เคล็ดลับลดความกังวล เมื่อลูกเจ้าอารมณ์

เคล็ดลับลดความกังวล เมื่อลูกเจ้าอารมณ์

เคล็ดลับลดความกังวล เมื่อลูกเจ้าอารมณ์

บทความ
พ.ย. 14, 2024
2นาที

เมื่อลูกน้อยเจ้าอารมณ์หรือเอาแต่ใจ ก่อให้เกิดความกังวลใจกับคุณพ่อ-คุณแม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อลูกมีอารมณ์ร้ายถึงขนาดกรีดร้องเสียงดังและทำลายข้าวของบ่อยๆ

พฤติกรรมเหล่านี้มักทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ว่าจะรับมือกับลูกอย่างไรดี แต่รู้ไหมว่า การที่ลูกเจ้าอารมณ์ก็ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด นั่นก็เพราะว่า

เคล็ดลับลดความกังวล เมื่อลูกเจ้าอารมณ์

1.เป็นเรื่องปกติตามช่วงวัยของลูก

เมื่อลูกน้อยเริ่มรู้จักอารมณ์มากขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะมีความเจ้าอารมณ์อยู่บ้าง ซึ่งเมื่อโตขึ้นอีกนิด ความเจ้าอารมณ์ของลูกก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย โดยจะต้องสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองมากกว่าเดิม และรู้จักที่จะอดทน รอคอยในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่ใช้แต่อารมณ์เพื่อเอาแต่ใจตัวเอง และที่สำคัญ พ่อแม่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ด้วยการไม่ใช้อารมณ์กับลูกเช่นกัน

2.ความเจ้าอารมณ์ของลูกแก้ไขได้

ลูกน้อยมีความเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด ขี้วีนง่าย ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้เสมอไป เพราะฉะนั้นก็หมดกังวลไปได้เลย โดยเราก็มีวิธีการรับมือกับความเจ้าอารมณ์ของลูกมาแนะนำกันดังนี้

• รับฟังแบบเงียบๆ
ในขณะที่ลูกอารมณ์ร้าย หากพ่อแม่ยิ่งตอบโต้กลับมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเหมือนการสุมไฟให้อารมณ์ของลูกมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นลองรับฟังแบบเงียบๆ ดูบ้างจะดีกว่า โดยปล่อยให้ลูกร้องตะโกนเสียงดังโวยวายไปสักพัก เมื่อรู้สึกเหนื่อยเขาก็จะหยุดงอแงไปเอง

• อย่าตามใจ
บางครั้งการที่ลูกแสดงอารมณ์ร้ายและขี้วีนออกมา นั่นก็เพราะความเอาแต่ใจของลูกที่อยากได้โน่นอยากได้นี่ และพ่อแม่มักจะตัดปัญหาด้วยการตามใจเสมอ จึงทำให้ลูกติดนิสัยความเจ้าอารมณ์นั่นเอง ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการอย่าตามใจลูกเด็ดขาด แล้วจะทำให้ลูกลดความเจ้าอารมณ์ลงได้อย่างแน่นอน

• เบี่ยงเบนความสนใจของลูก
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาความเจ้าอารมณ์ของลูกได้ ก็คือการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกนั่นเอง โดยอาจจะชวนลูกทำกิจกรรมอื่นที่ลูกชอบ หรือพาไปเดินเล่น ไปกินไอศกรีม ไปทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ลูกรักของคุณลืมเรื่องราวที่ทำให้อารมณ์ไม่ดีไปได้นั่นเอง

• ค่อยๆสอนว่าอารมณ์โกรธเป็นสิ่งไม่ดี
การสอนจะทำให้ลูกมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ต้องสอนหลังจากที่ลูกอารมณ์ดีขึ้นแล้ว โดยบอกกับลูกว่า การที่ลูกโกรธและเจ้าอารมณ์นั้นเป็นสิ่งไม่ดี และหากลูกเจ้าอารมณ์แบบนี้พ่อแม่ก็จะไม่รักด้วย อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าการสอนลูกจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และให้ระยะเวลาค่อยๆ ขัดเกลาลูกไปเรื่อยๆ อย่าคาดหวังมากเกินไปหรือเร่งรัดที่จะทำให้ลูกเปลี่ยนแปลงตัวเองเร็วเกินไปเด็ดขาด

เคล็ดลับลดความกังวล เมื่อลูกเจ้าอารมณ์

3.แม้จะเจ้าอารมณ์ไปหน่อย แต่ก็เป็นสิ่งดีนะ

ความเจ้าอารมณ์ของลูก ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดีเสมอไป เพราะนั่นแสดงได้ถึงการที่ลูกมีสติปัญญาดี มีความฉลาด รู้จักการแสดงอารมณ์ต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่อายุ 3-4 ขวบแล้ว แต่ยังไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมาเลย ซึ่งนั่นอาจหมายความว่าลูกรักของคุณกำลังมีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้พัฒนาการทางด้านอารมณ์ช้ากว่าปกตินั่นเอง จะเห็นได้ว่าความเจ้าอารมณ์ของลูกไม่ได้น่ากังวลเลยสักนิด

เมื่อลูกน้อยเจ้าอารมณ์ เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเกิดความกังวลได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรคิดเสมอว่าความเจ้าอารมณ์ของลูกนั้นเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นตามวัยอยู่แล้ว และสามารถที่จะแก้ไขได้ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ สอนให้ลูกเกิดความเข้าใจและรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทีนี้ก็พอจะลดความกังวลได้บ้างแล้วใช่ไหมเอ่ย