ท้องไตรมาสแรก คุณแม่ควรดูแลตัวเองในระยะตั้งครรภ์อย่างไร

ท้องไตรมาสแรก คุณแม่ควรดูแลตัวเองในระยะตั้งครรภ์อย่างไร

01.04.2024

สำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดง เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีสมาชิกใหม่มาเติมเต็มความสุขในครอบครัวคงตื่นเต้นกันไม่น้อย โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังก้าวสู่การเป็นคุณแม่ท้อง ในไตรมาสแรกและตลอดระยะการตั้งครรภ์ นับจากนี้คุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจจะส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ที่ดี แล้วยังส่งผ่านสิ่งดี ๆ ต่อไปถึงลูกน้อยในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดี มีสุขภาพดีและแข็งแรง ตั้งแต่ในท้องจนถึงหลังคลอด

headphones

PLAYING: ท้องไตรมาสแรก คุณแม่ควรดูแลตัวเองในระยะตั้งครรภ์อย่างไร

อ่าน 13 นาที

 

สรุป

  • 3 ไตรมาสของการตั้งครรภ์หรือตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ คุณแม่จะสังเกตว่าร่างกายตัวเองค่อย ๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงภาวะอารมณ์ที่แปรปรวนไปจากเดิม
  • ท้องไตรมาสแรก คุณแม่บางคนอาจจะต้องเจอกับอาการคนท้องที่เกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น รู้สึกแพ้ท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย รู้สึกเวียนศีรษะหรือเบื่ออาหาร เป็นต้น
  • การฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณหมอจะมีการตรวจและนัดติดตามในแต่ละช่วงไตรมาส ซึ่งหากพบภาวะปกติก็จะสามารถรักษาได้ทันที ลดความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การตั้งครรภ์นั้นจะแบ่งเป็น 3 ไตรมาส

  • ท้องไตรมาสแรก คืออายุครรภ์ 1-3 เดือน หรือประมาณ 1-13 สัปดาห์
  • ท้องไตรมาสที่ 2 คืออายุครรภ์ 4-6 เดือน หรือประมาณ 14-27 สัปดาห์
  • ท้องไตรมาสที่ 3 คืออายุครรภ์ 7-9 เดือน หรือประมาณ 28-40 สัปดาห์

 

ซึ่งคุณหมอจะเริ่มนับอายุครรภ์วันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนของคุณแม่มาครั้งสุดท้ายไปจนครบ 40 สัปดาห์ เพื่อทำการคาดคะเนกำหนดวันคลอด และเป็นเรื่องปกติสำหรับท้องแรกของคุณแม่มือใหม่ ที่อาจยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมรับมือกับอาการคนท้องแบบไหน จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร รวมถึงระยะการตั้งครรภ์ในช่วงแรกเบบี๋ในท้องจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรกันนะ มาหาคำตอบกันค่ะ

 

3 ไตรมาสการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีอาการโดยรวมอะไรบ้าง

ในช่วง 3 ไตรมาสของการตั้งครรภ์หรือตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ คุณแม่จะสังเกตว่าร่างกายตัวเองค่อย ๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงภาวะอารมณ์ที่แปรปรวนไปจากเดิม

  • ท้องไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) คุณแม่จะรู้สึกมีอาการแพ้ท้อง  คลื่นไส้ อาเจียน บางคนไม่อยากอาหาร รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เหมือนไม่สบาย รู้สึกง่วงนอนมากขึ้น ในส่วนของร่างกายจะสังเกตเห็นเต้านมที่ขยายขึ้นจนเริ่มรู้สึกคัดตึง น้ำหนักตัวในคุณแม่ท้องแรกอาจจะคงที่หรือมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเล็กน้อย และอารมณ์ของคุณแม่ในช่วงนี้อาจจะรู้สึกว่าตัวเองขี้โมโห หงุดหงิดง่าย มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยเช่นกัน
  • ท้องไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) เข้าสู่ระยะตั้งครรภ์ในช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกสบายตัวขึ้น อาการแพ้ท้องคลื่นไส้ในท้องไตรมาสแรกจะลดลงจนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
  • ท้องไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) ในระยะที่เกือบจะใกล้คลอด ท้องคุณแม่เริ่มขยายใหญ่ขึ้นมากจนทำให้รู้สึกหายใจลำบาก ลุก นั่ง เดิน อาจจะค่อนข้างลำบาก อาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะตั้งครรภ์นี้ เช่น ตะคริว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งในระยะนี้หากคุณแม่สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและหมั่นไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัด

 

ท้องไตรมาสแรก ระยะตั้งครรภ์ 1-3 เดือน ไม่มีอาการอะไรเลย ผิดปกติไหม ?

อาการในช่วงท้องไตรมาสแรก คุณแม่อาจจะต้องเจอกับอาการคนท้อง ที่เกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น รู้สึกแพ้ท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย รู้สึกเวียนศีรษะหรือเบื่ออาหาร รวมถึงภาวะทางอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห รู้สึกหงุดหงิดง่าย มีความกังวล เป็นต้น อาการโดยรวมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะตั้งครรภ์นั้นเอง ทั้งนี้สำหรับคุณแม่ท้องอ่อนที่เริ่มตั้งครรภ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก อาจจะไม่มีอาการผิดสังเกตที่แสดงออกมา บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลย หรือมีอาการน้อย อาจยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้ท้องหนักมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก คุณแม่ควรรีบพบแพทย์ทันที

 

ท้องไตรมาสแรก จะมีอาการอะไรบ้าง

เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นคุณแม่ท้องแล้ว คุณแม่ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์หลายอย่าง โดยอาการที่อาจจะเกิดขึ้นในท้องไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) สังเกตได้จาก

  1. มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน รู้สึกเหนื่อยง่าย เหมือนคนไม่สบาย เป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายมีการปรับระดับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงอวัยวะหลายส่วนในร่างกายทำงานหนักมากขึ้น จนเป็นสาเหตุให้คุณแม่ท้องรู้สึกอ่อนเพลียง่ายขึ้น
  2. มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นหนึ่งในอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบได้เป็นปกติ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาการแพ้ท้องในคุณแม่แต่ละรายก็จะแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลย ในขณะที่แม่ท้องบางคนอาจมีอาการแพ้น้อยไปจนถึงแพ้ท้องหนักมาก คุณแม่ท้องบางรายอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ หรือรู้สึกเหม็นง่ายจนอยากอาเจียน แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น
  3. มีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ที่ส่งผลทำให้มดลูกในร่างกายคุณแม่เกิดการขยายตัวและไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ปวดปัสสาวะบ่อย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยได้เช่นกัน
  4. มีอาการคัดเต้านม  ในช่วงท้องไตรมาสแรกคุณแม่อาจเริ่มสังเกตเห็นเต้านมที่ขยายขึ้นจนรู้สึกคัดตึงหรือเจ็บที่บริเวณเต้านมและหัวนม เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้ร่างกายเตรียมผลิตน้ำนมสำหรับลูกน้อย
  5. มีเลือดออกทางช่องคลอด ในระยะการตั้งครรภ์คุณแม่ท้องบางรายอาจมีเลือดออกมาทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย  คล้ายประจำเดือนใกล้หมด ซึ่งอาจเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งท้องน้อยร่วมด้วย แต่หากสังเกตว่ามีเลือดออกในปริมาณที่ผิดสังเกต อาจเป็นสัญญาณที่ผิดปกติของอาการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  6. มีอาการคัดจมูก เนื่องจากร่างกายในระยะตั้งครรภ์มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการผลิตเลือดไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อเยื่อบุโพรงจมูกบวมเป็นสาเหตุให้คุณแม่ท้องรู้สึกคัดจมูก มีน้ำมูกไหล คล้ายเป็นหวัดได้
  7. มีอาการท้องอืด ท้องผูก เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารชะลอการทำงานลงทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง เป็นสาเหตุทำให้คนท้องมีอาการท้องอืด  ท้องผูก รวมทั้งอาการกรดไหลย้อนในคนท้องได้
  8. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในช่วงแรก ๆ อาจจะมีน้ำหนักตัวคงที่หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน จนไม่เป็นที่น่าสังเกต ซึ่งในช่วงท้องไตรมาสแรกคุณแม่บางคนอาจยังไม่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ก็เป็นได้
  9. มีตกขาวเพิ่มขึ้น คุณแม่อาจจะสังเกตว่ามีตกขาวเพิ่มขึ้น หากมีไม่เยอะก็ถือว่าเป็นปกติ แต่ถ้าตกขาวออกมามาก มีสีหรือกลิ่นเหม็นที่ผิดปกติ ควรไปหาคุณหมอเพื่อขอรับคำปรึกษาหรือทำการตรวจ
  10. มีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะเล็กน้อย เป็นอาการที่พบได้ในคุณแม่ท้องไตรมาสแรก เนื่องมาจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ทำให้บางครั้งคุณแม่ท้องอาจรู้สึกจะเป็นลม หน้ามืดได้
  11. มีอาการปวดหลัง คุณแม่ท้องบางรายอาจเริ่มปวดหลัง ตั้งแต่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ไปจนถึงใกล้คลอด เนื่องมาจากมดลูกที่ขยายใหญ่มากขึ้นในแต่ละเดือน และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่ต้องแบกน้ำหนักที่มากขึ้นกว่าเดิมและส่งผลให้มีอาการปวดหลังในช่วงตั้งครรภ์ได้
  12. มีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ขี้โมโหใส่คนใกล้ตัวง่ายแบบไม่มีสาเหตุ

 

โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ท้องในช่วงระยะแรก ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์คุณแม่ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองหากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรงร่วมกับอาการตาพร่ามัว ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง อาเจียนมากอย่างรุนแรง มือบวม เท้าบวม หรือบวมมากทั้งตัว มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดมากหรือมีน้ำเดิน ขณะปัสสาวะรู้สึกแสบขัด ปวดหลังรุนแรงมีอาการไข้สูง เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือหากคุณแม่เริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ในระยะแรกก็ควรได้รับการฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอได้ดูแลและช่วยแนะนำสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยในระหว่างตั้งครรภ์ให้แข็งแรงและปลอดภัย

 

ท้องไตรมาสแรก หน้าท้องจะยื่นออกมาแค่ไหน

 

ท้องไตรมาสแรก หน้าท้องจะยื่นออกมาแค่ไหน

การตั้งครรภ์อาจทำให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ต้องกังวลกับรูปร่างที่จะต้องเปลี่ยนไป ในช่วงท้องไตรมาสแรกสำหรับคุณแม่บางคนอาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากนัก เนื่องจากทารกในครรภ์ยังมีขนาดที่ตัวเล็กมาก แต่ก็สามารถสังเกตได้จากลักษณะหน้าท้องที่ยื่นออกมาเล็กน้อย ลักษณะสะดือที่อาจแบนราบหรือนูนออกมา เป็นต้น

 

ท้องไตรมาสแรก เจ้าตัวน้อยในท้องเป็นยังไงบ้าง

ในช่วงท้องไตรมาสแรกทารกจะเป็นตัวอ่อนในครรภ์ที่อยู่ภายในมดลูก พัฒนาการทารกในระยะแรกนี้จะเป็นช่วงที่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ เส้นประสาทไขสันหลัง จะเริ่มสร้างไปพร้อมกับโครงสร้างของใบหน้าและระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งในแต่ละเดือนทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 1-4 สัปดาห์

ในระยะแรกที่เริ่มตั้งครรภ์ตัวอ่อนทารกจะมีลักษณะเหมือนวุ้นไข่ถูกฝังตัวที่ผนังมดลูก และจะมีการสร้างรกและสายสะดือเพื่อเป็นเส้นทางการลำเลียงสารอาหารที่ได้รับจากคุณแม่และขับของเสียออกไป พัฒนาการของทารกในช่วงเดือนแรกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 2 และ 3 จะมีการสร้างประสาทไขสันหลังและกระดูกสันหลังรวมทั้งเส้นใยประสาท ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 4 ทารกจะเริ่มมีขนาด 1/4 นิ้ว เซลล์ในร่างกายจะเริ่มแบ่งตัวและมีพัฒนาการสร้างสมอง เส้นประสาท ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเลือด และอวัยวะในร่างกายต่าง ๆ เช่น หัวใจ ตับ กระเพาะ ปอด ตา แขน และอวัยวะเพศ เป็นต้น

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 6-8 สัปดาห์

เข้าสู่เดือนที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมาก ทารกในครรภ์มีพัฒนาการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก เริ่มมีการสร้างอวัยวะ เช่น ตา แขน ขา และนิ้วมือ ตัวอ่อนในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ในช่วงนี้หากคุณพ่อคุณแม่ไปอัลตราซาวด์อาจได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจลูกน้อยได้เมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 2 อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง หัวใจ ตับ กระเพาะ หู นิ้ว มือ และอวัยวะเพศมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ในระยะนี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 1 นิ้ว

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 9-12 สัปดาห์

ทารกในครรภ์จะมีขนาดลำตัวยาว 4-6 เซนติเมตร การเจริญเติบโตเริ่มเป็นรูปร่างมากขึ้น ในช่วงเดือนที่ 3 นี้ลูกน้อยในครรภ์จะมีอวัยวะที่สร้างเสร็จครบถ้วน ศีรษะจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว มือและแขนจะมีขนาดที่ยาวกว่าขา นิ้วมือเริ่มมีเล็บ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 120-160 ครั้ง ไตเริ่มทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียสู่กระเพาะปัสสาวะและส่งออกทางสายสะดือ เจ้าตัวน้อยเริ่มที่จะขยับศีรษะ แขน ขา อ้าและหุบปากได้ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเพราะทารกในครรภ์ยังมีขนาดที่ตัวเล็กอยู่

 

ในช่วงท้องไตรมาสแรกถือเป็นระยะตั้งครรภ์ที่สำคัญไม่น้อย เนื่องจากทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ดังนั้นการดูแลสุขภาพครรภ์ในระยะนี้จึงเป็นช่วงที่คุณแม่ควรเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่คุณแม่เลือกรับประทาน การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในท้อง

 

ท้องไตรมาสแรก ให้รีบไปฝากครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการฝากครรภ์  ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์โดยละเอียด ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง มีการตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจเต้านม ตรวจต่อมไทรอยด์ ตรวจสุขภาพครรภ์ ฟังเสียงหัวใจและปอด รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพร่างกายคุณแม่ เช่น การตรวจกรุ๊ปเลือด ดูความเข้มข้นของเลือด ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรมหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

การฝากครรภ์นั้นคุณหมอจะดูแลคุณแม่ทั้ง 3 ไตรมาสของการตั้งครรภ์ คือตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนคลอด ซึ่งคุณหมอจะมีการตรวจและนัดติดตามในแต่ละช่วงไตรมาส โดยท้องไตรมาสแรกคุณหมอจะนัดตรวจเดือนละครั้ง ในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 7-8 เป็นต้นไป คุณหมอจะอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง  หรือตรวจช่องคลอดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และเช็กอายุครรภ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะดาวน์ซินโดรมของลูกน้อย จนเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณหมอจะนัดตรวจบ่อยขึ้น คือ 2 สัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ เพื่อคอยตรวจและวินิจฉัยโรคบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การฝากครรภ์ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบภาวะผิดปกติก็จะสามารถรักษาได้ทันที ลดความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

 

คุณแม่ท้องไตรมาสแรก ต้องดูแลตัวเองแบบไหนบ้าง

คุณแม่ท้องอ่อน ท้องไตรมาสแรก เป็นการเริ่มต้นที่คุณแม่ควรหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพร่างกายอย่างเต็มที่เพื่อให้พร้อมสำหรับสุขภาพครรภ์ที่ดีตลอดระยะการตั้งครรภ์ และเพื่อที่จะส่งต่อไปถึงลูกน้อยในท้องให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง ด้วยวิธีการดูแลตัวเองแบบง่าย เช่น

 

1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกเป็นช่วงที่พัฒนาการของทารกในครรภ์กำลังเริ่มสร้างอวัยวะส่วนต่าง ๆ ระบบสมองและประสาทกำลังพัฒนา การได้รับโภชนาการที่ดีจะส่งผลดีต่อลูกในท้องด้วย คุณแม่ท้องควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ท้องไตรมาสแรก  เช่น

  • อาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ผักใบเขียวเข้มต่าง ๆ เช่น คะน้า ผักโขม บรอกโคลี ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้ม มะละกอ รวมถึงข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และธัญพืช เป็นต้น การได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอช่วยลดความเสี่ยงต่อทารกพิการตั้งแต่กำเนิด
  • อาหารที่มีกรดไขมัน DHA   หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในปลาต่าง ๆ เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทู เป็นต้น ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต
  • อาหารที่มีสารไอโอดีน ที่มีอยู่ในอาหารทะเลและเกลือที่ผสมไอโอดีน ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองและต่อมไทรอยด์
  • อาหารที่มีโปรตีน ในจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ส่งผลดีต่อการสร้างเนื้อเยื่อและพัฒนาการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง
  • อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เครื่องในสัตว์ ตับ เลือด ในถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียวเข้ม มีส่วนช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยลดโอกาสเกิดความพิการทางสมองของทารกในครรภ์

 

2. งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์

เมื่อรู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์แล้วคุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพคุณแม่และกระทบต่อลูกในท้อง การสูบบุหรี่ มีโอกาสที่จะทำให้ลูกในท้องคลอดก่อนกำหนด มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ล่าช้า ทารกมีน้ำหนักน้อยหลังแรกเกิด เสี่ยงพิการแต่กำเนิด หรือแท้งได้ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับคนที่สูบบุหรี่เพื่อป้องกันการสูดควันบุหรี่ด้วยเช่นกัน ส่วนการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในท้อง และอาจเกิดปัญหาตามมาหลังทารกเกิด เช่น อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีไอคิวต่ำ มีปัญหาด้านความจำ หรือเป็นโรคสติปัญญาบกพร่อง เป็นต้น

 

3. งดออกกำลังกายที่ใช้แรงหักโหม

คุณแม่ท้องไตรมาสแรกสามารถออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยเลือกกีฬาออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะคนท้อง

 

4. ดื่มน้ำเยอะ ๆ

ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือดื่มน้ำผลไม้เพื่อทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

 

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ในช่วงท้องอ่อน ๆ ที่ร่างกายกำลังปรับเปลี่ยน ซึ่งทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลียและง่วงง่าย ร่างกายคุณแม่ในช่วงนี้จึงควรได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ กลางวันควรมีเวลาได้งีบหลับอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และกลางคืนควรได้นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง การนอนตะแคงซ้ายเป็นท่านอนที่เหมาะสำหรับคนท้องระยะตั้งครรภ์ ซึ่งช่วยลดการกดทับหลอดเลือด และทำให้เลือดไหลเวียนดี อาจช่วยทำให้คุณแม่ได้นอนหลับสบายขึ้น

 

6. หลีกเลี่ยงความเครียด

ผลจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่ท้องมีอารมณ์แปรปรวน บางครั้งก็ทำให้รู้สึกวิตกกังวล เครียด อารมณ์อ่อนไหวง่าย ผลของอารมณ์หรือความเครียดที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์นั้นสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกน้อยในท้องได้ การหาวิธีคลายเครียดจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เช่น หากิจกรรมที่ชอบทำ ทำในสิ่งที่มีความสุข พยายามพูดคุยหรือระบายปัญหา สิ่งที่กังวลกับคนใกล้ชิด พยายามมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ ยิ่งคิดบวกก็ยิ่งส่งผลดีต่อลูกน้อย

 

ช่วงตั้งครรภ์แม้จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่สำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ โดยเฉพาะท้องไตรมาสแรกที่คุณแม่ต้องเจอกับอะไรใหม่ ๆ กับอาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับการดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองไปตลอดระยะตั้งครรภ์ พร้อมกับการไปหาคุณหมอตามนัดเป็นประจำ เพื่อจะได้มีสุขภาพครรภ์ที่ดีให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี แข็งแรงตั้งแต่อยู่ในท้อง และปลอดภัยจนถึงวันที่ลูกน้อยได้ออกมาลืมตาดูโลก

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 


อ้างอิง:

  1. ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
  2. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ไตรมาส1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  3. อาการคนท้องเดือนแรก สัญญาณเริ่มต้นว่ากำลังตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
  4. ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ( อายุครรภ์ < 14 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  5. พุงคนท้องระยะแรกมีลักษณะอย่างไร, hellokhunmor
  6. รับมือกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงของว่าที่คุณแม่, โรงพยาบาลเปา
  7. การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  8. ข้อห้ามคนท้อง1-3 เดือน มีอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง
  9. 6 วิธีลดความเครียดของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 31 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินรังนกได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินรังนกได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินรังนกได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินรังนก เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ รังนกดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินส้มตําได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินส้มตําได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินส้มตําได้ไหม คุณแม่ท้องกินส้มตำบ่อย จะอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า ต้องกินแค่ไหนถึงไม่อันตรายกับแม่ท้องและลูกในท้อง กินอย่างไรให้ลดความเสี่ยง ไปดูกัน

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม คุณแม่ท้องกินหมูกระทะบ่อย จะเสี่ยงติดเชื้อและอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า กินอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า คุณแม่ท้องอยากกินอัลมอนด์ สามารถกินได้บ่อยแค่ไหน ควรกินเท่าไรถึงพอดีและได้ประโยชน์ ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก