เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

04.10.2024

เจาะน้ำคร่ำคืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? การตรวจเจาะน้ำคร่ำในยุคสมัยนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องน่าวิตกกังวล หรือเสี่ยงอันตรายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการช่วยคัดกรองโรคทางพันธุกรรม และความเสี่ยงดาวน์ซินโดรม ที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ เพื่อให้สูติแพทย์ได้ช่วยวางแผนการแก้ไข และวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที

headphones

PLAYING: เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • เจาะน้ำคร่ำ คือ การตรวจคัดกรองในขณะตั้งครรภ์ เพื่อเอาน้ำคร่ำไปตรวจวิเคราะห์หาโครโมโซมของทารกในครรภ์ ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อวางแผนการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ สูติแพทย์จะไม่แนะนำให้รับการเจาะน้ำคร่ำ
  • อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการเจาะน้ำคร่ำ คือ ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ เหมาะสำหรับการตรวจ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรเจาะน้ำคร่ำ จะมีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับจนถึงวันคลอด เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีอาการดาวน์ซินโดรม
  • สูติแพทย์จะใช้เวลาเจาะน้ำคร่ำประมาณ 45 นาที เมื่อเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้ว สูติแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 30 นาที แล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร

การเจาะน้ำคร่ำ คือ การตรวจคัดกรองในขณะตั้งครรภ์ วิธีการเจาะน้ำคร่ำนี้ สูติแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กแทงจากบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ ผ่านเข้าไปในถุงน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ เพื่อดูดเอาน้ำคร่ำไปตรวจวิเคราะห์ หาโครโมโซมของทารกในครรภ์ ในน้ำคร่ำจะมีเซลล์ของทารกอยู่ด้วย สูติแพทย์จะนำน้ำคร่ำที่มีเซลล์ของทารกไปตรวจวิเคราะห์โรคบางอย่าง โรคทางพันธุกรรมของทารกตั้งแต่อยู่ในท้อง การตรวจน้ำคร่ำนี้ สามารถตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อวางแผนการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ สูติแพทย์จะไม่แนะนำให้รับการเจาะน้ำคร่ำ น้ำคร่ำ เป็นเกราะป้องกันการกระทบกระเทือน ป้องกันอันตรายต่อทารก และยังป้องกันไม่ให้เกิดการถูกกดทับของสายสะดือจากตัวทารก น้ำคร่ำส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของปอดทารก การกลืนน้ำคร่ำของทารกนั้น ช่วยส่งเสริมการเจริญของระบบทางเดินอาหารให้กับทารก เมื่อมีอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะมีปริมาตร 30 ซีซี อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณเป็น 200 ซีซี และเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่กลางไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ปริมาณน้ำคร่ำจะอยู่ที่ 800 ซีซี และจะค่อย ๆ ลดลง

 

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม คุณแม่จะรู้สึกยังไง

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จะรู้สึกยังไง การเจาะน้ำคร่ำนั้นจะส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนถูกเข็มแทง เพราะการเจาะน้ำคร่ำจะคล้าย ๆ กับการเจาะเลือด จะมีความเจ็บประมาณ 23 วินาที เมื่อเข็มแทงผ่านหน้าท้องไปแล้วความเจ็บจะค่อย ๆ หายไป สูติแพทย์จะดูดน้ำคร่ำออก แล้วให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนพักแล้วค่อยกลับบ้าน

 

คุณแม่ต้องอายุครรภ์เท่าไหร่ ถึงควรเจาะน้ำคร่ำ

อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการเจาะน้ำคร่ำ คือ ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ เหมาะสำหรับการตรวจ โดยแพทย์จะเก็บน้ำคร่ำไปตรวจประมาณ 20 ซีซี น้ำคร่ำที่ลดลงชั่วคราว ไม่ได้ส่งผลอันตราย หรือมีผลกระทบใด ๆ ต่อทารกในครรภ์ น้ำคร่ำจะค่อย ๆ สร้างขึ้นมาใหม่แทนที่น้ำคร่ำที่ลดลง ภายในเวลา 24 ชั่วโมง คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรรับการเจาะน้ำคร่ำ คือคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับจนถึงวันคลอด เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งกลุ่มคุณแม่ที่ควรเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ มีดังนี้

  • มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นธาลัสซีเมีย
  • เมื่อคุณหมอพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น อวัยวะผิดปกติ
  • คุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดลูกพิการมาแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์อื่น ๆ
  • คุณแม่ที่เคยคลอดลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งอาจมีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมซ้ำในครรภ์อื่น ๆ
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติโรคทางพันธุกรรม
  • คุณแม่ คุณพ่อ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีบุตรเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับวันจนถึงกำหนดคลอด เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น อายุ 35-39 ปี มีความเสี่ยง 0.9 เปอร์เซ็นต์, อายุ 40-41 ปี มีความเสี่ยง 4.9 เปอร์เซ็นต์, อายุ 42-43 ปี มีความเสี่ยง 8.0 เปอร์เซ็นต์, อายุ 44-47 ปี มีความเสี่ยง 105 เปอร์เซ็นต์
  • คุณแม่ที่มีความเสี่ยงทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือคุณแม่ที่ผ่านการคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมด้วยวิธีอื่นแล้วมีผลเป็นบวก
  • คุณแม่ คุณพ่อ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความผิดปกติของการจัดโครงสร้างของโครโมโซม
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ มีบุตรที่มีภาวะท่อประสาทปิดไม่สนิท

 

เจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเรื่องไหนบ้าง

การเจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้จากการเจาะ เพราะอาจทำให้มีน้ำคร่ำรั่ว มีเลือดออกตอนเจาะน้ำคร่ำ หรือภาวะแท้ง การเจาะน้ำคร่ำ ไม่จำเป็นต้องเจาะให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน แต่จะเลือกคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีอายุมาก หรืออาจสงสัยว่าจะเป็นโรคต่าง ๆ

 

การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยง พบได้จากการเจาะน้ำคร่ำ คือ

  • ถุงน้ำคร่ำรั่ว ถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อ มักจะเกิดขึ้นหลังจากเจาะน้ำคร่ำภายใน 24-48 ชั่วโมง
  • การเจาะน้ำคร่ำอาจมีความเสี่ยงที่จะแท้งลูกได้ 0.3-0.5 เปอร์เซ็นต์
  • ติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • มีเลือดออกขณะที่เจาะน้ำคร่ำ
  • มีเลือดออกจากการฉีกขาดของรก
  • คลอดทารกก่อนกำหนด
  • หากมีเลือดของคุณแม่ปนกับน้ำคร่ำในการตรวจ อาจมีการแปลผลผิดพลาด

 

เจาะน้ำคร่ำใช้เวลาทำนานไหม

 

เจาะน้ำคร่ำใช้เวลาทำนานไหม

กระบวนในการเจาะน้ำคร่ำคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งจะใช้เวลามากในการอัลตราซาวด์ ผ่านทางหน้าท้อง เพราะสูติแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์อย่างละเอียด ก่อนที่จะลงมือเจาะน้ำคร่ำ เมื่อเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้ว สูติแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 30 นาที แล้วจึงอนุญาตให้คุณแม่ตั้งครรภ์กลับบ้านได้

 

ข้อดีของการเจาะน้ำคร่ำ คืออะไร

การตรวจเจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจคัดกรองปัญหาในการตั้งครรภ์ หากคุณแม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มาก่อน การเจาะน้ำคร่ำนั้น ยังเป็นการตรวจดูความเสี่ยงอื่น ๆ และความแข็งแรงของครรภ์ นอกจากนั้นแล้ว ข้อดีของการเจาะน้ำคร่ำ ยังช่วยให้สูติแพทย์ระบุความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม เป็นการช่วยวางแผนครอบครัวให้คู่สามีภรรยาได้อย่างถูกวิธีเหมาะสม และหากเกิดความผิดปกติทางโครโมโซม หรือโรคพันธุกรรมเกิดขึ้น ก็จะได้รับการรักษา รับมืออย่างทันท่วงที เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย

 

การเตรียมตัวก่อนไปเจาะน้ำคร่ำ

ก่อนทำการเจาะน้ำคร่ำ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำอธิบาย ความรู้เกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำจากสูติแพทย์ เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ การเจาะน้ำคร่ำไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หรืองดน้ำ ก่อนการตรวจ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเจาะตรวจน้ำคร่ำได้ทันที

 

เจาะน้ำคร่ำ รอผลนานกี่วัน

การเจาะน้ำคร่ำ จะใช้เวลารอผลทั้งหมดประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจที่ได้รับจะมีความแม่นยำถึง 99 เปอร์เซ็นต์ การเจาะน้ำคร่ำนั้น สูติแพทย์จะดูดน้ำคร่ำออกมา ผ่านทางหน้าท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ และส่งไปเพาะเลี้ยงเซลล์ให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการตรวจหายีนที่ผิดปกติ และศึกษาจำนวน และรูปร่างของโครโมโซม

 

เจาะน้ำคร่ำ แพงไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ ตรวจวินิจฉัย คัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม มีราคาในการเจาะน้ำคร่ำ ประมาณ 8,500-11,000 บาท ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานรักษาพยาบาลในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด

 

การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคพันธุกรรมนั้น มีข้อดีหลายอย่างในการช่วยให้สูติแพทย์สามารถตรวจพบ และวางแผนแก้ไขความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ ตรวจคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. น้ำคร่ำ (Amniotic fluid), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. Polyhydramnios ภาวะน้ำคร่ำมาก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ทำไมต้องเจาะ, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย
  4. การเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอด, โรงพยาบาลศิครินทร์
  5. การเจาะน้ำคร่ำตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  6. การเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลเอกชัย
  7. การเจาะน้ำคร่ำในสตรีตั้งครรภ์ (AMNIOCENTESIS), โรงพยาบาลวิภาราม
  8. การเจาะน้ำคร่ำตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  9. แพ็กเกจเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลลาดพร้าว
  10. แพ็กเกจเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  11. Package เจาะน้ำคร่ำ ตรวจวินิจฉัยครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก 8
  12. แพ็กเกจฝากครรภ์ โรงพยาบาลลานนา สิทธิประกันสังคม, โรงพยาบาลลานนา

อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า แล้วคุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า แล้วคุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐราคาเท่าไหร่ ผ่าคลอดใช้สิทธิบัตรทองได้ไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการคลอดที่คุณแม่เตรียมคลอดธรรมชาติและผ่าคลอดอยากรู้

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม คุณแม่ท้องกินโกโก้ส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

โกโก้มีคาเฟอีนไหม คนท้องกินโกโก้ได้ไหม ส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

โกโก้มีคาเฟอีนไหม คนท้องกินโกโก้ได้ไหม อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบกินน้ำชง คุณแม่ควรกินวันละกี่แก้ว ปริมาณเท่าไหร่ถึงพอดี

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ช่วยบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง คุณแม่ทำตามได้

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ช่วยบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง

รวมเมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน เมนูสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ช่วยให้คุณแม่มือใหม่และลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรง ไปดูเมนูอาหารสําหรับคนท้อง 1-3 เดือน

คนท้องกินแตงโมได้ไหม คุณแม่กินแตงโมอย่างไรให้ดีกับลูกในครรภ์

คนท้องกินแตงโมได้ไหม กินแตงโมอย่างไรให้ดีกับลูกในครรภ์

คนท้องกินแตงโมได้ไหม ในแตงโมมีสารอาหารอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์กับร่างกายของคุณแม่และลูกในครรภ์ ต้องกินเท่าไหร่ถึงพอดี ไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก