สักทับรอยผ่าคลอดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลรอยสักทับแผลผ่าคลอด

สักทับรอยผ่าคลอดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลรอยสักทับแผลผ่าคลอด

12.09.2024

แผลผ่าคลอด ไม่ใช่แค่รอยแผลเป็น แต่เป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นเรื่องราวที่ร่างกายของคุณแม่ได้ผ่านมา และเป็นความทรงจำอันล้ำค่าที่ผูกพันระหว่างแม่กับลูกน้อย ไม่ผิดอะไรหากคุณแม่อยากมีรอยสักทับแผลผ่าคลอด เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดคลอด หรือจะสักเพื่อเพิ่มความสวยงาม ล้อมรอบบริเวณแผลเป็นเพื่อความภาคภูมิใจ อย่างไรก็ตาม ก่อนสักทับรอยผ่าคลอด คุณแม่ควรทราบดังนี้

headphones

PLAYING: สักทับรอยผ่าคลอดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลรอยสักทับแผลผ่าคลอด

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • สักทับรอยผ่าคลอด เป็นทางเลือกที่น่าสนใจของคุณแม่ผ่าคลอด แต่ควรศึกษาข้อดี-ข้อเสียและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ
  • ควรรอให้แผลเป็นอยู่ตัว คงที่ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป จึงค่อยเริ่มสักทับรอยผ่าคลอด หากสักเร็วเกินไป แผลอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเสียเงินสักซ้ำโดยไม่จำเป็น
  • ควรเลือกช่างสักที่มีประสบการณ์ ร้านสักที่ได้มาตรฐานและใส่ใจเรื่องความสะอาด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อจากการสัก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คุณแม่อยากสักทับแผลผ่าคลอด ทำได้ไหม

เทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถทำให้แผลเป็นหายไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำได้เพียงป้องกันและลดความรุนแรงของแผลไม่ให้กลายเป็นแผลนูนแดง หรือคีลอยด์ หลายคนอาจนึกถึงวิธีการอื่น ๆ นอกจากการรักษาทางการแพทย์ นั่นคือ การสักเพื่อปกปิดรอยแผลเป็น หากคุณแม่อยากใช้รอยสักทับแผลผ่าคลอด สามารถทำได้ไหม คำตอบคือ สามารถทำได้ การสักเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการซ่อนรอยแผลผ่าคลอด และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณแม่ อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูล และปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจ

 

สักทับรอยผ่าคลอด เสี่ยงต่อการติดเชื้อไหม

การสัก คือการเจาะผิวหนัง ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้เสมอ ความเสี่ยงในการติดเชื้อจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพแผลผ่าคลอด ความสะอาดของเครื่องมือและสถานที่สัก สุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้สัก และการดูแลแผลหลังการสัก ควรดูแลแผลหลังการสักอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากมีสัญญาณของการติดเชื้อควรไปพบแพทย์ทันที

 

เริ่มใช้รอยสักทับแผลผ่าคลอดตอนไหนดี ให้ชัวร์สุด

โดยปกติแล้วแผลผ่าคลอดอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ขนาด และสีได้อีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะผ่านไปประมาณ 1 ปี -1 ปี 6 เดือน พอถึงตอนนั้น แผลจะคงที่ อยู่ตัว เรียกว่า "แผลเป็นที่สมบูรณ์" ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว คุณแม่ควรใจเย็น ๆ รอให้แผลเป็นสมบูรณ์ก่อนค่อยไปสัก จะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หากสักเร็วเกินไปรอยสักอาจจะไม่สวย เพราะแผลเป็นอาจเปลี่ยนรูปทรง ขนาด สีไม่เหมือนเดิม เมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องเสียเงินสักซ้ำอีกครั้ง

 

หมึกจากการสักทับรอยผ่าคลอด มีผลต่อการให้นมลูกไหม

การสักลายเป็นการใส่สีลงไปในผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น สีเหล่านี้จะไม่ซึมลงไปในร่างกายจนถึงน้ำนมที่เป็นอาหารของลูกน้อย ดังนั้น การสักทับรอยผ่าคลอด จึงไม่ส่งผลต่อน้ำนมโดยตรง

 

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องความสะอาดสำคัญมาก การสักลายต้องใช้เครื่องมือที่สะอาดและปลอดเชื้อ หากร้านสักไม่สะอาด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือ เอชไอวีได้ ซึ่งเชื้อเหล่านี้อาจส่งผลต่อไปยังลูกน้อยผ่านทางน้ำนมแม่ ได้ เพื่อความปลอดภัย แม้ว่าจะไม่เสี่ยงโดยตรง ควรรอให้พ้นช่วงให้นมบุตรไปก่อนค่อยไปสักจะดีกว่า

