คันแผลผ่าคลอด ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าตัด
แผลผ่าตัดคลอด เกิดจากการผ่าตัดที่ทางการแพทย์เรียกว่า Cesarean Section (C-Section) เป็นการผ่าตัดด้วยการเปิดปากแผลตรงระหว่างช่วงผิวหน้าท้องและมดลูก การผ่าตัดคลอดลูกจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากสูติแพทย์ก่อนถึงสาเหตุที่ต้องคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าตัด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สำหรับการผ่าคลอด จะทำให้เกิดแผลผ่าตัด คุณแม่อาจมีอาการคันแผลผ่าตัดตามมาได้
สรุป
- ในช่วง 1-4 สัปดาห์หลังคลอด อาจเกิดอาการคันตรงบริเวณแผลผ่าคลอด ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงปกติจากการผ่าตัดคลอดที่สามารถเกิดขึ้นได้
- อาการคันแผลผ่าตัดในคุณแม่หลังคลอด เกิดจากการสมานตัวกันของแผลผ่าคลอดบริเวณชั้นนอกและผิวหนังชั้นใน
- แผลที่เกิดจากการผ่าคลอด จะใช้เวลาในการสมานกันจนแผลหายดีเป็นปกติอย่างน้อย 6 เดือน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คุณแม่คันแผลผ่าตัด อันตรายไหม
- อาการคันแผลผ่าตัด เกิดจากอะไร
- แผลผ่าคลอดที่เย็บไว้ จะหายดีเมื่อไหร่
- วิธีแก้อาการคันแผลผ่าตัดเมื่อคุณแม่รู้สึกคัน
- คันแผลผ่าตัด เป็นระยะเวลานานหลังผ่าคลอด ผิดปกติไหม
- วิธีดูแลแผลผ่าคลอด เมื่อคุณแม่คันแผลผ่าตัด
คุณแม่ที่คลอดลูกด้วยวิธีการผ่าตัด หลายท่านอาจเคยประสบกับปัญหา "อาการคันแผลผ่าตัด" ซึ่งสร้างความรำคาญและทรมานไม่น้อย อาการคันแผลผ่าตัดเป็นผลข้างเคียงของแผลผ่าตัด C-Section ที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่มือใหม่ที่พึ่งผ่าตัดคลอดลูก และคุณแม่ที่เตรียมคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าตัด มีความเข้าใจและสามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดอาการคันแผลผ่าตัดขึ้นมา เรามาหาคำตอบในบทความนี้กัน
คุณแม่คันแผลผ่าตัด อันตรายไหม
ในช่วงหลังคลอดสัปดาห์แรก คุณแม่อาจเกิดอาการคันตรงบริเวณแผลผ่าคลอด ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงปกติจากการผ่าตัดคลอดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่ แนะนำให้สังเกตอาการร่วมอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิเช่น บริเวณแผลผ่าตัดเกิดการบวม แดง มีเลือดซึมออกจากแผล หรือมีไข้ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ในช่วงหนึ่งเดือนแรกหลังคลอด อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อขึ้นที่แผลผ่าตัด แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที
อาการคันแผลผ่าตัด เกิดจากอะไร
หลังคลอดคุณแม่มีอาการคันตรงบริเวณรอยผ่าคลอด หรือตรงบริเวณผิวรอบ ๆ แผลผ่าตัดนั้น เกิดจากการสมานตัวกันของแผลผ่าคลอดบริเวณชั้นนอกและผิวหนังชั้นใน โดยในช่วง 1 สัปดาห์แรก แผลผ่าคลอดบริเวณชั้นนอกจะเริ่มเกิดการสมานตัวกัน และเมื่อเข้าสู่ช่วง 2-4 สัปดาห์ ส่วนของผิวหนังชั้นในก็จะเริ่มสมานกันมากขึ้น และจะใช้เวลาหลังจากนี้อีกประมาณ 6 เดือนขึ้นไป แผลผ่าตัดคลอดก็จะจางลงไปเรื่อย ๆ เป็นสีขาวจนหายดี
แผลผ่าคลอดที่เย็บไว้ จะหายดีเมื่อไหร่
สำหรับแผลผ่าคลอด มีได้ทั้งแผลผ่าคลอดแนวนอนตามขอบกางเกงชั้นใน และแผลผ่าคลอดในแนวตั้งตรงใต้สะดือ โดยแผลผ่าคลอดทั้งสองแบบจะมีความยาวประมาณ 4-6 นิ้ว แผลผ่าคลอดที่เย็บไว้ จะใช้เวลาในการสมานกันจนแผลหายดีเป็นปกติอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
- หลังผ่าตัดคลอด 1 สัปดาห์ บริเวณชั้นนอกของแผลผ่าคลอดจะเริ่มเกิดการสมานตัวกันขึ้น
- หลังผ่าคลอด 2-4 สัปดาห์ ส่วนของผิวหนังชั้นในก็จะเริ่มสมานกันมากขึ้น
- หลังผ่าคลอด 6 เดือนขึ้นไป แผลผ่าคลอดจะปิดสนิท แผลจะเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น เป็นสีแดงอมม่วง ตรงแผลผ่าตัดจะค่อย ๆ จางเป็นสีขาวเรียบไปกับผิว และหายสนิทจนเป็นปกติ
วิธีแก้อาการคันแผลผ่าตัด เมื่อคุณแม่รู้สึกคัน
- รักษาความสะอาดผิวตรงรอยแผล และรอบบริเวณแผลผ่าตัดให้แห้งสะอาด
- ช่วงที่ผิวหนังตรงแผลผ่าตัดคลอดกำลังสมานกัน คุณแม่ควรสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย และไม่รัดแน่นกดทับตรงบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเสียดสีกับผิวหนังที่กำลังสมานตัวกัน
- ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือยาตามที่แพทย์แนะนำให้ใช้ได้หลังผ่าตัดคลอด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นให้กับผิว
คันแผลผ่าตัดนานผิดปกติ หลังผ่าคลอด ผิดปกติไหม
โดยมากแผลผ่าตัดจะปิดสนิทจนหายดี จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน หากคุณแม่มีอาการผิดปกติหลังผ่าคลอดเป็นเวลายาวนานผิดปกติ แนะนำให้ไปปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ และรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง
วิธีดูแลแผลผ่าคลอด เมื่อคุณแม่คันแผลผ่าตัด
เพื่อให้แผลผ่าคลอดหายไว ลดการเกิดแผลเป็น และบรรเทาอาการระคายเคืองคันแผลผ่าตัด คุณแม่สามารถดูแลแผลผ่าคลอดหลังออกจากโรงพยาบาลเบื้องต้นตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ
เพื่อป้องกันแผลผ่าตัดอักเสบ และแผลหายช้า หลังคลอดในช่วงหนึ่งสัปดาห์แรก ควรระวังไม่ให้ตรงแผลผ่าตัดโดนน้ำ
2. แผลต้องสะอาดและแห้ง
หลังจากหนึ่งสัปดาห์ หากแผลสมานกันดีแล้ว คุณหมอจะตัดไหมที่แผลผ่าคลอดออกให้ ทุกครั้งที่คุณแม่อาบน้ำเสร็จ แนะนำให้ซับผิวตรงบริเวณผ่าตัดให้แห้ง หรือทำความสะอาดแผล จนกว่าจะหายสนิทตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง
3. หลีกเลี่ยงไม่ยกของหนัก
เพื่อป้องกันการเกิดแผลคีลอยด์ และการฉีกขาดของแผลผ่าคลอด ในช่วง 3 เดือนหลังคลอด แนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ๆ
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารคุณแม่หลังผ่าคลอด คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้คุณค่าสารอาหารครบ 5 หมู่ และเพิ่มอาหารในกลุ่มโปรตีนให้มากขึ้น เพราะจะช่วยในการฟื้นฟูและซ่อมแซมร่างกายหลังคลอด รวมถึงการผลิตน้ำนมแม่ และช่วยให้แผลผ่าคลอดหายเร็ว
การดูแลแผลผ่าคลอดและร่างกายโดยรวมของคุณแม่ให้กลับมาแข็งแรงได้เร็วนั้น จะส่งผลดีต่อร่างกายในการผลิตน้ำนมแม่ที่มีประสิทธิภาพสำหรับลูกน้อย ในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์ เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังมีพรีไบโอติกหลายชนิด เช่น 2’FL ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้ลูกน้อย สำหรับ 2’FL คือ HMOs (Human Milk Oligosaccharides) หรือ โอลิโกแซคคาไรด์ชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่ HMOs มีปริมาณมากที่สุดในช่วงน้ำนมเหลือง 5 วันแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นสุดยอดของน้ำนมที่ให้ภูมิต้านทานสูงกับร่างกายของลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- สมองและภูมิคุ้มกันของเด็กผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- Colostrum คือ น้ำนมสีหลืองที่มีสฟิงโกไมอีลิน เสริมภูมิคุ้มกันลูก
- อาหารบำรุงน้ำนม เมนูเพิ่มน้ำนม กระตุ้นน้ำนมแม่ให้มีคุณภาพ
- น้ำนมใส คืออะไร สีน้ำนมแม่ ประโยชน์ของน้ำนมส่วนหน้าที่แม่ควรรู้
- น้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลังต่างกันอย่างไร เรื่องน้ำนมที่แม่ต้องรู้
- น้ำนมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง เก็บได้นานแค่ไหน พร้อมการเก็บนมแม่ให้ถูกวิธี
- อาการคัดเต้านม คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการเต้านมคัด
- หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนมดูแลอย่างไร คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ท่อน้ำนมอุดตัน ท่อน้ำนมตัน ปัญหาคุณแม่หลังคลอด ที่คุณแม่แก้ไขได้
- วิธีนวดเปิดท่อน้ำนม นวดเต้าหลังคลอด แก้ไขปัญหาคุณแม่น้ำนมน้อย
อ้างอิง:
- ตอบข้อสงสัย คลอดแบบไหนดี คลอดปกติ VS ผ่าคลอด, โรงพยาบาลนครธน
- C-Section Scar Care: Your Guide to Helping It Heal, Parents
- 8 เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดให้แผลสวย หายไว ฟื้นตัวเร็ว, โรงพยาบาลวิมุต
- การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567