เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องเบิกอะไรได้บ้าง
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ รู้หรือไม่ว่าการใช้สิทธิประกันสังคมจะช่วยให้ทั้งคุณแม่และคุณพ่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายท่านที่มีสิทธิประกันสังคมอาจจะยังไม่ทราบว่าสามารถใช้สิทธิขอเบิกค่าคลอดได้ และต้องทำอย่างไร วันนี้เราเลยรวบรวมข้อมูล ข้อสงสัย เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมของคุณแม่ตั้งครรภ์มาไว้ให้ จะมีสิทธิอะไรบ้างไปดูกัน
PLAYING: เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องเบิกอะไรได้บ้าง
สรุป
- การที่คุณแม่ทราบถึงสิทธิค่าคลอดประกันสังคมที่จะได้รับ ทำให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้
- นอกจากเรื่องการดูแลตนเองและลูกในครรภ์ คุณแม่ควรรู้เรื่องสิทธิประกันสังคมของหญิงตั้งครรภ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
- คุณแม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมด 1,500 บาท โดยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่
- ประกันสังคมจะจ่ายค่าคลอดบุตรให้กับคุณแม่แบบเหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แต่คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในช่วงเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
- ค่าคลอดประกันสังคมสามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร แต่หากเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และรอการพิจารณาอีกครั้ง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม สิทธิที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้
- คุณแม่จะเบิกค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่
- ค่าคลอดบุตรประกันสังคม เบิกได้เท่าไหร่
- ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร สามารถเบิกได้เหมือนกัน
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง
- ฝากครรภ์ประกันสังคม มีขั้นตอนอะไรบ้าง
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำได้ตอนไหน
- เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว
- ยื่นเบิกค่าคลอดประกันสังคม ช้าสุดได้ถึงเมื่อไหร่
เบิกค่าคลอดประกันสังคม สิทธิที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้
ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์แล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากคุณแม่ท่านใดที่มีสิทธิประกันสังคมจึงควรทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ เพื่อช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนอกเหนือจากค่าคลอดแล้ว ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร รวมทั้งเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีกด้วย
คุณแม่จะเบิกค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่
คุณแม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมด 1,500 บาท โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- อายุครรภ์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
ค่าคลอดบุตรประกันสังคม เบิกได้เท่าไหร่
คุณแม่จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายในอัตรา 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แต่คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
- คุณแม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
- หากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร และจำนวนครั้ง
ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร สามารถเบิกได้เหมือนกัน
ในกรณีที่คุณแม่แท้งบุตร ยังสามารถเบิกค่าชดเชยได้เช่นเดียวกัน โดยเงินที่เบิกได้จะเป็นในส่วนของวงเงินค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน แต่จะไม่ได้วงเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งการเบิกค่าชดเชยมีเงื่อนไขดังนี้
- คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
- คุณแม่จะต้องมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์
เบิกค่าคลอดประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ในการเบิกค่าคลอดประกันสังคม คุณแม่จะต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/) กรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- หากคุณพ่อเป็นผู้ยื่นขอเบิกสิทธิ ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ มีธนาคาร ดังนี้ พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาติ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งสถานที่ยื่นเรื่อง
ฝากครรภ์ประกันสังคม มีขั้นตอนอะไรบ้าง
สำหรับการฝากครรภ์ประกันสังคม มีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/)
- ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการฝากครรภ์
- ใบรับรองแพทย์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก
- บัตรประชาชนตัวจริง
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก
- หากคุณพ่อเป็นผู้ยื่นขอเบิกสิทธิ ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
สามารถนำเอกสารไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามสาขาที่สะดวกทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) แต่หากไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการให้ ส่งไปรษณีย์ให้สำนักงานประกันสังคม หรือดำเนินการทางออนไลน์ก็ได้
เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำได้ตอนไหน
การเบิกค่าคลอดประกันสังคม สามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามสาขาที่สะดวกทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/
เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว
หากใครไม่สะดวกไปยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตนเอง ก็สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เข้าสู่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th/wpr/
- เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก
- เลือก “ระบบ e-Self Service”
- เลือก “ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุน”
- เลือก “คลอดบุตร”
- เลือก “ค่าคลอดบุตร”
- กรอกข้อมูล เลือกสำนักงานประกันสังคมที่สะดวกติดต่อ และอัปโหลดเอกสารให้เรียบร้อย
ยื่นเบิกค่าคลอดประกันสังคม ช้าสุดได้ถึงเมื่อไหร่
ค่าคลอดประกันสามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร แต่หากเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และรอการพิจารณาอีกครั้ง
หากคุณแม่ที่มีสิทธิประกันสังคมทราบว่าตนเองจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไร สามารถเบิกอะไรได้บ้าง รวมทั้งทราบถึงขั้นตอน วิธีการ สถานที่ ระยะเวลา และช่องทางในการดำเนินการ ก็จะทำให้ไม่เสียโอกาส และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- วันตกไข่ คืออะไร คุณแม่นับวันตกไข่อย่างไรให้แม่นยำ ไม่มีพลาด
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- คุณแม่ตั้งครรภ์ มีสิทธิเบิกประกันสังคม อะไรได้บ้าง?, โรงพยาบาลบางปะกอก
- คุณแม่เบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมดกี่บาท, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
- กรณีคลอดบุตร, สำนักงานประกันสังคม
- คนท้องเบิกประกันสังคมได้กี่บาท ? เบิกอะไรได้บ้าง ? (2564), รักษ์นรีคลินิก
- คุณพ่อมือใหม่สิทธิประกันสังคม ม.33 และ ม.39 เบิกค่าคลอดบุตรได้ จริงหรือ?, Anti-Fake News Center Thailand
- ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
- ขอรับประโยชน์ทดแทน, สำนักงานประกันสังคม
- ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office
อ้างอิง ณ วันที่ 28 มกราคม 2567