ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

22.10.2024

คุณแม่เคยสงสัยไหม ว่าทำไมลูกน้อยวัยแบเบาะถึงมีไขเหลือง ๆ บนหัว มาทำความรู้จักกับ "ไขบนหัวทารก" ภาวะที่คุณแม่หลายคนต้องเจอ! แม้ไขที่หัวทารกจะดูน่ากลัว แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล บทความนี้จะพาคุณแม่ไปรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดไขบนหัวลูกน้อย ลักษณะอาการแบบไหนที่น่ากังวล วิธีดูแลที่ถูกต้องและเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้ลูกน้อยหายเร็วขึ้น

headphones

PLAYING: ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ไขบนหัวทารก คือ ผื่นแดงหรือสะเก็ดสีเหลืองที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะ และอาจลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้ผิวหนังดูมันและเป็นขุย
  • ไขบนหัวทารกจะหายไปเอง ภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการดูแลที่ถูกวิธี
  • ควรดูแลทำความสะอาดไขบนหัวทารก โดยใช้แชมพูสำหรับเด็กอ่อน ช่วยลดความมันและขจัดสะเก็ด อย่าพยายามแกะสะเก็ดออกเอง อาจทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้นและติดเชื้อได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ไขบนหัวทารก คืออะไร

ไขบนหัวทารก หรือ Seborrheic Dermatitis เป็นภาวะผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด มักเกิดจากการที่ต่อมไขมันทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดผื่นแดงและสะเก็ดเหลืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก และบริเวณอื่น ๆ

 

ไขบนหัวทารกเกิดจากอะไรได้บ้าง

ถึงแม้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่า ไขบนหัวทารกเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดไขที่หัวทารก ได้แก่

  • สภาพอากาศ สภาพอากาศที่แห้งหรือชื้นเกินไป อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ไขบนหัวทารกแย่ลง
  • เชื้อรา เชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Malassezia อาจมีส่วนทำให้เกิดการเร่งผลัดเซลลส์ผิวเร็วกว่าปกติ จึงเกิดเป็นขุยขาวสะสมอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผมเป็นจำนวนมาก
  • ต่อมไขมันอักเสบ ต่อมไขมันของทารกยังทำงานไม่สมดุล อาจผลิตน้ำมันออกมาเยอะเกินไป ทำให้เซลล์ผิวหนังเกาะกันเป็นขุย
  • ฮอร์โมนจากคุณแม่ ฮอร์โมนบางชนิดที่ได้รับมาจากคุณแม่ก่อนคลอด อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันของลูกน้อยผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้เกิดไขบนหัว

 

สิ่งที่สำคัญคือ ไขบนหัวทารกไม่ได้เกิดจากความสกปรก หรือการที่คุณแม่ดูแลลูกไม่ดี แต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกหลายคน

 

ไขบนหัวทารก ลักษณะเป็นยังไง

ไขบนหัวทารกมักจะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่าย ดังนี้

  • สะเก็ดสีเหลือง บริเวณหนังศีรษะ คิ้ว หรือแม้แต่ใบหน้า จะมีสะเก็ดสีเหลืองติดอยู่ อาจเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ หรือใหญ่ก็ได้
  • ผิวหนังมันและเป็นขุย หนังศีรษะจะดูมันเยิ้มและมีขุยเล็ก ๆ หลุดออกมาได้ง่าย
  • รอยแดง อาจพบรอยแดงบริเวณรอบ ๆ สะเก็ด หรือบริเวณที่ผิวหนังอักเสบ
  • ผื่น นอกจากหนังศีรษะแล้ว อาจพบผื่นแดงที่หน้าทารก หรือสะเก็ดคล้ายกันที่ใบหน้า หลังหู บริเวณผ้าอ้อม หรือรอยพับของผิวหนัง
  • ไม่คัน แม้ว่าไขที่หัวทารกดูเหมือนจะทำให้ทารกรู้สึกคัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทารกจะไม่คัน

 

ไขที่หัวทารกหายเองได้ในกี่วัน

ไขบนหัวทารก หรือที่เรียกว่า Cradle cap นั้นเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารก โดยพบว่าทารกอายุ 3 เดือน ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จะมีไขที่หัวทารก โดยทั่วไปแล้ว ไขบนหัวทารกจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการดูแลที่ถูกวิธี

 

ลูกมีไขบนหัว จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ไหม 

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้

  • ผื่นลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า ผื่นที่ลำตัวทารก โดยเฉพาะถ้ามีอาการรุนแรง
  • ผื่นมีกลิ่นเหม็น อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ลูกน้อยร้องไห้มากขึ้น ดูไม่สบาย หรือเจ็บปวด
  • มีของเหลว น้ำเหลือง หรือเลือดไหลซึมออกมาจากสะเก็ด อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นบวม หรือมีตุ่มหนอง อาจเป็นอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย

 

วิธีทำความสะอาดไขที่หัวทารก

 

วิธีทำความสะอาดไขบนหัวทารก

ไขบนหัวทารกอาจดูน่ากังวล แต่สามารถดูแลได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้

1. สระผมให้ลูกน้อยเป็นประจำ

ใช้แชมพูสำหรับเด็กอ่อนโดยเฉพาะ จะช่วยลดการระคายเคืองผิวหนัง สระผมเบา ๆ ในช่วงที่มีไขบนหัว อาจต้องสระผมให้ลูกน้อยบ่อยขึ้นเล็กน้อย เช่น วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน

 

2. ใช้แปรงขนนุ่ม

หลังจากสระผมแล้ว ให้ใช้แปรงขนนุ่มสำหรับเด็ก แปรงผมเบา ๆ เพื่อช่วยให้สะเก็ดหลุดออก ระวังอย่าแปรงแรง เพราะการแปรงแรง ๆ อาจทำให้หนังศีรษะระคายเคือง

 

3. นวดหนังศีรษะเบา ๆ ด้วยน้ำมันมะพร้าว 

ก่อนสระผม ทาน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยลงบนสะเก็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน น้ำมันมะพร้าวจะช่วยให้สะเก็ดนิ่มและหลุดออกง่ายขึ้น หลังจากนั้นจึงสระผมตามปกติ

 

4. หลีกเลี่ยงการแกะสะเก็ด

การแกะสะเก็ด อาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ใช้เวลาในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ สะเก็ดจะค่อย ๆ หลุดออกไปเอง

 

ไขบนหัวทารก เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด สามารถหายไปเองได้ ด้วยการดูแลรักษาที่ถูกวิธีและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ไขบนหัวทารกหายเร็วขึ้น และทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวมากขึ้น แต่ในกรณีที่ลูกมีอาการรุนแรง จนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ไม่สบายใจ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำเพิ่มเติม

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. What is Cradle Cap?, Healthychildren
  2. Cradle Cap, WedMD

อ้างอิง ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง

ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง แบบไหนเรียกรุนแรง

ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง ลูกท้องเสียบ่อยอันตรายไหม คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยกลับมาท้องเสียอีก

สังเกตอาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีแก้ทารกท้องอืดในทารก

ทารกท้องอืด ลูกไม่สบายท้อง ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ทารกท้องอืด

ทารกท้องอืด เกิดจากอะไร ลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง คุณแม่ควรเตรียมรับมืออย่างไร ไปดูสาเหตุของอาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีแก้ทารกท้องอืดกัน

ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

ทารกไม่ยอมนอน ลูกร้องไห้งอแง นอนหลับยาก พร้อมวิธีรับมือ

ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงนอนหลับยาก ปัญหาที่คุณแม่มักต้องเจอ เมื่อลูกไม่ยอมนอน สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ทารกไม่ยอมนอน ไปดูวิธีรับมือเมื่อลูกนอนยากกัน

ทำความรู้จัก 'สฟิงโกไมอีลิน' หนึ่งในสารอาหารพัฒนาสมอง

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทารก 10 เดือน อย่างไรบ้าง

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายและสังคมอย่างไรบ้าง พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการเด็กทารก 10 เดือน ให้ลูกเรียนรู้ได้เร็ว พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก