เปลี่ยน “เด็กหวงของ” ให้ “แบ่งปันมีน้ำใจ” แก้ไขได้ไม่ยาก

5 วิธีเปลี่ยนเด็กหวงของให้เป็นเด็กชอบแบ่งปันมีน้ำใจ

5 วิธีเปลี่ยนเด็กหวงของให้เป็นเด็กชอบแบ่งปันมีน้ำใจ

บทความ
พ.ย. 14, 2024
3นาที

อาการหวงของ มักเกิดขึ้นกับเด็กๆในวัย 2- 3 -ขวบค่ะ สิ่งที่เด็กมักจะหวงเช่น ของเล่น ตุ๊กตา หมอน หรือผ้าห่ม เมื่อใครมาหยิบจับ แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะแสดงอาการไม่พอใจทันที

เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์ “ลูกเอาแต่ใจ” และ “หวงของ” ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กๆในวัย 2- 3 -ขวบค่ะ สิ่งที่เด็กมักจะหวงเช่น ของเล่น ตุ๊กตา หมอน หรือผ้าห่ม เมื่อใครมาหยิบจับ แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะแสดงอาการไม่พอใจทันที ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ไม่ยาก ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า การที่ลูกเอาแต่ใจ หรือลูกหวงของนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ทุกคน เด็กเล็กมักจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทุกอย่าง เมื่อมีใครมาหยิบจับของเล่นของตัวเอง ก็มักจะโผจู่โจมเพื่อทวงของคืนอย่างรุนแรง หากคุณแม่พบเจอเหตุการณ์นี้ อย่าตกใจจนคิดมากว่า “ลูกเอาแต่ใจ ลูกไม่แบ่งปันแบบนี้ จะเข้ากับเพื่อนในโรงเรียนได้ไหม?” หรือ “เมื่อโตไป ลูกจะก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงไหมนะ?” ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพียงแต่เด็กในวัยนี้จะรับรู้เฉพาะความต้องการของตัวเองเท่านั้น โดยคุณแม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมสร้างความฉลาดเข้าสังคม หรือ SQด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมเจ้าตัวน้อย จากลูกเอาแต่ใจ กลายเป็นเด็กที่แบ่งปันมีน้ำใจ ดังต่อไปนี้ค่ะ

เปลี่ยน “เด็กหวงของ” ให้แบ่งปันมีน้ำใจ แก้ไขได้ไม่ยาก

1. เมื่อลูกไม่แบ่งปัน ไม่ควรลงโทษให้ลูกรู้สึกอายหรือเสียหน้า เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกถูกทอดทิ้ง ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวมากขึ้นอย่างแท้จริง คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ให้นึกเสมอว่า “เราจะสอนอะไรให้ลูก” ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ดุว่าลูก
2. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ทำให้ลูกเห็นเป็นประจำว่าครอบครัวเรามีความแบ่งปันมีน้ำใจ เพราะเด็กจะจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่
3. ควรชื่นชมเมื่อลูกแบ่งปันของให้ผู้อื่น ในทางกลับกันก็กล่าวคำชมเชยผู้อื่นให้ลูกเห็นเมื่อลูกได้รับการแบ่งปันมีน้ำใจ
4. สร้างสถานการณ์แบ่งปันมีน้ำใจ เมื่อเห็นว่าลูกเอาแต่ใจ เมื่อลูกเอาแต่ใจหรือหวงของ ลองสร้างสถานการณ์สอนทักษะการแบ่งปันมีน้ำใจให้ลูก ด้วยการพูดคุยกันก่อนว่า “ถ้าหนูยังไม่พร้อมที่จะแบ่งน้อง/เพื่อน แม่ก็จะให้หนูเล่นไปก่อน” จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกเล่นไป ในขณะเดียวกันก็สร้างสถานการณ์การเล่นที่สนุกขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ร้อยทั้งร้อยเด็กจะวิ่งมาเล่นด้วย ตรงนี้ให้พูดกับลูกว่า“หนูพร้อมที่จะแบ่งของเล่นกับเพื่อนๆ แล้วใช่ไหมคะ ตอนนี้แม่ก็พร้อมแบ่งให้หนูเล่นเหมือนกัน เรามาเล่นด้วยกันเถอะ!”
5. อธิบายเหตุผลกับเขาว่าเราจะหยิบของของเขาไปทำอะไร เพราะอะไร เพื่อให้เขาเข้าใจเหตุผลว่าเราไม่ได้แย่ง เช่น แม่ขอหยิบหมอนของหนูไปซักทำความสะอาดก่อนนะคะ เพราะถ้าหมอนไม่สะอาดจะทำให้ลูกป่วยได้ สอนให้เขารู้ว่าของทุกชิ้นในบ้านไม่ได้เป็นของเขาคนเดียว ของบางอย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น ทีวี โซฟา เก้าอี้ เป็นต้น

อาการหวงของ ไม่ได้เป็นอาการที่น่ากังวลใจนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทน และใจเย็น ต้องค่อยๆสอนเขาให้เข้าใจเหตุและผล เมื่อเขาโตขึ้น อาการหวงของก็จะค่อยๆหายไปเองค่ะ