อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

04.03.2020

ช่วงเวลาอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ถือว่าเป็นช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากในช่วง 3 เดือนแรกอย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้ว อายุครรภ์ 14 สัปดาห์นั้น คุณแม่จะมีหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจนสามารถมองเห็นได้แล้ว และอาการแพ้ท้องก็จะเบาบางลงจนหมดไป พร้อมกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยที่มีขนาดประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใหญ่เพียงประมาณลูกพีชเท่านั้นเอง

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • คุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนหลายประการ เช่น ท้องที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น
  • ลูกน้อยในครรภ์มีขนาดใหญ่เพียงราว 10 เซนติเมตร และมีอวัยวะสำคัญพัฒนาครบแล้ว
  • อาการต่าง ๆ ของคุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ เช่น หน้าอกขยายขนาดใหญ่ขึ้น ท้องผูก และอยากอาหารมากขึ้น
  • หากคุณแม่พบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
  • คุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์ ต้องดูแลตัวเอง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 14 เป็นการเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ หน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ออกมาจนสามารถมองเห็นได้ ทั้งนี้ก็อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สรีระ หรือรูปทรงร่างกายของคุณแม่ เป็นต้น ดังนั้นแล้วคุณแม่จะค่อนข้างวางใจได้มากขึ้น เพราะความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรจะต่ำกว่าในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก อาการคลื่นเหียนจากการแพ้ท้องจะหายไปแล้วในตอนนี้

 

อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ลูกน้อยจะมีการเติบโตอย่างไรบ้าง

ตัวอ่อนในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 4 นิ้ว หรือราว 10 เซนติเมตร และหนักประมาณ 43.09 กรัม ตัวอ่อนจะมีการพัฒนาของอวัยวะหลัก ๆ ครบถ้วนแล้ว สามารถแสดงสีหน้าได้ อวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม และไต ของตัวอ่อนจะเริ่มทำงานแล้ว จนในบางครั้งเราอาจจะเห็นตัวอ่อนกำลังดูดนิ้วอยู่ในครรภ์ด้วย

 

อาการของคุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์

  1. มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
    แน่นอนว่าการมีอีกชีวิตน้อยๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ ย่อมทำให้คุณแม่ต้องการพลังงานและสารอาหารมาเพื่อดูแลลูกในท้องเพิ่มขึ้น
  2. มีอาการปวดบริเวณสีข้าง เพราะมดลูกกำลังขยายตัว
    การที่ทารกในครรภ์เติบโตขยายขนาดขึ้น ย่อมทำให้มดลูกต้องขยายตามด้วย ทำให้ภาระตกอยู่ที่หลังและสีข้างที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงสรีระของคุณแม่
  3. เส้นผมหนาขึ้น
  4. ท้องผูก
    เพราะมดลูกที่ขยายตัวไปเบียดอยู่กับอวัยวะอื่น เช่น ลำไส้ จึงทำให้คุณแม่ที่กำลังตังครรภ์จะมีอาการท้องผูกบ่อย
  5. หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น และอาจมีอาการคัดหน้าอก
  6. อาจจะมีอาการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย
    เพราะภูมิคุ้มกันของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนแอลง จึงทำให้คุณแม่อาจจะป่วย ด้วยอาการติดเชื้อได้ง่าย

 

อาการของคุณแม่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์

 

คุณแม่มีอาการที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

1. นอนไม่หลับ

อาจเกิดจากการที่ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ในเวลากลางคืน และท่านอนไม่สะดวก ไม่สบายตัว ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากการนอนหลับให้เพียงพอมีความสำคัญต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในระหว่างตั้งครรภ์

 

2. มีเลือดออกจากช่องคลอด

อาการนี้อาจจะเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

3. มีอาการแพ้ท้อง

เนื่องจากในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่ปรับสมดุลได้แล้ว จึงมักจะไม่มีอาการแพ้ท้องปรากฏขึ้นแล้ว แต่หากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องรุนแรง จนไม่สามารถทานอาหารได้ หรือมีน้ำหนักตัวลดลง ควรไปปรึกษาคุณหมอเพราะอาจเป็นอีกสาเหตุของอาการขาดสารอาหารของคุณแม่และเด็กได้

 

4. มีอาการน้ำเดิน

หรือน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เนื่องจากอาการน้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก เป็นสัญญาณหนึ่งของกระบวนการคลอด อาการนี้ปกติจะเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดคลอด โดยเป็นสัญญาณของการเริ่มคลอด แต่หากมีอาการน้ำเดินก่อนอายุครรภ์ที่เหมาะสม คุณแม่ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

 

5. อาการอื่น ๆ

คุณแม่อาจมีอาการอื่น ๆ แทรกเข้ามาได้ เช่น มีไข้ ไอธรรมดา คุณแม่ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน เนื่องจากหลายอาการสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นก่อนเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติในการตั้งครรภ์ได้ และที่สำคัญคือไม่ควรหาซื้อยามาทานเอง เพราะยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์ได้ด้วย

