ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้ดีขี้น

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ

25.03.2024

บทเรียนชีวิตเรื่องแรก ๆ ของคุณแม่มือใหม่หลังคลอดที่ต้องเจอ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการให้ลูกได้ดูดนมแม่ แต่จะเอาลูกเข้าเต้าด้วยวิธีไหน แล้วถ้าลูกไม่ยอมดูดเต้า ปฏิเสธนมแม่จะทำอย่างไรดี เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อรับมือ

headphones

PLAYING: ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • ทารกควรได้ดูดนมแม่ทันที หรือภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด การเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกน้อยได้ดูดน้ำนมแม่นอกจากจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดแล้ว ยังทำให้ลูกได้สัมผัสไออุ่นแรกจากแม่เพื่อทำความคุ้นเคย และช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่ให้มาเร็วอีกด้วย
  • ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เป็นเรื่องที่คุณแม่มือใหม่หลายคนพบเจอ ซึ่งอาจเกิดได้หลายปัจจัย อาทิ เอาลูกเข้าเต้าผิดวิธี คุณแม่มีน้ำนมน้อย ทารกไม่สบาย เป็นต้น
  • คุณแม่มือใหม่อาจคลายกังวลได้ด้วยเคล็ดลับเอาลูกเข้าเต้าด้วยการปรับท่าให้นมลูก ปรับสภาพแวดล้อมในการให้นม ปรับเวลาให้อยู่กับลูกน้อยมากขึ้น เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

“น้ำนมแม่” ถือว่าเป็นอาหารมื้อแรกของเจ้าตัวน้อยหลังจากที่ได้ลืมตาออกมาดูโลก โดยเฉพาะในช่วงอย่างน้อย 6 เดือนแรกนั้น ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นมากกว่า 200 ชนิด เช่น แคลเซียม โปรตีน สฟิงโกไมอีลิน ดีเอชเอ (DHA) รวมไปถึงในนมแม่นั้นยังมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ (Probiotics) หลายชนิด เช่น บีแลคทิส (B. Lactis) ฯลฯ ที่ล้วนมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการสมอง สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ต้องเจอเมื่อลูกไม่ยอมเข้าเต้าอาจทำเอาคุณแม่ต้องเครียด เป็นเพราะอะไร มาหาสาเหตุ พร้อมเทคนิครับมือพาลูกดูดเต้าให้สำเร็จกันค่ะ

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ปัญหาที่แม่มือใหม่ต้องรับมือ

หลังคุณแม่ฟื้นตัวจากการคลอดลูกแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่และเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้สัมผัสไออุ่นจากแม่โดยเร็วที่สุดหรือควรให้นมลูก และให้ลูกได้ดูดนมแม่ทันทีใน 60 นาทีแรกหลังคลอด เพื่อให้ลูกน้อยได้คุ้นเคยกับคุณแม่ และให้ลูกน้อยได้ดูดนมเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ด้วย แต่ในช่วงแรก ๆ บทบาทของแม่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะทำให้คุณแม่เอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี จนทำให้เจ้าตัวเล็กงับนมแม่ไม่ได้ เบือนหน้าหนี ปฏิเสธนมแม่ และอีกหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการที่ลูกไม่ยอมดูดเต้า

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เกิดจากอะไรได้บ้าง

ในช่วงวัยแรกเกิดนั้นเป็นช่วงที่ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงสุดต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกไม่ยอมเข้าเต้า จนทำให้คุณแม่กังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารน้อย ขาดภูมิต้านทาน หรือเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ กรณีลูกไม่ยอมดูดเต้า หรือดูดนมแม่ได้นิดเดียว อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเหล่านี้ เช่น

  • เอาลูกเข้าเต้าหรือท่าให้ลูกดูดนมที่ผิดวิธี การเป็นคุณแม่มือใหม่ที่อาจยังเคอะเขินกับการให้นมลูกจากเต้า ซึ่งคุณแม่จำเป็นต้องรู้วิธีให้นมด้วยท่าที่ถูกต้อง เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ใช้ปากอมครอบหัวนมและลานนมของแม่จนมิดและทำให้ลูกดูดนมได้อย่างต่อเนื่อง
  • น้ำนมแม่น้อย อีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจพบเจอ เมื่อลูกดูดนมแล้วน้ำนมไม่ไหล ไม่มีน้ำนมเพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุที่อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้าได้
  • ให้ลูกกินอาหารอื่น ๆ ก่อน 6 เดือน หรือให้นมผง ให้น้ำ ทำให้ทารกอิ่มจนไม่อยากเข้าเต้า
  • ทารกรู้สึกเครียด หากคุณแม่กระตุ้นให้ลูกน้อยกินนมมากเกินไปหรือให้นมลูกไม่บ่อย หรือเอาลูกเข้าเต้าช้ากว่าปกติ ทำให้ทารกไม่ได้รับสัมผัสจากแม่อย่างใกล้ชิด อาจส่งผลให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกเครียดและไม่ยอมดูดนม
  • กลิ่นไม่คุ้นชิน ทารกจะคุ้นชินกับกลิ่นและสัมผัสจากคุณแม่ แต่ถ้าคุณแม่เปลี่ยนกลิ่นสบู่อาบน้ำ โลชั่น หรือน้ำหอมที่เคยใช้เป็นประจำ ก็อาจทำให้ทารกไม่คุ้นชินกับกลิ่นเดิม ๆ ของคุณแม่ รู้สึกหงุดหงิด ทำให้อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้ากินนมได้
  • มีสิ่งเร้ารบกวนขณะให้นม หากคุณแม่ให้นมในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เสียงดัง เจ้าตัวน้อยอาจจะตกใจหรือไม่มีสมาธิจนไม่ยอมดูดนม
  • ลูกน้อยไม่สบาย อาจเกิดจากความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น ทารกไม่สบาย เป็นหวัด มีไข้ มีน้ำมูกจนทำให้การหายใจไม่สะดวกในขณะที่กำลังดูดนมจากเต้า หรือเป็นแผลในช่องปาก เจ็บปาก เจ็บคอ หรืออาการอื่น ๆ เช่น ติดเชื้อในหู ติดเชื้อในลำคอ จนทำให้ลูกน้อยไม่สามารถดูดนมได้ตามปกติ ก็อาจทำให้ลูกไม่ยอมดูดเต้าได้
  • ฟันลูกกำลังขึ้น อาการคันหรือเจ็บเหงือกเนื่องจากฟันกำลังงอกสำหรับทารกในวัย 6 เดือนขึ้นไป ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมเข้าเต้าจนทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง
  • ทารกเข้าสู่วัยรับประทานอาหารตามวัยที่เพิ่มเติมจากนมแม่ได้แล้ว ซึ่งถ้าหากคุณแม่ให้อาหารลูกรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้ลูกน้อยอิ่ม จนไม่ยอมดูดเต้าก็เป็นได้

 

อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ผิดปกติไหม

 

อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ผิดปกติไหม

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ลูกไม่ยอมดูดนมแม่จากเต้า หรือเคยดูดได้ปกติแต่อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ปัญหาที่ชวนคุณแม่มือใหม่ให้กุมขมับ ชวนกังวลว่าเจ้าตัวเล็กจะไม่ยอมกินนมแม่ทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่แทบทุกคน แต่คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ทารกเข้าเต้ากินนมแม่ตามปกติได้ ซึ่งคุณแม่สามารถเช็กได้ว่าลูกน้อยดูดนมแม่ได้เพียงพอหรือเปล่า โดยสังเกตได้จาก

  • ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ขัดขืน เบือนหน้าหนีเมื่อถึงเวลาให้นม
  • ลูกไม่ตื่นขึ้นมาส่งเสียงร้องขอดูดนมเมื่อถึงเวลา
  • ลูกไม่ยอมดูดเต้า กินนมน้อยกว่า 8 ครั้งภายในหนึ่งวัน
  • ลูกดูดไม่ต่อเนื่อง ดูดไม่ถึง 7-10 นาทีแรก หลังดูดนมภายใน 5 นาทีก็ผล็อยหลับ
  • สังเกตอุจจาระของลูก มีการถ่ายน้อยกว่า 3-4 ครั้ง/วัน หรือปัสสาวะน้อย ผ้าอ้อมเปียกไม่เต็มผืนใน 6 แผ่นต่อวัน หรือหลังอายุ 1 สัปดาห์มีอุจจาระสีเขียว หรือออกเขียวมีฟองปน

 

ในกรณีที่ลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ทารกขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ ขาดพัฒนาการที่ดี ๆ ทางร่างกาย ยังอาจส่งผลให้ลูกเกิดภาวะตัวเหลือง เนื่องจากลูกกินนมน้อยจึงทำให้การขับบิลิรูบิน (Bilirubin) ออกจากร่างกายไม่ทัน ทำให้มีบิลิรูบินไปสะสมอยู่ในกระแสเลือดและทำให้ทารกเกิดอาการตัวเหลืองได้ ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นหลังทารกเกิดประมาณ 2-3 วัน และอาจหายได้ภายใน 10-14 วันเมื่อทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ แต่ถ้าพบว่าการที่ลูกน้อยไม่ยอมเข้าเต้า ปฏิเสธนมแม่ มีสาเหตุจากอาการผิดปกติหรือเกิดจากอาการป่วยอื่น ๆ ควรพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อปรึกษาและวินิจฉัยอาการ

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เช็กก่อนว่าเป็นแบบนี้หรือไม่

  1. มีเสียงคน ทีวี หรือเสียงต่าง ๆ รบกวน
  2. ภายในห้องมีอากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเท
  3. ห้องที่เปิดไฟสว่างมากเกินไป

 

ทารกน้อยหากถูกกระตุ้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาจทำให้ลูกไม่มีสมาธิและถูกดึงดูดความสนใจไปจากเต้านม ดังนั้นเมื่อถึงเวลาให้นม คุณแม่ควรหาห้องหรือสถานที่ที่เงียบสงบ เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวนมากระตุ้นเวลากินนมของเจ้าตัวน้อย อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท เย็นสบาย หรืออาจสร้างบรรยากาศด้วยการลดแสงสว่างจากไฟที่เปิดจ้าเกินไป และเปิดเพลงเบา ๆ กล่อมลูกน้อยในขณะที่ลูกกำลังดูดนมแม่

 

ช่วงวัยที่ฟันกำลังขึ้น ทำให้ลูกไม่ยอมดูดเต้าได้

หากคุณแม่สังเกตว่าอยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้าในช่วงนี้ แถมงอแงร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล หรือชอบเอามือเข้าปาก มีน้ำลายไหลออกมาเยอะ อาการนี้อาจเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวเล็กกำลังจะมีฟันซี่แรกขึ้น ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกคันหรือมีอาการเจ็บเหงือกจนทำให้ลูกน้อยปฏิเสธที่จะดูดนมจากเต้าคุณแม่ได้ ในกรณีแบบนี้คุณแม่ลองใช้ผ้าเย็นชุบน้ำสะอาด แล้วนวดเหงือกลูกเบา ๆ ความเย็นจะช่วยลดอาการบวมของเหงือกลง หรือหายางกัดที่ปลอดภัยสำหรับทารก หรือปราศจากสาร BPA ให้ลูกลองเคี้ยวเล่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันเหงือกลง ทั้งนี้อาการเจ็บเหงือกจากฟันซี่แรกกำลังขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลและรีบร้อนให้ลูกใช้ขวดนมแทนนะคะ เพราะหากลูกดูดจากขวดแล้วจะหันกลับมาดูดเต้าอีกครั้งอาจกลายเป็นเรื่องยาก

 

ให้ลูกยอมเข้าเต้าตามปกติ คุณแม่มือใหม่ก็ทำได้

1. ปรับตัวเองหมั่นปั๊มนมบ่อย ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้น้ำนมออกเยอะ

เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอสำหรับทารกที่ดูดนมจากเต้าแม่ โดยควรปั๊มนมออกทุก ๆ 3 ชั่วโมง และพยายามปั๊มให้เกลี้ยงเต้า นอกจากนี้ยังมีวิธีกระตุ้นน้ำนมง่าย ๆ ที่คุณแม่ควรรู้ เช่น

  • ควรให้ทารกแรกเกิดได้ดื่มนมแม่ทันทีหรือภายใน 60 นาทีแรกหลังคลอด เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่
  • เอาลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ หรือไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 7-10 นาที การที่ลูกได้ดูดนมจากเต้าแม่จะช่วยกระตุ้นร่างกายคุณแม่ให้สร้างน้ำนมออกมาเพิ่มขึ้น
  • ใช้วิธีนวดเต้า โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้า แล้วใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทั้ง 3 นิ้ววางลงบนเต้านมค่อย ๆ คลึงเบา ๆ เป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปจนใกล้หัวนม นวดประมาณ 3-5 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น

 

2. ปรับให้ลูกดูดเต้า งดการใช้จุกหลอก หรือขวดนม

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเกิดภาวะสับสนหัวนม ระหว่างเต้านมแม่กับจุกหลอกหรือขวดนม อีกทั้งการให้ลูกน้อยใช้จุกหลอก หัวนมยาง หรือขวดนม เป็นการดูดที่ทำให้ทารกไม่ต้องออกแรงดูดมากน้ำนมก็ไหลผ่านได้ง่ายทันที แตกต่างจากการดูดนมแม่จากเต้าซึ่งทารกจะต้องใช้ลิ้นและขยับกรามเพื่อรีดน้ำนมออกจากกระเปาะน้ำนม และต้องใช้แรงเพื่อดูดกระตุ้นน้ำนมแม่ออกมา ซึ่งหากคุณแม่หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม และเอาลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ ก็จะส่งผลให้ลูกคุ้นชินกับเต้านมแม่ และยอมเข้าเต้าตามปกติ

 

3. ปรับสภาพแวดล้อมให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย

สบายใจ ในขณะที่ถึงเวลาให้นมเจ้าตัวเล็ก คุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เงียบสงบ ไม่ส่งเสียงหรือเปิดเสียงดัง ซึ่งก็จะทำให้ลูกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ดูดนมจากเต้าคุณแม่ได้อย่างมีความสุขและหลับสบาย ทำให้คุณแม่ได้มีโอกาสพักผ่อนในช่วงนี้ด้วย

 

4. ปรับเวลาให้กับลูกมากขึ้น

ในช่วงแรกเกิดคุณแม่ควรได้ใช้เวลาอยู่กับเจ้าตัวน้อยให้ได้มากที่สุด โดยสัมผัสจากการกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อหรือการเอาลูกเข้าเต้าแนบอก จะช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย และเป็นการสร้างสายใยความผูกพันของคุณแม่และลูกน้อย เมื่อลูกคุ้นเคยกับกลิ่นตัวและได้รับความอบอุ่นจากร่างกายของคุณแม่ ก็จะยอมดูดเต้ากินนมได้ง่ายขึ้นตั้งแต่แรก ๆ

 

5. ปรับเปลี่ยนท่าให้นมใหม่ ๆ

หากคุณแม่เรียนรู้วิธีการอุ้มลูกเข้าเต้าโดยใช้ท่าที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยยอมเข้าเต้ากินนมง่าย ๆ โดยอุ้มทารกตะแคงเข้าหาตัวให้กระชับกับอก ประคองให้ศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน จากนั้นให้ลูกอ้าปากกว้างเข้าไปอมหัวนมและลานนมให้ลึก คุณแม่จะรับรู้ถึงความรู้สึกว่าลูกดูดนมเป็นจังหวะและอาจได้ยินเสียงเบา ๆ ขณะลูกกลืนน้ำนมด้วย ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเกร็งเวลาให้นมลูกก็สามารถพลิกตัวทารกเพื่อสลับฝั่ง หรืออาจจะขยับเปลี่ยนท่าให้นมในท่าอื่นได้ เช่น

  • ท่านอนให้นม โดยคุณแม่นอนตะแคงศีรษะสูง หลังและสะโพกให้นอนตรงยาวเป็นระนาบเดียวกัน และใช้มือด้านล่างประคองหลังลูกน้อยนอนตะแคงเข้าหาตัวให้ปากอยู่ตรงกับหัวนมของคุณแม่ ส่วนมือด้านบนประคองเต้านมเพื่อขยับให้หัวนมเข้าปากลูกได้ง่ายขึ้น
  • ท่าฟุตบอล โดยใช้มือจับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูกน้อย ประคองลูกเข้ากับสีข้าง ซึ่งขาของทารกจะชี้ไปทางด้านหลังคุณแม่ และให้ปากทารกตรงกับหัวนมพอดี
  • ท่าอุ้มขวางตัก โดยอุ้มลูกนอนขวางบนตัก ใช้แขนพาดด้านหลัง ขยับศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวตรง ซึ่งปากลูกจะตรงกับหัวนมแม่พอดี และฝ่ามืออีกข้างจับช้อนบริเวณก้นและต้นขาของทารก ขยับตะแคงเข้าหาตัวให้ท้องลูกชิดกับท้องคุณแม่

 

ปัญหาลูกไม่ยอมเข้าเต้าสำหรับคุณแม่มือใหม่ หากคุณแม่ได้ศึกษาทั้งสาเหตุและวิธีแก้เพื่อกระตุ้นให้ลูกยอมเข้าเต้ากินนมแม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะทำให้ลูกน้อยได้รับโภชนาการที่ดี สร้างภูมิต้านทานโรค มีร่างกายที่แข็งแรง และสร้างประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองในการสร้างสมองของลูกให้เรียนรู้ได้ไว ควบคู่ไปกับการกระตุ้นพัฒนาการตามช่วงวัยที่เหมาะสมด้วยค่ะ

 

 บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่องนมแม่ที่ต้องอ่าน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. วิธีให้ลูกดูดเต้า กระตุ้นน้ำนมแม่ ทำได้อย่างไรบ้าง, hellokhunmor
  4. ลูกไม่กินนม ปัญหาหนักใจที่คุณพ่อคุณแม่แก้ไขได้, pobpad
  5. แนะคุณแม่มือใหม่! เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบถูกวิธี, โรงพยาบาลพญาไท
  6. ฟันลูกขึ้น..จะต้องทำยังไง, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  7. เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี

อ้างอิง ณ วันที่ 16 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

หลังคลอดเลือดออกเป็นก้อนลิ่ม เลือดออกหลังคลอด 1-2 เดือน อันตรายไหม

หลังคลอดเลือดออกเป็นก้อนลิ่ม เลือดออกหลังคลอด 1-2 เดือน อันตรายไหม

คุณแม่หลังคลอดเลือดออกเป็นก้อน หลังคลอด 1 เดือน และหลังคลอด 2 เดือน มีเลือดออกนิดหน่อย เลือดออกหลังคลอด 1-2 เดือน ปกติไหม ไปเช็กอาการคุณแม่เลือดออกเป็นก้อนกัน

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

แม่ท้องเป็นริดสีดวง เกิดจากอะไร คุณแม่ท้องจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นริดสีดวง พร้อมวิธีสังเกตริดสีดวงคนท้อง พร้อมวิธีป้องกันริดสีดวงคนท้องระหว่างตั้งครรภ์

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยไหม ลูกไม่พูดสักที จะเป็นอันตรายหรือเปล่า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีฝึกลูกพูดตามช่วงวัย เสริมพัฒนาการลูกน้อย

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

วัยทอง 1 ขวบ คืออะไร ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกน้อยมีอาการวัยทอง 1 ขวบ เอาแต่ใจ พร้อมวิธีรีบมือ

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก