อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
คุณแม่ท้องแก่ ใกล้คลอดแล้ว ท้อง 37 สัปดาห์ เป็นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์เดือนที่ 9 คุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นว่าขนาดครรภ์มีการลดระดับต่ำลง นั่นก็เพราะว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้ส่วนของศีรษะไปอยู่ในตำแหน่งช่องเชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงความสบายตัวเนื่องจากหายใจได้อิ่มขึ้น และในสัปดาห์นี้คุณแม่จะมีอาการท้องแข็งบ่อยมากขึ้น ปวดปัสสาวะเข้าห้องน้ำถี่ขึ้น และมีอาการเท้าบวมด้วย
PLAYING: อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- ท้อง 37 สัปดาห์ ขนาดครรภ์จะมีการลดระดับต่ำลง เพราะทารกในครรภ์เริ่มขยับร่างกายเคลื่อนเอาศีรษะลงไปยังตำแหน่งช่องเชิงกรานคุณแม่
- ท้อง 37 สัปดาห์ คุณแม่จะมีอาการท้องแข็งจากการบีบรัดตัวของมดลูก สามารถสังเกตระดับของการเจ็บท้องได้ว่าเป็นการเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องจริง
- ท้อง 37 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาว 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 2,800-3,000 กรัม สามารถเทียบได้เท่ากับขนาดของลูกตุ้มดัมเบล
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท้อง 37 สัปดาห์ คลอดได้หรือไม่
- เจ็บท้องหลอกช่วงท้อง 37 สัปดาห์ คืออะไร
- อาการคนท้อง 37 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 37 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์
ท้อง 37 สัปดาห์ คลอดได้หรือไม่
เพื่อความสมบูรณ์ของครรภ์ ทางการแพทย์จะกำหนดให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถคลอดได้อย่างปลอดภัยในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 38-39 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถ้าหากคุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์แล้วมีการคลอดลูก จะถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะมีสัญญาณเตือน ที่แนะนำว่าควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ดังนี้
- ปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือน
- มดลูกบีบตัวทุก ๆ 30 นาที
- ปวดท้องลามไปที่หลังร้าวไปจนถึงบริเวณก้นกบ
- ปวดหน่วง ๆ ในอุ้งเชิงกราน
- ช่องคลอดมีน้ำไหล และมูกปนเลือดออกมา
เจ็บท้องหลอกช่วงท้อง 37 สัปดาห์ คืออะไร
เจ็บท้องหลอกหรืออาการท้องแข็งเป็นการเจ็บท้องที่คุณแม่ตั้งครรภ์แรก เกิดความสงสัยกันมากว่าจะใช่สัญญาณเตือนอาการใกล้คลอดหรือเปล่า ในคุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ หากมีอาการเจ็บท้องลักษณะนี้ เรียกว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก ยังไม่ใช่อาการเจ็บท้องจริง
- มดลูกบีบรัดตัว จนรู้สึกเจ็บหน้าท้อง โดยระยะเวลาและความแรงจะไม่สม่ำเสมอ
- ปวดท้องเบา ๆ และปวดห่าง ๆ ไม่ปวดถี่
- บริเวณช่องคลอดไม่มีมูกเลือด
- เมื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกเดินช้า หรือนอนพัก แล้วอาการปวดท้องหายไป
อาการคนท้อง 37 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
ท้อง 37 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีอาการปกติเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หรืออาจเริ่มมีอาการมาจากอายุครรภ์ก่อนหน้านี้แล้ว และอาการมีต่อเนื่องมาจนอายุครรภ์ในไตรมาสที่ 3 นี้
1. แสบร้อนกลางอก
คุณแม่มีอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อน อาการนี้มักเริ่มเป็นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ไตรมาสแรก ช่วง 6-12 สัปดาห์เรื่อยมาจนถึงอายุครรภ์ไตรมาสที่ 3 สาเหตุมาจากฮอร์โมนมีการปรับเปลี่ยน และบริเวณช่องท้องของคุณแม่มีการขยายไปตามขนาดตัวทารกที่เติบโตขึ้นแล้วไปเบียดกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดกรดไหลย้อนขึ้นมา อาการแสบร้อนกลางอกมักจะเป็นขึ้นมาหลังจากคุณแม่รับประทานอาหารอิ่ม
2. นอนไม่ค่อยหลับ
คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์จะรู้สึกว่านอนไม่สบาย นอนหลับไม่สนิท นอนหลับได้ยากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มักมาจากการที่มีการขยายตัวของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยและถี่ขึ้น จนไปรบกวนช่วงเวลาการนอนหลับได้ นอกจากนี้ครรภ์ที่ขนาดใหญ่ ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อยร่างกาย ทำให้นอนหลับได้ยากด้วยเช่นกัน
3. ท้องแข็งบ่อย
คุณแม่มีอาการท้องแข็งได้บ่อยขึ้นตั้งแต่ช่วงท้อง 37 สัปดาห์นี้ อาการท้องแข็งมาจากมดลูกมีการบีบรัดตัว ที่เป็นสัญญาณเตือนในช่วงระยะใกล้คลอด เมื่ออาการท้องแข็งเกิดขึ้นกับคุณแม่ ให้แยกอาการปวดได้ดังนี้
- ท้องแข็ง เจ็บท้องหลอก
- ปวดท้องไม่มาก ปวดไม่ถี่
- ช่องคลอดไม่มีมูกเลือดไหลออกมา
- อาการปวดท้องหายไป หลังจากคุณแม่นอนพัก หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ
- ท้องแข็ง เจ็บท้องจริง
- ปวดท้องสม่ำเสมอ ปวดแรงและถี่ขึ้นจากปวดทุก 15 นาที เป็นปวดทุก 5 นาที ถึง 10 นาที
- นอนพัก หรือเปลี่ยนอิริยาบถ อาการปวดก็ไม่ดีขึ้นหรือหายไป
- ช่องคลอดมีมูกปนเลือดออกมา
4. รอยแตกลาย
เกิดจากที่น้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ผิวหนังช่วงบริเวณหน้าท้องเกิดการยืดขยายขึ้นอย่างกระทันหัน ซึ่งรอยแตกลายจะมีสีเข้มขึ้น หนาขึ้นไปตามอายุครรภ์ของคุณแม่
5. ปวดหลัง
ท้อง 37 สัปดาห์ อายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นคุณแม่ก็จะยิ่งปวดหลังมาก เพราะกระดูกสันหลังของคุณแม่จะแอ่นมากขึ้นจากการรับน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดหลังได้
6. หิวมากเป็นพิเศษ
คุณแม่จะรู้สึกหิวบ่อย และรับประทานอาหารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร่างกายมีความต้องการพลังงานที่มากกว่าปกติ เพราะส่วนหนึ่งต้องแบ่งส่งต่อพลังงานไปให้ทารกในครรภ์ด้วยนั่นเอง
ท้อง 37 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ จะมีขนาดครรภ์ที่ใหญ่เพิ่มขึ้น แต่ช่วงบนของหน้าท้องจะลดลง ต่ำลง เพราะว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนร่างกายโดยให้ส่วนของศีรษะไปอยู่ในตำแหน่งช่องเชิงกรานของคุณแม่
ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 37 สัปดาห์มีขนาดร่างกายที่ใหญ่ขึ้น เปรียบเสมือนลูกตุ้มดัมเบล หรือประมาณ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 2,800-3,000 กรัม
ในช่วงนี้ทารกในครรภ์เริ่มมีการขยับเคลื่อนร่างกายให้มาอยู่ในตำแหน่งอุ้งเชิงกรานใกล้กับปากมดลูก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรอคลอด ที่สำคัญคือคุณแม่ก็พร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลาค่ะ
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 37 สัปดาห์
- ผมบนศีรษะของทารกยาวขึ้นประมาณ 3-5 เซนติเมตร
- เล็บมือและเล็บเท้ามีความยาวขึ้น
- ผิวหนังทารกเป็นสีชมพู และเหี่ยวย่นลดลง
- ระบบย่อยอาหารและลำไส้มีการผลิตขี้เทา
- ทารกกำมือได้แล้ว
- ทารกเริ่มมีการขมวดคิ้ว และยิ้ม
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์
เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดก่อนคลอด ในช่วงท้อง 37 สัปดาห์นี้ไปจนกว่าจะคลอด คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้ตามคำแนะนำ
1. ออกกำลังกายเบา ๆ
สำหรับการออกกำลังกายในอายุครรภ์ระหว่างไตรมาสที่ 3 นี้ จะเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เฉพาะส่วน ได้แก่ การว่ายน้ำ การเดิน การเล่นโยคะสำหรับคนท้อง เป็นต้น (การออกกำลังกายควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน)
2. ทำจิตใจให้แจ่มใส
ระหว่างนี้คุณแม่ควรดูแลกายและใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด ซึ่งหากคุณแม่มีความกังวลและความเครียดเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เช่น มีการคลอดก่อนกำหนด และส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง และความดันในเลือดสูง เป็นต้น
3. แบ่งอาหารทาน วันละ 5-6 มื้อ
ไม่แนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารต่อมื้อในปริมาณที่มาก การรับประทานมื้ออาหารต่อวันในคนท้องที่เหมาะสม ควรแบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ มีปริมาณอาหารน้อย ๆ และเพิ่มจำนวนมื้ออาหารขึ้น
ก่อนที่คุณแม่จะคลอดลูก แนะนำให้ดูแลเช็กเต้านมเพื่อให้พร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับนมที่มีหัวนมปกติจะต้องมีความยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร หากเช็กแล้วหัวนมสั้นกว่า 0.7 เซนติเมตร จะเรียกว่าหัวนมสั้น แต่ถ้าหากหัวนมบุ๋ม หรือจับดึงออกแล้วไม่ยื่นออก แสดงว่าหัวนมคุณแม่สั้น ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ สามารถขอคำแนะนำการให้นมลูกรายบุคคลหลังจากคลอดลูกแล้วจากแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญห้องเนอสเซอรี่ของโรงพยาบาลที่คุณแม่คลอดลูกได้
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสมองการเรียนรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง และมีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดีสมวัย ในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ดีต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโต และมีสารอาหารสมองที่ดีต่อการเรียนรู้ของลูก อย่างสฟิงโกไมอีลินและดีเอชเอ และ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโพรไบโอติก แนะนำคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 39 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 40 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- เจ็บครรภ์คลอด…ไปโรงพยาบาลตอนไหนดี, โรงพยาบาลสินแพทย์
- ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, MedPark Hospital
- ไม่ดีแน่… ถ้าปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสู้กับ “กรดไหลย้อน”, โรงพยาบาลเปาโล
- เคล็ดลับการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- ตั้งครรภ์ ท้องแข็งคืออะไร ต้องทำเช่นไร?, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผิวแตกลายในหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คุณแม่ตั้งครรภ์กับอาการปวดหลัง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คุณแม่ตั้งท้อง กินอย่างไรไม่ให้อ้วน, โรงพยาบาลพญาไท
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, helloคุณหมอ
- เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- กินอย่างไร ให้แม่ท้องหุ่นไม่พัง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- เตรียมความพร้อมเต้านมคุณแม่ ก่อนคลอด สำคัญอย่างไร ?, โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
- ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด เป็นอย่างไร, helloคุณหมอ
อ้างอิง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ
คลอดลูก คุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อม...แบบที่ใช่
เพราะยิ่งช่วงเวลาใกล้ คลอดลูก น้อย สำหรับว่าที่คุณแม่หลายท่าน ส่วนใหญ่จะมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกสุขภาพ และการเตรียมของไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ควรเตรียมอะไรก่อนหรือหลัง และทำอะไรก่อนดี หากคุณเป็นหนึ่งในนั้นก็ไม่ต้องเครียดไป นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมก่อน คลอดลูก เตรียมร่างกายให้พร้อม..!!