คุณแม่ท้อง 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

คุณแม่ท้อง 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

17.02.2024

ท้อง 2 เดือน ร่างกายของคุณแม่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นทุกวัน ช่วงนี้คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพ ใส่ใจเรื่องอาหารและโภชนาการให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยในท้องแข็งแรง

headphones

PLAYING: คุณแม่ท้อง 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • แม่ท้อง 2 เดือน เริ่มมีอาการแพ้ท้องมากขึ้น ควรเลือกรับประทานอาหารในปริมาณน้อย แต่แยกเป็นมื้อย่อย กินบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
  • ขนาดท้องของอายุครรภ์ 2 เดือน อาจยังไม่ใหญ่มากจนสังเกตเห็นได้ แต่ทารกในครรภ์เริ่มมีพัฒนาการมากมายเกิดขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ขนาดของท้องจะยังไม่ใหญ่มาก ทำให้คนภายนอกสังเกตได้ยากกว่า คุณแม่กำลังมีน้องอยู่ในท้อง แม้ว่าคุณแม่จะท้อง 2 เดือน แล้วก็ตาม และเมื่ออายุครรภ์ 2 เดือน คุณแม่บางคนอาจจะมีอาการแพ้ท้องมาก ทำให้น้ำหนักตัวไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

 

อายุครรภ์ 2 เดือน เด็กในท้องจะเป็นอย่างไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ 2 เดือน หรือ ท้อง 8 สัปดาห์ แม้ว่าขนาดท้องจะยังไม่ใหญ่มากนัก แต่ภายในท้องของคุณแม่ เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ขนาดของตัวอ่อนจะมีความยาวราว ๆ 4-25 มิลลิเมตร ด้านพัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน หากใช้เครื่องอัลตราซาวด์จะเห็นการเต้นของหัวใจได้ในช่วง 6 สัปดาห์ มีการสร้างและพัฒนาอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่

  • หัวใจ
  • ตา
  • แขน
  • ขา
  • ระบบประสาทและสมอง มีการเติบโตมากขึ้น

 

ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ท้อง 2 เดือน

คนอื่นอาจจะไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแม่ท้อง 2 เดือน แต่คุณแม่เองจะสัมผัสได้อย่างชัดเจน เช่น

  • หน้าท้องเริ่มขยาย: อายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้หน้าท้องขยายตัวมากขึ้น
  • หน้าอกและเต้านมใหญ่ขึ้น: เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 2 คุณแม่จะรู้สึกได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ถึงเต้านมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะต่อมน้ำนมและไขมันเติบโตขึ้น อาจเห็นเป็นเส้นเลือดที่เต้านม หัวนมมีสีคล้ำขึ้น เต้านมของคุณแม่ยังรู้สึกไวต่อสัมผัส หากกดบริเวณเต้านมจะรู้สึกเจ็บได้
  • รู้สึกคัดเต้านม: เกิดอาการคัดตึงเต้านมได้ เพราะเลือดในร่างกายไปเลี้ยงบริเวณเต้านม
  • มีตกขาว: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายแม่ท้อง 2 เดือน ทำให้เกิดตกขาวในคนท้องได้ เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เปลี่ยนแปลง เลือดจึงไหลเวียนมาคั่งที่บริเวณช่องคลอด ทำให้เกิดเป็นตกขาว

 

อาการที่แม่ท้อง 2 เดือนต้องเจอ

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย: คุณแม่ท้อง 2 เดือน จะเจอกับอาการอ่อนเพลียได้บ่อย รู้สึกเหนื่อยได้ง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย: คุณแม่ตั้งครรภ์ 2 เดือน จะหงุดหงิดง่าย มีอารมณ์แปรปรวนได้ เนื่องจากฮอร์โมนภายในร่างกายของคุณแม่ที่เปลี่ยนแปลง ในบางรายอาจมีความรู้สึกซึมเศร้าได้ คุณแม่อาจรู้สึกวิตกกังวลเรื่องลูกในท้องว่าจะแข็งแรงหรือไม่ และอาจกลัวการคลอดลูกได้ด้วย
  • คลื่นไส้อาเจียน: อาการคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นมากขึ้น เมื่อท้อง 2 เดือน สาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนคนท้อง เกิดความรู้สึกวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย และคุณแม่บางคนจะรู้สึกคลื่นไส้มากขึ้นหลังการดื่มน้ำหรือทานอาหาร
  • เบื่ออาหารหรือเหม็นกลิ่นอาหาร: คุณแม่บางคนจะรู้สึกไม่อยากทานอะไร รู้สึกเบื่ออาหาร หรือเหม็นกลิ่นอาหารได้ หากคุณแม่รู้สึกพะอืดพะอม ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม หรือเลือกดื่มน้ำขิง จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้

 

อาหารที่คุณแม่ท้อง 2 เดือน ต้องเน้นรับประทาน

อายุครรภ์ 2 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างอวัยวะต่าง ๆ แต่คุณแม่มักจะมีอาการแพ้ท้อง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย จึงควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย กินทีละน้อย แต่กินหลายมื้อต่อวัน เพื่อควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกอาหารให้หลากหลาย และกินในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่

  • โปรตีน: ดีต่อการเจริญเติบโตของทารก และพัฒนาการทางสมอง พบมากในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม และไข่ หรือถั่วเมล็ดแห้ง
  • แร่ธาตุเหล็ก: สำคัญในการสร้างเม็ดเลือด พบมากในเครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว และไข่แดง หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาจเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการสมองทารก
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส: ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน พบได้ในนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม
  • ไอโอดีน: ไอโอดีนมีส่วนสำคัญ ช่วยพัฒนาระบบประสาทและการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง มีมากในอาหารทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีน
  • โฟเลต: ช่วยในการสร้างเซลล์สมองของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ 2 เดือน ควรเลือกรับประทานตับและผักใบเขียว เช่น กุยช่าย และหน่อไม้ฝรั่ง

 

อาหารที่แม่ท้อง 2 เดือนควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ หรือยาดอง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชาและกาแฟ
  • เลิกกินอาหารดิบ หรืออาหารที่คนท้องไม่ควรกิน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก
  • ไม่ควรกินอาหารหมักดอง

 

ท้อง 2 เดือน ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ

การดูแลและใส่ใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ 2 เดือน กำลังมีลูกน้อยที่เจริญเติบโตอยู่ภายในท้อง จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ให้กับร่างกาย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่: ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน เน้นผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันสูง และไม่ควรทานอาหารรสจัด
  • ไม่ออกกำลังกายหนักเกินไป: คุณแม่ท้อง 2 เดือน สามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาหรือกิจกรรมโลดโผน และไม่ควรออกกำลังกายหนัก ให้เลือกออกกำลังกายเบา ๆ อาจเป็นการเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือโยคะสำหรับคนท้อง เมื่อออกกำลังกายแล้ว 10-15 นาที ควรพักดื่มน้ำ โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรระวังไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป
  • ไม่ควรซื้อยามากินเอง: อายุครรภ์ 2 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะ พัฒนาระบบประสาทและสมอง การซื้อยาหรือวิตามินมากินเอง อาจส่งผลร้ายแทนที่จะเป็นผลดี ไม่ว่าจะเป็นยา วิตามิน หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่ท้องและทารกในครรภ์

 

คุณแม่ท้อง 2 เดือน อาจมีอาการแพ้ท้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และยังมีอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย จึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายเบา ๆ แต่สม่ำเสมอ กินวิตามินหรือยาบำรุงตามที่แพทย์แนะนำ หากิจกรรมผ่อนคลายตัวเอง จะช่วยลดความเครียด ทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น และส่งผลดีต่อเจ้าตัวน้อยในครรภ์

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 (อายุครรภ์ 1-3 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  3. รับมือกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงของว่าที่คุณแม่, โรงพยาบาลเปาโล
  4. พัฒนาการของทารกในครรภ์, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. สุขใจ ได้เป็นแม่, unfpaและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  6. แบบนี้สิท้องแล้ว, โรงพยาบาลสมิติเวช
  7. ว่าที่คุณแม่มือใหม่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
  8. กรมอนามัย แนะหญิงท้องหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง เน้นกินปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้ นม, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  9. กรมอนามัย แนะอาหารหญิงท้อง เตรียมพร้อมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอด, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  10. โภชนาการหญิงตั้งครรภ์, ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช
  11. 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ คนท้องเจ็บสะดือ ลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไหม

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ คนท้องเจ็บสะดือ ลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไหม

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ อันตรายไหม อาการคนท้องเจ็บสะดือ เกิดจากสาเหตุอะไร อาการที่ชัดเจนต้องเจ็บลักษณะไหน คนท้องเจ็บสะดือแบบไหนอันตรายกับลูกในครรภ์

อาหารว่างสำหรับคนท้อง คนท้องหิวบ่อย กินขนมคนท้องอะไรได้บ้าง

อาหารว่างสำหรับคนท้อง คนท้องหิวบ่อย กินขนมคนท้องอะไรได้บ้าง

เมนูอาหารว่างสำหรับคนท้อง ขนมที่คนท้องกินได้ระหว่างวัน ช่วยบำรุงครรภ์และดีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง อาหารว่างสำหรับคนท้องแบบไหนดีกับคุณแม่ท้องและลูกในครรภ์ ไปดูกัน

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง คุณแม่ท้องกลมท้องแหลม บอกอะไรได้บ้าง

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง คุณแม่ท้องกลมท้องแหลม บอกอะไรได้บ้าง

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง ลักษณะหน้าท้องของคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน เพราะอะไร จะได้ลูกสาวหรือลูกชายดูจากท้องกลมท้องแหลมได้จริงไหม เป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์

ท้องแตกลายช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ดูแลผิวหน้าท้องยังไงได้บ้าง

ท้องแตกลายช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ดูแลผิวหน้าท้องยังไงได้บ้าง

ท้องแตกลายลายตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร หน้าท้องแตกลาย ผิวไม่เรียบเนียนช่วงตั้งท้อง ผิวที่หน้าท้องคุณแม่จะเป็นอย่างไร พร้อมวิธีลดอาการท้องแตกลายจากการตั้งครรภ์

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก