เทคนิคช่วยให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะนอนหลับสบาย
ลูกวัยเตาะแตะจะมีความกระตือรือร้นมาก ทำให้ไม่สามารถหยุดนิ่งเพื่อการพักผ่อนได้ การสร้างนิสัยการนอนหลับที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญ
การส่งลูกเข้านอน
เมื่อลูกโตขึ้นเข้าสู่วัยเตาะเแตะในช่วงอายุ 12 เดือน เขาจะมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นและมีความต้องการอยากเรียนรู้ ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เขาอาจมีปัญหาในการควบคุมให้ตัวเองหยุดพัก หรือนอนพักผ่อน ซึ่งทำให้คุณแม่เองนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน ความผิดปกติของการนอนเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจาก
• การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
• การไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้สงบก่อนการเข้านอน
• การไม่รู้วิธีควบคุมตนเอง
• เหนื่อยมากเกินไป
• ความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ฝันร้าย
• ไม่สบายตัว มีอาการเจ็บปวด
การสร้างกิจวัตรก่อนนอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ละขั้นตอนของกิจวัตรเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะรู้สึกปลอดภัยกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และช่วยให้เขารู้ว่ากำลังจะถึงเวลาเข้านอนแล้ว ลองสร้างและปฏิบัติตามรูปแบบกิจวัตรก่อนนอนเพื่อให้ลูกน้อยหลับสบาย
หากิจกรรมเบาๆ ที่ช่วยให้ลูกสงบ และรู้สึกสบายในช่วงหัวค่ำประมาณ 90 นาที ก่อนเวลาปิดไฟเข้านอน กิจกรรมเหล่านี้ได้แก่
1. มื้อเย็นที่มีประโยชน์
2. การอาบน้ำอุ่น
3. การเล่นที่ไม่ส่งเสียงดัง ไม่เปิดทีวี เน้นการใช้เวลาร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
4. ดื่มนม 1 แก้ว
5. กิจกรรม การเล่นที่ไม่ส่งเสียงดัง
6. แปรงฟัน
7. เข้าห้องน้ำ
8. อ่านหนังสือบนที่นอน
9. หอม จูบ และกอดลูก
10. ปิดไฟ
การปฏิเสธการเข้านอนเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ แต่การนอนหลับในช่วงกลางคืนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นกับทั้งตัวลูกและตัวคุณแม่เอง การนอนหลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกต่อรอง ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากลูกวัยเตาะแตะปฏิเสธการเข้านอนเป็นประจำ หรือตื่นบ่อยในช่วงกลางดึก เด็กวัยเตาะแตะยังคงต้องการการนอนหลับในช่วงกลางวัน และจะเริ่มไม่ต้องนอนกลางวันในช่วงอายุประมาณ 2 ปีเป็นต้นไป ปริมาณการนอนกลางวันนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณกิจกรรมที่ลูกทำ และระยะเวลาที่นอนหลับในช่วงกลางคืน หากลูกมีพัฒนาการที่ดี มีความสุข และอารมณ์ดี แปลว่าลูกไม่มีปัญหาในการนอน
เทคนิคช่วยให้ลูกนอนหลับช่วงกลางวัน
• ใช้คำว่า “พักผ่อน” แทนคำว่า “นอน”
• ให้ลูกนอนพักบนเบาะนุ่มๆ ที่ทำขึ้น หรือในเต้นท์ของเล่น โดยไม่จำเป็นต้องพานอนบนเตียงของตัวเอง
• ให้หนังสืออ่านเล่นในช่วงนอนพักผ่อน
• กินอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงน้ำตาลขัดขาว สีผสมอาหาร และสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ
• กำหนดเวลาพักผ่อนให้ตรงกันในทุกๆ วัน
• ให้ลูกนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้มีกิจกรรมการเล่นช่วงเย็นอีกครั้ง ก่อนเริ่มทำกิจวัตรเข้านอนในช่วงกลางคืนต่อไป
การตื่นช่วงกลางดึกของเด็กวัยเตาะแตะ
หากลูกวัยเตาะแตะนอนดึกเป็นประจำ การนอนดึกหรือการตื่นกลางดึกบ่อยๆ จะทำให้ลูกพลาดช่วงเวลาการนอนที่มีค่า และเขาอาจมีปัญหาในการนอนหลับ เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น การขาดการนอนหลับที่ดีจะส่งผลต่อพฤติกรรมทางอารมณ์ที่แปรปรวนของเด็กวัยนี้ ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของคุณแม่เองและอาจทำลายบรรยากาศที่ดีภายในบ้านอีกด้วย
ลูกวัยนี้อาจสื่อสารถึงความเหนื่อยของตัวเองด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป
• อาการหงุดหงิดง่ายและอารมณ์แปรปรวนมาก (มากกว่าปกติ)
• ขาดสมาธิในการเล่น
• เปลี่ยนความสนใจจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว (เด็กในช่วงอายุนี้มักมีภาวะเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันจะยิ่งแย่ขึ้นเมื่อเขารู้สึกเหนื่อย)
• พฤติกรรมร้องอาละวาด (tantrums) เป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กวัยเตาะแตะ แต่หากลูกมีปัญหาการนอนหลับ พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นบ่อย และควบคุมได้ยาก
• ลูกวัยนี้จะโต้เถียงกับผู้ใหญ่และกับเด็กคนอื่นๆ มากขึ้น อาจทำให้เห็นพฤติกรรมการกัด การผลัก การดึง และอารมณ์ที่ฉุนเฉียว ลองนึกถึงเวลาที่คุณขาดสติเมื่อรู้สึกเหนื่อย ลูกก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน แต่เขามีการแสดงออกด้วยวิธีที่ต่างออกไป
• ลูกจะมีพฤติกรรมงุ่มง่าม ควบคุมร่างกายได้ไม่ดี ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การหกล้ม การกระแทกชนสิ่งของ หรือขี่จักรยานแล้วล้มง่ายขึ้น
• ลูกไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้นาน ขาดสมาธิในการจดจ่อกับการดูหนังสือ การวาดรูป หรือกิจกรรมที่ต้องการความเงียบ หรือใช้สมาธิ
• ลูกมีพฤติกรรมกระตือรือร้นมากผิดปกติในช่วงค่ำซึ่งมักทำให้คุณแม่เข้าใจผิดว่าลูกไม่เหนื่อย แต่ความจริงแล้วนี่เป็นสัญญาณที่ร่างกายมีความเหนื่อยมากเกินไป
วิธีช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับสบายในตอนกลางคืน
• ให้ลูกกินอาหารไม่ขัดสี เลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มากที่สุด และอย่าให้ลูกดื่มนมแทนการกินอาหารมื้อหลักระหว่างวัน
• ปฏิบัติตามรูปแบบกิจวัตรก่อนนอนที่ช่วยสร้างความสงบ และความสบายให้ลูกก่อนเข้านอน
• ให้ความรู้ในสิ่งที่ลูกกลัว เด็กยังไม่สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องแฟนตาซีต่างๆ ได้จนกว่าเขาจะโตขึ้นกว่านี้ ลองสังเกตสิ่งที่ลูกได้เห็นจากการดูทีวี หรือการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนนอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มักมีข่าวและภาพที่น่ากลัว หรือแม้แต่รูปจระเข้หรือไดโนเสาร์ที่ดูน่ารักที่เห็นในทีวีก็สามารถทำให้ลูกเกิดจินตนาการภาพในหัวที่ต่างออกไปได้
• ใต้เตียงมักเป็นที่ซ่อนตัวของสัตว์ประหลาดที่เด็กมักจินตนาการถึง คุณแม่ควรวางฟูกที่ไม่ได้ใช้ไว้ใต้เตียง หากลูกยังบอกว่ามีสัตว์ประหลาดมาอีก คุณแม่ต้องช่วยให้ลูกเห็นมันเป็นเพื่อน หรือแกล้งทำเป็นฉีดสเปรย์เพื่อทำให้สัตว์ประหลาดนั้นหายไป แต่ไม่ควรบอกลูกว่าไม่เห็นจะมีสัตว์ประหลาดเลย เพราะสัตว์ประหลาดมีอยู่จริงในความคิดของลูกเสมอ
• พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผ่านมาของวันนั้นๆ หรือให้ลูกวาดรูปเกี่ยวกับเรื่องราวของแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกปลดปล่อยความคิดที่เขารู้สึกกังวลอยู่ได้
การนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ดังนั้น คุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ หากเกิดปัญหาตื่นกลางดึกบ่อยๆ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และบรรยากาศที่ดีภายในบ้าน