ปากมดลูกเปิดมีอาการยังไง กระตุ้นปากมดลูกนานแค่ไหนกว่าจะคลอด
ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงเวลาใกล้คลอด คุณแม่คงตื่นเต้นที่จะได้เจอหน้าลูกน้อย แต่ถ้าถึงวันกำหนดคลอดแล้วยังไม่มีอาการใด ๆ ที่จะเป็นสัญญาณคลอดก็อาจจะสับสน ในช่วงนี้จะมีส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องสังเกตหาสัญญาณให้ดี ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการคลอด นั่นคือปากมดลูกนั่นเอง ส่วนนี้จะคอยปกป้องลูกน้อยร่วมกันกับคุณแม่มาตลอด
PLAYING: ปากมดลูกเปิดมีอาการยังไง กระตุ้นปากมดลูกนานแค่ไหนกว่าจะคลอด
สรุป
- ถ้าถึงกำหนดคลอด แต่ยังไม่มีสัญญาณเตือนคลอด อาจจะเพราะการประมาณเวลาคลอดคลาดเคลื่อนไป ไม่ต้องตกใจค่ะ อาจไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเกินกำหนดมาเป็นสัปดาห์ จำเป็นจะต้องปรึกษาคุณหมอ
- ปากมดลูกเปิด เป็นสัญญาณหนึ่งว่าจะคลอดค่ะ ตอนปากมดลูกเปิดจะมีมูกเลือดไหลออกมาร่วมกับน้ำคร่ำ ไม่ต้องตกใจ นั่นเป็นสัญญาณตามธรรมชาติ
- มดลูกบีบตัวถี่ ๆ ไม่เว้นช่วงพักนาน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- การดูแลตัวเองในช่วงใกล้คลอด เน้นให้มดลูกผ่อนคลาย ปากมดลูกจะได้ยืดหยุ่นและเปิดออกได้ง่าย ไม่ทำให้การคลอดยุ่งยาก
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่มีสัญญาณเตือนคลอด ผิดปกติไหม
- สัญญาณเตือนการคลอด มีอาการอะไรบ้าง
- ทำไมต้องคุณหมออาจต้องช่วยกระตุ้นปากมดลูก
- อาการที่บ่งบอกว่าปากมดลูกเปิดแล้ว
- ปากมดลูกเปิดนานแค่ไหนกว่าจะคลอด
- ท่าบริหารช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย
อายุครรภ์ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่มีสัญญาณเตือนคลอด ผิดปกติไหม
- สิ่งแรกที่ต้องคำนึง คือ กำหนดคลอดของคุณแม่เป็นเพียงการคาดการณ์ จึงเป็นไปได้ว่าเวลาที่คุณหมอประมาณไว้คลาดเคลื่อนไปเท่านั้น
- มีโอกาสเหมือนกันราว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นการตั้งครรภ์นานกว่ากำหนด
- คุณหมอมักใส่ใจให้เฝ้าระวังครรภ์ที่มีอายุเกิน 40 สัปดาห์ แม้จะพบไม่บ่อย แต่การตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 40 สัปดาห์มีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
- รกทำงานลดลง ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารที่นำไปสู่ลูกน้อยลดลงด้วย
- ระดับน้ำคร่ำลดลง ทำให้สายสะดือถูกบีบให้ทำงานยากขึ้น
- ขนาดตัวของลูกน้อย อาจใหญ่จนทำให้เกิดปัญหาในการคลอด
สัญญาณเตือนการคลอด มีอาการอะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ใกล้กำหนดคลอด คงจะกังวลอยู่บ้างว่าการคลอดจะเป็นไปอย่างไร จะเจ็บมากไหม ต้องใช้เวลานานมากไหมกว่าลูกน้อยจะคลอดออกมาเรียบร้อยดี จริง ๆ แล้วการบอกคำตอบชัดเจนเป็นเรื่องไม่ง่าย คุณแม่แต่ละคนจะพบประสบการณ์แตกต่างกัน คือคลอดง่ายหรือยากแตกต่างกันไป แต่สัญญาณเตือนการคลอด เป็นกลไกของร่างกายที่สื่อสารออกมา ที่สามารถสรุปได้ดังนี้
สัญญาณเริ่มแรกของการคลอด ในช่วง 1 เดือนก่อนกำหนดคลอด
- ลูกน้อยกลับตัวส่วนหัวลงต่ำ ปากมดลูกขยายตัว
- เป็นตะคริวและปวดหลังเพิ่มขึ้น
- รู้สึกเหมือนโหวง ๆ
- ท้องเสีย/ถ่ายท้อง
- น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น
สัญญาณการคลอดที่บอกว่าอีกไม่นานก็จะได้เจอหน้าลูกน้อย
- มดลูกมีการหดตัวรุนแรงและถี่ ๆ
- มูกเลือดหลุดออกมา
- ปวดท้องและหลังส่วนล่าง
- น้ำคร่ำแตก
ทำไมต้องคุณหมออาจต้องช่วยกระตุ้นปากมดลูก
ปากมดลูก มีบทบาทสำคัญต่อวาระการคลอด ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ปากมดลูกจะปิดอยู่และมีความแข็งแรงพอที่จะพยุงและประคองลูกน้อยของคุณแม่ให้อยู่ในมดลูก นับว่าเป็นเรื่องดีในการตั้งครรภ์ที่มีปากมดลูกที่แข็งแรง แต่ในช่วงหลายวันหรือในสัปดาห์สุดท้ายของการคลอด ปากมดลูกควรต้องเริ่มอ่อนตัวลงและเปิดออก เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ลูกน้อยออกมาดูโลก เมื่อใกล้กำหนดคลอดแล้ว แต่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อการคลอด การกระตุ้นปากมดลูก จะช่วยให้คุณแม่คลอดได้อย่างปลอดภัย
อาการที่บ่งบอกว่าปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว
- มีมูกเลือดไหลออกมา มูกนี้ปกติจะอุดอยู่ที่บริเวณปากมดลูก พอปากมดลูกเปิดก็จะไหลออกมาเอง เป็นหนึ่งในสัญญาณของการคลอด
- มีน้ำคร่ำใส ๆ ไหลออกมา บางคนมีน้ำคร่ำมาก บางคนมีน้ำคร่ำน้อย
- มดลูกบีบและคลายตัวสลับกันต่อเนื่อง เกินระยะเวลา 10 นาที เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งท้องที่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ขึ้นไป
ปากมดลูกเปิดนานแค่ไหนกว่าจะคลอด
การคลอดทารกของคุณแม่ตั้งครรภ์ตามกระบวนการธรรมชาติ ทารกจะพยายามเคลื่อนออกจากครรภ์ มี 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 คือ ระยะปากมดลูกเปิด ในการตั้งครรภ์แรก ระยะเวลาจะเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริงจนถึงปากมดลูกเปิดหมด จะใช้เวลาประมาณ 10-14 ชั่วโมง ส่วนในการตั้งครรภ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช้ครรภ์แรก จะใช้เวลาประมาณ 7-9 ชั่วโมง
- ระยะที่ 2 ระยะเบ่งคลอด ในครรภ์แรก ปากมดลูกเปิดตั้งแต่แรกจนทารกน้อยคลอดออกมาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในครรภ์ที่ 2 ครรภ์อื่น ๆ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- ระยะที่ 3 ระยะรกคลอด ประมาณ 30 นาที
- ระยะที่ 4 ระยะสองชั่วโมงหลังจากการคลอด
ท่าบริหารช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย
1. กายบริหารกล้ามเนื้อส่วนขา สะโพก และข้อเท้า
- หาที่นั่งพิง เหยียดขา กระดกเท้าไปมาโดยส้นเท้าวางอยู่บนพื้น กระดกเท้าเข้าหายใจเข้า กระดกเท้าออกจากตัวหายใจออก ทำวันละ 8-10 ครั้ง
- นั่งเหมือนเดิม แต่กดเท้าหักลง แล้วหมุนเฉพาะข้อเท้า โดยหมุนให้ปลายเท้าเข้าหากัน พอครบรอบแล้วให้หมุนปลายเท้าออกจากกัน เน้นใช้ข้อเท้าเป็นหลัก ทำสลับไปมา 8-10 ครั้ง
2. กายบริหารกล้ามเนื้อส่วนต้นขา
- นั่งขัดสมาธิ วางฝ่ามือบนเข่า หายใจเข้าและออก หลังตรง ทำ 8-10 ครั้ง
- นั่งขัดสมาธิ ส้นเท้าชิดตัว ประกบฝ่าเท้าเข้าหากัน นำมือไปรองอยู่ใต้หัวเข่าทั้งสอง ดันเข่าขึ้นพร้อมสูดหายใจเข้าลึก และนำฝ่ามือกดเข่าลงไว้กับพื้นอย่างช้า ๆ หายใจออก (กระพือขาทั้งสองข้างช้า ๆ ขณะที่ฝ่าเท้าประกบกัน) ทำ 8-10 ครั้ง
3. กายบริหารกล้ามเนื้อตรงสีข้าง
- นั่งขัดสมาธิ ชูมือขวาไว้เหนือศีรษะ ยืดหลังตรง เอียงตัวไปทางซ้ายพร้อมหายใจเข้า เคลื่อนที่กลับมานั่งท่าเริ่มต้นพร้อมกับหายใจออก และชูมือซ้าย ยืดหลัง เอียงตัวไปทางขวา ทำสลับไปมา 8-10 ครั้ง
4. กายบริหารช่องคลอด อุ้งเชิงกราน และฝีเย็บ
- ขมิบพร้อมหายใจเข้า คลายการขมิบพร้อมหายใจออก
5. กายบริหาร หลัง หน้าท้อง สะโพก และต้นขาหลัง
- คุกเข่า ทำท่าคลาน แขนที่ค้ำพื้นเหยียดตรง หายใจเข้า ก้มศีรษะไว้ และค่อย ๆ โก่งหลังขึ้น พร้อมกับผ่อนลมหายใจออก แล้วเคลื่อนแผ่นหลังแอ่นลง พร้อมกับยกเชิดศีรษะกลับขึ้นมา
6. การบริหารกล้ามเนื้อร่างกายช่วงล่าง หน้าท้อง และอุ้งเชิงกราน
- นอนหงายลงบนพื้น ยกเข่างอขึ้นมา แยกขาห่างกันไว้เล็กน้อย ปล่อยแขนชิดลำตัว สูดลมหายใจเข้าและเกร็งกล้ามเนื้อช่วงล่างทั้งสะโพก ต้นขา และหน้าท้อง ค่อย ๆ ยกหลังแอ่นขึ้นโดยให้ไหล่และสะโพกอยู่กับพื้น จากนั้นค่อย ๆ ลดหลังให้ลงไปนอนราบกับพื้นเหมือนเดิมพร้อมกับผ่อนลมหายใจออกเบา ๆ
ในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เมื่อถึงวันครบกำหนดคลอดหรือมีสัญญาณใกล้คลอด เป็นเรื่องปกติถ้าคุณแม่จะวิตกกังวล หรือร้อนใจ แต่แนะนำให้คุณแม่พยายามรักษาความรู้สึกสงบและมองโลกในแง่ดีไว้ วางใจกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย หรือถ้ามีข้อกังวลหรือคำถามใด ๆ ที่ค้างคาใจอยู่ ก็อย่าเก็บไว้จนทุกข์ใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำดีกว่า จะสร้างความสบายใจและผ่อนคลายก่อนการคลอด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- What to Do When You're 40 Weeks Pregnant With No Sign of Labor, Parents
- Signs of Labor, What to Expect
- Cervical Ripening Methods When Induction Is Part of the Birth Plan, UT Southwestern Medical Center
- รู้พร้อม..ก่อนคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลเปาโล
- การชักนำการคลอด, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- How can people speed up dilation?, Medical News Today
- การบริหารร่างกายของคุณแม่ก่อนคลอด, โรงพยาบาลพญาไท
- การคลอด ,ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิง ณ วันที่ 25 เมษายน 2567