ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

30.09.2024

พัฒนาการด้านการพูดของเด็กเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการส่งเสียงร้องไห้ จากนั้นเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 1 ขวบ ลูกจะเริ่มพูดคำง่าย ๆ ที่มีความหมายได้เป็นคำ ๆ เช่น แม่ หม่ำ มาม๊า ปาป๊า และเมื่อลูกอายุ 2 ขวบ จะพูดได้ 2-3 คำติดกัน แต่ถ้าลูกอายุ 2 ขวบแล้วยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้ ทั้งที่เข้าใจภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ หรือคนรอบตัวพูดสื่อสารด้วย นั่นแสดงว่าอาจมีปัญหา “ลูกพูดช้า”

headphones

PLAYING: ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • ลูกพูดช้า (Delayed speech) หมายถึงภาวะที่มีพัฒนาการด้านการแสดงออกทางภาษาในการพูดสื่อสารล่าช้าไม่เป็นไปตามช่วงวัย
  • ลูกอายุ 2 ขวบ หากยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้ หรือพูดได้แค่คำเดียว หรือพูดสื่อสารกับพ่อแม่ และคนรอบข้างไม่ได้ถือว่าผิดปกติ
  • ลูกพูดช้า อาจมีสาเหตุมาจาก พันธุกรรม โรคออทิสติก ประสาทหูพิการ และการมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ลูกพูดช้า (Delayed speech) คือภาวะที่มีพัฒนาการด้านการแสดงออกทางภาษาในการพูดสื่อสารล่าช้าไม่เป็นไปตามช่วงวัยของเด็ก ลูกพูดช้าเป็นเรื่องที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ในหลายครอบครัวที่กำลังเจอกับปัญหานี้กังวลใจกันอยู่ไม่น้อย และต้องการคำแนะนำในการแก้ไข บทความนี้จะพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ “ลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด” รวมถึงวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ช่วยพัฒนาการด้านภาษาให้ลูกน้อยพูดคุยได้อย่างสมพัฒนาการตามช่วงวัย

 

สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า มีอะไรบ้าง

ทำไมลูกพูดช้ากว่าเพื่อน เป็นคำถามที่พ่อแม่เป็นกังวลใจเมื่อพบว่าลูกน้อยของตนเองพัฒนาการทางด้านภาษาช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้าเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย  เช่น

  1. พันธุกรรม: ลูกพูดช้าเนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรม ที่มีคนในครอบครัว มีประวัติพูดช้า หรือออทิสติก
  2. โรคออทิสติก: ออทิสติกในเด็ก จากเกิดความบกพร่องด้านการสื่อสารสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่เข้าใจคำสั่ง ความรู้สึกไวหรือช้าจนเกินไป ส่งเสียงหรือพูดไม่เป็นภาษา มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ รวมถึงมีปัญหาต่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว
  3. หูพิการ: เพราะมีความบกพร่องทางการได้ยิน เนื่องจากประสาทหูพิการ ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาและการพูดจากการได้ยินเสียง และอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์ด้วย เนื่องจากไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้
  4. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา: มีพัฒนาการด้านภาษาที่ล่าช้า เนื่องจากมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่า 70 และมีปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

 

ลูกพูดช้าแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ

ลูกพูดช้า ให้สังเกตตอนที่ลูกเริ่มอายุเข้า 2 ขวบ หากยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้ พูดได้แค่คำเดียว หรือสื่อสารกับพ่อแม่และคนรอบข้างไม่ได้ถือว่าผิดปกติ เพราะพัฒนาการด้านภาษาของลูกจะเริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่แรกเกิด ที่สื่อสารด้วยเสียงร้องไห้ เสียงอ้อแอ้ และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนสามารถที่จะพูดเป็นคำพูดได้ตอนอายุประมาณ 1 ขวบ และจะเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย 2 คำติดกันได้ตอนอายุประมาณ 2 ขวบ จากนั้นเมื่ออายุลูกได้ 3-4 ขวบ ก็จะสามารถพูดได้เป็นประโยคที่ยาวขึ้น หากสังเกตพบว่าลูกไม่สามารถสื่อสารได้ตามช่วงวัย แนะนำให้รีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการโดยเร็ว

 

ลูกไม่พูด ส่งผลกับพัฒนาการของลูกอย่างไร

ลูกไม่พูด อาจเพราะไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากลูกไม่ได้เล่นตามช่วงวัยกับผู้อื่น จะทำให้ไม่รู้ว่าต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับเพื่อน หรือคนรอบข้างยังไง และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทุกด้านของลูกที่อาจไม่เป็นตามช่วงวัย เด็กในช่วงอายุ 0-7 ขวบ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะจะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ที่จะสื่อสาร และตอบสนองได้

 

4 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ลูกพูดช้า มีอะไรบ้าง

ลูกพูดช้า นอกจากพันธุกรรม โรคออทิสติก หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกไม่พูด พูดช้า ก็อาจมาจากพฤติกรรมเหล่านี้ ที่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้กับลูก จนอาจทำให้ลูกพูดช้าได้เช่นกัน

  1. เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ: ให้ลูกดูทีวี เล่นมือถือ เล่นแท็บเล็ต ทำให้เด็กติดโทรศัพท์และติดทีวีมากเกินไปและทำให้พัฒนาการด้านภาษาไม่พัฒนา เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว
  2. ไม่ได้ทำกิจกรรมตามวัย: ให้ลูกเล่นคนเดียว โดยที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมตามวัยกับลูกมากเท่าที่ควร ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา เนื่องจากลูกไม่มีคลังคำศัพท์มากพอที่จะพูดสื่อสาร
  3. ตอบสนองลูกก่อน: พ่อแม่รู้ใจลูกมากทุกอย่าง มักจะทำอะไรให้ลูกก่อน ลูกจึงไม่ได้พูดสื่อสารถึงความต้องการของตัวเองว่าต้องการอะไร ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา เนื่องจากลูกขาดโอกาสในการกระตุ้นทักษะทางภาษา
  4. พูดสื่อสารไม่เหมาะกับช่วงวัยลูก: พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง พูดสื่อสารกับลูกมีการใช้ประโยคที่ยากหรือยาว และพูดเร็วมาก ไม่เหมาะกับพัฒนาการของลูกที่จะเรียนรู้หรือเข้าใจได้

 

ลูกอยู่หน้าจอมากเกินไป ทำให้พูดช้าได้จริงไหม

ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่แนะนำให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง หยิบยื่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเล่นมือถือ แท็บเล็ต หรือดูทีวี เพราะจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านภาษา เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้ลูกขาดการพูดคุยสื่อสารกับพ่อแม่ จึงทำให้เกิดปัญหาลูกพูดช้าขึ้นได้

 

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด โดยไม่ต้องบังคับ

 

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด โดยไม่ต้องบังคับ

หากไม่อยากให้ลูกพูดช้า พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ให้ความรักและความใส่ใจเต็มที่ ไม่ปล่อยลูกเล่นหรืออยู่คนเดียว และควรกระตุ้นให้ลูกพูดโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ: ใช้คำถามสั้น ๆ เข้าใจง่าย เพื่อให้ลูกโต้ตอบ เมื่อได้คำตอบแล้ว ควรชื่นชมลูกเพื่อเสริมกำลังใจ
  • ทำกิจกรรมร่วมกัน: เช่น อ่านนิทานหรือเล่าเรื่อง ช่วยกระตุ้นการพูดและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน
     


สภาพแวดล้อมแบบไหนทำให้ลูกพูดช้า

ลูกพูดช้า ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่ไม่ได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม ปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง ไม่สนใจลูกจนขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือให้ลูกเล่นหน้าจอมากเกินไป ไม่มีการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยให้กับเด็ก

 

บ้านที่มีลูกพูดช้าควรทำกิจกรรมอะไรบ้าง

หากลูกพูดช้า คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการด้านภาษาที่ดีขึ้นได้ ด้วยการทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่ช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูก เพื่อใช้ในการพูดสื่อสาร ได้แก่

  • อ่านนิทานให้ลูกฟัง
  • ดูหนังสือภาพ สอนลูกพูดจากภาพที่เห็นว่าคืออะไร
  • เล่นบัตรคำกับลูก ให้ลูกได้จดจำ
  • สร้างจินตนาการ ด้วยการเล่นบทบาทสมมติกับลูก
  • ชวนลูกร้องเพลงด้วยกัน

 

เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการการพูดที่แตกต่างกัน เด็กวัยเดียวกันบางคนพูดแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่พูด หรือพูดได้น้อย ดังนั้น การสังเกตพัฒนาการลูกอย่างใกล้ชิด ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการเอาใจใส่ ไม่ปล่อยปละละเลยลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งหากพบว่าลูกมีความผิดปกติในการพูดสื่อสารตามวัย ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และแนวทางในการรักษากระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับลูกน้อย

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและการทำงานของสมอง เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมไปถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท เช่น DHA ARA แอลฟา-แล็คตัลบูมิน โคลีน ไอโอดีน เหล็ก วิตามินบีต่างๆ รวมไปถึง สฟิงโกไมอีลิน ที่มีส่วนช่วยในการสร้างไมอีลิน ซึ่งเป็นฉนวนหุ้มเส้นใยประสาท ช่วยให้การส่งสัญญาณประสาทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นรากฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านการพูด การสื่อสาร และการเรียนรู้ในอนาคต
 


บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. ทำไงดี? ลูกพูดช้า...ไม่ยอมพูด, โรงพยาบาลพญาไท
  2. เด็กพูดช้า...แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
  3. พ่อแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกพูดช้า, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  4. รู้จักปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ลูกพูดช้า, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  5. เมื่อลูกพูดช้า...., โรงพยาบาลสินแพทย์
  6. เมื่อลูกพูดช้า หรือไม่ยอมพูด คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรดี?, โรงพยาบาลพญาไท
  7. ปัญหาเด็กพูดช้า เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับพัฒนาการของสมอง, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

อ้างอิง ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดจากอะไร ลูกเป็นภูมิแพ้ฝุ่น ขนสัตว์หรือเด็กแพ้อาหาร คุณแม่ควรสังเกตสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีป้องกันอาการเด็กแพ้ฝุ่นและเด็กแพ้อาหาร

แพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก ที่แม่ต้องรู้

แพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก ที่แม่ต้องรู้

ลูกแพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่มีวิธีรับมือกับอาการแพ้แลคโตสทารกอย่างไร พร้อมวิธีป้องกันเมื่อลูกแพ้แลคโตสในนม

 เด็กแพ้นมวัว มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตลูกน้อย

เด็กแพ้นมวัว มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตลูกน้อย

เด็กแพ้นมวัว เกิดจากอะไร อาการเด็กแพ้นมวัวเป็นแบบไหน ลูกแพ้นมวัวจะมีผื่นแพ้นมวัวหรือเปล่า พร้อมวิธีสังเกตว่าเด็กแพ้อาหารทั่วไปหรือเด็กแพ้นมวัว

ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก

ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้ในเด็ก

ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารกเป็นอย่างไร ผื่นแพ้อาหารทารก หนึ่งในอาการของภูมิแพ้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูวิธีสังเกตทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก