วิธีบีบน้ำนม บีบนมอย่างไรให้ถูกวิธี ช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่

วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ บีบนมอย่างไรให้ถูกวิธี ช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่

10.05.2024

ลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม ทารกแรกเกิดจะได้รับ น้ำนมเหลือง (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมที่ร่างกายผลิตออกมาในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกหลังคลอด นอกจากนี้ในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ที่เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาสมองทารกอีกด้วย

headphones

PLAYING: วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ บีบนมอย่างไรให้ถูกวิธี ช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • น้ำนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวที่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน น้ำนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกหลังคลอด และน้ำนมแม่มีสารอาหารที่หลากหลาย รวมถึงสฟิงโกไมอีลิน ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองของทารก
  • การบีบนมแม่ด้วยมือ ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ลดปัญหาอาการคัดเต้า การไหลซึมของน้ำนม และลดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (blocked duct) ได้
  • การบีบนมแม่ เพื่อให้ได้น้ำนมสำหรับทารก เมื่อมารดาและทารกที่ต้องแยกจากกัน หรือเมื่อทารกไม่ยอมหรือไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คุณแม่ต้องรู้ ข้อดีของการบีบนมแม่

1. ช่วยกระตุ้นน้ำนม

น้ำนมจะถูกผลิตโดยเซลล์ผลิตน้ำนมแล้วไหลผ่านท่อมาเก็บที่กระเปาะน้ำนม เมื่อเซลล์ผลิตน้ำนมได้รับการกระตุ้นจะทำให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่ง หากน้ำนมได้รับการบีบกระตุ้นจากเครื่องปั๊มน้ำนม น้ำนมจะพุ่งออกมาเหมือนสเปรย์ แต่การบีบด้วยนิ้วมือจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า ความรู้สึกสัมผัสระหว่างมือกับผิวหนังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีกว่าฝาครอบพลาสติกสัมผัสกับผิวหนัง

 

2. ช่วยลดอาการคัดเต้า

อาการคัดเต้านม เกิดขึ้นได้บ่อย มักเกิดจากสาเหตุที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ หรือให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำนมไม่ไหล ออกมา น้ำนมเดิมไม่ได้ระบายออก น้ำนมใหม่ผลิตออกมา ร่วมกับการคั่งของเลือดและน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการคัดตึงเต้านม เป็นอาการที่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด คัดเต้ามีลักษณะบวม ตึง แข็ง ผิวแดงเริ่มที่ขอบลานนม ทำให้บริเวณเต้านมร้อน หัวนมแข็ง ปวด อาการนี้อาจทำให้แม่ให้นมบางคนถึงกับมีไข้ ซึ่งการบีบนมแม่ด้วยมือช่วยลดปัญหาคัดเต้าได้ เมื่อน้ำนมไหลออกมาเต้านมจะเริ่มนิ่มขึ้น คลายมากขึ้น อาการเจ็บคัดเต้านมจะค่อย ๆ ทุเลาลง

 

3. ลดการไหลซึมของน้ำนม

คุณแม่บางคนน้ำนมเยอะ ผลิตออกมารวดเร็ว จนลูกดูดไม่ทัน ทำให้ไหลออกมาจากเต้านม การบีบนมแม่ช่วยลดปัญหาการไหลของน้ำนมได้ คุณแม่อาจใช้วิธีบีบเก็บน้ำนมแม่เป็นสต็อกไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้น้ำนมเหลืออยู่ในเต้าไม่เยอะเกินไป และยังช่วยป้องกันการสำลักนมแม่ได้

 

4. ลดการอุดตันของท่อน้ำนม

แม่ให้นมบางคนร่างกายผลิตน้ำนมได้มาก จนทารกดูดไม่ทัน หรือทารกดูดนมไม่ถูกวิธี หรือแม่ให้นมปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านานเกินไป นอกจากนี้การใส่เสื้อชั้นในที่คับเกินไปทำให้น้ำนมไหลเวียนไม่สะดวก เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมได้ การบีบน้ำนมแม่ช่วยทำให้น้ำนมไหลเวียนสะดวกขึ้น ช่วยถ่ายเทน้ำนมออกจากเต้า

 

ขั้นตอนการบีบนมแม่ด้วยมือ

น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเป็นอาหารหลักสำหรับทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับทารกน้อย การบีบน้ำนมด้วยมือ ช่วยคุณแม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตัน การบีบนมแม่ด้วยมือ ทำได้ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด
  • ให้คุณแม่จัดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เป็นรูปตัว U ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน วางไว้บนเต้านม หัวแม่มือจะอยู่ที่ตำแหน่งห่างจากฐานหัวนมประมาณ 3-4 เซนติเมตร (2 นิ้วมือ) และนิ้วชี้วางใต้หัวนมห่างจากฐานหัวนม 3-4 เซนติเมตร ปลายนิ้วหัวแม่มือ ปลายนิ้วชี้ และหัวนมอยู่ในแนวเดียวกัน

 

บีบน้ำนมให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • จังหวะที่ 1 กดเข้าหากระดูกทรวงอก
  • จังหวะที่ 2 บีบหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหากัน โดยที่นิ้วอยู่หลังลานหัวนมไม่ไถไปตามผิวหนัง และเข้าไปในลานนม ลานนมต้องไม่หยุ่น หรือการหยุ่นของลานนมเวลาบีบน้ำนมเป็นปัจจัยของการเกิดรอยย่นของลานนม
  • จังหวะที่ 3 คลายนิ้วที่บีบโดยไม่ถูกยกขึ้นจากผิวหนัง
  • ย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือ รอบ ๆ ลานนม เมื่อน้ำนมไหลย้อยเพื่อบีบน้ำนมออกให้ทั่วเต้า
  • เปลี่ยนเต้าที่บีบ เมื่อน้ำนมไหลออกน้อยหรือไหลช้า

 

วิธีบีบนมด้วยมือ ใช้เวลานานแค่ไหน

ปกติแล้วการบีบน้ำนมจากเต้าด้วยมือจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาที ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีระยะเวลา ดังนี้

  • บีบน้ำนมแต่ละข้างออก ใช้เวลาประมาณ 5-7 นาที
  • กระตุ้นด้วยการนวด
  • คุณแม่บีบน้ำนมออกอีก ข้างละ 3-5 นาที
  • กระตุ้นด้วยการนวดอีกครั้ง
  • บีบน้ำนมออกอีก ข้างละ 2-3 นาที

 

น้ำนมที่บีบออกมาแล้ว เก็บไว้ได้นานแค่ไหน

ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมแม่ มีระยะเวลาการเก็บรักษาที่แตกต่างกันตามอุณหภูมิของสถานที่เก็บรักษา ดังนี้

1. เก็บรักษาน้ำนมแม่ในอุณหภูมิห้อง

  • อุณหภูมิห้อง 16-26 องศาเซลเซียส เก็บรักษานมแม่ได้นาน 4-8 ชั่วโมง
  • อุณหภูมิห้อง 27-32 องศาเซลเซียส เก็บรักษานมแม่ได้นาน 3-4 ชั่วโมง

 

2. เก็บรักษาน้ำนมแม่ในกระติกน้ำแข็ง

  • การเก็บรักษานมแม่ในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งอยู่แช่ตลอดเวลา อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บรักษานมแม่ได้นาน 24 ชั่วโมง

 

3. เก็บรักษาน้ำนมแม่ในตู้เย็นช่องธรรมดา

  • การเก็บรักษานมแม่ ในตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 3-5 วัน ควรจัดวางถุงเก็บน้ำนมแม่ไว้ด้านในสุดของตู้เย็น เพื่อไม่ให้ปะปนกับของแช่อื่น ๆ และไม่ควรเก็บไว้ที่ประตูตู้เย็นเพราะความเย็นจะไม่สม่ำเสมอ

 

4. เก็บรักษาน้ำนมแม่ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง

การเก็บรักษานมแม่ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง มีระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่ ดังนี้

  • ในตู้เย็นช่องแช่แข็งอุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
  • ในตู้เย็นช่องแช่แข็งอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 3-6 เดือน
  • ในตู้เย็นช่องแช่แข็งชนิดพิเศษ อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6-12 เดือน

 

5. การให้นมแม่ที่สต็อก ต้องละลาย/อุ่นนมอย่างไร?

  • ไม่ควรอุ่นนมด้วยไมโครเวฟ เพราะจะทำให้นมร้อนเกินไปจนทารกไม่สามารถดื่มได้ และเสียคุณค่าทางอาหาร ความร้อนจะทำลายสารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำนมแม่
  • คุณแม่ใช้วิธีการแกว่งถุงน้ำนมในภาชนะที่ใส่น้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนจัด การแกว่งน้ำนมในน้ำอุ่น นมแม่ยังคงมีประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหาร ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ทารกน้อยได้
  • เมื่อต้องการนำนมแม่ที่แช่แข็งมาใช้ ให้นำลงมาแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน (12 ชั่วโมง) และสามารถเก็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งอีก

 

วิธีบีบน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มนม มีข้อดีอะไรบ้าง

 

วิธีบีบน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มนม มีข้อดีอะไรบ้าง

  • ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้น้ำนมแม่ไหลออกมามากขึ้น
  • ช่วยเก็บสำรองน้ำนมแม่ไว้ให้ทารก
  • ช่วยบรรเทาอาการคัดเต้านม ท่อน้ำนมอุดตัน
  • ช่วงเวลาที่แม่ปั๊มนม เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อจะได้ใกล้ชิดลูก ได้ดูแลลูกน้อยแทนคุณแม่

 

วิธีเลือกเครื่องปั๊มนมคุณภาพ

  • เครื่องปั๊มนมแบบมือ ราคาไม่แพงและมีขนาดเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน เพราะปั๊มแบบมือใช้เวลาค่อนข้างนาน
  • เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้า ราคาสูงกว่าแบบใช้มือ แต่ใช้งานง่ายกว่า ใช้ปั๊มแบบข้างเดียวหรือปั๊มพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้ ประหยัดเวลาของคุณแม่ และได้ปริมาณน้ำนมมากกว่าเครื่องปั๊มแบบมือ

 

นมแม่ถือเป็นอาหารชั้นเลิศ และเป็นอาหารหลักที่สำคัญสำหรับทารกช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ประโยชน์ของนมแม่มีมากมาย โดยเฉพาะน้ำนมเหลือง (Colostrum) เป็นน้ำนมที่ร่างกายของคุณแม่ผลิตออกมาหลังคลอดในช่วง 72 ชั่วโมงแรก นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกได้ตั้งแต่หลังคลอด นอกจากนี้ในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมองทารกอีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. เหตุผลในการบีบนมแม่, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. Breastfeeding (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. ท่อน้ำนมอุดตัน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  4. เคล็ดลับการบีบหรือปั๊มนมแม่ การเก็บรักษานมแม่, โรงพยาบาลศิครินทร์
  5. คำแนะนำวิธีการเก็บน้ำนมแม่, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  6. ปั๊มนมอย่างไรให้ถูกต้อง, pobpad
  7. เทคนิคการจัดการนมแม่ให้ลุกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี
  8. วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ (new), breastfeedingthai

อ้างอิง ณ วันที่ 19 มกราคม 2567
 

บทความแนะนำ

วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน ไม่นูนแดง

วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน ไม่นูนแดง

วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ดูแลรอยแผลผ่าคลอดอย่างไร ให้แผลสวยเรียบเนียน ไม่นูนแดงและทิ้งรอยแผลเป็นที่หน้าท้อง พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย

คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด อันตรายไหม

คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด อันตรายไหม

ปวดหลังหลังคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่ผ่าคลอดปวดหลังหลังผ่าคลอดทันที จะเป็นอันตรายกับร่างกายไหม พร้อมวิธีบรรเทาอาการปวดหลังหลังคลอดที่แม่ควรรู้

ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม อันตรายหรือเปล่า

ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม อันตรายหรือเปล่า

คุณแม่ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม จริงไหมที่แม่ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวแล้วแผลจะอักเสบ ไปดูกันว่าผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม พร้อมวิธีช่วยให้แผลหายเร็ว

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดน่ากลัวไหม คุณแม่ผ่าคลอดดีไหม มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้ก่อนการผ่าคลอดบ้าง พร้อมข้อดีข้อเสียและวิธีดูแลแผลแม่ผ่าคลอดให้หายไว

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก