โรคอ้วนในเด็ก สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีป้องกัน ที่แม่มือใหม่ควรรู้
เมื่อลูกมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น อาจเป็นสัญญาณของโรคอ้วน แต่สามารถแก้ไขได้โดยให้ลูกรู้จักวิธีการกินอยู่อย่างสมดุลเพื่อสุขภาพที่ดี
เด็กน้อยจ้ำม่ำ แก้มยุ้ยจะเริ่มยืดตัวทำให้ดูหุ่นเพรียวขึ้นกลายเป็นรูปร่างของเด็กวัยเตาะแตะ การสูญเสียมวล ความแน่นของรูปร่างจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งอายุ 6 หรือ 7 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงวัยของการเจริญเติบโตแบบพุ่งพรวด ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนสูง
ปัญหาเกิดขึ้นในเด็กบางคน เมื่อช่วงการเจริญเติบโตแบบพุ่งพรวดนั้นเกิดขึ้นในช่วงอายุ 3 ปีซึ่งเร็วกว่าช่วงอายุที่ควรจะเป็น จึงอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคอ้วนในวัยเด็ก แต่ความเสี่ยงนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากโดยการฝึกลูกให้รู้จักหลักการพื้นฐานของวิธีการกินอยู่อย่างสมดุล เพื่อสุขภาพที่ดี
สาเหตุหลักของการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
โรคอ้วนในวัยเด็กเป็นปัญหาที่น่ากังวลและมีการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุของโรคมีหลากหลายได้แก่
● กินอาหารที่ไม่สมดุล อาหารพลังงานสูงเกินไป
● การกินขนมหรืออาหารว่างที่ไม่เหมาะสม
● ขาดกิจกรรมทางร่างกาย และการใช้เวลาดูทีวี ดูวีดีโอ เล่นเกมคอมพิวเตอร์มากเกินไป
● สาเหตุจากพันธุกรรม เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อ (เกี่ยวกับฮอร์โมน) หรือ ระบบการเผาผลาญ (พบเพียง 1 %)
นอกจากปัญหาทางกายภาพแล้ว โรคอ้วนอาจทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจได้เช่นกัน เช่น เด็กอาจมีปัญหาในการยอมรับสภาพร่างกายของตัวเอง และกลายเป็นเด็กที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง บางครั้งเพื่อนในห้องเรียนก็จะนำโรคอ้วนมาล้อเลียนได้
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ เรายังคงมีวิธีจัดการกับปัญหานี้เมื่อลูกดูมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาโรคอ้วน
สัญญาณบอกปัญหาโรคอ้วน
ลูกอยู่ในเกณฑ์เด็กจ้ำม่ำหรือไม่ “มันเป็นเรื่องปกติ คนส่วนใหญ่ในครอบครัวก็ค่อนข้างอ้วน” คำพูดเหล่านี้มักถูกใช้เป็นคำตอบว่าเด็กอ้วนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางกรณีก็เป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่เสมอไป สัญญาณบางอย่างสามารถบอกโอกาสการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กได้ ลองสังเกตสัญญาณเหล่านี้เพื่อการป้องกันอย่างรอบคอบ
● อัตราการเจริญเติบโตของเด็กพุ่งเร็วมาก และเกินค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วประเทศ
● ดัชนีมวลกาย (คำนวณจาก น้ำหนัก / ส่วนสูง2 ) มีค่าเกิน 19 สำหรับเด็กในช่วงอายุ 3 ปี และ 6-7 ปี
● ระยะการเจริญเติบโตอย่างพุ่งพรวด ในช่วงที่ 2 (มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักมากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนสูง) เกิดขึ้นในช่วงอายุ 3 ปี แทนที่จะเป็นช่วง 6-7 ปี
● ลูกยังมีความจ้ำม่ำ แก้มยุ้ยค่อนข้างมาก หลังจากอายุ 3 ปีไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การตรวจร่างกายกับแพทย์เป็นประจำสามารถช่วยให้คุณแม่ระมัดระวัง และติดตามสัญญาณของปัญหาน้ำหนักตัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
พฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
หลายๆ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า หากมีการป้องกันปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนตั้งแต่อายุน้อยๆ (ก่อนอายุ 2 ปี) ก็จะช่วยส่งผลดีได้มากขึ้นไปด้วย แล้วเราจะมีวิธีอย่างไรที่จะช่วยปลูกฝังให้ลูกสนุกกับการกินอาหารพร้อมๆ กับการกินในปริมาณที่พอดี ลองใช้หลักการกินอาหารอย่างสมดุลและการกินให้หลากหลายกับลูกและทุกคนในครอบครัว เริ่มจากกำหนดให้มีการกินอาหารวันละ 4 มื้อตรงตามเวลาเป็นประจำ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการกินอาหาร
เริ่มจาก คุณแม่ต้องแน่ใจว่าลูกได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอจากนม (นมแม่หรือนมผง) ซึ่งจะยังคงเป็นแหล่งอาหารพื้นฐานที่สำคัญของเด็กๆ จากนั้นให้ลูกกินผักผลไม้อย่างเพียงพอ (วันละ 2-3 ส่วน) ให้กินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม (เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ เป็นต้น) ตามที่แพทย์แนะนำเพื่อคงความแข็งแรงให้ร่างกาย สำหรับคาร์โบไฮเดรตก็ควรให้ปริมาณที่เพียงพอ (เช่น พาสต้า ธัญพืช ข้าว เป็นต้น) ซึ่งช่วยให้พลังงานที่ร่างกายต้องการในช่วงการเจริญเติบโตที่รวดเร็วนี้ และช่วยให้ไม่หิวง่ายระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การกินขนมที่ไม่เหมาะสม
คุณแม่สามารถให้ลูกกินอาหารระหว่างมื้อเมื่อเขาอยากกินได้ การให้ขนมในบางโอกาสไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่อย่าให้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย น้ำอัดลม ขนมหวานควรให้เฉพาะในโอกาสพิเศษ (ในปาร์ตี้ของเด็กๆ การสังสรรค์ภายในครอบครัว เป็นต้น)
สุดท้ายนี้ ลูกจะมีพลังงานอย่างเต็มที่ คุณแม่ควรใช้ประโยชน์ของสิ่งนี้โดยการพาลูกเดินเล่น หากิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย (ทำให้คุณแม่ได้มีเวลาช่วงค่ำที่สบายมากขึ้น)