เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ปริมาณนมทารกเท่าไหร่เรียกว่าพอดี
นมแม่มีสารอาหารมากมายที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโต ลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพที่ดี ในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ น้ำนมของคุณแม่อาจมีไม่มากหรือไหลในปริมาณที่น้อยมาก คุณแม่ต้องรีบให้ลูกเข้าเต้าดูดนมกระตุ้นการสร้างน้ำนมเพื่อที่ลูกน้อยจะได้มีนมแม่กินได้นานที่สุด
สรุป
- ในช่วงวันแรกหลังคลอดลูกน้อยจะสามารถกินนมแม่ได้แค่ประมาณ 0.2 ออนซ์ หลังจากนั้นลูกน้อยจะค่อย ๆ กินนมได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากขนาดของกระเพาะของทารกมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้สามารถรับปริมาตรน้ำนมได้มากขึ้น
- หากคุณแม่ให้นมลูกมากเกินไปอาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแหวะนม อาเจียน ร้องไห้งอแง และแน่นท้องที่เรียกว่า “Over Breastfeeding”
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ปริมาณนมทารกที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงวัย
- การปั๊มนมเก็บไว้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
- ทารกกินนมมากไป เรียกว่า ภาวะ Over Breastfeeding
- ลูกจะมีอาการอย่างไร หากมีภาวะ Over Breastfeeding
- หลากหลายสาเหตุที่ทำให้ลูกกินนมเยอะเกินไป
ในช่วงแรกหลังคลอดร่างกายของคุณแม่จะสามารถผลิตน้ำนมได้แค่ประมาณ 30 มิลลิลิตร/วัน ทำให้ทารกแรกเกิดอายุ 1-2 วันแรกสามารถกินนมแม่ได้เพียง 0.2-0.5 ออนซ์ หรือประมาณ 5-15 มิลลิลิตร เท่านั้น เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ยังผลิตน้ำนมได้ไม่เต็มที่ คุณแม่จึงต้องรีบพาลูกเข้าเต้าให้เร็วที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยช่วยดูดกระตุ้นน้ำนม หากคุณแม่หลังคลอดให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ประมาณ 8-12 ครั้ง/วัน น้ำนมของคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นถึงวันละ 500 มิลลิลิตร/วัน ในระยะเวลาเพียง 5 วัน และสามารถผลิตเพิ่มได้สูงถึงวันละ 750 มิลลิลิตร/วัน เลยทีเดียว
ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณแม่ให้ลูกน้อยเข้าเต้าควรพยายามให้ลูกน้อยดูดบ่อย ๆ ดูดนาน ๆ ให้เกลี้ยงเต้า เพื่อเป็นการกระตุ้นการสร้างน้ำนมและยังช่วยลดอาการปวดตึงเต้านมได้ด้วยนะ
ปริมาณนมทารกที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงวัย
- ทารกอายุ 3 วันขึ้นไป: ตอนนี้กระเพาะของลูกน้อยสามารถรับนมแม่ได้เพิ่มขึ้นอีกหน่อยแล้ว โดยอยู่ที่ครั้งละทำให้ประมาณ 1-1.5 ออนซ์ วันละ 8-10 ครั้ง
- ทารกอายุ 1 เดือน: ในช่วงนี้กระเพาะของลูกน้อยขยายใหญ่มากขึ้นอีกนิดแล้ว ทำให้ลูกน้อยไม่หิวบ่อยเหมือนเดิมคุณแม่สามารถลดความถี่ในการให้นมลูกน้อยได้เหลือเพียง 7-8 ครั้ง/วัน โดยแต่ละครั้งทารกสามารถกินน้ำนมแม่ได้มากถึง 2-4 ออนซ์
- ทารกอายุ 2-6 เดือน: มาถึงวัยนี้ ลูกน้อยจะสามารถกินนมแม่ได้ครั้งละประมาณ 4-6 ออนซ์ ทำให้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องป้อนนมบ่อย ๆ อีกแล้ว เพราะลูกน้อยจะกินนมวันละ 5-6 ครั้งเท่านั้นเอง
- ทารกอายุ 6-12 เดือน: เด็กวัยนี้เป็นวัยที่สามารถเริ่มอาหารเสริมได้แล้ว คุณแม่จึงไม่จำเป็นให้ลูกกินนมบ่อย ๆ โดยอาจลดเหลือวันละ 4-5 ครั้ง/วัน ในปริมาณครั้งละ 6-8 ออนซ์
- อายุ 1 ขวบขึ้นไป: ลูกน้อยวัยนี้เป็นวัยที่ทานข้าวเป็นหลัก ส่วนนมจะกินเป็นอาหารเสริม คุณแม่จึงควรให้ลูกกินนมหลังมื้ออาหารหรือก่อนนอน ในปริมาณ 6-8 ออนซ์/ครั้ง วันละ 3-4 ครั้ง/วัน
การปั๊มนมเก็บไว้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
นมแม่ เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย คุณแม่จึงควรให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุด ประโยชน์ของการปั๊มนม ได้แก่
- คุณแม่สามารถกลับไปทำงาน หรือไปทำธุระได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกน้อยจะไม่ได้กินนมแม่
- ทำให้คุณแม่รู้ว่าลูกน้อยกินนมไปแต่ละครั้งมากน้อยเท่าไหร่แล้ว
- ช่วยกระตุ้นน้ำนมให้คุณแม่ และยังป้องกันอาการคัดเต้านมของคุณแม่ด้วย
- ลูกน้อยมีปริมาณน้ำนมกินอย่างเพียงพอ
หลังจากคุณแม่ปั๊มนมให้ลูกน้อยแล้ว ควรเก็บน้ำนมแม่ ใส่ถุงเก็บน้ำนม แล้วเขียนวันที่และเวลาไว้บนหน้าถุงด้วย คุณแม่จะได้รู้ว่าควรให้ลูกกินนมถุงไหนก่อน จากนั้นให้เก็บในตู้เย็นหรือตู้แช่ไว้ เพื่อไม่ให้นมเสียและเป็นการยืดอายุการใช้งานให้ได้นานที่สุด ดังนี้
- ตู้เย็นช่องธรรมดา ด้านในสุด (ไม่ควรเก็บไว้ที่ข้างตู้เย็น): สามารถเก็บได้นาน 3-5 วัน
- ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นประตูเดียว: สามารถเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นสองประตู: สามารถเก็บได้นาน 3-6 เดือน
- ช่องแช่แข็งพิเศษ ไม่มีอาหารชนิดอื่นรวมอยู่ด้วย: สามารถเก็บได้นาน 6-12 เดือน
ทารกกินนมมากไป เรียกว่า ภาวะ Over Breastfeeding
เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่แตกต่างกัน ทารกบางคนกินนมแม่เยอะแต่น้ำหนักไม่ขึ้น ในทางตรงกันข้ามกับเด็กบางคนที่น้ำหนักขึ้นตลอดจนอ้วนจ้ำม่ำมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่หลายคนมองว่าลูกต้องกินนมแม่เยอะ ๆ ถึงจะดี แต่คุณแม่รู้ไหมว่าการที่คุณแม่ให้ลูกกินนมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะ “Over Breastfeeding” ในเด็กขึ้นได้
ลูกจะมีอาการอย่างไร หากมีภาวะ Over Breastfeeding
อาการ Over Breastfeeding เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ลักษณะอาการมีดังนี้
- มีการแหวะนม หรือนมไหลออกมาเป็นลิ่ม ๆ คล้ายเต้าหู้เละ ๆ
- ลูกน้อยอาเจียน หรือสำลักนมออกมา
- ร้องไห้งอแง ไม่สบายตัว และท้องป่อง
- ลูกไม่ยอมกินนม
- มีน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลากหลายสาเหตุที่ทำให้ลูกกินนมเยอะเกินไป
ภาวะ Over Breastfeeding หรือการที่ทารกกินนมมากเกินไป อาจมีสาเหตุมากจาก “ลูกติดเต้า” เด็กบางคนกินนมแม่จนอิ่มแล้วแต่ยังร้องไห้งอแงเพราะติดเต้าแม่ ทำให้คุณแม่เข้าใจว่าลูกยังกินนมไม่อิ่ม พอลูกกินนมเพิ่มเข้าไปอีกจึงทำให้เกิดอาการแหวะนมได้ วิธีแก้เด็กติดเต้า คือ ให้คุณแม่ปั๊มนมออกมาก่อนจนเกือบเกลี้ยงเต้าเสร็จแล้วค่อยให้ลูกน้อยกินจนเกลี้ยงเต้า
หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยกินนมอิ่มไหม ได้นมเพียงพอแล้วหรือยัง มีวิธีสังเกต ดังนี้
- ลูกน้อยมีการถ่ายปัสสาวะจนเต็มผ้าอ้อมสำเร็จรูป 4-6 ชิ้น/วัน
- มีการถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
- น้ำหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปกติ หากลูกน้อยน้ำหนักตัวไม่ขึ้นหรือน้ำหนักลดลงอาจหมายถึงลูกน้อยได้รับนมไม่เพียงพอ คุณแม่อาจเพิ่มความถี่ให้นมลูก หรือพยายามให้ลูกดูดนมให้นานขึ้นกว่าเดิม
นมแม่ดีมีประโยชน์กับทารกที่สุด เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม และ สฟิงโกไมอีลิน แต่ถ้าคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่มากเกินไป อาจทำให้ลูกมีอาการแหวะนม อาเจียน ลูกท้องอืด และสำลักหรือที่เรียกว่า Over Breastfeeding ขึ้นมาได้ การให้นมทารกในปริมาณที่เหมาะสมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมวัย หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยจะได้รับนมที่เพียงพอหรือไม่ สามารถเช็คความถี่ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ หากลูกน้อยขับถ่ายเป็นประจำและเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปวันละ 4-6 ชิ้น แสดงว่าลูกน้อยได้กินนมแม่จนอิ่มแปร้เลย!
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง:
- ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding, โรงพยาบาลสมิติเวช
- Baby Feeding Schedule, WebMD
- คำแนะนำวิธีการเก็บน้ำนมแม่, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- ปริมาณนมที่เพียงพอสำหรับลูก, โรงพยาบาลเอกชัย
- Feeds and nappies in the first week, Australian Breastfeeding Association
- What You Need to Know about Breast Pumps, Family Health Service Department of Health Hong Kong
อ้างอิง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566