 

อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกอายุ 14 สัปดาห์ ที่ยังเป็นตัวอ่อนภายในครรภ์ จะมีขนาดตัวประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 43.09 กรัมเท่านั้นเอง ขนาดประมาณนี้ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่าย ลูกน้อยของคุณในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ จะมีขนาดประมาณลูกพีชลูกหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ 14 นี้ ลูกน้อยในครรภ์อาจจะเริ่มเตะท้องคุณแม่บ้างแล้ว ซึ่งคุณแม่บางส่วนเท่านั้นที่อาจจะรู้สึกได้ในตอนนี้ และลูกน้อยก็เริ่มจะปัสสาวะได้แล้ว เนื่องจากไตของทารกพัฒนาและเริ่มใช้งานได้แล้วอีกด้วย

 

พัฒนาการโดยรวมของทารกในครรภ์อายุ 14 สัปดาห์

  • ลูกน้อยจะขยับตัว หรือเตะท้องคุณแม่เบา ๆ บ้างแล้ว ซึ่งคุณแม่ส่วนหนึ่งที่จะรู้สึกได้
  • เด็กทารกจะเริ่มมีไตที่พัฒนาสมบูรณ์และใช้งานได้แล้ว
  • ตับของทารกจะเริ่มผลิตน้ำดีได้แล้ว
  • ม้ามของทารกเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เองแล้ว

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์

1. ออกกำลังกายเบาๆ

คุณแม่สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่น โยคะ หรือ การออกกำลังกายในน้ำ เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ไม่อันตราย และมีความเสี่ยงที่จะกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องได้ยาก จึงเหมาะจะเป็นการออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ในช่วงไตรมาสแรก

 

2. การแช่น้ำร้อน ผ่อนคลาย

การแช่น้ำร้อนช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้ เนื่องเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและช่วยคลายกล้ามเนื้อหลายส่วนร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้หลับสบายด้วย แต่ไม่ควรแช่น้ำร้อนจัด หรือแช่น้ำร้อนนานเกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และเด็กได้ เช่น อาจทำให้เกิดอาการความดันต่ำ วิงเวียนศีรษะและหน้ามืดได้

 

สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่แตกต่างจากช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรกอย่างชัดเจน คุณแม่จึงควรรับรู้อาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ 14 นี้ พร้อมทั้งดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงต้องระมัดระวังอาการผิดปกติหรืออาการแทรกซ้อนซึ่งอาจจะนำไปสู่อันตรายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. Week 14, NHS
  2. 14 Weeks Pregnant, American Pregnancy Association
  3. พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์, hellokhunmor
  4. 14 Weeks Pregnant: Symptoms, Tips, and More, healthline
  5. สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์ : พบหมอรามาฯ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  6. ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, hellokhunmor

อ้างอิง ณ วันที่ 11 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ คนท้องเจ็บสะดือ ลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไหม

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ คนท้องเจ็บสะดือ ลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไหม

เจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตั้งครรภ์ อันตรายไหม อาการคนท้องเจ็บสะดือ เกิดจากสาเหตุอะไร อาการที่ชัดเจนต้องเจ็บลักษณะไหน คนท้องเจ็บสะดือแบบไหนอันตรายกับลูกในครรภ์

อาหารว่างสำหรับคนท้อง คนท้องหิวบ่อย กินขนมคนท้องอะไรได้บ้าง

อาหารว่างสำหรับคนท้อง คนท้องหิวบ่อย กินขนมคนท้องอะไรได้บ้าง

เมนูอาหารว่างสำหรับคนท้อง ขนมที่คนท้องกินได้ระหว่างวัน ช่วยบำรุงครรภ์และดีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง อาหารว่างสำหรับคนท้องแบบไหนดีกับคุณแม่ท้องและลูกในครรภ์ ไปดูกัน

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง คุณแม่ท้องกลมท้องแหลม บอกอะไรได้บ้าง

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง คุณแม่ท้องกลมท้องแหลม บอกอะไรได้บ้าง

ท้องกลมท้องแหลมดูยังไง ลักษณะหน้าท้องของคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน เพราะอะไร จะได้ลูกสาวหรือลูกชายดูจากท้องกลมท้องแหลมได้จริงไหม เป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์

ท้องแตกลายช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ดูแลผิวหน้าท้องยังไงได้บ้าง

ท้องแตกลายช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ดูแลผิวหน้าท้องยังไงได้บ้าง

ท้องแตกลายลายตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร หน้าท้องแตกลาย ผิวไม่เรียบเนียนช่วงตั้งท้อง ผิวที่หน้าท้องคุณแม่จะเป็นอย่างไร พร้อมวิธีลดอาการท้องแตกลายจากการตั้งครรภ์