เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไร พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก
คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกัน และมีเหตุทำให้ต้องเลิกรา และเกิดการหย่าร้างขึ้น และฝ่ายมารดาได้อำนาจในการปกครองบุตร ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 และมีความประสงค์จะให้บุตรเปลี่ยนจากนามสกุลเดิมของอดีตสามี เพื่อมาใช้นามสกุลของแม่นั้น สามารถทำได้หากอดีตสามีไม่เคยส่งเสียค่าเลี้ยงดูแก่บุตรเลย
PLAYING: เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไร พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก
สรุป
- การเปลี่ยนนามสกุลบุตร เอกสารที่ต้องเตรียมเบื้องต้น ได้แก่ สูติบัตรของบุตร สำเนาทะเบียนบ้านที่บุตรมีชื่ออยู่ หลักฐานการจดทะเบียนหย่า
- การเปลี่ยนนามสกุลลูก ไม่สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่สามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลได้ที่ว่าการอำเภอ หรือที่สำนักงานเขต
- การเปลี่ยนนามสกุลลูก จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเอกสารอนุมัติการเปลี่ยนนามสกุล 100 บาท
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง
- พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุลลูกได้ไหม
- ทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลลูก ต้องใช้พยานไหม
- เปลี่ยนนามสกุลลูก ทำได้ตอนลูกอายุเท่าไหร่
- เปลี่ยนนามสกุลลูก ทำผ่านออนไลน์ได้ไหม
- ทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุล เสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
- อยากเปลี่ยนนามสกุลลูก มีหลักเกณฑ์อย่างไร
- สรุปขั้นตอน การทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลลูก
หากกำลังคิดจะเปลี่ยนนามสกุลให้ลูกน้อย เรื่องเอกสารและขั้นตอนไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป เพื่อให้คุณพ่อหรือคุณแม่สามารถดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนนามสกุลลูกได้อย่างราบรื่นและสะดวกสบาย บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจทุกคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนนามสกุลให้ลูก การเปลี่ยนนามสกุลต้องเสียเงินหรือเปล่า การเปลี่ยนนามสกุลมีข้อควรระวังในเรื่องใดหรือไม่ และการเปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ไปทำความเข้าใจพร้อมกันได้เลย
เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง
ก่อนทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลลูก ต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอเปลี่ยนนามสกุลให้พร้อม ดังนี้
- สูติบัตรของบุตร หรือใบเกิด
- สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อบุตรอยู่
- หลักฐานการจดทะเบียนหย่า
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หลักฐานการขอเปลี่ยนชื่อสกุล เช่น หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (ช.2) หนังสือสำคัญแสดงการร่วมใช้ชื่อสกุล (ช.4) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) สำเนาทะเบียนรับรองบุตร (คร.11)
พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุลลูกได้ไหม
ในกรณีที่ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามี และมีเหตุให้ต้องเลิกรากัน และต้องการยื่นคำร้องในการขอเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลให้กับลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สามารถยื่นคำขอได้หากอำนาจการปกครองดูแลลูกอยู่ที่คุณแม่ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1546 คุณแม่สามารถใช้อำนาจในการปกครองบุตรทำการแทนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในการขอแก้ชื่อสกุลของบิดาเพื่อมาใช้สกุลของแม่ โดยไม่จำเป็นต้องให้อดีตสามีมาเซ็นให้การยินยอมแต่อย่างใด
ทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลลูก ต้องใช้พยานไหม
ตามขั้นตอนการยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลบุตร ไม่ได้แจ้งข้อมูลว่าต้องใช้พยานบุคคล เพียงแต่ต้องเตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำขอให้ครบเท่านั้น
เปลี่ยนนามสกุลลูก ทำได้ตอนลูกอายุเท่าไหร่
ตามข้อมูลของสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง ในส่วนของการเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) ไม่ได้มีกำหนดอายุการเปลี่ยนนามสกุลของบุตรว่าสามารถเริ่มทำได้ตอนอายุเท่าไหร่ ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถทำการยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลให้ลูกได้ตั้งแต่ในช่วงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
เปลี่ยนนามสกุลลูก ทำผ่านออนไลน์ได้ไหม
ปัจจุบันการขอยื่นคำร้องในการขอเปลี่ยนนามสกุลลูก ยังไม่มีข้อมูลแจ้งอย่างเป็นทางการว่าสามารถทำการยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งการยื่นคำร้องที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ อย่างกรณีการขอเปลี่ยนนามสกุลลูก ผู้ปกครองสามารถยื่นคำขอได้ที่ว่าการอำเภอสำนักงานทะเบียน หรือสำนักงานเขต ตามที่มีชื่อของลูกปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน
ทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุล เสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
หลังจากยื่นเอกสารการขอเปลี่ยนนามสกุลให้กับลูกต่อนายทะเบียนท้องที่เรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อรับเอกสารอนุมัติการเปลี่ยนนามสกุลลูก จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามเรียกเก็บ 100 บาท
อยากเปลี่ยนนามสกุลลูก มีหลักเกณฑ์อย่างไร
การเปลี่ยนนามสกุลลูก นอกจากเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลแล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องทราบข้อควรระวังในการเปลี่ยนนามสกุลลูก ดังนี้
- ต้องไม่ซ้ำ หรือพ้องมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
- ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
- ต้องไม่เว้นวรรค สกุลควรเป็นคำหรือพยางค์เดียวกัน
- ต้องใช้ตัวสะกดตัวการันต์ถูกต้องตามหลักภาษาไทย
- ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือขนมธรรมเนียมประเพณี
สรุปขั้นตอน การทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลลูก
การเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) กรณีต้องการเปลี่ยนชื่อสกุลของลูกตามคุณพ่อ หรือการเปลี่ยนชื่อสกุลของลูกตามคุณแม่ มีขั้นตอนและวิธีการดังนี้
- คุณพ่อ หรือคุณแม่ ยื่นคำขอตามแบบ ช.1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ที่มีชื่อลูกอยู่ในทะเบียนบ้าน ให้กับนายทะเบียนท้องที่
- นายทะเบียนท้องที่เมื่อได้รับเอกสารยื่นคำขอ
- เรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
- เรียกตรวจหลักฐานการขอเปลี่ยนชื่อสกุล เช่น หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (ช.2) หนังสือสำคัญแสดงการร่วมใช้ชื่อสกุล (ช.4) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) สำเนาทะเบียนรับรองบุตร (คร.11)
- ตรวจสอบคำขอ กับรายการทะเบียนบ้านในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร และฐานข้อมูลทะเบียนครอบครัว
- หากมีหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) ฉบับเดิมให้เรียกคืน หากสูญหายให้เรียกหลักฐานการแจ้งความเอกสารสูญหายแทน
- นายทะเบียนท้องที่ได้รับเอกสารทั้งหมดครบและถูกต้อง จะออกหนังสืออนุมัติสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.5) ให้ และขั้นตอนสุดท้ายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาท
การเปลี่ยนนามสกุลลูกต้องใช้เอกสารหลายอย่าง และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ผู้ปกครองควรเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอตามพื้นที่ที่ผู้ปกครอง หรือบุตรพำนักอยู่ หรือหากมีข้อสงสัยเรื่องการเปลี่ยนนามสกุลลูกให้ติดต่อสอบถามได้ที่โครงการศูนย์บริการภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center) เบอร์โทร 1111
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ไอเดียตั้งชื่อมงคล ตั้งชื่อลูกตามวันเกิด เสริมความเป็นสิริมงคล
- ไอเดียชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาอังกฤษลูกสาว อัพเดทล่าสุด
- โปรแกรมคำนวณวันไข่ตก เช็กวันไข่ตกคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรมคํานวณอายุครรภ์คุณแม่ คำนวณวันครบกำหนดคลอด
- โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสน้ำหนักควรเพิ่มเท่าไหร่
- คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
- วิธีเช็คผลอนุมัติเงินค่าคลอดบุตร สมทบบุตร สิทธิประกันสังคมมาตรา 33
- เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง
- แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- ต้องการเปลี่ยนนามสกุลบุตรมาใช้นามสกุลแม่, สำนักงานกฎหมาย DECHA
- การเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ทะเบียนชื่อบุคคล, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
- คำถาม กรณีมารดายื่นยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลให้แก่บุตร, กรมการปกครอง
- การเปลี่ยนชื่อ, ศูนย์บริการภาครัฐเพื่อประชาชน GCC
อ้างอิง ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567