 

ข้อดี-ข้อเสีย ของการสักทับรอยผ่าคลอด

แผลเป็นจากการผ่าคลอด เป็นเครื่องหมายถาวรบนร่างกายที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของคุณแม่ ที่มาพร้อมกับความทรงจำอันแสนวิเศษ คุณแม่บางท่านภูมิใจกับแผลเป็นนี้ ในขณะที่คุณแม่บางท่านอาจเลือกที่จะปกปิดรอยแผล การสักทับรอยแผลผ่าคลอดเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก่อนจะตัดสินใจสักทับรอยผ่าคลอด ควรพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ให้ถี่ถ้วนก่อน

 

ข้อดีของการสักทับรอยแผลผ่าคลอด

  • เสริมความมั่นใจ: ซ่อนรอยแผลเป็นไว้ใต้รอยสัก เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายใจ การสักทับรอยแผลสามารถช่วยลดเลือนรอยแผล ทำให้ดูจางลง คุณแม่จึงรู้สึกสบายใจที่จะสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยผิวมากขึ้น
  • ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็ง: การสักทับรอยแผลเป็น เปลี่ยนแผลผ่าคลอด ให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็ง เป็นเครื่องเตือนความทรงจำของการต่อสู้และการเป็นแม่
  • สร้างสรรค์ศิลปะบนร่างกาย: รอยแผลเป็นสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะบนร่างกายของคุณแม่ได้ โดยศิลปินสามารถออกแบบลวดลายที่สวยงาม ช่วยบ่งบอกตัวตนของคุณแม่

 

ข้อเสียของการสักทับรอยแผลผ่าคลอด

  • เจ็บกว่าปกติ: เพราะผิวบริเวณแผลเป็นมีความไวต่อความเจ็บปวดมากกว่าผิวหนังที่ไม่มีแผลเป็น อาจทำให้รู้สึกเจ็บระหว่างการสักมากกว่าปกติ
  • แผลเป็นอาจลุกลาม: สำหรับคนที่เป็นแผลคีลอยด์ หรือมีแนวโน้มจะเป็นแผลคีลอยด์ การสักอาจทำให้แผลเป็นลุกลามและใหญ่ขึ้นได้
  • สีสักไม่สม่ำเสมอ: ผิวแผลเป็นอาจดูดซับหมึกไม่ดีเท่าผิวปกติ ทำให้สีสักไม่สวยงาม อาจจางหรือเป็นดวง ๆ ได้ คุณแม่อาจต้องกลับมาสักซ้ำอีกครั้งในอนาคต

 

ข้อเสียของการสักทับรอยผ่าคลอด

 

เลือกช่างสักทับรอยผ่าคลอดยังไงดี ให้ปลอดภัย

การสักทับแผลผ่าคลอดนั้นต้องการความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพราะผิวบริเวณแผลเป็นมีความแตกต่างจากผิวปกติ การเลือกช่างสักที่มีประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สวยงามและปลอดภัย โดยพิจารณาดังนี้

  • เช็กประสบการณ์ ดูผลงาน: สอบถามร้านสักเกี่ยวกับประสบการณ์ในการสักทับรอยแผลเป็น ขอดูผลงานก่อนหน้าโดยเฉพาะผลงานที่เกี่ยวข้องกับการสักทับรอยแผลเป็น เพื่อดูว่าสไตล์ของเขาเหมาะกับความต้องการของคุณหรือไม่ ช่างสักที่มีประสบการณ์จะเข้าใจลักษณะของผิวแผลเป็น และมีเทคนิคในการสักที่เหมาะสม เพื่อให้สีสักติดทนและดูเป็นธรรมชาติ
  • ความสะอาดของร้าน: สถานที่สักควรสะอาด มีเครื่องมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ และปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัย ยิ่งช่างสักใส่ใจความสะอาดของร้าน โอกาสที่คุณจะติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งน้อยลง
  • ปรึกษาหารือ: พูดคุยกับช่างสักเกี่ยวกับไอเดียและความกังวลของคุณ ช่างสักที่ดีจะให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัยได้อย่างละเอียด
  • หาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย: ดูผลงานของช่างสักจากโซเชียลมีเดีย เพื่อหาแรงบันดาลใจและเปรียบเทียบผลงานของศิลปินแต่ละคน

 

อยากสักทับรอยผ่าคลอด ปรึกษาแพทย์ก่อนดีไหม

การสักทับรอยแผลผ่าคลอดเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณแม่ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สนใจ แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ประเมินสภาพผิวและให้คำแนะนำกับคุณแม่  

 

ไอเดียรอยสักทับแผลผ่าคลอด ทั้งสวยงามและมีความหมาย

แผลผ่าคลอดสามารถมีได้ทั้งในลักษณะแนวนอนตามแนวขอบกางเกงชั้นใน และลักษณะแนวตั้งใต้สะดือ โดยมีความยาวประมาณ 4-6 นิ้ว หากคุณแม่อยากมีรอยสักทับแผลผ่าคลอดสวย ๆ เรามีไอเดียรอยสักทับแผลผ่าคลอด ทั้งสวยงามและมีความหมายมาฝาก

รอยสักแนวนอน

รอยแผลผ่าคลอดส่วนใหญ่มักเป็นแนวนอน การเลือกสักทับด้วยลายเส้นแนวนอนจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัว ช่วยให้รอยสักกลมกลืนไปกับรอยแผลได้เป็นอย่างดี มีลายให้เลือกหลายลาย ดังนี้

  • ดอกไม้: ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความงามและความอ่อนโยน การเลือกสักดอกไม้เรียงรายตามแนวรอยแผลจะช่วยให้รอยแผลดูเบาลงและเพิ่มความสดใสให้กับร่างกาย
  • คลื่น: ลายคลื่นเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวและความต่อเนื่อง เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ชอบความเรียบง่ายแต่สวยงาม
  • ลวดลายธรรมชาติ: ใบไม้ กิ่งไม้ หรือภูเขา เป็นลายสักที่ได้รับความนิยม เน้นความเป็นธรรมชาติและความสงบ
  • ข้อความ: คุณแม่สามารถเลือกสักข้อความที่เป็นแรงบันดาลใจ จากการตั้งชื่อลูก หรือวันที่คลอด เพื่อเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลาสำคัญ

 

รอยสักแนวตั้ง

สำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้รอยสักเป็นจุดเด่น การเลือกสักแนวตั้งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ มีลายให้เลือกสัก ดังนี้

  • ต้นไม้/ดอกไม้ : ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตและชีวิต ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความงามและความอ่อนโยน สักตั้งแต่รอยแผลลงมาจนถึงส่วนล่างของหน้าท้อง จะช่วยให้รอยแผลดูเหมือนเป็นก้านดอกหรือรากของต้นไม้
  • นก: นกเป็นสัญลักษณ์ของอิสระเสรี การสักนกบินขึ้นจากรอยแผล จะสื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่และความหวัง
  • รูปทรงเรขาคณิต: รูปทรงเรขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม วงกลม หรือสี่เหลี่ยม สามารถนำมารวมกันสร้างเป็นลวดลายที่สวยงามและทันสมัย
  • สัตว์: สัตว์ต่าง ๆ เช่น แมว เสือ หรือหมาป่า สามารถสื่อถึงบุคลิกของคุณแม่ได้

 

การได้รอยสักที่สวยงามและมีความหมาย จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกมั่นใจและมีความสุขกับร่างกายของตัวเองมากขึ้น คุณแม่สามารถหาแรงบันดาลใจจากภาพรอยสักต่าง ๆ เพิ่มเติมบนอินเทอร์เน็ต หรือจากนิตยสารเกี่ยวกับรอยสัก อย่างไรก็ตาม อย่าลืมปรึกษาแพทย์และช่างสักผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจไปสัก

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 


อ้างอิง :

  1. แก้รอยแผลเป็น โดยการสัก (Tattoo) ดีหรือไม่ ???, ศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด
  2. Can You Get a Tattoo Over a Scar?, Healthline
  3. ให้นมลูกสามารถสักลายได้ไหม ถ้าสักแล้วหลังจากนั้นต้องเว้นช่วงให้นมไหม, Pobpad
  4. แผลผ่าคลอด ควรดูแลอย่างไร, Pobpad
  5. สัก อันตรายหรือไม่ ศึกษาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ, Pobpad

อ้างอิง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดทันทีหลังผ่าตัดคลอด คุณแม่ผ่าคลอดควรทำอย่างไร หากเจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ และปวดแผลผ่าคลอด พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างในหลังผ่าคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างในบ่อย จะเป็นอันตรายกับคุณแม่ในระยะยาวไหม ไปดูวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นกัน

หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

หัวนมบอด คืออะไร คุณแม่หัวนมบอดและหัวนมสั้น สามารถให้นมลูกได้ปกติไหม ลูกจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า ไปรู้จักอาการหัวนมบอดที่แม่ควรรู้กัน

เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม เจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อันตรายไหม

เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม เจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อันตรายไหม

คุณแม่เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม บางครั้งเจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อาการแบบนี้เกิดจากอะไร หากเจ็บเต้านมบ่อยจะเป็นอันตรายกับแม่ให้นมไหม ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก