วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้

วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้

01.04.2024

เมื่อลูกน้อยมีอาการตัวรุมคล้ายมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรวัดไข้ทันที หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัด ทางทวารหนัก เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่ามีไข้ แต่คุณแม่ต้องมั่นใจว่าการวัดไข้ถูกวิธี และใช้ปรอทหรืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน โดยถ้าใช้ปรอทต้องหนีบให้อยู่ตรงกึ่งกลางรักแร้ หากเด็กโตแล้วควรวัดทางปาก และวัดนานประมาณ 1 นาที และหากลูกมีไข้ควรหมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อน และควรอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท ถ้าเปิดแอร์ ควรปิดแอร์ก่อนเช็ดตัวลูก ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนา ผ้าโปร่ง และควรระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี และมีไข้สูง เพราะอาจเกิดการชักจากไข้สูงได้

headphones

PLAYING: วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัด ทางทวารหนัก เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่ามีไข้
  • ก่อนเริ่มวัดไข้ให้ลูก ควรสลัดปรอทให้แสดงอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส เด็กแรกเกิดสามารถวัดไข้ได้จากปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก เด็กเล็กวัดไข้ตำแหน่งกึ่งกลางรักแร้ และเด็กโตหรืออายุมากกว่า 6 ปี ให้วางปรอทที่ตำแหน่งใต้ลิ้น
  • การลดไข้เบื้องต้นที่ได้ผลมีหลายวิธี เช่น การเช็ดตัวระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านน้ำ ตามปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำมาก ๆ ชดเชยการสูญเสียน้ำ และสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งเบาสบาย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เด็กทารกเป็นไข้ จะมีอาการอะไรให้เห็นบ้าง

ในเบื้องต้น แบ่งอาการตัวร้อนและมีไข้เป็นกลุ่มอาการที่ควรไปพบแพทย์ และไม่ต้องไปพบแพทย์ ดังนี้

  • หากเด็กเป็นไข้แต่ยังสามารถรับประทานอาหารได้ ไม่ซึม เล่นสนุกตามปกติ คุณแม่ก็อาจยังไม่จำเป็นต้องพาไปพบคุณหมอ แต่ควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุณหภูมิธรรมดา โดยเช็ดย้อนขึ้น เช่น เช็ดจากปลายมือไปต้นแขนและลำตัว ตามลำดับ เป็นต้น หมั่นพักผ้าชุบน้ำบริเวณข้อพับ หน้าผาก รักแร้ และซอกคอ ห้ามอาบน้ำเย็นเพราะอาจเกิดอันตรายได้ รวมถึงให้เด็กดื่มน้ำเยอะขึ้น เพื่อป้องกันการขาดน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ถ่ายเทได้ดี และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกบ่อย ๆ
  • กรณีที่ควรต้องพาไปพบแพทย์โดยทันที คือ เด็กมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน และวัดอุณหภูมิทางทวารหนักได้มากกว่า   38 องศาเซลเซียส หรือลูกรับประทานอาหารได้น้อย ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดหู มีผื่นขึ้น หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดท้อง น้ำลายไหล รวมถึงระวังไข้สูงจนมีอาการชักได้ด้วย

 

วิธีวัดไข้ให้ทารกตัวร้อน ให้ได้ผลชัวร์

  • ก่อนเริ่มวัดไข้ให้ลูก ควรสลัดปรอทให้แสดงอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ทุกครั้ง
  • ถ้าเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี อาจวัดปรอททางรักแร้ โดยวางให้กึ่งกลางรักแร้ และให้หนีบแน่นอย่างน้อย 3-5 นาที 
    ซึ่งหากวัดไข้ทางรักแร้ต้องเพิ่มอุณหภูมิจากที่วัดได้อีก 0.5 องศาเซลเซียส เช่น หากวัดไข้ได้ 38 องศาเซลเซียส เมื่อบวกอีก 0.5 จะได้อุณหภูมิร่างกายจริง คือ 38.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นไข้สูง ยกเว้นปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล ไม่ต้องบวกเพิ่มอีก 0.5 ให้ยึดตามตัวเลขที่แสดงบนปรอทได้เลย
  • กรณีเด็กอายุมากกว่า 6 ปี หรือเด็กสามารถอมปรอทได้แล้ว ให้วางปรอทที่ตำแหน่งใต้ลิ้นนานประมาณ 1 นาที และห้ามดื่มน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก่อนวัดไข้อย่างน้อย 15 นาที
  • กรณีเด็กแรกเกิด สามารถวัดไข้ได้จากปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก โดยใส่เข้าไปที่ก้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร นาน  1 นาที แต่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย

 

ทารกตัวร้อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ถือว่าเป็นไข้สูง

 

ทารกตัวร้อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ถือว่าเป็นไข้สูง

อาการไข้สูงในเด็ก (High fever in Children) คือเมื่อเด็กมีไข้สูงอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลและทำการเช็ดตัวให้ดีจนไข้ลด เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี เพราะหากเคยมีอาการชักแล้ว เด็กมีโอกาสที่จะชักซ้ำได้อีก มากกว่าเด็กปกติถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาการชักจากไข้สูง จะมีลักษณะ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็งทั้งตัว และชักไม่เกิน 5 นาที เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบอาการชักดังกล่าว ควรรีบให้เด็กนอนตะแคง เพื่อป้องกันเศษอาหารอุดกั้นทางเดินหายใจ และรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที ห้ามนำของแข็งหรือช้อนเข้าปากเด็กโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ให้ใช้ผ้านุ่มใส่ปากกรณีที่เด็กมีการกัดลิ้น

 

วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด ทำวิธีไหนได้บ้าง

  • เช็ดตัว เป็นการลดไข้ด้วยการระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านน้ำ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและระบายความร้อนได้ดี ซึ่งควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิประมาณ 27-37 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
  • ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และชดเชยการสูญเสียน้ำจากร่างกายในขณะที่มีไข้
  • ให้ใส่เสื้อผ้าที่เย็นสบาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าหนาจนเกินไป เพราะร่างกายอาจระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

เช็ดตัวลดไข้ให้ทารก ต้องทำซ้ำกี่ครั้ง

การเช็ดตัวลดไข้ให้ได้ผลที่ดี ควรถอดเสื้อผ้าเด็กออก และอยู่ในอุณหภูมิห้องที่ปกติ จากนั้นนำผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิปกติ บิดหมาด ๆ และเช็ดบริเวณหน้า คอ หลังหู แขนขา หลัง และลำตัว โดยเช็ดนาน 2-3 นาทีในแต่ละจุด มีการพักผ้าที่หน้าผาก รักแร้ หน้าอก ขาหนีบหรือข้อพับที่เข่า จุดละ 2-3 นาที โดยการเช็ดตัวแต่ละรอบไม่ควรน้อยกว่า 15-20 นาที หรือจนรู้สึกว่าเด็กอุณหภูมิลดลง จากนั้นใช้ผ้าแห้งซับน้ำและสวมเสื้อผ้าที่ถ่ายเทได้ดี และควรวัดไข้ทุก ๆ 30 นาที และเช็ดตัวซ้ำหากมีไข้สูง

 

ทารกตัวร้อน เป็นไข้ กี่วันถึงควรพาไปหาหมอ

หากลูกตัวร้อนมีไข้ และไข้ไม่ลดลงเลยภายหลังเช็ดตัว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน คุณแม่ควรพาไปปรึกษาแพทย์ โดยหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรืออาการที่รุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที เช่น อาเจียนและท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ปวดศีรษะ เจ็บคอ เจ็บหู เจ็บขณะปัสสาวะ ตื่นยาก ริมฝีปากหรือเล็บเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ ขยับคอลำบาก เป็นต้น

 

อาการทารกเป็นไข้แบบไหน เข้าข่ายอันตราย

  • อาเจียน และมีอาการท้องเสียร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง
  • ร้องไห้งอแงไม่หยุด ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ถึงจะเบี่ยงเบนความสนใจแล้วก็ตาม
  • ซึม อ่อนเพลียมาก รวมถึงเฉื่อยชา และนอนมาก ตื่นยาก
  • ปัสสาวะน้อยลง อาจเป็นผลจากภาวะขาดน้ำ และมีอาการปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • มีผื่นขึ้นที่ลำตัว หรือแขนขา
  • ไข้ไม่ลดลง หลังจากเช็ดตัวแล้ว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  • มีอาการชักเกร็ง ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตราย พบได้ในเด็ก 6 เดือน ถึง 6 ปี ซึ่งหากมีประวัติของคนในครอบครัวเคยชัก ต้องคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

 

เด็กบางรายอาจมีไข้แต่ไม่มีน้ำมูก แต่เมื่อลูกน้อยมีไข้ คุณพ่อและคุณแม่ควรรีบวัดไข้โดยทันที เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ และทำการเช็ดตัวให้ถูกวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดไข้ด้วยการระบายความร้อนผ่านน้ำ และหากลูกมีไข้สูงหรือเกิน 38.5 องซาเซลเซียสขึ้นไป ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หมั่นวัดไข้และเช็ดตัวทุก ๆ 30 นาทีด้วย หากอาการไม่ดีขึ้นหรือคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจให้รีบพาไปพบแพทย์ และอย่าลืมดูแลสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่เองด้วย เพราะอาจติดอาการป่วยไข้จากลูกได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 


อ้างอิง:

  1. ไข้สูงในเด็ก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี?, โรงพยาบาลศิครินทร์
  2. ลูกตัวร้อน พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร?, PobPad
  3. เมื่อลูกไม่สบาย ลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  4. การวัดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแบบไหน

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแบบไหน

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท ทารกนอนหลับไม่สนิทบิดตัวไปมา เกิดจากสาเหตุอะไร ปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท อันตรายหรือเปล่า ไปดูกัน

โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า

โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า

โรคซางในเด็กเล็ก เกิดจากสาเหตุอะไร หากลูกของคุณแม่มีอาการเหมือนจะเป็นโรคซาง มีไข้ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด คุณแม่ควรเฝ้าดูอาการและรีบพาไปพบแพทย์ทันที

วัคซีนเด็กแรกเกิด สำคัญแค่ไหน ลูกน้อยต้องฉีดอะไรบ้าง

วัคซีนเด็กแรกเกิด สำคัญแค่ไหน ลูกน้อยต้องฉีดอะไรบ้าง

วัคซีนเด็กแรกเกิดสำคัญกับลูกน้อยแค่ไหน ทำไมควรฉีดวัคซีนเด็กแรกเกิด เพื่อสร้างเกราะป้องกันและเสริมภูมิต้านทานโรคให้ลูก คุณแม่ควรเตรียมตัวให้ลูกน้อยอย่างไร ไปดูกัน

ลูกตัวร้อน ทำอย่างไรดี พร้อมวิธีสังเกตอาการลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ

ลูกตัวร้อนอย่างเดียวทำไงดี พร้อมวิธีสังเกตเมื่อลูกตัวร้อนไม่ทราบสาเหตุ

ลูกตัวร้อนอย่างเดียว ลูกตัวร้อนมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลลูกน้อยอย่างไรได้บ้าง หากลูกร้องไห้ไม่หยุด อ่อนเพลียและมีอาการอาเจียน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก