เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร กำจัดเหาในเด็กเล็กยังไงได้บ้าง

02.09.2024

เหาตัวเล็ก ๆ แต่สร้างผลกระทบทางสุขภาพไม่เล็กเหมือนตัว เพราะเมื่อลูกเป็นเหาแล้ว จะเกิดอาการคัน ระคายหนังศีรษะ หากดูแลรักษาไม่ดี อาจลุกลามทำให้เป็นหนอง ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือทำให้เป็นพาหะของโรคร้ายแรงได้ เหามักเกิดขึ้นได้ง่ายกับวัยเด็กมากกว่าวัยอื่น ๆ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกัน ระวังไม่ให้เหาแพร่ระบาดกับลูกได้ แต่หากลูกเป็นเหาแล้ว ควรศึกษาเรียนรู้ วิธีกำจัดเหาอย่างเหมาะสมปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นซ้ำได้อีก 

headphones

PLAYING: เหาเกิดจากอะไร กำจัดเหาในเด็กเล็กยังไงได้บ้าง

อ่าน 10 นาที

 

สรุป

  • เหามีมากกว่า 3,000 ชนิด มีทั้งชนิดที่เป็นปรสิตของคนและสัตว์ แต่ชนิดที่เป็นปรสิตของคนนั้น เกิดขึ้นได้ตามร่างกาย มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิด แต่ละชนิด จะอาศัยอยู่บนร่างกายของคนในแต่ละที่ แต่ละตำแหน่ง แตกต่างกันออกไป ได้แก่ เหาที่ศีรษะ เหาที่ลำตัว เหาที่อวัยวะเพศ
  • เหาเป็นแมลงที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะ เส้นผม เส้นขน ดูดเลือดคน กินขี้ไคลบนศีรษะเป็นอาหาร ทำให้คัน ระคายผิวหนัง เกิดตุ่มได้ตรงรอยที่เหากัด สามารถแพร่กระจายจากอีกคนไปสู่อีกคน ทำให้เป็นโรคเหากันได้ง่าย
  • เหา เป็นแมลงปรสิต เคลื่อนที่ได้ไว จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย เหาเป็นได้ทุกเพศทุกวัย จะพบได้บ่อย ๆ กับเด็ก เพราะเด็กมีโอกาสเล่นหรือทำกิจกรรมใกล้ชิดกันบ่อย ๆ ทำให้เป็นเหาได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่
  • เหา กับ โลน มีลักษณะที่ต่างกัน เหา มีลักษณะตัวเรียว อาศัยอยู่บนหนังศีรษะ หรืออาศัยอยู่บนเสื้อผ้า เพื่อออกมาดูดเลือดคน เหาแพร่ระบาดได้ด้วยการอยู่ใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีเหา ส่วนโลนนั้น มีลักษณะตัวแบนกว้าง มีตะขอใหญ่เหมือนปูไว้เกาะ อาศัยอยู่ตรงเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศ เกิดได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโลน

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เหา คืออะไร

เหา คือแมลงชนิดปรสิต ที่มี 6 ขา มีสีดำ ไม่มีปีก มีหนวดสั้น 1 คู่ ตัวเรียวยาว ส่วนหัวของเหาจะยื่นออกไปข้างหน้า ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus Capitis เหาเป็นแมลงที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะ ขน เส้นผม ดูดเลือด กินขี้ไคลบนศีรษะเป็นอาหาร จึงทำให้เกิดอาการคันศีรษะ ในน้ำลายของเหามีสารที่ทำให้คัน ระคายผิวหนัง เกิดตุ่มได้ตรงรอยที่เหากัด เหาเคลื่อนไหวได้คล่องตัว จึงสามารถแพร่กระจายจากอีกคนไปสู่อีกคนได้ ทำให้เป็นโรคเหากันได้ง่าย เหาจะวางไข่ไว้ตามโคนเส้นผม ซึ่งไข่ของเหาจะติดเส้นผมแน่นเพราะเหาจะหลั่งสารไคตินเพื่อหุ้มปลายหนึ่งของไข่ ทำให้ยึดเกาะแน่น ไข่เหาสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีขนาดที่เล็กมาก ประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร

 

เหาเกิดจากอะไร มีกี่ชนิด

เหาเกิดจากเชื้อชนิดปรสิต มีมากกว่า 3,000 ชนิด มีทั้งชนิดที่เป็นปรสิตของคนและสัตว์ ปรสิตของคนมี 3 ชนิด อาศัยอยู่บนร่างกายของคน และสัตว์ โดยจะดูดเลือด เป็นอาหาร

 

ทำไมเด็กถึงเป็นเหาบ่อยกว่าผู้ใหญ่

เนื่องจากเหา เป็นแมลงปรสิตที่เคลื่อนที่ได้ไว จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย เหาเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่ต้องไปโรงเรียน เพราะเด็กมีโอกาสเล่นหรือทำกิจกรรมใกล้ชิดกันบ่อย ๆ ทำให้เป็นเหาได้บ่อยกว่าวัยอื่น โดยทั่วไปแล้วจะพบว่ามีเหาบนหนังศีรษะน้อยกว่า 10 ตัว

 

วิธีสังเกตไข่เหาในเด็ก

ไข่เหา จะมีขนาดที่เล็กประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นวงรี สีเหลืองขุ่น ๆ หากเป็นไข่ที่ว่างเปล่าไม่มีตัวของเหา ไข่นั้นจะเป็นสีขาวขุ่น ไข่เหานั้นจะอยู่ติดแน่นเกาะติดกับเส้นผม เพราะเหาจะหลั่งสารไคตินเพื่อหุ้มปลายหนึ่งของไข่ ทำให้ยึดเกาะแน่นกับเส้นผม คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองสามารถมองเห็นตัวเหา หรือไข่เหาได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจใช้แว่นขยายเป็นตัวช่วยในการมองเห็นอย่างชัดเจนขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจหาไข่เหาให้กับเด็ก ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

 

ไข่เหา ใช้เวลาฟักตัวกี่วัน

เหา 1 ตัว จะวางไข่ในแต่ละครั้งมากถึงประมาณ 150 ฟอง ไข่เหาจะใช้เวลาฟักเป็นตัว 7-10 วัน คุณพ่อคุณแม่ คุณครู ควรตรวจหาไข่เหาให้กับเด็ก ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจตราดูว่ามีไข่เหาที่หนังศีรษะหรือไม่ เพื่อจะได้หาวิธีกำจัดก่อนที่เหาจะลุกลาม แพร่กระจายจำนวนมากขึ้น

 

ไข่เหาฝ่อไปเองได้ไหม

ไข่เหาจะฝ่อไปเองเมื่อไข่ถูกฟักออกเป็นตัวเหา ไข่ที่ฟักตัวออกไปแล้วจะมีสีขาวขุ่น ส่วนไข่ที่ยังไม่ได้ฟักตัวออกไปจะมีสีเหลืองขุ่น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เหาแพร่ระบาดมากกว่าเดิม คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือผู้ใกล้ชิดเด็ก ๆ ควรหมั่นสังเกต ตรวจเส้นผม เพื่อกำจัดไข่เหา ก่อนที่ไข่เหานั้นจะฟักออกมาเป็นตัว โดยการใช้หวีเสนียดสางไข่เหา แล้วใช้ไฟเผา

 

อาการแบบนี้แปลว่าลูกเป็นเหา

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบสระผมเป็นประจำ มีอาการคันหนังศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณตรงด้านหลังศีรษะ มีตุ่มคัน มีรอยแดง ชอบเกาศีรษะบ่อย ๆ บางคนมีอาการคันมาก เกาแรงจนเกิดเป็นสะเก็ดแห้ง หรือเกาจนลุกลามเป็นหนอง หรือบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ มาก ให้คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบที่หนังศีรษะของลูก ว่ามีไข่เหา หรือเหาหรือไม่ และควรหมั่นสอบถามถึงการระบาดของเหาในโรงเรียน หรือสถานที่ที่ลูกสามารถเล่นใกล้ชิดหรือการทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ที่ต้องใกล้กับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันจากเพื่อน ๆ หรือ เด็กในโรงเรียนของลูกนั้นเป็นเหา คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจตราเส้นผม ศีรษะของลูก อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสังเกตดูว่ามีไข่เหาเกาะติดตรงเส้นผมของลูกหรือไม่ จะได้รีบกำจัดไข่เหา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

 

เหาขึ้นตามร่างกายได้จริงไหม

เหา คือปรสิตของคน มีขึ้นตามร่างกายของคนได้จริง เหานี้จะอาศัยบนร่างกาย มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิด แต่ละชนิด จะอาศัยอยู่บนร่างกายของคนในแต่ละที่ แต่ละตำแหน่ง แตกต่างกันออกไป ได้แก่ เหาที่ศีรษะ เหาที่ลำตัว เหาที่อวัยวะเพศ

  • เหาที่ศีรษะ จะเจอได้บ่อยที่สุดตามร่างกายของคน อยู่บนหนังศีรษะ มีอายุ 30 วัน วางไข่ตรงโคนเส้นผม ในแต่ละครั้งเหาจะวางไข่มากถึงประมาณ 150 ฟอง ไข่เหาจะใช้เวลาฟักเป็นตัว 7-10 วัน เหาเจอได้บ่อยในวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ จะดูดเลือดเป็นอาหาร การติดเหาที่ศีรษะนั้นเกิดจากการใกล้ชิดกันของคน หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เหาจะแพร่กระจายได้โดยเร็วจากอีกคนไปสู่อีกคน
  • เหาที่ลำตัว จะอาศัยอยู่บนเสื้อผ้าของคน กินอาหารด้วยการคลานออกมาจากเสื้อผ้า แล้วมาดูดเลือดบนลำตัวของคน เหาที่ลำตัวจะคล้ายกันกับเหาที่ศีรษะ แต่จะมีลักษณะตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย วางไข่ครั้งละ 10-15 ฟอง มีอายุ 10 วัน มักจะวางไข่บนเส้นใยเสื้อผ้า ใกล้กับรอยเย็บตะเข็บ เหาชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ไม่รักษาความสะอาดเสื้อผ้า ไม่มีการอาบน้ำ หรือ ไม่ได้ซักผ้า เปลี่ยนเสื้อผ้า มักเจอแพร่ระบาดในค่ายผู้อพยพ หรือคุก หรือคนเร่ร่อน ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่ได้อาบน้ำ และไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเวลาหลายวัน
  • เหาที่อวัยวะเพศ เหาที่อวัยวะเพศนี้ ในทางภาษาไทย มักเรียกว่า “โลน” เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเหาชนิดนี้ เหาจะมีลักษณะตัวแบนกว้าง มีตะขอใหญ่เหมือนปูไว้เกาะ จะเกาะอยู่บนเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศ ขนรอบรูทวาร ดูดกินเลือดตรงขาหนีบ หรือหัวหน่าว เหาที่อวัยวะเพศจะไม่ค่อยขยับตัว จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 วัน วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง

 

เหา กับ โลน ต่างกันยังไง

เหา กับ โลน ต่างกันที่ลักษณะ และจุดที่อยู่อาศัย เหา มีลักษณะตัวเรียวยาว อาศัยอยู่บนหนังศีรษะ ขน เส้นผม ดูดเลือด กินขี้ไคลบนศีรษะเป็นอาหาร หรืออาศัยอยู่บนเสื้อผ้า เพื่อออกมาดูดเลือดคน วางไข่ได้ครั้งละ 150 ฟอง มีอายุมากถึง 30 วัน เกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีเหา

 

ส่วนโลนนั้น มีลักษณะตัวแบนกว้าง มากกว่าเหา มีตะขอใหญ่เหมือนปูไว้เกาะ อาศัยอยู่ตรงเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศ วางไข่ได้ครั้งละ 1-2 ฟอง มีอายุ 1 วัน เกิดได้จากการมีเพศสัมพันธ์

 

ลูกเป็นเหาปล่อยไว้นาน ๆ อันตรายแค่ไหน

  1. เป็นหนองที่หนังศีรษะ ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง
  2. ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ทำให้มีต่อมน้ำเหลืองโตที่ท้ายทอย หรือข้างคอ ผิวหนังอักเสบ เป็นฝี หนอง
  3. เป็นพาหะของโรคร้ายแรง เช่น โรคไข้กลับ, โรคไข้รากสาดใหญ่
  4. ผิวหนังจะมีสีคล้ำขึ้น และหนาตัวขึ้นจากเดิม ซึ่งเกิดจากการเกาผิวหนังเป็นเวลานาน

 

ไม่อยากให้ลูกเป็นเหา ป้องกันได้อย่างไร

 

ไม่อยากให้ลูกเป็นเหา ป้องกันได้อย่างไร

  • หมั่นสระผมและดูแลความสะอาดให้ลูกเป็นประจำ
  • ทำความสะอาดหมอน และผ้าปูที่นอนให้ลูกเป็นประจำ ควรต้มน้ำร้อน หรือตากแดดเสมอ
  • เตรียมของใช้ส่วนตัวให้ลูกนำไปใช้ที่โรงเรียน ไม่ใช้สิ่งของหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่หมักหมมเสื้อผ้า ซักเสื้อผ้าเป็นประจำ ใส่เสื้อผ้าที่ซักสะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นเหา

 

หวีเสนียดสางเหา สำคัญแค่ไหน

หวีเสนียดซี่เล็ก ๆ ที่ใช้สางหาตัวเหา หรือไข่เหา สามารถช่วยในการแพร่ระบาดของโรคเหาได้ การหวี สางผมบ่อย ๆ หรือหวีผม 4-5 ครั้งในทุก ๆ 3 วัน จะช่วยสางเอาไข่เหาที่ติดแน่นกับเส้นผมออกมาได้ และทำให้ไข่เหาบนศีรษะนั้นลดลง และลดการแพร่ระบาดของเหาที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้ว การหมั่นสางผมด้วยหวีเสนียด จะช่วยให้เหาหมดไปได้โดยไม่ต้องใช้ยากำจัด

 

วิธีกำจัดเหาลูกน้อยให้หายขาด

  1. ใช้ยาฆ่าเหา โดยการทายาฆ่าเหาทั่วศีรษะ หมักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วสระผมล้างออกให้สะอาด ควรใช้หวีเสนียดหวีสาง ให้ไข่เหาที่ติดอยู่บนผมหลุดออกไป
  2. ใช้สมุนไพรฆ่าเหา ตำสมุนไพร คั้นเอาน้ำหรือน้ำมันจากสมุนไพร หมักทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง สระผม ล้างออกให้สะอาด ควรใช้หวีเสนียดหวีสาง เพื่อเอาไข่เหาที่ติดอยู่บนผมให้หลุดออกไป
  3. ใช้ยาสระผมฆ่าเหา ยาที่ใช้จะมีลักษณะคล้ายกับแชมพูสระผม ใช้สระผมแล้วทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เนื่องด้วยตัวยาสระผมนี้จะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ขณะที่ใช้ยาสระผมฆ่าเหา ควรงดการใช้ไดร์เป่าผมและไม่ควรอยู่ใกล้วัตถุที่ทำให้เกิดประกายไฟ

 

ทั้งนี้ในการใช้ยาและสมุนไพรในการกำจัดเหา คุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะยานั้นมีข้อจำกัดต่าง ๆ ในการใช้ ควรใช้ยาและสมุนไพร ภายใต้คำสั่งของแพทย์ หรือเภสัชกร เท่านั้น

 

โรคเหาติดต่อได้จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง แม้ว่าโรคเหาจะไม่ทำให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรงในทันที แต่อาการคันที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคเหา ก็สร้างความรำคาญใจให้ไม่น้อย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของลูกตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวให้สะอาดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหา และแพร่ระบาดของโรคนี้ด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. เหา (Pediculosis), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ช่วยด้วย หากติดเหาจะทำอย่างไรดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  3. โรคเหา, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเหา?, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  5. เหา และ โลน (Pediculosis), haamor
  6. เหา (Pediculosis), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. โรคเหา Lice, สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  8. การรักษา เหา – พบแพทย์, pobpad

อ้างอิง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

รวมแคปชั่นลูกชาย สำหรับแม่ ๆ สายโซเชียล อวดลูกชายให้โลกรู้กันไปเลย

รวมแคปชั่นลูกชาย สำหรับแม่ ๆ สายโซเชียล อวดลูกชายให้โลกรู้กันไปเลย

ไอเดียแคปชั่นลูกชาย แคปชั่นอวดลูกชาย สำหรับพ่อแม่สายโซเชียล ที่ยังคิดแคปชั่นสำหรับลูกชายตัวแสบไม่ออก ไปดูไอเดียแคปชั่นลูกชายสุดน่ารัก พร้อมอวดให้โลกรู้กัน

ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายที่พ่อแม่ควรรู้

ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายควรรู้

ท่านั่ง w-sitting ท่านั่งยอดฮิตในเด็กเล็ก เพราะเป็นท่าที่นั่งสบาย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูกันว่าทำไมท่านั่ง w-sitting ถึงไม่ดีกับลูกน้อย

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า ผิดปกติไหม เด็กคอแข็งกี่เดือน คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงตามช่วงวัย

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน เด็กฟันน้ำนมขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน ฟันน้ำนมเด็กขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน สัญญาณไหนบ้างที่บอกว่าลูกน้อยฟันใกล้ขึ้นแล้ว พร้อมดูแลฟันของลูกน้อยที่ถูกต้อง ไปหาคำตอบเกี่ยวกับทารกฟันขึ้นกี่เดือนกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก