้าอาจเริ่มมีอาหารที่ชอบและไม่ชอบ แนะนำว่าให้เขาทานซ้ำ 10-15 ครั้งภายในหนึ่งเดือน โดยเปลี่ยนรูปแบบการปรุงหรือจัดจาน
  • ควรให้เด็ก 8 เดือน ทานอาหารเสริมบำรุงสมองเด็ก และฝึกเคี้ยวอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้นเล็กน้อย เช่น โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต กล้วยบด หรืออาหารนึ่ง ย่าง ต้ม หรืออบ ให้ผักและผลไม้มีความนุ่ม
  • สามารถให้เด็กฝึกหยิบจับอาหารเองได้ด้วย เช่น ผลไม้ชิ้นเล็ก ขนมปังนุ่ม ๆ

 

การหยิบกินได้เองเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูกน้อยวัยนี้ เพราะเป็นช่วงที่อยากสำรวจและฝึกฝนการป้อนอาหารเอง แม้จะเลอะเทอะไปบ้าง แต่นี่นับเป็นขั้นตอนสำคัญของพัฒนาการเลยก็ว่าได้

 

2. หัดให้ลูกคลานตามของเล่น

การกระตุ้นให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยเขาเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมสนุก ๆ สำหรับกระตุ้นลูกน้อยเพื่อฝึกพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

  • สร้างเสียงล่อ: เขย่ากระพรวน ร้องเพลง เดินไปมา ให้ลูกน้อยคลานตามหาที่มาของเสียง
  • คลานแข่ง: ลงไปคลานกับลูกน้อย ชวนแข่งกันไปถึงเส้นชัย เอาของเล่นชิ้นโปรดเป็นรางวัล
  • สร้างเส้นทางผจญภัย: วางหมอน ผ้าห่ม เป็นอุโมงค์ ซิกแซก ให้ลูกน้อยคลานลอด

 

คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกน้อยโดยไม่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัย เคลียร์พื้นที่ให้โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือมุมแหลมคม ให้ความสำคัญกับความสนุกสนาน ไม่กดดัน ไม่เปรียบเทียบ และชื่นชมทุกลีลาการเคลื่อนไหวของลูกน้อย ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติม

 

3. หัดให้ลูกออกเสียงใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยพูด

เด็ก 8 เดือนมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น โดยเข้าใจคำศัพท์หรือประโยคง่าย ๆ ได้บ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาด้านการพูดและเข้าใจภาษาให้พวกเขาได้ ดังนี้

  • จากเสียงอ้อแอ้เป็นพยางค์: เสียงที่เคยฟังเหมือนอ้อแอ้ ๆ จะกลายเป็นพยางค์ง่าย ๆ อย่าง "มา" "ปะ" และค่อย ๆ กลายเป็นคำง่าย ๆ
  • เข้าใจคำพูดมากขึ้น: ลูกน้อยเริ่มฟังและเข้าใจคำพูดของคุณมากขึ้น เช่น ถ้าคุณพูดถึงของเล่นชิ้นโปรดที่อยู่ไกล ๆ แล้วพวกเขามองไปทางนั้น แสดงว่าเขาเข้าใจแล้ว
  • ตอบสนองต่อชื่อและคำสั่ง: ลูกน้อยอาจเริ่มหันเมื่อได้ยินชื่อของตัวเอง และเริ่มเข้าใจคำว่า "ไม่" หรือการห้ามมากขึ้น

 

นับว่าเป็นอีกความท้าทายอย่างหนึ่งของพ่อแม่ในการเรียนไปพร้อม ๆ กับลูกน้อยวัย 8 เดือน สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของพวกเค้ามาจนเกินไป เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้ประสบการณ์และสนุกกับการสำรวจโลก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้พวกเขาได้คือ เตรียมพร้อมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและสนุกกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 


อ้างอิง:

  1. Your baby's growth and development - 8 months old, Pregnancy birth baby
  2. 8-9 months: baby development, Raising children
  3. 8-Month-Old Baby, What to expect
  4. YOUR 8-MONTH-OLD BABY’S DEVELOPMENT, Emmasdiary
  5. เด็กทารกอายุ 8 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร ?, Pobpad
  6. Your baby's growth and development - 8 months old, Pregnancy birth baby
  7. Infant development: Milestones from 7 to 9 months, Mayo clinic
  8. พ่อแม่ต้องรู้ไว้ 8 ผลเสียของการตามใจลูกมากเกินไป, Parents one
  9. Can you spoil a baby, or is that a myth?, Sanford health
  10. When Should You Start Disciplining Your Baby?, Parents
  11. ทานอาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย สำหรับทารกแรกเกิด ถึง 1 ปี, โรงพยาบาลพญาไท
  12. พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย แบบไหนเข้าข่าย “พัฒนาการล่าช้า”, โรงพยาบาลสุขุมวิท

อ้างอิง ณ วันที่ 21 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายที่พ่อแม่ควรรู้

ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายควรรู้

ท่านั่ง w-sitting ท่านั่งยอดฮิตในเด็กเล็ก เพราะเป็นท่าที่นั่งสบาย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูกันว่าทำไมท่านั่ง w-sitting ถึงไม่ดีกับลูกน้อย

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า ผิดปกติไหม เด็กคอแข็งกี่เดือน คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงตามช่วงวัย

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน เด็กฟันน้ำนมขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน ฟันน้ำนมเด็กขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน สัญญาณไหนบ้างที่บอกว่าลูกน้อยฟันใกล้ขึ้นแล้ว พร้อมดูแลฟันของลูกน้อยที่ถูกต้อง ไปหาคำตอบเกี่ยวกับทารกฟันขึ้นกี่เดือนกัน

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดตอนไหน พร้อมวิธีดูแลฟันแท้ตามช่วงวัย

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดตอนไหน พร้อมวิธีดูแลฟันแท้ตามช่วงวัย

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ลูกฟันน้ำนมหลุดตอนไหน คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตและดูแลฟันแท้ของลูกอย่างไร ให้สะอาดและแข็งแรง เมื่อฟันแท้ของลูกน้อยขึ้นครบ 32 ซี่

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก