เช็กลิสต์เตรียมความพร้อม เมื่อลูกไปโรงเรียนวันแรก
เมื่อลูกถึงวัยต้องเข้าเนอร์สเซอรี่ เรามีบทความที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คลายกังวลด้วย 4 เช็กลิสต์เลือกเนอร์สเซอรี่ให้ลูก พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมเมื่อลูกไปโรงเรียนวันแรก
เขียนและตรวจทานความถูกต้องโดย อ.ปิยวรรณ วงศ์วสุ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาด้านอาหารและโภชนาการ
เลือกเนอร์สเซอรี่อย่างไรให้มั่นใจว่าลูกน้อยได้รับอาหารที่ดี พบกับข้อควรรู้และการเตรียมตัวด้านอาหารอย่างไรเมื่อไปเนอร์สเซอรี่วันแรก เพื่อโภชนาการที่ดีของลูกน้อยวัยเตาะแตะ
แม้จะใจหายไปบ้างในวันที่ต้องส่งลูกน้อยเข้าเนอร์สเซอรี่ แต่กับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานแล้ว การให้ลูกอยู่ในการดูแลของมืออาชีพก็คงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยไม่ว่าลูกของคุณแม่จะอยู่ที่ไหน ก็ต้องมั่นใจว่าเค้าได้รับอาหารที่มีประโยชน์เพื่อโภชนาการที่ดีสมวัย บทความนี้เราจึงมีคำแนะนำดีๆ เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อลูกไปโรงเรียนวันแรกเกี่ยวกับข้อควรรู้ด้านโภชนาการ เมื่อส่งลูกน้อยเข้าเนอร์สเซอรี่มาฝากกันค่ะ
4 เช็กลิสต์เลือกเนอร์สเซอรี่อย่างไร ให้มั่นใจว่าลูกน้อยได้รับอาหารที่ดี
ลูกของคุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่เนอร์สเซอรี่วันละหลายมื้อ (ทั้งมื้อหลักและมื้อว่าง) ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าเนอร์สเซอรี่ที่กำลังสนใจอยู่นั้นมีการจัดการด้านอาหารสำหรับเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งหากไม่รู้จะเริ่มหาข้อมูลอย่างไรดี เรามีเช็กลิสต์ให้คุณแม่ทำตาม ดังนี้ค่ะ
• สำรวจเมนูอาหาร
ลองศึกษาตารางอาหารประจำสัปดาห์ซึ่งอาจมีประกาศอยู่บนเว็บไซต์หรือสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ในวันเยี่ยมชมสถานที่ จะทำให้รู้ว่าเนอร์สเซอรี่นั้นๆ ให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีของเด็กมากเพียงใด โดยรายการอาหารที่ดีควรมีเมนูหมุนเวียนหลากหลายและครบ 5 หมู่ ไม่มีอาหารกลิ่นแรงหรือเสี่ยงต่อการแพ้ เลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย มีผักเป็นส่วนประกอบ มีอาหารมื้อว่างเป็นผลไม้มากกว่าขนมหวานพลังงานสูง และหน้าตาอาหารน่ารับประทานส่งเสริมการเจริญอาหาร
• ศึกษานโยบายด้านโภชนาการ
เนอร์สเซอรี่แต่ละแห่งอาจมีนโยบายด้านอาหารที่แตกต่างกัน บางแห่งให้นำน้ำนมแม่ไปฝากไว้ได้ เหมาะกับคุณแม่ที่ตั้งใจให้นมแม่ไปจนอายุ 2 ขวบ บางแห่งให้ความสำคัญกับการแพ้อาหารและมีกฏด้านการนำเข้าวัตถุดิบที่เสี่ยงต่อการแพ้ของเด็ก เหมาะกับเด็กที่แพ้อาหาร และบางแห่งไม่อนุญาตให้เด็กกินขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว จึงควรศึกษานโยบายของเนอร์สเซอรี่แต่ละแห่งแล้วเลือกให้เหมาะกับแนวทางการเลี้ยงลูกของคุณแม่ค่ะ
• เช็กดูว่าห้องเตรียมอาหารถูกสุขลักษณะ
เมื่อไปเยี่ยมชมเนอร์สเซอรี่อย่าลืมถามถึงห้องเตรียมอาหารด้วยนะคะ ห้องเตรียมอาหารที่ดีต้องสะอาด มีอากาศถ่ายเท ปราศจากสัตว์นำโรคต่างๆ มีการแบ่งโซนเตรียมและจัดเก็บอาหาร และผู้สัมผัสอาหารแต่งกายถูกสุขลักษณะ การล้างและจัดเป็นภาชนะเป็นไปตามมาตรฐานและจัดเก็บอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งปนเปื้อนมากับอาหารของลูกน้อยค่ะ
• มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้มีคุณภาพ
ควรตรวจเช็กให้แน่ใจว่าเนอร์สเซอรี่เลือกใช้วัตถุดิบประกอบอาหารที่เหมาะสม เนื้อสัตว์มาจากแหล่งที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ใช้ผักปลอดสารพิษหรือมีวิธีการล้างที่เหมาะสม มีระบบการจัดเก็บและระบายวัตถุดิบที่มีคุณภาพ คุณแม่อาจลองสอบถามเพิ่มเติมถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้จากเจ้าหน้าที่ดูได้ค่ะ โดยเฉพาะหากมีอาหารที่ลูกแพ้ ควรถามถึงวิธีการจัดเก็บและคัดแยกอาหารชนิดนั้นๆ ของทางเนอร์สเซอรี่ด้วย
ลูกไปโรงเรียนวันแรก เช็กลิสต์เรื่องอาหารที่ไม่ควรพลาด
• แจ้งข้อควรระวังด้านอาหารและยา
หากลูกน้อยมีรายการอาหารที่แพ้ เช่น ถั่ว ไข่ นม นมวัว กลูเตน เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะต้องแจ้งให้ผู้ดูแลน้องทราบ เพื่อการจัดรายการอาหารที่เหมาะสมและหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารที่นำไปสู่การแพ้โดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนั้นหากลูกน้อยมียาประจำตัวที่ต้องฝากไว้ให้รับประทาน ต้องแปะชื่อและคำอธิบายให้ชัดเจนเสมอ
• เลือกนมสำหรับเด็กที่เหมาะสม
เนอร์สเซอรี่ส่วนใหญ่จะให้ผู้ปกครองเตรียมนมสำหรับดื่มระหว่างวันมาฝากไว้ให้ผู้ดูแลเตรียมให้น้องดื่มระหว่างวัน ซึ่งอาจเป็นนมแม่ นมผง หรือนมกล่องก็ได้ โดยเรามีคำแนะนำในการเลือกนมประเภทต่างๆ ดังนี้ค่ะ
นมแม่ : หากคุณแม่ยังมีนมที่ปั๊มเก็บไว้ ลองปรึกษาเนอร์สเซอรี่ว่าสามารถนำไปให้น้องดื่มระหว่างวันได้ไหม หากทำได้ ให้คุณแม่นำน้ำนมบรรจุขวดนมหรือใส่ถุงเก็บน้ำนมแช่แข็งไปฝากไว้ โดยเขียนชื่อให้ชัดเจนและระมัดระวังเรื่องการรักษาอุณหภูมิขณะเดินทาง เช่น ใส่กระติกน้ำแข็ง หรือ กระเป๋าเก็บความเย็น เป็นต้น
นมผง : สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว ไม่สามารถให้ดื่มนมแม่ได้ เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์บางอย่าง หรืออายุยังไม่ถึง1 ปีที่สามารถจะให้นมกล่องได้ เนอร์สเซอรี่หลายแห่งก็อนุญาตให้คุณแม่นำนมผงที่น้องทานประจำไปฝากเป็นกระป๋องได้ ซึ่งนมผงแต่ละสูตรจะมีความแตกต่างกันตามช่วงวัย เช่น นมผงสูตร 2 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี นมผงสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป หรือนมสูตรเฉพาะตามแพทย์สั่งหากลูกมีอาการแพ้นมวัว เนื่องจากนมแต่ละสูตรจะมีการดัดแปลงสารอาหารให้เหมาะกับช่วงอายุหรืออาการเฉพาะของเด็กกลุ่มนั้นๆ (สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในความแตกต่างของ นมผง นมเด็ก แต่ละสูตรต่างกันอย่างไร)
นมกล่อง UHT : นับเป็นทางเลือกที่สะดวกที่สุดหากมีข้อจำกัดด้านการให้นมแม่และน้องมีอายุครบ 1 ปีแล้ว โดยคุณแม่สามารถเลือกได้ทั้งนมกล่องธรรมดาทั่วไป หรือ นมกล่องสูตรสำหรับเด็ก (สูตร 3 สำหรับเด็กวัย 1-3 ปี) ซึ่งหากเป็นนมสูตรสำหรับเด็กตามวัยโดยเฉพาะจะมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตเพิ่มเข้าไปด้วย ตัวอย่างของสารอาหารที่เติมเข้าไปและคุณแม่อาจคุ้นหู ได้แก่ โอเมก้า 3 ดีเอชเอ ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก วิตามินดี วิตามินซี แคลเซียม และโพรไบโอติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกนมกล่อง UHT ให้ลูกน้อยควรเลือกเป็นนมรสจืด เพื่อไม่ให้เด็กติดรสหวานและได้น้ำตาลส่วนเกินค่ะ (สามารถศึกษาเรื่องการเลือกนมกล่อง UHTได้ใน 7 วิธีเลือกนมกล่อง UHT สำหรับเด็ก 1 ปีให้ลูกน้อย)
• ขนมทานเล่น (หากได้รับอนุญาต)
เนอร์สเซอรี่บางแห่งอาจอนุญาตให้นำอาหารไปฝากไว้กับผู้ดูแลเพิ่มเติมได้ คุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ซีเรียลบาร์ โยเกิร์ตรสจืด หรือผลไม้ หลีกเลี่ยงขนมหวานหรือขนมกรุบกรอบ เช่น เวเฟอร์ ช็อคโกแลต ลูกกวาด ขนมเบเกอรี่ และระมัดระวังการนำอาหารที่มีส่วนผสมก่อให้เกิดการแพ้เข้าไปในเนอร์สเซอรี่ เนื่องจากอาจมีเด็กที่แพ้อาหารอยู่ร่วมกับลูกของคุณแม่ และไม่ใส่อาหารไว้ในกระเป๋าเป้ของลูกเองโดยไม่แจ้งผู้ดูแล เนื่องจากอาจเกิดการบูดเสียหรือมดขึ้นได้
แล้วอย่าลืมของอื่นๆ ที่ทางเนอร์สเซอรี่อาจขอให้เตรียมไปด้วยในวันแรก เช่น ชุดลำลอง ผ้าอ้อม สบู่ แปรงสีฟัน กระติกน้ำ โดยติดป้ายชื่อให้ชัดเจน ป้องกันการสูญหายหรือสลับของใช้กันระหว่างเด็กๆ นอกจากนั้นคอยดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้แข็งแรง หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่อาจติดมาจากเพื่อนร่วมห้อง เพราะการที่เด็กอยู่รวมกันมักมีโอกาสติดโรคจากกันได้บ่อยกว่าตอนเลี้ยงเองที่บ้าน และที่สำคัญคอยเป็นกำลังใจให้ลูกน้อยในการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อให้เค้าค่อยๆ เติบโตและรู้จักโลกกว้างต่อไปค่ะ
เอกสารอ้างอิง
1. Division of Nutrition, Physical Activity, and Obesity, National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion. (2021). Cow’s Milk and Milk Alternatives. Retrieved from https://www.cdc.gov/nutrition/infantandtoddlernutrition/foods-and-drinks/cows-milk-and-milk-alternatives.html
2. Mary L. Gavin. (2021). Snacks for Toddlers. Retrieved from https://kidshealth.org/en/parents/toddler-snacks.html
3. Young children and food: common questions. (2019). Young children and food: common questions. Retrieved from https://www.nhs.uk/conditions/baby/weaning-and-feeding/young-children-and-food-common-questions/
4. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2549). คู่มือพ่อแม่ เลือกสถานรับเลี้ยงเด็กอย่างไร ลูกรักปลอดภัยและพัฒนาการดี. สืบค้นจาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER17/DRAWER002/GENERAL/DATA0000/00000184.PDF
5. อรุณรัศมี บุนนาค. (2553).อาหารวัยเตาะแตะ (1-3 ปี). สืบค้นจาก