ก้าวแรกของลูกน้อย พัฒนาการก้าวแรกที่แม่ภูมิใจ
ลูกน้อยจะเริ่มหัดเดินหลังจากคลานได้คล่องแล้ว พัฒนาการนี้จะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 9 – 12 เดือน และลูกจะสามารถเดินได้คล่องเมื่ออายุประมาณ 14 – 15 เดือนค่ะ
หลังจากที่ลูกน้อยสามารถนั่ง พลิกคว่ำพลิกหงาย และคลานได้แล้ว พัฒนาการต่อไปก็คือการเดินนั่นเองค่ะ เด็กส่วนมากจะเริ่มพัฒนาการนี้เมื่ออายุประมาณ 9 – 12 เดือน และจะสามารถเดินได้คล่องเมื่ออายุประมาณ 14 – 15 เดือนค่ะ แต่หากลูกน้อยของคุณแม่เริ่มเดินได้ช้ากว่าเด็กส่วนใหญ่ ก็อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไปนะคะ เด็กปกติหลาย ๆ คนเริ่มหัดเดินเมื่ออายุ 16 – 17 เดือนก็มีค่ะ
ช่วงแรกจะเห็นได้ว่าขาของลูกน้อยยังไม่แข็งแรงพอที่จะพยุงตัวเองได้ แต่หากมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยพยุงแขน เค้าก็จะพยายามเดินไปข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นเช่นนี้อยู่ประมาณ 2 – 3 เดือนค่ะ
ช่วงที่ลูกน้อยอายุประมาณ 5 เดือน จะสังเกตเห็นได้ว่าเค้าชอบที่จะย่อตัวขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่กับที่ในขณะที่ยืนจับขาของคุณแม่อยู่ และอาจทำแบบนี้อยู่นานประมาณ 2 – 3 เดือนเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากกล้ามเนื้อขาของลูกน้อยกำลังพัฒนานั่นเองค่ะ ในช่วงนี้ลูกน้อยจะสามารถนั่ง พลิกคว่ำพลิกหงายและคลานได้ดีแล้ว
ช่วงประมาณ 8 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มพยายามยืนหรือเดินด้วยตัวเอง จะเห็นว่าลูกจะชอบยึดตัวเองกับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ฯลฯ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูให้แน่ใจว่าของในบ้านนั้นจะไม่ล้มหรือทำให้เกิดอันตรายกับลูกเมื่อเค้าใช้เป็นที่ยึดเกาะนะคะ ช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก ลูกน้อยจะเริ่มจากการหัดยืนให้มั่นคงโดยการเกาะยึดกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเค้าสามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้แล้ว เค้าก็จะค่อย ๆ เริ่มเคลื่อนที่โดยการยึดตัวเองกับสิ่งของที่ตั้งอยู่ถัดไป อาจมีเด็กบางคนที่สามารถเดินได้เลยหลังจากที่ยืนได้มั่นคงแล้วก็เป็นได้ค่ะ
ช่วง 9 – 10 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มรู้จักการย่อเข่าและเรียนรู้การเปลี่ยนจากท่ายืนไปเป็นท่านั่ง
ประมาณ 11 เดือน ลูกน้อยจะสามารถยืน โก้งโค้ง และนั่งยอง ๆ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องยึดเกาะกับสิ่งใด และอาจสามารถเดินได้หากมีคุณแม่จูงมือเดินไปด้วย แต่ก้าวเท้าของลูกอาจยังไม่มั่นคงนัก
ช่วงอายุประมาณ 13 เดือน 3 ใน 4 ของเด็กส่วนใหญ่จะสามารถเริ่มเดินได้ด้วยตนเองแม้ว่าจะยังไม่คล่องนัก แต่หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ยังไม่สามารถเดินได้ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการเดินของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไปค่ะ