ตารางกินนมทารก ลูกควรกินนมแม่วันละกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไหร่

ตารางกินนมทารก ลูกควรกินนมแม่วันละกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไหร่

08.03.2024

น้ำนมแม่คือโภชนาการเดียวของทารกที่คุณแม่มอบให้ลูกน้อยในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน โดยลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม  สำหรับคุณแม่มือใหม่ หากยังไม่มั่นใจเรื่องการให้นมลูก สามารถปรึกษาคลินิกนมแม่ เพื่อให้คุณหมอช่วยแนะนำหลักการให้นมที่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมกับลูกน้อยของเรา เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก และป้องกันการกินนมมากเกินไปจนอาจเกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา

headphones

PLAYING: ตารางกินนมทารก ลูกควรกินนมแม่วันละกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไหร่

อ่าน 6 นาที

สรุป

  • เด็กแต่ละช่วงวัยมีความต้องการนมแม่ในปริมาณที่ต่างกัน เด็กเล็กมีกระเพาะที่เล็กทำให้จุน้ำนมได้ครั้งละน้อย ๆ ทำให้คุณแม่จำเป็นต้องให้นมลูกบ่อยขึ้น
  • การให้นมลูกควรให้แต่พอดี อย่าให้ลูกกินนมมากเกินไปเพื่อป้องกันอาการ Over breastfeeding ที่อาจทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัว อาเจียน แหวะนมบ่อย ๆ
  • คุณแม่สามารถให้นมลูกน้อยตามความต้องการของลูกได้ โดยสังเกตอาการทั้งตอนหิวและตอนอิ่ม หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกได้รับนมเพียงพอไหมให้เช็กจากปริมาณการขับถ่ายได้เช่นกัน

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ช่วงแรกเกิดคุณแม่ควรให้ลูกเข้าเต้าเลยทันที

  • ภายในวันแรก คุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินนมวันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา
  • วันที่ 3 ขึ้นไปคุณแม่ควรให้นมลูกในปริมาณมากขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5 ออนซ์ โดยเฉลี่ยวันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
  • ลูกน้อยอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรให้ลูกกินนมแม่ 2-3 ออนซ์ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง

 

ตารางกินนมทารก ช่วง 1-4 เดือน

ในช่วงนี้กระเพาะของทารกเริ่มใหญ่ขึ้นจึงสามารถรับนมแม่ได้มากขึ้นแล้ว ส่วนปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน มีดังนี้

  • ลูกน้อยอายุ 1 เดือน: ควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 7-8 ครั้งต่อวัน ในปริมาณ 2-4 ออนซ์
  • ลูกน้อยอายุ 2-4 เดือน: ควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 6-8 ครั้งต่อวัน หรือทุก 3-4 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 4-6 ออนซ์

 

ตารางกินนมทารก ช่วง 5-6 เดือน

ตอนนี้ทารกโตขึ้นอีกขึ้นแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกได้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยครั้งละ 6-8 ออนซ์ วันละ 5-6 ครั้งต่อวัน หรือทุก 4-5 ชั่วโมง

 

ตารางกินนมทารก ช่วง 6-12 เดือน

ตอนนี้ลูกน้อยเข้าสู่วัยที่สามารถเริ่มอาหารตามวัยได้แล้วแต่ลูกน้อยยังคงต้องการนมอยู่เป็นประจำ ทำให้ความถี่ในการให้นมลูกลดลงเหลือเพียงวันละ 4-5 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งคุณแม่ควรให้นมลูกเฉลี่ย 6-8 ออนซ์ เพียงให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย

 

ควรให้นมลูกตั้งแต่แรกเกิด เพราะอะไร

ในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามิน โอเมก้า 3 ทอรีน และสฟิงโกไมอีลิน ที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารก ทั้งยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในทารกทำให้ลูกน้อยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ ลดการติดเชื้อโรค มีการขับถ่ายที่ดี และลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมวัย

 

ควรให้นมลูกจนถึงอายุเท่าไหร่

ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในแต่ละครั้งคุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดนมแม่ให้นาน ๆ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยเฉลี่ยครั้งละประมาณ 10-15 นาที สำหรับเด็กบางคนอาจใช้เวลานานกว่านั้นเฉลี่ยครั้งละประมาณ 20-30 นาที สำหรับวิธีให้นมลูกที่ถูกต้อง คุณแม่ควรทำตามนี้

  • อ้าปากให้กว้าง คางชิดกับเต้านม ส่วนจมูกกับแก้มต้องสัมผัสเต้านมด้วยเช่นกัน
  • เมื่อลูกงับเต้าคุณแม่ต้องพยายามให้ริมฝีปากลูกแนบชิดกับเต้าแม่ให้มากที่สุด
  • ในขณะที่ลูกน้อยดูดนมแม่จะต้องเห็นลานนมที่บริเวณริมฝีปากบนมากกว่าฝีปากล่าง

 

วิธีสังเกตเมื่อทารกหิวนม

ลักษณะอาการเมื่อลูกน้อยหิวนม มีดังนี้

  • ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย
  • มีอาการเกร็งขาและแขน
  • ลูกน้อยกำมือ และเอามือเข้าปาก
  • ขยับศีรษะไปมา พยายามหาเต้าแม่
  • เลียริมฝีปาก และส่งเสียงดูดนม

 

ตารางให้นมทารก จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยอิ่มแล้ว

 

ให้นมลูกมาก ระวังภาวะ Over breastfeeding

อาการ Over breastfeeding คือ อาการที่ลูกน้อยกินนมมากเกินไปทำให้เด็กเกิดอาการแหวะนม อาเจียน แน่นท้อง ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง ไม่ยอมดูดนมทั้งที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งอาการ Over breastfeeding นี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการให้นมลูกน้อยกินอย่างเหมาะสมไม่ให้ในปริมาณมากเกินไป และควรให้นมตามที่ลูกน้อยต้องการ เนื่องจากกระเพาะของทารกมีขนาดที่เล็กทำให้จุน้ำนมได้น้อย คุณแม่จึงต้องให้นมลูกบ่อย ๆ โดยสังเกตจากอาการหิวนมของทารก

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยอิ่มแล้ว

เพื่อป้องกันการให้ลูกกินนมมากเกินไป หรือ Over breastfeeding คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อย ดังต่อไปนี้

  • ลูกน้อยหันศีรษะออกจากเต้านม
  • เอามือปิดปาก
  • แบมือออก

 

วิธีสังเกตว่าทารกได้รับนมแม่เพียงพอหรือไม่

คุณแม่บางคนอาจไม่แน่ใจว่าลูกน้อยได้รับนมเพียงพอหรือไม่ กลัวว่าลูกน้อยยังกินนมไม่อิ่มจนส่งผลลูกมีอาการแหวะนมจากการกินนมมากเกินไป หากคุณแม่ไม่แน่ใจสามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้ ดังนี้

  • เต้านมของแม่นิ่มหลังลูกน้อยกินนม แสดงว่าลูกรับนมอย่างเพียงพอ
  • ระหว่างที่ลูกน้อยกินนม คุณแม่ได้ยินเสียงลูกกินนมอยู่เสมอ
  • ปัสสาวะของลูกมีสีเหลืองใส โดยมีการถ่ายปัสสาวะวัยละ 6-8 ครั้ง และมีการถ่ายอุจจาระวันละ 5-6 ครั้ง
  • ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง สงบ ไม่งอแง และมีผิวพรรณสดใส

 

ลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป ควรกินนมกี่ครั้งต่อวัน

สำหรับเด็กในวัย 1 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่ทานอาหารตามวัยได้แล้ว คุณแม่จึงปรับให้ลูกน้อยกินนมเพียงวันละ 3-4 ครั้งต่อวัน ควบคู่กับการทานอาหาร โดยควรให้ในปริมาณครั้งละ 6-8 ออนซ์

 

นมแม่เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามิน และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งเด็กในแต่ละวัยมีความต้องการน้ำนมแม่ที่แตกต่างกัน หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ลูกน้อยกินนมอิ่มหรือเปล่าสามารถสังเกตได้จากอาการที่แสดงออกของลูกน้อย เพราะถ้าคุณแม่ให้ลูกกินนมมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการ Over breastfeeding หรืออาการแหวะนม ไม่สบายท้อง หรือร้องไห้งอแงขึ้นมาได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding, โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. ความรัก เริ่มต้นจากการป้อนนม…, FHS
  3. การให้นมแม่แก่ลูกน้อย, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  4. What Are Signs That My Baby Is Hungry?, webmd
  5. เลี้ยงลูกน้อยด้วยนมแม่...ดียังไง...ทำยังไงให้มีน้ำนม, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 21 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ทำยังไงดี ลูกกัดเต้าจนหัวนมแม่เป็นแผล คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม ทำไมลูกถึงชอบกัดหัวนมแม่ พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกกัดเต้าเป็นแผล

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าแผลทำหมันจะหายดี เจ็บแผลทำหมัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมันที่ถูกต้อง ช่วยให้แผลหายเร็วและปลอดภัย

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนครั้งแรกหลังคลอดเป็นแบบไหน คุณแม่มีอาการประจำเดือนหลังคลอดมา ๆ หาย ๆ อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง เมื่อลูกน้อยรู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้อง การไล่ลมในท้องทารกต้องทำยังไง ไปดูวิธีไล่ลมในท้องทารก ช่วยให้ลูกสบายท้องกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก