6 ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้ลูกอิ่มสบาย พร้อมวิธีป้องกันอาการท้องอืด

6 ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้ลูกอิ่มสบาย พร้อมวิธีป้องกันอาการท้องอืด

17.04.2024

คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มต้นให้ลูกดูดนมได้สบาย เกลี้ยงเต้า มาฝากกัน มีทั้งท่าสำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ และที่ผ่าคลอดด้วย แถมด้วยท่าจับลูกอุ้มเรอแบบถูกต้อง ช่วยลดท้องอืดแน่นอนค่ะ

headphones

PLAYING: 6 ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ให้ลูกอิ่มสบาย พร้อมวิธีป้องกันอาการท้องอืด

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ท่าให้นมที่เหมาะสม จะทำให้เจ้าตัวเล็กกินนมได้ง่ายขึ้น เข้าเต้าและดูดจนเกลี้ยงเต้าได้ง่าย คุณแม่เต้านมหายคัดตึง ลูกท้องไม่อืด
  • สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด แนะนำท่านอนและท่าอุ้มลูกฟุตบอล จะเป็นท่าที่ตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสและกดทับแผลผ่าตัดที่หน้าท้องของแม่
  • การอุ้มเรอหรือการอุ้มไล่ลมให้ลูกเรอ นั้นก็เพื่อลดอาการแน่นท้อง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ลูกแหวะนมได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ท่าให้นมที่เหมาะสม จะทำให้เจ้าตัวเล็กกินนมได้ง่ายขึ้น เข้าเต้าและดูดจนเกลี้ยงเต้าได้ง่าย และจะช่วยทั้งคุณแม่และลูกผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ซึ่งเรามีให้เลือกหลายท่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ท่าใดท่าหนึ่งตลอด เพราะคุณแม่มีสรีระที่ต่างกัน อาจจะไม่เหมาะกับบางท่า ก็ควรเลือกท่าที่ถนัด ผ่อนคลาย สามารถเปลี่ยนท่าไปได้เรื่อย ๆ จนเจอท่าเหมาะสมกับคุณแม่มากที่สุด

 

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง

  • เพื่อให้ลูกได้รับน้ำนมเต็มที่ สังเกตจากการที่เต้าที่คัดตึงจะเบาลงจนคุณแม่รู้สึกได้
  • เพื่อให้ลูกเติบโตตามพัฒนาการ นมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนทำให้ลูกน้อยเจริญเติบโต และมีพัฒนาการทารกที่สมวัย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  • ช่วยลดอาการคัดเต้าของคุณแม่ได้ เนื่องจากท่าให้นมที่ถูกต้องจะทำให้ลูกน้อยได้รับนมจนเกลี้ยงเต้า อาการคัดเต้าของคุณแม่ก็จะบรรเทาลง
  • ช่วยป้องกันอาการท้องอืดของลูก ท่าที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกเข้าหาเต้าได้ง่ายขึ้น ดูดและกลืนน้ำนมได้ดี ซึ่งจะลดการเกิดอากาศที่ลูกดูดเข้าไปตอนดูดนม ทำให้ลูกเรอออกมาได้ง่ายและป้องกันทารกท้องอืดได้อีกด้วย
  • ช่วยลดอาการปวดเมื่อยของคุณแม่ เมื่อต้องให้นมลูก ท่าที่เหมาะสมจะไม่ทำให้คุณแม่เกร็งหรือเมื่อยตลอดการให้นม

 

6 ท่าให้นมลูกที่คุณแม่ทำตามได้เลย

6 ท่าให้นมลูก

 

1. ท่าอุ้มนอนขวางบนตักแม่ (Cradle Hold)

ท่านี้จะต้องอุ้มลูกแนวขวางบนตัก ให้ท้ายทอยลูกอยู่บนแขนของคุณแม่ ใช้มือช้อนไปที่ส่วนหลังและก้นของลูก เหมือนท่าอุ้มปกติ เอนตะแคงตัวลูกเข้าหาเต้านม ให้หน้าอกลูกและคุณแม่ชิดกัน แล้วใช้มืออีกข้างพยุงเต้านม

 

2. ท่านอนขวางบนตักแบบประยุกต์ (Modified/Cross Cradle Hold)

อุ้มลูกน้อยวางไว้บนตักคล้ายท่าแรกแต่เปลี่ยนการวางมือ เปลี่ยนจากมือที่พยุงเต้านม เป็นช้อนท้ายทอยลูกแทน

 

3. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch Hold/Football Hold)

ท่านี้ลูกจะอยู่ที่สีข้างแม่ ปลายเท้าชี้ไปด้านหลัง หากไม่ถนัดให้หาหมอนหนา ๆ สักใบวางไว้ด้านข้างคุณแม่ วางลูกน้อยให้อยู่บนหมอนให้ลำตัวของลูกน้อยอยู่ใต้แขนของคุณแม่ แล้วใช้มือประคองท้ายทอย คอ และส่วนหลังของลูก เหมือนอุ้มลูกฟุตบอลเหน็บไว้ข้างลำตัว

 

4. ท่านอนตะแคง (Side Lying Position)

คุณแม่และลูกนอนตะแคงหันหน้าเข้าหากันให้ศีรษะแม่อยู่สูงเล็กน้อย วางลูกให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมเพื่อนำหัวนมเข้าปากลูก เมื่อเห็นว่าลูกดูดนมได้ดี สามารถขยับออก ประคองต้นคอและหลังได้

 

5. ท่าเอนตัว (Laid-back Hold)

คุณแม่นอนเอนตัวแล้ววางลูกไว้ตรงหน้าอกของแม่ ใช้มือโอบกอดลูกน้อยไว้ และทำให้ศีรษะลูกเอียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการปิดกั้นของทางเดินหายใจ

 

6. ท่าตั้งตรง (Upright or Standing Baby)

อุ้มลูกน้อยให้ตัวตั้งตรง ขาลูกจะคร่อมอยู่ที่ต้นขาคุณแม่ ให้ศีรษะและลำตัวของลูกเอนลงเล็กน้อย แล้วใช้มือประคองศีรษะของลูกและมืออีกข้างพยุงเต้านม

 

คุณแม่ผ่าคลอด ควรเลือกใช้ท่าให้นมท่าไหน

สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดที่ยังเจ็บแผลผ่าคลอดอยู่ไม่ต้องกังวล เพราะคุณแม่สามารถให้นมลูกได้ด้วย 2 ท่าที่เราจะแนะนำนี้ จะเป็นท่าที่ตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสและกดทับแผลผ่าตัดที่หน้าท้องของแม่ และยังเหมาะกับคุณแม่ที่คลอดลูกแฝด เพราะสามารถให้ลูกดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อม ๆ กันได้ หรือคุณแม่ที่มีเต้านมใหญ่เพราะลูกจะเข้าอมงับเต้านมได้ดีกว่า

 

ท่าให้นมลูกสำหรับแม่ผ่าคลอด

 

1. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch hold หรือ Football hold)

ท่านี้ลูกจะอยู่ในท่ากึ่งนอนตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จะจับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก หากไม่ถนัดให้ลองหาหมอนหนา ๆ รองตัวลูกไว้ แล้วกอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก ส่วนมืออีกข้างประคองเต้านมไว้

 

2. ท่านอน (Side lying position)

เหมาะสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดที่ต้องการพักผ่อน หรือช่วงให้นมกลางคืน แม่ลูกนอนตะแคงหันหน้าเข้าหากัน โดยคุณแม่จะต้องนอนตัวตรง ให้ศีรษะสูงเล็กน้อย เอนลูกน้อยให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ ใช้มือประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่ หากไม่ถนัดอาจใช้ผ้าขนหนูม้วน หรือหมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ก็ได้ มือด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเข้าเต้า เมื่อลูกดูดได้ดีก็ขยับออกได้

 

ท่านอนให้นมลูก มีข้อดียังไงบ้าง

  1. ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เมื่อย - เป็นท่าสบาย ๆ ไม่ต้องลุกนั่ง คุณแม่จึงสามารถพักผ่อนในขณะให้นมลูกได้
  2. เหมาะกับการให้นมลูกก่อนนอน - เป็นท่าที่คุณแม่ได้ผ่อนคลาย ในช่วงค่ำคืน
  3. ช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น - เพราะทั้งคู่นอนตะแคงข้างหันหน้าเข้าหากัน จึงมองเห็นกันระหว่างลูกเข้าเต้า ช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น และนอนได้นานขึ้น
  4. เป็นท่าที่เหมาะกับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง - เพราะท่านี้ลูกจะไม่ไปสัมผัสและกดทับแผลผ่าตัดที่หน้าท้องของแม่

 

ท่านอนให้นม มีข้อดียังไงบ้าง

 

ทำไมต้องจับเรอ หลังให้นมลูกเสร็จทุกครั้ง

เพราะระหว่างการดูดนมแม่นั้นลูกดูดเอาอากาศเข้าไปด้วย หากลูกเข้าเต้าได้ไม่ดี บางครั้งอาจได้อากาศเข้าไปมากจนท้องอืด การอุ้มเรอหรือการอุ้มไล่ลมให้ลูกเรอ นั้นก็เพื่อลดอาการแน่นท้อง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ลูกแหวะนมได้ โดยควรทำทันทีหลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้วทุกครั้ง หรือทำให้ลูกเรอก่อนที่จะให้ลูกมาดูดนมอีกข้าง

 

รวมท่าจับเรอให้ลูกน้อย แบบทำตามได้เลย

1. อุ้มพาดบ่า

เป็นการไล่ลมในท่าอุ้มพาดบ่า ให้คุณแม่อุ้มลูกโดยเอาตัวพาดไหล่ให้คางของลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลังโดยลูบขึ้นบนจนได้ยินเสียงเรอของลูก

 

2. อุ้มนั่งบนตัก

เป็นท่าไล่ลมแบบนั่ง โดยการอุ้มลูกนั่งตักแล้วให้โน้มตัวลูกมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้มือข้างหนึ่งประคองใต้คางลูก อีกมือหนึ่งลูบหลังเบา ๆ จนได้ยินเสียงเรอของลูก

 

หลังจากอุ้มลูกเรอเสร็จแล้ว แนะนำว่าคุณแม่ควรจัดท่าให้ลูกนอนตะแคงขวาเพราะจะช่วยทำให้น้ำนมไหลลงสู่กระเพาะและลำไส้เล็ก ซึ่งจะช่วยทำให้มีการย่อยและการดูดซึมของน้ำนมได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้อากาศที่ลูกดูดเข้าไปตอนที่ดูดนมลอยไปอยู่ส่วนบนของกระเพาะ ซึ่งจะทำให้ลูกเรออกมาได้ง่ายและป้องกันท้องอืดของลูกได้อีกด้วย ท่าให้นมนั้นคุณแม่สามารถเลือกท่าที่ตัวเองถนัดและเหมาะกับช่วงเวลาได้ เพื่อให้การให้นมแม่นั้นไม่สะดุด อย่าลืมสังเกตอาการของลูกด้วยว่าท่าไหนที่ลูกเข้าเต้าได้ดี และดูดนมได้สบาย ๆ จนเกลี้ยงเต้า และคุณแม่เองก็ไม่รู้สึกเกร็งหรือเมื่อยมาก ท่านั้นอาจจะเป็นท่าที่เหมาะสำหรับทั้งคู่นั่นเอง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. ท่าในการให้นมแม่ที่ถูกต้องและการอุ้มเรอ, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  2. เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. แผ่นพับคลินิกนมแม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. การจัดท่าให้นมบุตร คลินิกนมแม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดจากอะไร ลูกเป็นภูมิแพ้ฝุ่น ขนสัตว์หรือเด็กแพ้อาหาร คุณแม่ควรสังเกตสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีป้องกันอาการเด็กแพ้ฝุ่นและเด็กแพ้อาหาร

ลูกแพ้แลคโตส เกิดจากอะไร อาการแพ้แลคโตสทารกที่คุณแม่ต้องรู้

ลูกแพ้แลคโตส เกิดจากอะไร อาการแพ้แลคโตสทารกที่คุณแม่ต้องรู้

ลูกแพ้แลคโตส อาการแพ้แลคโตสทารก มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการภูมิแพ้ ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่ คุณแม่จะมีวิธีรับมือกับอาการแพ้แลคโตสทารกได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

วิธีสังเกตอาการทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันภูมิแพ้อาหารในเด็ก

วิธีสังเกตอาการทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันภูมิแพ้อาหารในเด็ก

ทารกแพ้อาหาร ภูมิแพ้อาหารในเด็ก หนึ่งในอาการเด็กแพ้อาหารของภูมิแพ้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูวิธีสังเกตอาการทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันเมื่อเด็กแพ้อาหาร

ลูกแพ้อาหารหรือลูกมีอาการเด็กแพ้นมวัว พร้อมวิธีป้องกันอาการแพ้

ลูกแพ้อาหารหรือลูกมีอาการเด็กแพ้นมวัว พร้อมวิธีป้องกันอาการแพ้

อาการลูกแพ้นมวัว เมื่อลูกแพ้นมวัวและมีอาการแพ้แสดงออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรเช็กอาการแพ้ของลูกน้อย เพื่อดูว่าลูกแพ้อาหารทั่วไปหรือลูกแพ้นมวัวกันแน่ พร้อมวิธีป้องกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก