คุณแม่ท้อง 5 เดือน ลูกอยู่ตรงไหน ตั้งครรภ์ 5 เดือน ที่แม่ต้องรู้
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ เท่ากับว่าอีกไม่กี่เดือนก็จะได้เจอหน้าลูกน้อยเป็นครั้งแรกแล้ว ซึ่งคุณแม่เองก็เริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากขึ้น ทั้งร่างกายของตนเองและพัฒนาการที่มากขึ้นของทารกในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่จึงต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
สรุป
- เมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 5 เดือน คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากขึ้น จึงต้องใส่ใจดูแลตัวเองทั้งกายและใจให้แข็งแรง เพื่อให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่เหมาะสม และเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดในอีก 5 เดือนข้างหน้า
- คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นครั้งแรกในช่วงเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์นี้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พัฒนาการของทารก 5 เดือนในครรภ์คุณแม่
- ลูกเริ่มดิ้นจนคุณแม่รู้สึกตัวได้ชัดเจน
- ได้ยินเสียงจากภายนอกได้แล้ว
- อาการต่าง ๆ ที่คุณแม่ท้อง 5 เดือนต้องเจอ
- วิธีดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน เมื่อเป็นตะคริว
- ทำไมคุณแม่ท้อง 5 เดือน จึงควรทานผักและผลไม้
- คุณแม่ท้อง 5 เดือน ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- รวมวิธีช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดีระหว่างตั้งครรภ์
พัฒนาการของทารก 5 เดือนในครรภ์คุณแม่
ซึ่งช่วงเดือนที่ 5 นี้ทารกในครรภ์เริ่มจะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด มีการดิ้น ขยับตัว รวมถึงมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่าง ดังนี้
ลูกเริ่มมีผมขึ้นอ่อน ๆ
พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 5 เดือน จะเริ่มมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุมร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณไหล่ หลัง และแขน
ลูกน้อยน้ำหนักตัวเท่าไหร่แล้ว
เดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์นี้ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตด้านร่างกายอย่างก้าวกระโดด และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 300 กรัม
ความยาวตั้งแต่หัวจรดเท้าของลูกน้อย
ความยาวตั้งแต่หัวจรดเท้าของทารกอายุครรภ์ 5 เดือน อยู่ที่ประมาณ 23-30 เซนติเมตร หากเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ก็จะเท่ากับลูกมะละกอเล็ก ๆ นั่นเอง
ลูกเริ่มดิ้นจนคุณแม่รู้สึกตัวได้ชัดเจน
เดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ หรือ ท้อง 21 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ถึง "การดิ้น" ซึ่งเชื่อว่าคุณแม่หลาย ๆ ท่านจะต้องตื่นเต้นและเฝ้ารอเวลานี้อยู่ แต่ลูกน้อยอาจไม่ได้ดิ้นบ่อยและรุนแรงนัก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นคุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนและบ่อยขึ้น เรียกได้ว่าการเฝ้ารอนี้เป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่แสนพิเศษที่สุดของการตั้งครรภ์เลยทีเดียว
ได้ยินเสียงจากภายนอกได้แล้ว
อายุครรภ์ 5 เดือน หูชั้นในของทารกเริ่มพัฒนาสมบูรณ์ ทารกน้อยจึงเริ่มได้ยินเสียงจากโลกภายนอกได้บ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ยินเสียงจากคุณแม่ชัดเจนกว่าเสียงอื่น ๆ เนื่องจากเสียงของคุณแม่จะเดินทางผ่านร่างกายไปยังหูของทารกโดยตรง เช่น เสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ เสียงการเต้นของลำไส้ เสียงการหายใจ ซึ่งในช่วงเวลานี้คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของทารกได้โดยพูดคุยด้วยบ่อย ๆ ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ลูกฟังเบา ๆ
อาการต่าง ๆ ที่คุณแม่ท้อง 5 เดือนต้องเจอ
เดินทางเข้าสู่อายุครรภ์ 5 เดือนแล้ว หน้าท้องและมดลูกของคุณแม่จะมีการขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรับการเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่คุณแม่อาจพบเจอ ดังนี้
1. เป็นตะคริว
ตะคริวในคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะบริเวณน่องและเท้า อาการนี้เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคุณแม่ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
- น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณขาต้องทำงานหนักขึ้น
- ร่างกายขาดแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ
- ร่างกายขาดน้ำ ทำให้กล้ามเนื้อขาดน้ำและเกิดอาการตะคริวได้ง่าย
2. ปวดหลัง และขา
อายุครรภ์ 5 เดือน ร่างกายของคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อและกระดูกบริเวณหลังก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน รวมถึงมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปกดทับเส้นเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการคั่งค้างของเลือดที่ขา ทำให้เกิดอาการปวดขา ขาบวม และเส้นเลือดขอดได้
3. ผิวแตกลาย
น้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้นช่วง 5 เดือน ทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เส้นใยคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวหนังฉีกขาด เกิดเป็นรอยแตกลายขึ้น มักเป็นรอยสีแดงบนผิวหนัง ซึ่งรอยแตกลายเหล่านี้จะจางลงหลังคลอด นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงสีผิวที่บริเวณอื่น ๆ เช่น ผิวหน้า หรือบริเวณหัวนมของคุณแม่บางคนอาจคล้ำขึ้น และบางครั้งอาจมีเส้นคล้ำใต้สะดือ จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด ๆ และใช้ครีมกันแดดป้องกันการเกิดรอยแตกหรือจุดด่างดำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะค่อย ๆ จางลงหลังคลอดเช่นกัน
4. เริ่มหายใจขัด เหนื่อยง่าย
ช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน มดลูกและหน้าท้องของคุณแม่เริ่มขยายใหญ่ ทำให้เบียดพื้นที่ปอดและกระบังลม ปอดจึงมีพื้นที่ในการขยายตัวลดลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจได้ไม่เต็มปอดและรู้สึกเหนื่อยง่าย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงปอดได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม
5. ปัสสาวะบ่อย
การขยายตัวของมดลูกทำให้ไปเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะมีพื้นที่ในการเก็บปัสสาวะลดลง คุณแม่ตั้งครรภ์จึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
6. ท้องผูก ริดสีดวงทวาร
ในช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้ใหญ่คลายตัว ส่งผลให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ช้าลง จึงอาจทำให้ถ่ายยากขึ้นและเกิดอาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์บ่อยครั้ง
วิธีดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน เมื่อเป็นตะคริว
อาการเป็นตะคริวในคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะบริเวณน่องและเท้า และบางครั้งอาจเกิดขึ้นบริเวณแขนหรือหน้าท้องด้วย โดยวิธีดูแลและบรรเทาอาการตะคริวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทำได้ดังนี้
1. นวดเบา ๆ บริเวณที่เป็นตะคริว ประมาณ 2-3 นาที จนกว่าอาการจะทุเลาลง
การนวดเบา ๆ เป็นการยืดกล้ามเนื้อซึ่งสามารถบรรเทาอาการตะคริวที่ได้ผลดี โดยคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถยืดกล้ามเนื้อได้โดยการเหยียดขาหรือเท้าให้ตรง ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วคลายออก ทำซ้ำประมาณ 5 ครั้ง อาการตะคริวจะดีขึ้น
2. เน้นอาหารที่มีวิตามินบี 12
วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายอย่าง มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หากขาดวิตามินบี 12 อาจก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตะคริว เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแอได้ง่าย
โดยแหล่งอาหารวิตามินบี 12 สูง ที่เหมาะสำหรับคุณแม่ ได้แก่
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา
- ไข่
- ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส
- อาหารทะเล
- ถั่วและธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวกล้อง
3. ประคบอุ่น
ความร้อนจากการประคบอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณที่เป็นตะคริวได้ดี ส่งผลให้อาการตะคริวบรรเทาลง นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนาน ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดตะคริวนั่นเอง
ทำไมคุณแม่ท้อง 5 เดือน จึงควรทานผักและผลไม้
ผักและผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่ และเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์ ผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี วิตามินอี แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม เป็นต้น วิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมถึงช่วยเสริมสร้างสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผักและผลไม้ที่คุณแม่อายุครรภ์ 5 เดือน ควรรับประทาน ได้แก่
- ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักโขม บรอกโคลี
- ผักผลไม้ที่มีสีสันสดใส เช่น แครอท มะเขือเทศ แตงกวา แตงโม ส้ม มะละกอ
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอเบอร์รี บลูเบอร์รี ราสเบอร์รี
คุณแม่ท้อง 5 เดือน ควรดูแลตัวเองอย่างไร
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้อย่างดีที่สุด
การดูแลด้านร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักและผลไม้ตามความเหมาะสม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- หลีกเลี่ยงอาหารที่คนท้องไม่ควรทาน เช่น อาหารรสจัด หมักดอง และแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยเลือกออกกำลังกายที่เบา ๆ ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดิน การว่ายน้ำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
- พบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และรับคำแนะนำจากแพทย์
การดูแลจิตใจของคุณแม่ก็สำคัญไม่แพ้ด้านร่างกาย แน่นอนว่าจิตใจที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด จะส่งผลดีทั้งคุณแม่เอง และลูกน้อยในครรภ์
- ผ่อนคลายความเครียด หากิจกรรมเบา ๆ ที่ชอบทำ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง
- พูดคุยกับคุณพ่อ คนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง เพื่อแบ่งปันความรู้สึกและรับกำลังใจจากคนรอบตัว
- เข้าร่วมกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงเป็นการเสริมกำลังใจให้กันและกัน
รวมวิธีช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดีระหว่างตั้งครรภ์
1. ฟังเพลงผ่อนคลาย
เสียงเพลงที่มีท่วงทำนองอ่อนโยน จังหวะช้า ๆ เบา ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ซึ่งคุณแม่สามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น ระหว่างอาบน้ำ หรือก่อนนอน ทำให้คุณแม่อารมณ์ดี เกิดความผ่อนคลาย ลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
2. ให้คุณแม่ได้มีเวลาส่วนตัวบ้าง
คุณแม่มักมีภาระหน้าที่มากมาย ทั้งการดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว และเตรียมตัวสำหรับการดูแลลูกน้อยที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลก จนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเวลาให้กับตัวเอง และเกิดความเครียด คุณแม่จึงควรให้เวลาส่วนตัวกับตัวเองได้พักผ่อนบ้าง เพื่อผ่อนคลายความเครียด
3. ให้ทำกิจกรรมที่ชอบ และส่งผลดีต่ออารมณ์
กิจกรรมที่ชอบจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกมีความสุข และผ่อนคลาย ทั้งยังส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ด้วย เช่น วาดรูป ทำขนม ดูหนัง เป็นต้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกมีคุณค่า ลดความเครียด มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง
4. ออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ เพื่อออกกำลังกายเบา ๆ ชมบรรยากาศและสูดอากาศธรรมชาติ
การออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะนับว่าเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ อีกอย่าง ได้ทั้งผ่อนคลายอารมณ์ และออกกำลังไปในตัว จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข และช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกสถานที่ที่อากาศถ่ายเทดี มีต้นไม้ร่มรื่น และปลอดภัย
5. ให้คุณแม่ได้พบเจอครอบครัว และเพื่อน จะได้พูดคุยผ่อนคลาย และได้กำลังใจ
คุณแม่ควรหาเวลาไปพบปะครอบครัวและเพื่อนฝูง เพื่อพูดคุยแบ่งปันเรื่องราว จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้น ได้รับการปลอบโยน และได้รับกำลังใจ
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณแม่ยังสามารถดูแลตัวเองสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารสำหรับคนท้องที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียด เพื่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- คุณแม่ท้อง 6 เดือน อาการตั้งครรภ์ 6 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 7 เดือน อาการตั้งครรภ์ 7 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 8 เดือน อาการตั้งครรภ์ 8 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 9 เดือน อาการตั้งครรภ์ 9 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- 5 Months Pregnant: Symptoms, Baby Development And Tips, Mustela USA
- Changes in Your Body During Pregnancy: Second Trimester, Family doctor
- Taking Care of You and Your Baby While You’re Pregnant, Family doctor
- Hemorrhoids During Pregnancy: Causes and Prevention, Everyday health
- Vitamin B12 in Wellness & Preventive Medicine, W9 Wellness Center
- 25 Ways to Embrace Your Pregnancy, Parents
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง