ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแบบไหน

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เพราะอะไร อาการแบบนี้ปกติไหม

24.05.2024

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเด็กทารก ถ้าลูกน้อยนอนหลับสนิทก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการ แต่ถ้าหลับไม่ดี นอนดิ้น นอนบิดตัวไปมาก็จะสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ไม่ใช่น้อย ว่าจะส่งผลกระทบทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพ และพัฒนาการของลูกหรือไม่ มาดูกันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท

headphones

PLAYING: ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เพราะอะไร อาการแบบนี้ปกติไหม

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • อาการนอนบิดตัวของเด็กทารกในวัยแรกเกิดเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากลูกน้อยกำลังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่
  • เด็กทารกควรนอนอย่างน้อยวันละ 14-16 ชั่วโมง ตามช่วงวัย การนอนไม่เพียงพอส่งผลต่อการพัฒนาร่างกายและสมองของลูกน้อย
  • สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิทมีตั้งแต่มีแสงสว่างมากไป เสียงดัง หิวเกินไป อิ่มเกินไป นอนกลางวันมากไป อาการเจ็บป่วย หรืออยู่ในช่วงที่กำลังปรับเวลานอน

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การที่ลูกน้อยโดยเฉพาะในช่วงแรกคลอดนอนหลับยาก มีอาการบิดตัวไปมา นอนหลับไม่สนิทเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยเลยทีเดียว อาการนอนบิดตัว นอนหลับไม่สนิทนั้นมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย มีทั้งที่เป็นอาการโดยทั่วไปและอาการที่ต้องเฝ้าระวังค่ะ

 

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เกิดจากสาเหตุไหนบ้าง

การบิดตัวของเด็กทารกอาจเป็นเรื่องปกติ ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งอาการนอนบิดตัวนี้จะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น การที่ลูกน้อยพลิกตัวไปมา นอนหลับไม่สนิท อาจมีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. สภาพแวดล้อม

แม้เป็นผู้ใหญ่หากสภาพแวดล้อมในการนอนไม่ดีก็ทำให้นอนหลับยาก เด็กทารกก็ไม่ต่างกันค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องแสงสว่างภายในห้องนอนที่มากเกินไป เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะอยากเปิดไฟนอนเพื่อที่จะได้ตื่นมาแล้วเห็นลูกได้เลย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนหลับไม่สนิท นอกจากนี้การเปิดไฟนอนยังทำให้ลูกน้อยไม่รู้ว่าเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืนอีกด้วย ถ้ากลัวว่าตอนกลางคืนจะตื่นมาแล้วมองไม่เห็นลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตั้งไฟหรี่หรือเปิดไฟจากโคมไฟหัวเตียงแทนก็ได้ อีกสาเหตุหนึ่งคือ เสียงรบกวน ซึ่งอาจจะเป็นเสียงของคน สัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ หรือเสียงต่าง ๆ ที่จะมารบกวนลูกน้อยของเรา ถ้าเป็นไปได้ควรจัดห้องนอนของลูกให้อยู่ห่างจากเสียงรบกวนให้ได้มากที่สุด

 

2. ความหิว

ถ้าลูกน้อยที่อยู่ในช่วงวัยทารกมักจะหิวบ่อย โดยมีสาเหตุมาจากกระเพาะอาหารของลูกมีขนาดเล็ก จึงทำให้จุอาหารได้ปริมาณจำกัด ย่อยอาหารได้เร็ว ทำให้หิวเร็วตามไปด้วย เมื่อลูกรู้สึกหิว จะทำให้ลูกนอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท หรือตื่นมากลางดึก แต่ในทางกลับกันหากลูกกินนมมากเกินไป แล้วมีอาการท้องอืดก็จะทำให้ลูกน้อยนอนไม่สบายด้วยเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยกินนมแต่พอดีและควรอุ้มลูกน้อยหลังอาหารจนเขาเรอเพื่อป้องกันอาการท้องอืด

 

3. นอนกลางวันมากเกินไป

คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบให้ลูกนอนกลางวันเยอะ ๆ อาจจะทำให้ลูกน้อยไม่รู้สึกง่วงนอนตอนกลางคืน ยังไม่รู้สึกเหนื่อย และทำให้หลับยาก หรืออาจนอนพลิกตัวไปมาจนทำให้หลับไม่สนิทได้ค่ะ

 

4. อาการเจ็บป่วย

ถ้าอยู่ ๆ ลูกน้อยเกิดตื่นขึ้นมากลางดึก หรือนอนกระสับกระส่ายไปมา ไม่สบายตัว อาจเกิดจากอาการของโรคต่าง ๆ ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรเช็กอุณหภูมิร่างกาย การถ่ายท้อง น้ำมูก หรืออาการอื่น ๆ ประกอบด้วย หากไม่มั่นใจควรพาลูกไปพบแพทย์

 

5. ลูกอยู่ในช่วงปรับเวลานอน

ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพรอบตัวอาจทำให้ลูกน้อยยังปรับตัวไม่ทัน ยังนอนไม่เป็นเวลา ตื่นไม่เป็นเวลา และทำให้ยังไม่รู้ช่วงเวลานอนที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จึงต้องค่อย ๆ ให้เวลาเขาได้ปรับตัว แล้วก็ค่อย ๆ เสริมสร้างการนอนที่ดีให้กับลูกน้อยต่อไป

 

เด็กทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง

ในช่วงแรกเกิดเด็กทารกจะมีลักษณะการนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นแบบนี้ทั้งวัน โดยนับรวมกันได้ประมาณวันละ 18 ชั่วโมง โดยจะมีวงจรในการนอนสั้น คือน้อยกว่า 1 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง จนเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน การนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ จะน้อยลง ทำให้การนอนในแต่ละครั้งนานขึ้น จนถึงวัยประมาณ 6 เดือน การนอนจะเริ่มมีรูปแบบมากขึ้น สามารถนอนตอนกลางคืนได้นานขึ้น โดยในแต่ละช่วงวัยเด็กทารกควรนอนให้ได้ตามนี้ค่ะ

  • ทารกแรกเกิด ควรนอนให้ได้วันละ 16 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 8 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 8 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 1 เดือน ควรนอนให้ได้วันละ 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 7 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 8-9 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 3 เดือน ควรนอนให้ได้วันละ 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 4-5 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 9-10 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 6 เดือน ควรนอนให้ได้วันละ 14 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 4 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 10 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 9 เดือน ควรนอนให้ได้วันละ 14 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 3 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 11 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 1 ปี ควรนอนให้ได้วันละ 14 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนช่วงกลางวัน 3 ชั่วโมง นอนช่วงกลางคืน 11 ชั่วโมง

 

เด็กทารกนอนไม่พอ ส่งผลร้ายแรงอะไรบ้าง

การนอนหลับให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ของเด็กทารก เพราะการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยส่งเสริมสมอง ด้านการตอบสนอง ด้านความจำและการเรียนรู้ และยังจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกทางด้านร่างกายด้วย หากทารกนอนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองได้ค่ะ โดยการตอบสนองต่อสิ่งเร้า พัฒนาการด้านความจำและการเรียนรู้อาจจะช้ากว่าปกติ นอกจากนี้การนอนหลับไม่เพียงพอยังส่งผลโดยตรงต่อ Growth Hormone ที่จะทำงานระหว่างลูกน้อยนอนหลับ อาจทำให้กระทบต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย การสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกายได้

 

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท รับมือแบบไหนดี

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยให้หลับสนิท ไม่นอนบิดพลิกตัวไปมาได้หลากหลายวิธีเลยค่ะ ตั้งแต่การอาบน้ำทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวก่อนเข้านอน ให้ลูกน้อยกินนมให้อิ่มพอเหมาะจะทำให้นอนหลับได้นานขึ้น อ่านนิทาน ร้องเพลงหรือเปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ ขณะที่อุ้ม หาตุ๊กตา ผ้าห่ม หมอนนุ่ม ๆ มาวางไว้รอบตัวเด็ก เพื่อให้เขารู้สึกเหมือนมีคนอยู่รอบ ๆ หรือรู้สึกว่ากำลังถูกอุ้มอยู่ ลูกจะรู้สึกปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยกันไม่ให้ลูกดิ้นไปชนกับขอบเตียงได้ด้วย แต่ไม่ควรวางสิ่งของเหล่านั้นบริเวณหน้าของลูกน้อย เพราะมีโอกาสที่ลูกน้อยพลิกตัวมาแล้วอุดจมูกอุดหน้า ทำให้ลูกน้อยหายใจไม่ออกได้ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกน้อยนอนเป็นเวลา พยายามอย่าให้ลูกนอนกลางวันมากจนเกินไป ควรใช้เวลาตอนกลางวันในการเล่นกับลูกให้เต็มที่ กล่อมให้เข้านอนตอนกลางคืนเพื่อให้ลูกสามารถจดจำเวลานอนได้ และอย่าลืมจูบราตรีสวัสดิ์ก่อนนอนด้วยนะคะ

 

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท ดิ้นไปมา ปกติหรือไม่ แบบไหนอันตราย

 

ลูกหลับไม่สนิทดิ้นไปมา แบบไหนอันตราย

แม้ว่าอาการลูกนอนดิ้นไปมาจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าขณะที่นอนดิ้นอยู่นั้น ลูกมีอาการหายใจเสียงดัง หายใจติดขัด อาจจะเป็นสัญญาณของการหยุดหายใจขณะหลับได้ค่ะ หรือการดิ้นนั้นมีความรุนแรงและแสดงให้เห็นบ่อยครั้ง หรือมีอาการกระตุกแขนขา โยกศีรษะอย่างรุนแรง ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

 

ทารกนอนหลับไม่สนิทบิดตัวไปมา แบบไหนเป็นเรื่องปกติ

การที่ลูกน้อยมีอาการบิดตัวหรือขยับแขนขาเปลือกตาหรือแก้มขณะหลับนั้นอาจเป็นเรื่องปกติ เพราะลูกน้อยกำลังอยู่ในช่วงการหลับแบบตื้น หรือ REM (Rapid Eye Movement Sleep) ที่ลูกน้อยจะมีการเคลื่อนไหวลูกตาและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

 

ในช่วงแรกคลอดปัญหาการนอนหลับของลูกน้อยอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยหน่อย คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องตื่นมากลางดึกเพราะลูกน้อยอยู่บ่อยครั้ง แต่อาการนอนยาก นอนไม่เป็นเวลาของลูกจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่คอยช่วยกันเฝ้าดูแลและเอาใจใส่ ลูกก็สามารถเติบโต มีพัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้แล้วค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. ทารกหลับไม่สนิท ตื่นกลางคืนบ่อย ๆ เกิดจากอะไร, HelloKhunmor
  2. ทารกไม่ยอมนอน สาเหตุและวิธีแก้ไข, HelloKhunmor
  3. ภาวะปกติ ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลศิครินทร์
  4. What Causes Night Seizures in Toddlers?, Happiest Baby
  5. การนอนในวัยต่าง ๆ (ตอนที่ 1), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
 

บทความแนะนำ

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มเดินได้แล้ว ลูกเดินช้ามีผลต่อพัฒนาการสมองไหม พร้อมวิธีฝึกลูกเดิน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มคลานได้แล้ว ลูกคลานช้ากี่เดือนถึงเรียกว่าพัฒนาการช้าเกินไป พร้อมวิธีฝึกลูกคลาน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร อันตรายกับลูกไหม ผื่นส่าไข้ในเด็ก มีวิธีสังเกตอาการอย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันผื่นส่าไข้ในเด็กได้หรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี อาการไข้ในเด็กอันตรายไหม อาการแบบไหนที่คุณแม่ควรสังเกตเมื่อลูกมีไข้หนาวสั่น พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยเบื้องต้น

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก