คนท้องเป็นกรดไหลย้อน อันตรายไหม พร้อมวิธีรับมือ
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้คนท้องมีระบบย่อยอาหารที่ช้าลง อาการท้องอืด มีกรดไหลย้อน ไม่สบายท้อง ที่เกิดกับคนท้องนั้น นอกจากฮอร์โมนที่ปรับเปลี่ยนแล้ว ยังมีผลมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควรดูแลตัวเองในการรับประทานอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้และปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ถูกวิธีและรับคำแนะนำในการใช้ยาอย่างปลอดภัยไม่เสี่ยงกระทบลูกในครรภ์
สรุป
- คนท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เกิดขึ้นหลายปัจจัย ทั้งเรื่องฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและการทานอาหาร อีกทั้งพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
- อาการท้องอืด กรดไหลย้อน แม้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ไม่ควรชะล่าใจ หรือปล่อยให้อาการมากขึ้น จนเรื้อรัง เพราะอาจส่งผลอันตรายเป็นโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงในอนาคตได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง เช่น อาหารประเภทแป้ง อาหารที่มีไขมันสูง ของมัน ของทอด อาหารย่อยยาก เครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม โซดา และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ทานอาหารแล้วนอนทันที ไม่ทานอาหารจนแน่นท้อง
- เมื่อมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน หรือไม่สบายท้อง ไม่ควรซื้อยาทานเอง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา และรักษาให้ถูกวิธี ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คนท้องเป็นกรดไหลย้อน
- คนท้องเป็นกรดไหลย้อน อันตรายไหม
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะทำให้รู้สึกแน่นท้อง
- คนท้องเป็นกรดไหลย้อน จะส่งผลอะไรกับลูกหรือเปล่า
- คนท้องเป็นกรดไหลย้อน ทำอย่างไรได้บ้าง
- 6 วิธีดูแลคนท้อง เมื่อมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
คนท้องเป็นกรดไหลย้อน
อาการท้องอืด แน่นท้อง อาจดูไม่ร้ายแรงมากมาย แต่หากปล่อยปละละเลย จนทำให้เกิดอาการท้องอืดเรื้อรัง อาจทำให้ส่งผลร้ายกับสุขภาพอย่างไม่คาดคิด อาการท้องอืดมีหลายปัจจัย สำหรับคุณแม่แล้วอาการท้องอืดมาจากฮอร์โมนที่มักจะเปลี่ยนแปลงในการตั้งครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อที่เคยใช้ในการย่อยอาหารผ่อนคลาย จากที่เคยย่อยอาหารได้ตามปกติก็ทำให้ย่อยอาหารได้ช้าลง จึงทำให้คุณแม่เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องผูกได้ อาการท้องอืดนี้ จะเริ่มเกิดได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 และจะมีอาการท้องอืดเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด เพราะลูกน้อยในครรภ์โตขึ้น ทำให้มดลูกขยาย และกดทับอวัยวะต่าง ๆ รอบข้าง และอีกหนึ่งสาเหตุคือ พฤติกรรมการทานอาหารที่ทำให้อาหารย่อยช้า เช่น กินแล้วนั่ง กินแล้วนอน กินในปริมาณที่เยอะเกินไป ส่งผลให้แน่นท้อง เกิดแก๊สในกระเพาะ ทำให้อาหารนั้นย่อยช้า หรือการทานอาหารที่ย่อยยาก ประเภท อาหารทอด อาหารมัน ผักดิบ ก็ทำให้ใช้เวลาใยการย่อยอาหารนานเช่นกัน
คนท้องเป็นกรดไหลย้อน อันตรายไหม
โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนไปหลอดอาหาร ทำให้เรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก คนท้องมักเจอกับปัญหาของกรดไหลย้อน เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การทำงานของระบบย่อยช้าลง ยิ่งคนท้องย่างเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 มดลูกที่ใหญ่ขึ้น จะไปเบียดอวัยวะภายใน อวัยวะภายใน ทำให้อาหารและกรดในกระเพาะ ตีย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร จึงสามารถทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนขึ้น หากคุณแม่ท้องเป็นกรดไหลย้อนแล้วไม่ดูแลตัวเอง ไม่รักษา จะทำให้กลืนอาหารลำบาก หลอดอาหารตีบ หรือเป็นแผล อาจเรื้อรังร้ายแรงจนกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะทำให้รู้สึกแน่นท้อง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทโซดา น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก เช่น อาหารไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง รสชาติเค็ม เช่น ไส้กรอก เบคอน
- หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารที่จะทำให้ย่อยยาก เช่น ไม่ปรุงอาหารที่มีไขมันมากเกินไป
นอกจากปรับเรื่องชนิดของอาหารแล้ว ควรปรับเปลี่ยนเรื่องการทานอาหารด้วย ควรเคี้ยวให้ละเอียด ไม่ทานเร็ว หรือ ทานจนแน่นเกินไป ลดเรื่องปริมาณของอาหารให้น้อยลง ไม่ทานอาหารแล้วนั่งเฉย หรือ เข้านอนเลย งดทานนอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง
คนท้องเป็นกรดไหลย้อน จะส่งผลอะไรกับลูกหรือเปล่า
เมื่อคนท้องหรือคุณแม่มือใหม่เป็นกรดไหลย้อน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ท้อง หรือ คุณแม่ให้นมไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ต้องอยู่ในความดูแลและสั่งจ่ายการใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
คนท้องเป็นกรดไหลย้อน ทำอย่างไรได้บ้าง
เมื่อคนท้องเป็นกรดไหลย้อน เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรักษาและการใช้ยาลดกรดขณะตั้งครรภ์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่แนะนำให้ซื้อยาลดกรดมารับประทานเองเด็ดขาด
6 วิธีดูแลคนท้อง เมื่อมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- แบ่งอาหารกินวันละ 5-6 มื้อ อย่ากินหนัก ๆ ในมื้อเดียว ไม่ควรทานครั้งละมาก ๆ
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินเร็ว เพราะการเคี้ยวให้ละเอียดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน และของทอด อาหารชนิดนี้จะทำให้ย่อยยาก
- กระตุ้นการขับถ่ายและระบบย่อยอาหารด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ขยับร่างกายบ่อย ๆ
- กินอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใยเยอะ เช่น ผัก ผลไม้
- จิบน้ำขิงอุ่น ๆ ระหว่างวัน น้ำมันหอมระเหยของขิงช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องได้
ปัญหาระบบย่อยอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง กรดไหลย้อนนั้น อาจไม่ร้ายแรงหรือส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์โดยตรง แต่หากชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ จนมีอาการเรื้อรัง อาจส่งผลอันตรายตามมาได้ คุณแม่ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทานอาหารคนท้องที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษา และใช้ยาอย่างปลอดภัย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม ส่งผลกระทบกับคุณแม่และลูกในท้องอย่างไร
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
อ้างอิง:
- อย่าชะล่าใจ! อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยอาจร้ายแรงกว่าที่คิด, โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
- อาการท้องอืด ของคนท้อง เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร, Hellokhunmor
- กรดไหลย้อน ภัยจากความเครียด อันตรายถ้าไม่รักษา, โรงพยาบาลสมิติเวช
- กรดไหลย้อน โรคใกล้ตัวที่ใคร ๆ ก็เป็นได้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ท้องอืดเป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- พฤติกรรมแบบนี้ทำให้ท้องอืดไม่รู้ตัว, โรงพยาบาลศิครินทร์
- รู้รอบตอบชัด สารพัด “ยาลดกรด”, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ : ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- “ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ขิงแก้ไขปัญหาระบบย่อยอาหาร, Haijai
- คุณแม่ตั้งท้อง กินอย่างไรไม่ให้อ้วน, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567