วิธีเก็บนมแม่ที่ถูกต้อง พร้อมการเก็บนมแม่ให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ
การปฏิบัติตามวิธีการเตรียมนมและวิธีเก็บนมแม่อย่างปลอดภัยนั้น จะช่วยให้คุณแม่ให้นมบุตรและพี่เลี้ยงเด็กสามารถรักษาคุณภาพของนมแม่ที่ปั๊มออกมาได้นานมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อย
PLAYING: วิธีเก็บนมแม่ที่ถูกต้อง พร้อมการเก็บนมแม่ให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การเก็บนมแม่ สำคัญอย่างไร
- วิธีการเก็บรักษานมแม่ที่ถูกต้อง
- วิธีเก็บน้ำนมแม่ใส่ถุง
- ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม. สามารถเก็บไว้ได้นานสุดแค่ไหน
- วิธีละลายนมแม่ การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้
เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เสริมสร้างการเจริญเติบโตให้ลูกน้อยได้อย่างสมบูรณ์ และเพื่อพัฒนาการที่ดีทางสมอง อารมณ์ และจิตใจ เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หรือต้องออกไปธุระข้างนอก ต้องการที่จะทำสต๊อกน้ำนม เพื่อให้ลูกน้อยได้รับนมแม่ให้ยาวนานที่สุด คุณแม่หลายๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยว่าจะเริ่มทำสต็อกน้ำนมได้เมื่อไหร่ และมีวิธีการเก็บรักษานมแม่ที่สต็อกไว้อย่างไร เพราะการเก็บรักษานมแม่ให้ได้คุณภาพและปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ลูกได้รับคุณค่าของนมแม่ที่ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง S-Mom Club จึงได้รวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์แก่คุณแม่ทุกท่านในการเก็บนมแม่ให้ได้คุณภาพและปลอดภัย ไว้แล้ว
การเก็บนมแม่ สำคัญอย่างไร
น้ำนมแม่ มีมีความสำคัญ เพราะมีสารอาหารที่มีคุณค่ามากกว่า 200 ชนิด การเก็บน้ำนมแม่ที่ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะคงคุณค่าของสารอาหารต่างๆ ได้อย่างยาวนานและปลอดภัยแก่ลูกน้อย
นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอในการเลี้ยงดูลูกน้อยได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หรือออกไปธุระข้างนอก หรือไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน
วิธีการเก็บรักษานมแม่ที่ถูกต้อง
- คุณแม่ควรเริ่มต้นจากการคำนวณปริมาณน้ำนมที่ต้องการเก็บรักษาให้เหมาะสมและเพียงพอต่อลูกน้อยในแต่ละวัน อาทิ ลูกต้องการทานนม 1 ออนซ์ต่อ 1 ชั่วโมง เมื่อคุณแม่ต้องออกไปทำงาน ก็จำเป็นต้องปั๊มนมเพื่อทำสต็อกเอาไว้ ประมาณ 10 – 12 ออนซ์ต่อวัน เพื่อให้ลูกน้อยได้ทานในช่วงที่เราไม่อยู่กับเขา และเมื่อกลับมาจากทำงานก็ปั๊มน้ำนมคืนในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้เป็นประจำ จะทำให้น้ำนมเพียงพอต่อลูกน้อยได้ครบขวบปีแรก และคุณแม่อาจจะค่อยๆ ปรับลดรอบปั๊มนมลง เมื่อลูกน้อยเริ่มทานอาหารเสริมตามช่วงวัยควบคู่ไป
- ก่อนเริ่มปั๊มนมให้ลูกน้อย และเก็บน้ำนมแม่ คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
- อุปกรณ์ปั๊มนมควรผ่านการทำความสะอาด พร้อมนึ่งฆ่าเชื้อหรือการอบแห้งฆ่าเชื้อ รวมถึงถุงเก็บน้ำนมแม่ที่สะอาดและใช้ถุงใหม่ทุกครั้ง ไม่ควรใช้ซ้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ
- คุณแม่ควรหามุมสงบ และเก้าอี้ที่นั่งสบายผ่อนคลาย จะช่วยทำให้การหลั่งของน้ำนมดีขึ้น
- การจัดเรียงลำดับน้ำนม โดยการบันทึกวันเวลาที่ปั๊มนม เพื่อความสะดวกในการนำมาใช้ โดยให้ใช้น้ำนมที่ปั๊มเก็บแรกสุดก่อน
- ไม่ควรเก็บนมแม่ ไว้ที่ช่องประตู หรือช่องเก็บไข่ เนื่องจากอุณหภูมิไม่คงที่ อาจมีผลต่ออายุการเก็บของนมแม่ได้
วิธีเก็บน้ำนมแม่ใส่ถุง
- คุณแม่ควรตรวจสอบถุงบรรจุนมแม่ว่ามีรอยรั่ว ซึมก่อนใช้งานทุกครั้ง และควรมีซิปล๊อค 2-3 ชั้น เพื่อป้องกันการรั่วซึมกรณีวางแล้วคว่ำหรือทำตกพื้น
- ถุงเก็บนมแม่ที่ปลอดภัย ควรเป็นผลิตภัณฑ์แบบ Food Grade และควรปลอดสาร BPA 100% (BPA - Free) เพราะพลาสติกที่มีสาร BPA อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของลูกน้อย
- ถุงเก็บนมแม่ที่ใช้ต้องสะอาดและเป็นถุงใหม่เท่านั้น และคุณแม่ต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนสัมผัสถุงเก็บนมแม่ทุกครั้ง
- คุณแม่ควรบันทึกวัน เวลา ที่บรรจุนมใส่ถุงเก็บน้ำนม ก่อนนำไปวางเรียงลำดับในช่องแช่แข็ง และควรจัดวางถุงเก็บน้ำนมแม่แยกจากการแช่อาหารสดต่างๆ หรือสามารถแยกตู้เย็นเฉพาะแช่นมแม่เท่านั้นจะเป็นการดีที่สุด
- ควรรีดอากาศออกจากถุงเก็บน้ำนมให้มากที่สุดก่อนเก็บ และรีบนำนมเข้าช่องแช่แข็ง เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นหืนของน้ำนมแม่ ซึ่งอาจทำให้ทารกไม่ยอมกินนมได้
- ควรวางแช่ถุงเก็บน้ำนมในแนวราบ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มพื้นที่ในการเก็บสต๊อกนมแม่มากขึ้น
- ถ้าคุณแม่ที่มีน้ำนมในแต่ละรอบที่ปั๊มไม่มากนัก สามารถนำน้ำนมในแต่ละรอบมารวมกันได้ โดยแนะนำให้นำนมไปแช่เย็นให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกันก่อนเทรวมกัน เนื่องจากการเทนมที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันรวมกัน อาจทำให้สารอาหารให้นมแม่มีการเปลี่ยนแปลงได้
ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่
- อุณหภูมิห้อง (27-32 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-4 ชั่วโมง
- อุณหภูมิห้อง (16-26 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 4-8 ชั่วโมง
- กระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา (15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
- ตู้เย็นช่องธรรมดา (0-4 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-5 วัน และควรเก็บไว้ด้านในสุดของตู้เย็น
- ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูเดียว (-15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูแยก (-18 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-6 เดือน
- ช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ (-20 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 6-12 เดือน
นมแม่อยู่ได้กี่ชม. สามารถเก็บไว้ได้นานสุดแค่ไหน
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง ภายหลังปั๊มนมเสร็จ น้ำนมแม่จะสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นาน 4-6 ชั่วโมง หรือหากคุณแม่มีการบรรจุใส่ถุงเก็บน้ำนมและแช่ในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บน้ำนมได้ยาวนานสูงสุด 1 ปี
วิธีละลายนมแม่ การนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้
- เมื่อต้องการนำนมแม่ที่แช่แข็งมาใช้ ให้นำลงมาแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน (12 ชั่วโมง) และสามารถเก็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งอีก
- น้ำนมที่เหลือจากการป้อนลูก หากต้องการเก็บไว้ป้อนลูกอีก แนะนำให้ใช้ภายใน 1-2 ชั่วโมง
- สามารถให้ลูกทานนมที่ละลายแล้วแบบเย็นๆ ได้เลย เนื่องจากพบว่ามีกลิ่นหืนน้อยกว่า
- ในกรณีต้องการอุ่นนมแม่ ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟหรือใช้น้ำร้อนจัด เพราะจะทำให้เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแม่ ที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกถูกทำลายได้ คุณค่าสารอาหารในน้ำนมก็จะเสียไปด้วย
น้ำนมแม่มีความสำคัญ สำหรับการเลี้ยงลูกน้อยโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก น้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างการเจริญเติบโตให้ลูกน้อยได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและสมอง ดังนั้นการเก็บรักษาน้ำนมแม่ที่ถูกต้องและปลอดภัย จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมที่เพียงพอต่อลูกน้อยได้ต่อเนื่องยาวนานจนถึงวัยที่ลูกน้อยเริ่มทานอาหารได้ตามช่วงวัย
สำหรับคุณแม่คนไหนที่มีน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ หรือน้ำนมไม่ไหล สามารถศึกษาวิธีเพิ่มน้ำนมแม่ รวมถึงทานอาหารเพิ่มน้ำนม และสารอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมของคุณแม่มือใหม่ได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง:
- Proper Storage and Preparation of Breast Milk, CDC