การอยู่ไฟหลังคลอด คืออะไร จำเป็นไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด

อยู่ไฟหลังคลอด ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด

31.03.2024

สัปดาห์แรก ๆ หลังคลอดบุตรเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวของคุณแม่ เนื่องจากระบบในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือการผ่าคลอดก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณแม่จะต้องดูแลตัวเองในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอดนี้ให้ดี เพื่อให้ร่างกายและจิตใจของคุณแม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์สำหรับเตรียมพร้อมในการดูแลลูกน้อย และคำถามยอดฮิตของคุณแม่หลาย ๆ ท่านเลยก็คือ “ต้องอยู่ไฟหรือไม่” ซึ่งการอยู่ไฟเป็นวิธีการดูแลตัวเองหลังคลอดที่ได้รับการบอกกล่าวกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยคุณยายคุณย่า โดยเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า และทำให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดลูก แต่ความเชื่อนี้ได้ค่อย ๆ ลดความนิยมลงตามกาลเวลา ดังนั้นแล้ว ในปัจจุบันการอยู่ไฟนั้นยังจำเป็นหรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง บทความนี้จะเชิญชวนคุณแม่มารู้จักวิธีการอยู่ไฟ

headphones

PLAYING: อยู่ไฟหลังคลอด ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • การอยู่ไฟหลังคลอดเป็นศาสตร์ของแพทย์แผนไทย เป็นความเชื่อของคนโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อช่วยให้คุณแม่หลังคลอดฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดลูก
  • ปัจจุบันการอยู่ไฟหลังคลอดถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับคุณแม่ยุคใหม่มากขึ้น โดยคุณแม่สามารถเลือกที่จะอยู่ไฟหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสะดวกของคุณแม่

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ทำความรู้จักกับการอยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟเป็นการบริบาลคุณแม่หลังคลอดตามหลักการของแพทย์แผนไทย โดยเชื่อว่าการคลอดลูกจะทำให้ธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของคุณแม่เสียสมดุล โดยเฉพาะการคลอดทำให้เสียเลือดหรือทำให้ธาตุไฟในร่างกายน้อยลง ดังนั้นจึงมีการใช้ความร้อนและการนวดประคบเพื่อช่วยปรับธาตุในร่างกายของคุณแม่ให้สมดุล โดยวิธีอยู่ไฟในสมัยโบราณคือจะให้คุณแม่หลังคลอดนอนใกล้กองไฟ ดื่มน้ำสมุนไพร ประคบหน้าท้องด้วยอิฐเผาไฟ นวดประคบสมุนไพร ทับหม้อเกลือ เข้ากระโจมอบสมุนไพร ซึ่งวิธีการและระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับคำแนะนำของหมอพื้นบ้านหรือหมอตำแย แต่ในปัจจุบันวิธีการอยู่ไฟได้ถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคุณแม่ยุคใหม่เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น โดยสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนหลัก ๆ ได้ 3 ขั้นตอนดังนี้

 

1. การนวดไทยแบบราชสำนัก การนวดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการคัดตึงของเต้านม และการประคบสมุนไพรช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวม อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่หลังคลอดได้ด้วย

 

2. การทับหม้อเกลือ

โดยนำหม้อดินเผาใส่เกลือเม็ดแล้วนำไปตั้งไฟให้ร้อน จากนั้นนำมาวางลงบนสมุนไพร และใบพลับพลึง ทำการห่อด้วยผ้าหลายชั้นเพื่อให้อุณหภูมิความร้อนจากหม้อเกลือกระจายตัวทั่วผ้า แล้วนำมานาบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา ความร้อนจากหม้อเกลือจะช่วยเผาผลาญไขมันที่หน้าท้องทำให้หน้าท้องยุบเร็ว และกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือดแก้อาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกายได้

 

ทำความรู้จักกับการอยู่ไฟหลังคลอด

 

3. การอบไอน้ำสมุนไพร

เป็นการต้มสมุนไพรในห้องหรือกระโจมที่ใช้อบตัว ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะช่วยพาตัวยาสมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนัง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร จะทำให้รู้สึกสดชื่น หลอดลมขยายตัว ช่วยลดความตึงเครียดและนอนหลับได้ง่ายขึ้น

 

นอกจาก 3 ขั้นตอนนี้แล้วอาจมีขั้นตอนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น การนั่งถ่าน การพันผ้าเพื่อกระชับหน้าท้อง การพอกผิวและขัดผิว ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในแต่ละสถาบันหรือคลินิกที่คุณแม่ใช้บริการ

 

อยู่ไฟหลังคลอดใช้เวลานานไหม

ปัจจุบันการอยู่ไฟหลังคลอดนิยมทำวันละ 2-3 ชั่วโมง โดยทำต่อเนื่องติดต่อกัน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความพอใจ และความสะดวกของคุณแม่ แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากกว่าปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ควรหยุดการอยู่ไฟทันที

 

เมื่อไหร่จึงจะเริ่มอยู่ไฟหลังคลอดได้

การอยู่ไฟจะได้ผลดีควรทำหลังจากคลอดลูกไม่เกิน 3 เดือน คุณแม่ที่คลอดลูกเองโดยวิธีธรรมชาติสามารถอยู่ไฟได้หลังจากคลอดลูกแล้ว 7-10 วัน และควรรอให้แผลบริเวณช่องคลอดแห้งสนิทก่อน แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณแม่ผ่าตัดคลอด ควรรอประมาณ 30-45 วัน หรือรอจนกว่าแผลผ่าตัดหายสนิทแล้ว ซึ่งถ้าคุณแม่ไม่มั่นใจว่าแผลแห้งหรือยังสามารถขอคำแนะนำจากคุณหมอผู้ดูแลการรักษาได้

 

อยู่ไฟหลังคลอด ช่วยอะไร

  • ช่วยขับน้ำคาวปลา โดยหลังคลอดลูกกลไกของมดลูกตามธรรมชาติจะมีการหดรัดตัวเพื่อขับน้ำคาวปลาซึ่งก็คือเศษเซลล์ที่ลอกออกมาจากโพรงมดลูก โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน น้ำคาวปลาก็จะหมด
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น เนื่องจากช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายตัวตามขนาดของลูกน้อย และหลังจากคลอดแล้วมดลูกจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเรียกกันว่ามดลูกเข้าอู่
  • ช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก โดยหลังจากคุณแม่คลอดรกสมบูรณ์แล้วมดลูกจะมีการหดรัดตัว ซึ่งถ้าหากมดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีอาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้
  • ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งความร้อนจากการอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยลดอาการหนาวสั่นของคุณแม่ได้
  • ช่วยลดการอักเสบช้ำบวม ซึ่งการประคบร้อนสมุนไพรจากการอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนได้ดี กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ทำให้ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวมและฟกช้ำได้เร็ว
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย การนวดและความร้อนจากการอยู่ไฟ สามารถลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยบรรเทาอาการสะโพกขัดและขาขัด เนื่องจากบริเวณกระดูกเชิงกรานของคุณแม่หลังคลอดจะมีการขยายตัว ทำให้มีการปวดตึงบริเวณสะโพกและขา โดยการนวดแผนไทยแบบ “เข้าตะเกียบ” ในการอยู่ไฟจะช่วยให้ข้อต่อเหล่านี้กลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น
  • ช่วยลดอาการคัดตึงเต้านม การประคบร้อนสมุนไพรบริเวณรอบ ๆ เต้านม จะเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้น ช่วยลดการปวดคัดตึงเต้านม และช่วยให้การไหลของน้ำนมดีขึ้นด้วย

 

ข้อห้ามในการอยู่ไฟหลังคลอด

  • คุณแม่หลังคลอดที่มีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หอบหืด ลมชัก โรคไต
  • คุณแม่หลังคลอดที่มีภาวะตกเลือด
  • แผลผ่าตัด หรือแผลบริเวณช่องคลอดยังไม่แห้งสนิทดี
  • มีอาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
  • มดลูกยังไม่เข้าอู่

 

อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม

แนวคิดของการอยู่ไฟในสมัยโบราณ ถ้าพูดตามหลักการวิทยาศาสตร์ก็คือช่วยให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เมื่อได้พักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาเป็นปกติได้เร็ว ก็จะสามารถใช้เวลาเลี้ยงดูลูกน้อยได้เต็มที่ แต่ถ้าถามว่าในปัจจุบันจำเป็นต้องอยู่ไฟหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” เนื่องจากการคลอดในโรงพยาบาลปัจจุบันจะมีการฉีดยาเร่งคลอดซึ่งมีผลให้มดลูกบีบและหดตัวหลังคลอดอยู่แล้ว ดังนั้นคุณแม่สามารถเลือกที่จะไม่อยู่ไฟก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ให้ทำอย่างพอเหมาะ และระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

 

นวดเต้านมหลังคลอด คืออะไร

คุณแม่หลังคลอดที่มีปัญหาคัดตึงเต้านม หรือท่อน้ำนมอุดตัน การนวดเต้านมเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการของคุณแม่ได้ การนวดกระตุ้นเต้านมเบา ๆ ช่วยลดการอักเสบและบวมน้ำในเนื้อเยื่อของเต้านม กระตุ้นการทำงานของระบบน้ำเหลือง ช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น

 

อยู่ไฟหลังคลอด นวดเต้านมหลังคลอด คืออะไร

 

เมื่อคุณแม่ทราบที่มาและเหตุผลในการอยู่ไฟหลังคลอดแล้ว คุณแม่จะสามารถตัดสินใจวางแผนเรื่องการดูแลตัวเองหลังคลอดได้ ซึ่งแน่นอนว่าการรับบริการอยู่ไฟย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมาด้วย นอกจากนี้คุณแม่อย่าลืมรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รักษาสุขอนามัยของแผล พักผ่อนให้เพียงพอ สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ แต่อย่าออกแรงมากเกินไป อย่ายกของหนัก และอย่าลืมพบคุณหมอให้ตรงตามนัด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  • การดูแลตนเองหลังคลอด, MedPark Hospital
  • การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ 1, วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • ผลของการทําสปาหลังคลอดต่อการไหลของน้ำนม ระดับความเจ็บปวด ระดับความรู้สึกผ่อนคลาย และภาวะสุขภาพของมารดาหลังคลอด ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่, วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมล้านนา
  • การอยู่ไฟคืออะไร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล
  • การแพทย์แผนไทยกับการบริบาลมารดาและทารกหลังคลอดในชุมชนภาคกลาง, โครงการวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ละเอียด แจ่มจันทร์ และคณะ
  • ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • การทับหม้อเกลือ, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • การอบไอน้ำสมุนไพร, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นแค่ไหนสำหรับคุณแม่?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  • 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
  • การดูแลสตรีระยะหลังคลอด (puerperium care), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • การดูแลหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย, โรงพยาบาลแม่ออน
  • การอยู่ไฟหญิงหลังคลอด, โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน
  • แนะ “อยู่ไฟ” ห้ามทำที่ปิด เสี่ยงขาดอากาศ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • นวดเปิดท่อน้ำนม และอัลตราซาวด์, โรงพยาบาลนนทเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไรคนท้องถึงไปงานศพไม่ได้ หากคนท้องไปงานศพจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีความเชื่อว่าคนท้องไม่ควรไปงานศพ ไปทำความเข้าใจพร้อมกัน

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คุณแม่ท้องอารมณ์ขึ้นๆ ลง เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณพ่อมือใหม่มีวิธีรับมือกับอารมณ์คนท้องระยะแรกของคุณแม่ได้อย่างไร ไปดูกัน

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน เกิดจากอะไร คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ ลูกมีโอกาสรอดแค่ไหน อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า พร้อมสัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทําหมันกี่วันหาย คุณแม่ทำหมันทันทีเลยได้ไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้คุณแม่เจ็บน้อยที่สุด พร้อมข้อดีและข้อเสียการทำหมัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก