11 วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

25.03.2024

สิ่งสำคัญสำหรับการดูแลทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือน มี 2 หัวข้อหลัก ๆ ที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ควรรู้คือ การดูแลทางด้านร่างกาย เช่น การดูแลเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยของทารก การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การดูแลความสะอาด และการดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง ต่อมาคือการดูแลทางด้านสุขภาพจิตของทารก เช่น การให้ความรักความอบอุ่นแก่ทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีพื้นฐานด้านจิตใจที่ดีและส่งผลให้ทารกเป็นคนที่มีจิตใจดีเมื่อเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

headphones

PLAYING: วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • การเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน คือ การดูแลทางด้านร่างกาย และการดูแลด้านสุขภาพจิต คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลควบคู่กันไป ไม่มากและไม่น้อยเกินไปข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ของทารก
  • การดูแลทารกวัยแรกเกิด ทางด้านร่างกาย ประกอบไปด้วย การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในสถานที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวกและปลอดภัย เรื่องโภชนาการอาหาร การดูแลระบบขับถ่ายของทารก การดูแลความสะอาดร่างกาย การดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง และการดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
  • การดูแลทารกวัยแรกเกิดทางด้านจิตใจ ประกอบไปด้วย การให้ความรักความอบอุ่นจากคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญทางด้านจิตใจที่ดีให้แก่ทารก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

1. การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน สำคัญมากแค่ไหน

ทารกวัยแรกเกิดถึง 1 เดือน เป็นช่วงการเจริญเติบโตที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากในครรภ์ของคุณแม่สู่สภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ภายนอกครรภ์คุณแม่ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาในการสร้างรากฐานการพัฒนานิสัยและบุคลิกภาพในอนาคต คุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจมากที่สุด

 

2. จริงไหม? หลังคลอด ต้องให้นมลูกทันที

หลังจากทารกคลอด คุณแม่ควรให้ทารกดูดนมแม่ทันที หรือภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด เพื่อเป็นการสร้างสายใยความรัก ความอบอุ่นและความผูกพันแก่ทารก คุณแม่จะได้เรียนรู้ความต้องการและมีความเข้าอกเข้าใจทารกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งทารกจะได้คุ้นเคยกับการดูดนมแม่อีกด้วย

 

การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน สำคัญมากแค่ไหน

 

3. ประโยชน์ของน้ำนมแม่ ดีกับทารกแรกเกิดมากแค่ไหน

ในน้ำนมแม่จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์กับทารกแรกเกิดกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ทั้งมีโพรไบโอติกส์ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดีที่ช่วยย่อยในลำไส้ของทารก มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคบนผิวหนังของทารก และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตาของทารก

 

4. ท่าจับเรอที่ถูกต้อง หนึ่งในวิธีเลี้ยงลูกแรกเกิดที่ต้องทำ

คุณแม่ควรจับลูกเรอด้วยท่าอุ้มเรอที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดอาการท้องอืดและป้องกันการแหวะนมได้ โดยเริ่มจากคุณแม่ปูผ้าอ้อมบนบ่า และจับทารกอุ้มพาดบ่าหันหน้าเข้าหาตัวคุณแม่ ให้ตัวของทารกแนบกับหน้าอกของคุณแม่ ประคองศีรษะทารก และวางคางของทารกไว้บนไหล่ที่มีผ้าอ้อมพาดอยู่ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังของทารกเบา ๆ ส่วนอีกท่าจะเป็นท่านั่งบนตัก

 

โดยคุณแม่พันผ้าอ้อมเอาไว้ที่ด้านหน้าของทารกเพื่อกันทารกแหวะนม แล้วจับทารกนั่งตักและเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะกับตัวของทารกไว้ และให้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของคุณแม่อยู่ที่คางและหน้าอกของทารก แล้วค่อย ๆ ลูบหลังลูกเบา ๆ คุณแม่สามารถเลือกใช้ท่าจับเรอตามความเหมาะสมและความถนัดของคุณแม่ได้เช่นกัน

 

5. เคล็ดลับในการอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด

  • ใช้น้ำอุณหภูมิห้อง น้ำที่ใช้อาบน้ำให้ทารก ควรเป็นน้ำอุ่นกำลังดีหรือที่อุณหภูมิห้อง ระวังอย่าใช้น้ำที่อุ่นเกินไป เพราะจะทำให้ผิวของทารกแห้งได้
  • อาบน้ำตอนที่อุณหภูมิแวดล้อมอบอุ่น ควรอาบน้ำทารกในที่อุณหภูมิห้อง (หากอยู่ในห้องแอร์ ควรปิดแอร์ก่อน) แต่หากมีอุณหภูมิสูงกว่านี้ หลังอาบน้ำควรให้ทารกดื่มน้ำเพื่อชดเชยการกระหายน้ำ และหากอยู่ในห้องแอร์ ควรปิดแอร์ก่อนที่จะอาบน้ำให้แก่ทารก
  • อย่าลืมทำความสะอาดสะดือให้ลูก สามารถทำความสะอาดสะดือให้ทารกได้ทันทีหลังคลอด โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เริ่มจากหลังอาบน้ำทารกเสร็จ ให้เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ โดยเช็ดที่สายสะดือและขั้วสะดือ เพราะถ้าไม่ทำความสะอาดสะดือให้ทารก อาจก่อให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกแล้วทารกอาจเกิดการติดเชื้อที่สะดือได้
  • ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมอาบน้ำหรือแชมพู สามารถใช้สบู่อาบน้ำได้แต่ควรเป็นสบู่เหลวที่อ่อนโยนกับผิวของทารก ไม่ควรใช้สบู่ก้อนเพราะจะทำให้ผิวของทารกแห้งได้ และควรใช้สบู่เหลวสูตรอ่อนโยนที่สามารถใช้ได้ทั้งสระผมและอาบน้ำในแบบเดียวกัน
  • ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกนานเกินไป ไม่ควรอาบน้ำทารกเกิน 5-7 นาที เพราะจะทำให้ผิวทารกแห้งเนื่องจากแช่น้ำนานเกินไป

 

การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน เคล็ดลับในการอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด

 

6. การอุ้มทารก ต้องอุ้มให้ถูกวิธี

การอุ้มทารกในท่าปกติสามารถทำได้โดยให้คุณแม่อุ้มทารกตะแคงเข้าหาตัว ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขนของคุณแม่ วางแขนไปตามลำตัวของทารก อีกมืออุ้มช้อนก้นและช่วงขา ลำตัวของทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ โดยให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการอุ้มทารกที่ถูกต้อง

 

7. การเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กแรกเกิด ทำได้ไม่ยาก

เริ่มจากให้คุณพ่อหรือคุณแม่ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรค ต่อมาทำการเช็ดบริเวณก้นของทารกให้สะอาดแล้วจึงทำการเปลี่ยนแพมเพิสผืนใหม่และเช็กความเรียบร้อยของแพมเพิส ดึงขอบขาของแพมเพิสให้ดี ไม่ให้ม้วนหรือบิดงอ ซึ่งจะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ และคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผื่นผ้าอ้อม ซึ่งอาจเกิดจากการระคายเคืองของผิวทารก ถ้าพบอาการผื่นผ้าอ้อมควรรีบเปลี่ยนยี่ห้อแพมเพิสทันที แต่หากอาการระคายเคืองไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

8. ทำไมต้องห่อตัวให้ทารก

การห่อตัวทารกในช่วงแรกเกิดมีประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน เช่น ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่ายและหลับลึก ช่วยกระชับแขนและขา ช่วยลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดังและการสั่นสะเทือน อีกทั้งยังช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายของทารกในกรณีอากาศเย็น และลดการสูญเสียความร้อนของร่างกายของทารกได้อีกด้วย

 

9. ทารกควรนอนเวลาไหนบ้าง นอนวันละกี่ชั่วโมง?

ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาช่วงนอนหลับอยู่ที่ประมาณ 8-18 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกวัยนี้

 

10. อย่าลืมให้ความสำคัญกับวัคซีน ในการดูแลทารกแรกเกิด

วัคซีนสำหรับเด็ก มีความสำคัญอย่างมากแก่ทารก โดยวัคซีนจะกระตุ้นร่างกายของทารกให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เมื่อทารกได้รับวัคซีนแล้ว จะทำให้โอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ทารกจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัยต่อไป

 

11. ความผิดปกติระหว่างการเลี้ยงทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน หากเจอต้องรีบไปพบแพทย์

  • ถ่ายเหลว มีมูกเลือดปน หากทารกมีการถ่ายเหลวหรืออุจจาระมีมูกเลือดปน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบทำความสะอาดที่ก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ของทารก และทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังทารกถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ควรพาทารกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยทันที และหมั่นสังเกตอุจจาระและปัสสาวะของทารกเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินสุขภาพของทารกต่อไป
  • นอนหลับนานผิดปกติ ทารกในวัยแรกเกิดไม่ควรนอนเกิน 1-2 ชั่วโมงของแต่ละรอบ หากทารกมีการนอนหลับนานกว่าปกติอาจมาจากทารกกินอิ่ม แต่หากทารกมีอาการนอนหลับนานกว่าปกติบ่อยครั้ง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
  • ตัวเย็น หากทารกมีอาการตัวเย็น ซีดหรือคล้ำ หรือมีอาการซึม ไม่ดูดนม หายใจเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่เย็นจนเกินไป และห่อตัวทารกด้วยผ้าหนา ๆ แล้วรีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที
  • ซึม ไม่ยอมกินนม หากทารกมีอาการซึมและไม่ยอมกินนม อาจเกิดจากทารกป่วยไม่สบายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาทารกไปพบแพทย์โดยทันที
  • ตัวเหลือง จากทารกหลังคลอด 2-3 วัน และมักจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการตรวจอาการตัวเหลืองทางผิวหนังก่อนกลับบ้าน หากแพทย์พบว่ามีอาการตัวเหลืองมากผิดปกติ จำเป็นต้องรับการรักษาโดยวิธีการส่องไฟทันที เพราะหากทารกมีอาการตัวเหลืองมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อสมอง ส่งผลทำให้เกิดสมองพิการได้

 

ทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือน เป็นช่วงที่มีการปรับตัวอย่างมากจากสภาพแวดล้อมในครรภ์ของคุณแม่ มายังสภาพแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างจากเดิม จึงเป็นช่วงที่ทารกต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด คุณพ่อและคุณแม่ให้ความสำคัญสำหรับกับการดูแลทารกในช่วงนี้เป็นพิเศษ เพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัยต่อไป

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  • การดูแลทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลยันฮี
  • 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • 11 เหตุผลที่ลูกควรกินนมแม่, โรงพยาบาลพญาไท
  • คุณแม่อย่าเผลอ…อย่าลืมให้ลูกเรอหลังกินนม, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  • 8 เทคนิคอาบน้ำและดูแลผิวทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • คำแนะนำเรื่องการอาบน้ำเด็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย?, โรงพยาบาลศิครินทร์
  • ทารกแรกเกิดมีอาการแบบนี้ รีบพามาพบคุณหมอด่วน!, โรงพยาบาลศิครินทร์
  • เปลี่ยนแพมเพิส ให้รวดเร็วและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็ทำได้, hellokhunmor
  • ห่อตัวทารกอย่างไร ให้ปลอดภัยจากฮีทสโตรก, โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา
  • การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น, hellokhunmor
  • ลูกน้อยแข็งแรง ด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี, โรงพยาบาลนครธน
  • การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น, hellokhunmor
  • ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า คุณแม่ช่วยลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

ทารกคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้า ผิดปกติไหม เด็กคอแข็งกี่เดือน คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงตามช่วงวัย

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน เด็กฟันน้ำนมขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน ฟันน้ำนมเด็กขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน สัญญาณไหนบ้างที่บอกว่าลูกน้อยฟันใกล้ขึ้นแล้ว พร้อมดูแลฟันของลูกน้อยที่ถูกต้อง ไปหาคำตอบเกี่ยวกับทารกฟันขึ้นกี่เดือนกัน

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดตอนไหน พร้อมวิธีดูแลฟันแท้ตามช่วงวัย

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ฟันน้ำนมหลุดตอนไหน พร้อมวิธีดูแลฟันแท้ตามช่วงวัย

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ ลูกฟันน้ำนมหลุดตอนไหน คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตและดูแลฟันแท้ของลูกอย่างไร ให้สะอาดและแข็งแรง เมื่อฟันแท้ของลูกน้อยขึ้นครบ 32 ซี่

เพลงโมสาร์ทพัฒนาสมอง ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องช่วยให้ฉลาดจริงไหม

เพลงโมสาร์ทพัฒนาสมอง ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องช่วยให้ฉลาดจริงไหม

เปิดเพลงโมสาร์ทพัฒนาสมองให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง ช่วยกระตุ้นพัฒนาสมองได้จริงไหม คุณแม่ควรเริ่มเปิดเพลงพัฒนาสมองให้ลูกฟังตั้งแต่สัปดาห์ที่เท่าไหร่

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก