มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ใช่เลือดล้างหน้าเด็กหรือเปล่า
ดูแลคนรอบข้างแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยนะคะ เรื่องประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เรื่องใกล้ตัวผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะประจำเดือนที่ผิดปกตินั้นอาจสะท้อนถึงความผิดปกติทางสุขภาพได้ ฉะนั้นจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี หากประจำเดือนมาน้อยอย่างไม่มีสาเหตุ อาจเป็นเพราะร่างกายมีความผิดปกติ หรือมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
PLAYING: มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ใช่เลือดล้างหน้าเด็กหรือเปล่า
สรุป
- ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ และควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี ประจำเดือนมาน้อย มีหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ยาคุมกำเนิด และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- ประจำเดือนที่ปกติคือ ประจำเดือนที่มาทุก ๆ 28-30 วัน แต่ละครั้ง ประจำเดือนจะมี 3-5 วัน หรือไม่ควรเกิน 7 วัน
ประจำเดือนมาน้อย กับเลือดล้างหน้าเด็ก มีสี และลักษณะที่แตกต่างกัน ควรแยกให้ออก เพื่อประเมินสุขภาพของตนเอง หากสังเกตอาการตัวเองแล้วพบว่า เลือดที่ออกมาจากช่องคลอดนั้น ไม่ใช่ประจำเดือน แต่เป็นเลือดล้างหน้าเด็ก ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจและฝากครรภ์ - หากตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ควรรอช้า ให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
- ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ สามารถเริ่มต้นดูแลตัวเองได้จากที่บ้านด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ประจำเดือนมาน้อย เป็นแบบไหน
- ประจำเดือนมาน้อย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- เมนส์มาน้อยท้องไหม แบบไหนเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
- เป็นประจำเดือนเยอะมากแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ?
- มีประจำเดือนท้องได้ไหม เช็กแบบไหนให้ชัวร์
- ประจำเดือนมาน้อยแบบไหน ควรไปพบแพทย์
- วิธีดูแลตัวเอง ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
ประจำเดือนมาน้อย เป็นแบบไหน
การที่ร่างกายของสาว ๆ วัยรุ่น และหญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มีประจำเดือนมาน้อย หรือไหลออกมาน้อยกว่าปกติ อาจไม่ใช่สัญญาณอันตรายเสมอไป ภาวะประจำเดือนมาน้อยมีหลายสาเหตุ สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาตามรอบปกติ แต่มีประจำเดือนมาในช่วงระยะสั้น ๆ อาจเป็นผลที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมรอบเดือน โดยปกติแล้ว ประจำเดือนของผู้หญิง จะมีประจำเดือน ทุก ๆ 28-30 วัน แต่ละครั้ง ประจำเดือนจะมี 3-5 วัน หรือไม่ควรเกิน 7 วัน ดังนั้นจึงควรสังเกตตัวเองให้ดี หากประจำเดือนมาน้อยอย่างไม่มีสาเหตุ อาจเป็นเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
ประจำเดือนมาน้อย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- เกิดจากการตั้งครรภ์ จะมีเลือดกะปริบกะปรอยไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่รู้จักกันว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากตัวอ่อนเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูก โดยเลือดล้างหน้าเด็กนี้จะเกิดหลังการปฏิสนธิ จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเพียง 1-2 วันเท่านั้น ทำให้เข้าใจผิด คิดว่าเลือดที่ไหลออกมาเป็นเลือดประจำเดือนได้
- ยาคุมกำเนิด หรือการคุมกำเนิดในแบบต่าง ๆ อาจส่งผลให้มีการยับยั้งการตกไข่ ทำให้ผนังมดลูกบางลง และประจำเดือนมาน้อยลง หรือทำให้ประจำเดือนขาดได้
- ช่วงวัยของผู้หญิง ผู้หญิงช่วงอายุ 45-55 ปี จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เพราะระดับฮอร์โมนลดลง ทำให้การตกไข่น้อยลง จึงส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อย และหมดประจำเดือน
- เกิดภาวะเครียด ความเครียดส่งผลให้สมองปรับเปลี่ยนฮอร์โมนที่ควบคุมรอบของประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาน้อยลงจากเดิม
- ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเล่นกีฬาที่ออกแรงมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ประจำเดือนมาน้อย หรือประจำเดือนขาดได้
- น้ำหนักตัวที่มากขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือมาผิดปกติ-เพื่อควบคุมระดับการทำงานของฮอร์โมนให้สมดุลคงที่ คุณผู้หญิงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเสมอ
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานสร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ผู้หญิงที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำ หรือสูงกว่าปกติ จะมีผลกระทบต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- PCOS อาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ประจำเดือนจึงมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาผิดปกติ
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูก ไปอยู่ในบริเวณที่ไม่ควรอยู่ หรือแทรกในผนังกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้ประจำเดือนมามาก มานานผิดปกติ หรือมาน้อย มากระปริบกระปรอย หรือขาดประจำเดือน
เมนส์มาน้อยท้องไหม แบบไหนเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
ลักษณะของเลือดล้างหน้าเด็กจะแตกต่างจากประจำเดือน คือ เลือดล้างหน้าเด็ก มักจะมีหลังจากการปฏิสนธิ 10-14 วัน ตัวอ่อนจากการปฏิสนธิจะฝังตัวกับเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด สีของเลือดล้างหน้าเด็ก อาจเป็นได้ตั้งแต่สีชมพูอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม หรือชมพูอ่อนเป็นหยดเล็ก ๆ ไหลกะปริบกะปรอยเพียงไม่กี่หยด จะมีเลือดไหลทางช่องคลอดประมาณ 1-2 วัน
ส่วนประจำเดือนนั้น เกิดจากที่ร่างกายสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนา เพื่อพร้อมกับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดการปฏิสนธิ แต่เมื่อไข่ไม่ได้รับการผสมอสุจิ ไม่มีการปฏิสนธิ จึงทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ร่างกายสร้างออกมาเพื่อรองรับหลังจากการฝังตัวอ่อนนั้นหลุดลอกออกมา ประจำเดือนจะมีสีแดงสดไปจนถึงแดงคล้ำ และไหลปริมาณมากกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก อาจมีเนื้อเยื่อหรือลิ่มเลือดปนออกมาได้ ประจำเดือนนั้นจะมีหลังไข่ตกประมาณ 14 วัน โดยประจำเดือนจะไหลประมาณ 2-7 วัน
หากสังเกตอาการตัวเองแล้วพบว่า เลือดที่ออกมาจากช่องคลอดนั้นมีโอกาสเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก ไม่ใช่ประจำเดือน ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์อย่างละเอียด เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการฝากครรภ์ และดูแลครรภ์ต่อไป
มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ?
นอกจากเลือดล้างหน้าเด็กแล้ว หากตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกจากช่องคลอด นั่นอาจไม่ใช่เลือดประจำเดือน โดยเลือดที่ออกอาจมหลากหลายสาเหตุ เช่น
- เกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดเช่นการติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก คือการที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่โพรงมดลูก มักเจอที่ท่อนำไข่ ทำให้ตัวอ่อนไม่เติบโต หากตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้วทิ้งไว้ไม่รักษา ตัวอ่อนจะเริ่มโตในท่อนำไข่ เมื่อตัวอ่อนโตขึ้นจะทำให้ท่อนำไข่แตก ก็จะมีการตกเลือดในช่องท้อง ทำให้แม่ท้องเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตอาการให้ดี หากมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์
ท้องหรือไม่ เช็กแบบไหนให้ชัวร์
การที่ประจำเดือนขาด ถือว่าเป็นอาการแรกเริ่ม ที่บ่งบอกให้รู้ว่าเราอาจกำลังตั้งครรภ์ นอกจากนั้นยังมีอาการบ่งบอกว่าตั้งครรภ์ อีกหลายอย่าง เช่น ปัสสาวะบ่อย , อารมณ์แปรปรวน , คลื่นไส้ อาเจียน , คัดเต้านม
อยากรู้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ เช็กแบบไหนให้ชัวร์ อยากรู้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ เช็กเบื้องต้นได้ด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ควรรอให้เลยรอบเดือนประมาณ 7 วัน สามารถทำได้โดยการซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่จำหน่ายที่ร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งเป็นการทดสอบหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมน HCG ชุดการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองนี้จะแม่นยำถึงราว 90 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น 3 แบบคือ
- ที่ตรวจการตั้งครรภ์แบบหยด ชุดตรวจแบบหยดนี้จะมาในรูปแบบตลับตรวจครรภ์ ประกอบไปด้วยหลอดหยดปัสสาวะ ถ้วยใส่ปัสสาวะ วิธีตรวจคือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วย แล้วใช้หลอดหยด ดูดปัสสาวะขึ้นมา หยอดลงตลับตรวจครรภ์ วางทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วอ่านผลตรวจ
- ที่ตรวจการตั้งครรภ์แบบจุ่ม ประกอบด้วยแผ่นทดสอบตั้งครรภ์ ถ้วยตวง เก็บปัสสาวะใส่ถ้วยตวง ค่อย ๆ จุ่มที่ตรวจลงในถ้วยปัสสาวะให้พอดีกับขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ จุ่มลงปัสสาวะนาน 3 วินาทีแล้วเอาออก วางที่ตรวจทิ้งไว้ รออ่านผลอีก 5 นาที
- ที่ตรวจการตั้งครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน วิธีนี้จะไม่มีถ้วยตวงปัสสาวะ จะมีเพียงแค่แท่งตรวจครรภ์เท่านั้น วิธีการตรวจคือ ถอดฝาที่แท่งตรวจครรภ์ออก แล้วปัสสาวะผ่านแท่งตรวจ โดยถือให้หัวลูกศรชี้ลงไปที่พื้น ปัสสาวะผ่านแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ให้ชุ่ม ประมาณ 30 วินาที รออ่านผลการตั้งครรภ์ประมาณ 3-5 นาที
เมื่อทดสอบการตั้งครรภ์แล้ว หากผลขึ้นสองขีด ขึ้นที่ตัว C และ ตัว T แสดงว่าอาจตั้งครรภ์ หากผลขึ้นที่ ตัว C เพียงขีดเดียว แสดงว่าอาจไม่ตั้งครรภ์ ในกรณีที่ทดสอบแล้ว มีขีดตรงตัว C ชัดเจน แต่ขีดตรงตัว T ขึ้นจาง ๆ ให้รอ 2-3 วันค่อยตรวจใหม่ แต่หากตรวจการตั้งครรภ์แล้ว ไม่มีผลหรือขีดใด ๆ ขึ้น แสดงว่า ที่ตรวจครรภ์เสีย หรือมีความผิดพลาดในการทดสอบ และเมื่อทราบผลทดสอบว่าอาจตั้งครรภ์แล้ว ควรรีบพบสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการตรวจที่มีผลลัพธ์ที่แม่นยำ
ประจำเดือนมาน้อยแบบไหน ควรไปพบแพทย์
- ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน
- ประจำเดือนมาน้อยเป็นประจำ
- ประจำเดือนมาน้อยมาก มีลักษณะเป็นหยดเลือดเพียงเล็กน้อย
- ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยไม่ได้ตั้งครรภ์
- มีภาวะประจำเดือนขาด
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก่อนมีประจำเดือน
วิธีดูแลตัวเอง ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ รักษาน้ำหนักให้เหมาะสมไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหม เคลื่อนไหว ขยับตัวออกกำลังกายให้พอดี
- หลีกเลี่ยงความเครียด หากิจกรรมลดความเครียดเพื่อให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เกิดผลดีกับสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เป็นเวลา
ประจำเดือนที่ผิดปกติ มาไม่สม่ำเสมอ มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน และปัญหาสุขภาพ การทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ปล่อยปละละเลยตัวเอง อาจส่งผลไม่ดีกับสุขภาพร่างกายได้ ดังนั้นคุณผู้หญิงไม่ควรชะล่าใจ หมั่นตรวจสุขภาพภายในของผู้หญิงประจำปีทุกปี และเอาใจใส่ตัวเองเสมอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรง ไม่เสี่ยงโรคร้าย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ความหมายประจำเดือนมาน้อย, Pobpad
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไร? (Amenorrhea), โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- เช็ก 10 สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ, โรงพยาบาลบางปะกอก
- 108 คำถาม ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ PCOS, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ผู้หญิงควรรู้ให้ทัน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- เลือดล้างหน้าเด็ก คืออะไร ต่างจากประจำเดือนอย่างไร, HelloKhunmor
- มีประจำเดือนแต่ท้อง อาการของเลือดล้างหน้าเด็ก, HelloKhunmor
- เลือดออกขณะตั้งครรภ์อาจแท้งคุกคาม, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- คุณแม่ควรระวัง การตั้งครรภ์นอกมดลูก, โรงพยาบาลพญาไท
- ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (ฉบับ Update ปี 2567), โรงพยาบาลเพชรเวช
- การขาดประจำเดือน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อ้างอิง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ
คลอดลูก คุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อม...แบบที่ใช่
เพราะยิ่งช่วงเวลาใกล้ คลอดลูก น้อย สำหรับว่าที่คุณแม่หลายท่าน ส่วนใหญ่จะมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกสุขภาพ และการเตรียมของไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ควรเตรียมอะไรก่อนหรือหลัง และทำอะไรก่อนดี หากคุณเป็นหนึ่งในนั้นก็ไม่ต้องเครียดไป นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมก่อน คลอดลูก เตรียมร่างกายให้พร้อม..!!