อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออารมณ์คนท้องระยะแรกยังไงดี

24.08.2024

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ ทำหน้าที่ช่วยในการส่งเสริมการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่ตัวอ่อนจะสร้างรก นอกจากนี้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตัวนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์คนท้องอีกด้วย ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีอารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิด เหวี่ยง โมโหและฉุนเฉียวง่าย โดยที่ไม่มีสาเหตุ อารมณ์แปรปรวนเกิดขึ้นได้

headphones

PLAYING: อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออารมณ์คนท้องระยะแรกยังไงดี

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย (Mood swings) เป็นอารมณ์คนท้องที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย
  • อารมณ์เหวี่ยง หงุดหงิด ฉุนเฉียวและโมโหง่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ 4 เดือนแรก หรือในคุณแม่ท้องบางคนก็พบว่ามีอารมณ์แปรปรวนมากในช่วงใกล้คลอด
  • อารมณ์แปรปรวนในคนท้อง ส่งผลกระทบได้ทั้งกับตัวของคุณแม่ท้อง เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง ทำให้ร่างกายมีโอกาสในการติดเชื้อและอักเสบได้ง่าย และผลกระทบที่ส่งต่อทารกในครรภ์ เช่น ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายเจริญเติบโตช้า เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การตั้งครรภ์ เปรียบเสมือนการเดินทางอันแสนพิเศษ เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ดีใจ และความสุข แต่ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่อาจต้องพบกับอารมณ์ที่แปรปรวน พลิกผันขึ้นลงอย่างรวดเร็ว จู่ ๆ ก็อยากร้องไห้ เสียใจโดยไร้สาเหตุ หรือรู้สึกหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย อารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่อาจพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่และคนรอบข้างมีความเข้าใจใน “อารมณ์คนท้อง” และสามารถรับมือได้เป็นอย่างดี บทความนี้เพื่อให้คุณแม่สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาอันแสนพิเศษนี้ไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

 

อารมณ์คนท้อง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เกิดจากอะไร

อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย (Mood swings) เป็นอารมณ์คนท้องที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นของฮอร์โมนในร่างกาย นั่นก็คือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ส่งผลทำให้คุณแม่ท้องมีภาวะอารมณ์ขึ้นลงไม่คงที่

 

อารมณ์คนท้องระยะแรก เป็นแบบไหน

การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่คุณแม่สามารถสังเกตตัวเองได้ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก โดยเฉพาะภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั่นก็คือ การมีภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย อ่อนไหวง่าย ฯลฯ ซึ่งภาวะอารมณ์นี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ

 

อารมณ์คนท้องที่แปรปรวน ส่งผลเสียอะไรบ้าง

ฮอร์โมนภายในร่างกายที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ส่งผลทำให้คุณแม่เกิดความเครียด และมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่เพิ่มมากขึ้นได้ หงุดหงิด โมโห ฉุนเฉียวบ่อย ซึ่งทั้งความเครียดและอารมณ์ที่แปรปรวนจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล และอะดรีนาลีนที่เป็นกลุ่มของฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. นอนไม่หลับ
  2. รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
  3. ปวดศีรษะ
  4. ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง ทำให้ร่างกายมีโอกาสในการติดเชื้อและอักเสบได้ง่าย
  5. ทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น และหัวใจเต้นเร็ว

 

อารมณ์คนท้องในแต่ละไตรมาส ต่างกันมากไหม

  1. ไตรมาสที่ 1: ช่วงไตรมาสที่ 1 ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลต่อภาวะอารมณ์ของคุณแม่ท้อง คุณแม่จะรู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย และยังอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
  2. ไตรมาสที่ 2: ช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงแม้ว่าร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในเรื่องของรูปร่าง ขนาดครรภ์ที่มดลูกจะอยู่สูงขึ้นมาระดับสะดือ และขนาดเต้านมทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น แต่ในด้านอารมณ์ของคุณแม่กลับมีความคงที่ อารมณ์ดีมากขึ้น ซึ่งต่างจากในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  3. ไตรมาสที่ 3: ช่วงไตรมาสที่ 3 หรือช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะรู้สึกปวดหลังเนื่องจากน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น และเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด จึงทำให้คุณแม่เริ่มที่จะวิตกกังวล รวมถึงกลัวการเจ็บท้องคลอด ฯลฯ ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ที่ไม่สดชื่นแจ่มใส แนะนำว่าในระหว่างนี้คุณพ่อ และคนรอบข้างควรให้กำลังใจคุณแม่ให้มาก ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล

 

สิ่งที่คุณแม่ควรทำ เมื่อมีอารมณ์แปรปรวน

  1. ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ ทำให้คุณแม่มีความใจเย็น มีสติ ไม่เครียด และส่งผลดีต่อร่างกาย
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง มีอารมณ์แจ่มใส
  3. หากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ หรือ เล่นโยคะ (ตามที่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอที่ดูแลครรภ์)
  4. บอกเล่าความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจได้ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย และรู้สึกอารมณ์ดีขึ้น ได้แก่ การพูดคุยกับคุณพ่อ คนในครอบครัว และเพื่อนสนิท
  5. ปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่คุณแม่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนรุนแรง เป็นอยู่นานและไม่หายไปง่าย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง หรือรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่าน

 

อารมณ์คนท้องส่งผลกับอารมณ์ของลูกด้วยไหม

ความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้น และความเครียดของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ สามารถส่งผลกระทบต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ดังนี้

  • ก่อนคลอด หากทารกได้รับสารอาหารจากคุณแม่ส่งไปให้ไม่เพียงพอ พัฒนาการด้านร่างกายเจริญเติบโตช้า และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • หลังคลอด อาจเป็นเด็กเลี้ยงยาก มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ขี้โมโห ปรับตัวเข้ากับคนอื่นยาก และเสี่ยงเจ็บป่วยโรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น

 

คุณพ่อมือใหม่รับมืออารมณ์คนท้องได้อย่างไร

 

คุณพ่อมือใหม่รับมืออารมณ์คนท้องได้อย่างไร

คุณแม่ท้องมีอารมณ์เหวี่ยง หงุดหงิด ฉุนเฉียวและโมโหง่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ 4 เดือน แรก หรือในคุณแม่ท้องบางคนก็พบว่ามีอารมณ์แปรปรวนมากในช่วงใกล้คลอดก็ได้เช่นกัน สำหรับการรับมือของคุณพ่อมือใหม่ ต่อภาวะอารมณ์ของคุณแม่ท้องสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ส่งผลต่อภาวะอารมณ์คนท้อง
  2. ปลอบโยนด้วยความเข้าใจและให้กำลังใจภรรยา

 

อารมณ์คนท้องแปรปรวนแบบไหน ต้องปรึกษาแพทย์

คุณแม่ท้องที่มีอาการวิตกกังวล รู้สึกหดหู่ หรือซึมเศร้าที่เกิดจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และตรวจโรคซึมเศร้า พร้อมทั้งขอรับวิธีในการดูแลตนเองและทารกในครรภ์ให้มีความปลอดภัยอย่างถูกต้องเหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์

 

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลกับคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดีตลอดการตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณแม่ได้พูดคุย ขอคำปรึกษา ในการดูแลตนเองที่เหมาะสมในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายที่แข็งแรง ย่อมส่งผลต่อร่างกายหลังคลอดลูกในการผลิตน้ำนมแม่ที่ได้คุณภาพ ทำให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญในนมแม่ที่มีมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง สฟิงโกไมอีลิน DHA ARA และสารอาหารอื่น ๆ ซึ่งช่วยในการพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด


อ้างอิง:

  1. ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการมีบุตร, โรงพยาบาลปิยะเวท
  2. อาการคนท้องเดือนแรก สัญญาณเริ่มต้นว่ากำลังตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
  3. 18 อาการคนท้องเริ่มแรก ข้อสังเกต วิธียืนยันการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  4. ความเครียดของคุณแม่ตั้งครรภ์..สามารถส่งต่อจากแม่สู่ลูกได้นะ!, โรงพยาบาลพญาไท
  5. 8 ฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่ต้องทำความรู้จักและรับมือให้เป็น, โรงพยาบาลพญาไท
  6. ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
  7. ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาล BNH
  8. ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ > 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาล BNH
  9. คนท้องอารมณ์แปรปรวน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้พร้อมวิธีรับมือ, POBPAD
  10. คุณพ่อมือใหม่กับการดูแลภรรยาตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินทุเรียนได้ไหม มีผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยหรือไม่

คนท้องกินทุเรียนได้ไหม คนท้องกินขนุนได้ไหม อันตรายกับแม่หรือเปล่า

คนท้องกินทุเรียนได้ไหม คนท้องกินขนุนได้ไหม หากกินเยอะเกินไปจะอันตรายกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์หรือเปล่า ปริมาณเท่าไหร่ถึงเหมาะสมสำหรับแม่ท้อง

คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้ไหม กินเยอะไป ส่งผลอะไรกับคุณแม่และลูกบ้าง

คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้ไหม กินเยอะไป ส่งผลอะไรกับคุณแม่และลูกบ้าง

คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้ไหม หากคุณแม่ในปริมาณที่เยอะเกินไป จะส่งผลเสียอะไรกับคุณแม่และลูกบ้าง กินน้ำมะพร้าวมาก เสี่ยงแท้งลูกจริงไหม ไปหาคำตอบกัน

คนท้องกินหน่อไม้ได้ไหม คุณแม่ต้องกินแบบไหนถึงจะปลอดภัยกับลูกในท้อง

คนท้องกินหน่อไม้ได้ไหม คุณแม่ต้องกินแบบไหนถึงจะปลอดภัยกับลูกในท้อง

คนท้องกินหน่อไม้ได้ไหม คุณแม่ท้องกินหน่อไม้เยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า ไปดูสารอาหารสำคัญในหน่อไม้และประโยชน์ของหน่อไม้กัน

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม อันตรายหรือไม่ จะส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม หากคุณแม่ท้องกินหอยนางรมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก