คนท้องมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม แบบไหนไม่อันตราย
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่คงหวังจะดูแลร่างกายให้ปลอดภัยและบำรุงด้วยสิ่งดี ๆ แต่หนึ่งในกิจกรรมที่คุณแม่อาจจะเกิดคำถามขึ้นว่าควรหลีกเลี่ยงหรือเปล่า คือการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่วิตกกังวลเกรงจะเกิดอันตรายกับลูกในครรภ์จนไม่มีความสุข บทความนี้ตั้งใจเขียนเพื่อให้ความรู้ และเป็นประโยชน์ให้คุณแม่และคุณพ่อเพื่อทำความเข้าใจ มั่นใจได้ว่ามีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในระหว่างการตั้งครรภ์
สรุป
- หากร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ได้รับคำวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยง การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปลอดภัยค่ะ
- ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เป็นไปได้ที่จะมีความรู้สึกทางเพศลดลง เพราะว่าความกังวล ความเหนื่อย และฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ มีอาการแพ้ท้อง ความไม่สบายกายเหล่านี้ล้วนมีผลให้ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าจัดการอารมณ์ได้ ก็สามารถมีความสุขทางเพศในช่วงนี้ได้
- ช่วงที่ดีที่สุดซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข คือช่วงไตรมาสที่ 2 เมื่อฮอร์โมนเริ่มเข้าที่เข้าทาง และหน้าท้องยังไม่โตมาก
- ท่าที่ควรหลีกเลี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง คือ ท่านอนหงาย (มิชชันนารี) เพราะทำให้เกิดการกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คนท้องมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม จะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า ?
- ลักษณะแบบไหนที่บอกว่าคุณแม่มีความเสี่ยง
- มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ถึงเดือนไหน
- หลั่งในตอนท้องอันตรายไหม ส่งผลอะไรกับคุณแม่บ้าง
- ท้องไตรมาสแรก มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ไหม
- ความต้องการทางเพศของคนท้องจะลดลงตอนไหน
- ท่าในการมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง รับรองว่าปลอดภัย
- คนท้องไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ท่าไหนบ้าง
- อาการแบบไหน ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง
คนท้องมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม จะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า ?
- หากร่างกายไม่ได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอว่ามีความเสี่ยง และแข็งแรงดี ในการตั้งครรภ์ปกติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้ จนกระทั่งก่อนครบกำหนดคลอด 1 เดือน
- ตัวลูกน้อยนั้นได้รับการปกป้องจากของเหลวในถุงน้ำคร่ำ กล้ามเนื้อหน้าท้องและผนังกล้ามเนื้อของมดลูก ลูกน้อยจะแข็งแรงและปลอดภัยดี
- อย่างไรก็ตามมีบันทึกว่าคุณหมอหลายท่านแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะเชื่อว่าฮอร์โมนในน้ำอสุจิที่มีชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) จะกระตุ้นการเกร็งตัว และอาจทำให้เกิดการปวดท้องคลอดได้
ลักษณะแบบไหนที่บอกว่าคุณแม่มีความเสี่ยง
สำหรับคุณแม่ที่มีลักษณะต่อไปนี้ มีความเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ และรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถึงจุดสุดยอดหรือมีความสุขทางเพศที่ไม่ใช่ลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ
- ได้รับคำวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงที่จะแท้งหรือมีประวัติการแท้งในอดีต
- ได้รับคำวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- มีเลือดออกทางช่องคลอด มีตกขาว หรือเป็นตะคริวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ได้รับคำวินิจฉัยว่าถุงน้ำคร่ำมีของเหลวรั่วหรือมีเยื่อหุ้มร้าว
- ปากมดลูกเปิดเร็ว
- รกเกาะในมดลูกต่ำเกินไป (รกเกาะต่ำ)
- ตั้งท้องลูกแฝด หรือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนในคราวเดียว
มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ถึงเดือนไหน
ถ้าหากไม่มีความเสี่ยงและมีความสุขดี การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าคุณแม่จะอยากทำกิจกรรมนี้หรือเปล่าด้วย เพราะในบางคน บางช่วงของการตั้งครรภ์อาจมีอาการแพ้ท้อง อึดอัด ความไม่สบายตัวอาจไปลดความต้องการทางเพศลง แต่ถ้าเป็นในแง่ความปลอดภัยไม่ได้เป็นปัญหา
- คุณแม่ที่ถึงจุดสุดยอดในระหว่างตั้งครรภ์จะได้รับประโยชน์จากฮอร์โมน จะทำให้รู้สึกสงบและมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่ม เป็นประโยชน์ที่ส่งต่อไปถึงลูกน้อยในท้องด้วย
ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางราย พบว่าช่องคลอดหล่อลื่นดีขึ้น หรือในบางคนจะพบว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแน่นขึ้น การเล้าโลมและปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อจะช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์ราบรื่น - การไหลเวียนของเลือดและฮอร์โมน อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านอ่อนไหวและถึงจุดสุดยอดได้ง่าย แต่ไม่ได้เป็นตลอด อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
- อวัยวะเพศและร่างกายจะมีความรู้สึกไวขึ้น อ่อนไหวต่อสัมผัสมากขึ้น
หลั่งในตอนท้องอันตรายไหม ส่งผลอะไรกับคุณแม่บ้าง
- อสุจิที่หลั่งออกมา และสเปิร์ม ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยค่ะ
- ความมั่นใจของคุณแม่และคุณพ่อ คือ รก ถุงน้ำคร่ำ และมูกที่ปกคลุมปากมดลูกไว้ ลูกน้อยมีระบบป้องกันเฉพาะที่เจาะจงเพื่อดูแลเขาและป้องกันสิ่งที่จะเข้าไปถึงหรือออกมาได้ การปกป้องนี้ยังทำให้ลูกน้อยไม่ได้สัมผัสกับอวัยวะเพศของคุณพ่อด้วย ไม่ว่าจะสอดลึกเข้าไปแค่ไหนก็ตาม
ท้องไตรมาสแรก มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ไหม
- หากคุณแม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากทางสูตินรีแพทย์แล้วว่า สุขภาพครรภ์นั้นแข็งแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีความเสี่ยงใด ๆ คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงระยะใกล้คลอดหากไม่มีอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์หรืออยู่ในกลุ่มของการตั้งครรภ์เสี่ยง
- จะมีบางช่วงเวลาเท่านั้นที่ควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลง คือ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (1-3 เดือน) ที่คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะหรือไม่สบายตัว กับอีกช่วงคือช่วงหนึ่งเดือนก่อนคลอด ที่สรีระของคุณแม่ไม่อำนวย ท้องโต อุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวลำบาก เหนื่อยง่าย การมีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้คงไม่เหมาะ
- ย้ำถึงความกังวล ถ้าคุณแม่กับคุณพ่อจัดการได้ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ เพราะจริง ๆ แล้วหากไม่มีความเสี่ยงตามที่คุณหมอวินิจฉัย การมีเพศสัมพันธ์ตอนท้องไตรมาสแรกคือปลอดภัย
ความต้องการทางเพศของคนท้องจะลดลงตอนไหน
- ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถ้าไม่รู้สึกว่าลดลงก็ไม่ผิดปกติ
- โดยทั่วไป จากการที่สภาพร่างกายในไตรมาสแรกที่ฮอร์โมนปรับเปลี่ยน และเหนื่อยล้า รวมถึงอาการแพ้ท้อง กับสภาพร่างกายในไตรมาสที่ 3 ที่คุณแม่อาจอุ้ยอ้ายและหน้าท้องใหญ่ขึ้น อาจจะทำให้ไม่สะดวกสบายตัวจนทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้
- ช่วงที่คุณแม่ปรับตัวได้และพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติที่สุด มักเป็นช่วงไตรมาสที่ 2
ท่าในการมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง ที่ปลอดภัย
- ท่าร่วมรักจากด้านหลัง คุณแม่คุกเข่าโค้งตัวไปด้านหน้า ท่านี้จะช่วยลดแรงกดทับบริเวณหน้าท้องรอบด้าน ช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกสบายตัวมากขึ้น
- ท่าที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ด้านบน หันหน้าหาคุณพ่อ มองดูกัน ท่านี้ทำให้ความพึงพอใจทางเพศเพิ่มขึ้น คุณแม่สามารถปรับเอนตัวได้สบาย เอนหลังไปเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักหน้าท้องดึงตัวก้มลงไป
- ท่านอนซ้อนในการร่วมรัก ท่านี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังปลอบโยนกัน ระหว่างอยู่ในท่านี้ให้แตะคริตอริสเสมอ เพราะจะเป็นการเพิ่มความสุข และการที่คุณพ่อจับสัมผัสหน้าท้องของคุณแม่ยังทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจด้วย
- ท่าควบแบบคาวบอยสาว คุณแม่อยู่บน หันหน้าออก คุณพ่อชันขาขึ้น ท่านี้ทำให้คุณแม่เอนหลังไปได้ หน้าท้องไม่เป็นปัญหาต่อความสุขทางเพศ และคุณพ่อสามารถช่วยประคองตัวคุณแม่ไว้ด้วยได้
- ท่ายืน คุณพ่ออยู่ด้านหลังและคุณแม่ยื่นมือยันกำแพง ใช้ได้ในอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ค่ะ แต่หลังจากนั้นอาจจะพบว่ามีปัญหาในการทรงตัว
คนท้องไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ท่าไหนบ้าง
- ท่านอนหงาย (มิชชันนารี) ช่วงหลัง 20 สัปดาห์ การนอนหงายลงไปจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้ไม่สบายตัว
- ท่ายืน ช่วงหลัง 20 สัปดาห์หรือรูปร่างของคุณแม่เปลี่ยนแปลง หน้าท้องโตขึ้นมา การยืนจะทำให้เสียสมดุลได้
อาการแบบไหน ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตอนท้อง
1. มีเลือดออกผิดปกติ
ภาวะเลือดออก ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่อาการที่ทำให้ต้องตื่นตระหนกเสมอไป สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอด ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และปรึกษาคุณหมอ ถ้ามีเลือดออกร่วมกับอาการปวดท้อง ตะคริว มีไข้ หรือหนาวสั่น ต้องรีบไปพบคุณหมอทันที อาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่นที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
2. ปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องส่วนล่างอาจเกิดจากหลายปัจจัย รวมถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ก๊าซในช่องท้อง และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการปวดหรือตะคริวอย่างรุนแรงที่ไม่หายไปอาจเป็นสัญญาณของปัญหาร้ายแรง เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
3. เจ็บท้องหลอก
คุณแม่ต้องเข้าใจว่าความเจ็บปวดควรได้รับการประเมินโดยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ความเจ็บปวดอาจเป็นสัญญาณของสภาวะต่าง ๆ ได้ และไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะแยกแยะระหว่างสาเหตุที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงหากไม่มีการประเมินทางการแพทย์
4. แพ้ท้องรุนแรง
อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า Hyperemesis Gravidarum เป็นภาวะที่ส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์บางราย ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงได้ อาการนี้สามารถนำไปสู่การขาดน้ำและน้ำหนักลด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และความสามารถของทารกในการเจริญเติบโต ระหว่างแพ้ท้องอยู่นี้คุณแม่อาจจะไม่ค่อยอยากมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ เป็นเรื่องปกติ
5. เคยแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหาเดิมวนกลับมาซ้ำค่ะ
บทความนี้ตอบคำถามไปแล้วนะคะ หลัก ๆ คือ คนท้องมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม หรือ หลั่งในตอนท้องอันตรายไหม และมอบข้อแนะนำดี ๆ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้คุณแม่ลองปรึกษากับคุณพ่อ และดำเนินกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยความสบายใจ มั่นใจ มีความกังวลหรือเครียดน้อยลงในแต่ละวัน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- การผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที พร้อมข้อดี-ข้อเสีย คลอดเองกับผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้ฟื้นตัวไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด แผลคลอดธรรมชาติ ดูแลยังไงให้ปลอดภัย
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้างช่วยให้แผลหายเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- Sex During and After Pregnancy, WebMD
- Will It Hurt the Baby? Plus 9 More Questions About Safe Pregnancy Sex, Healthline
- What Happens to Sperm in a Pregnant Woman?, Healthline
- Can Sex in the First Trimester Cause Miscarriage? Early Pregnancy Sex Questions, Healthline
- ระหว่างตั้งครรภ์… คุณแม่มีเซ็กซ์ได้หรือไม่, โรงพยาบาลเปาโล
- 10 Comfortable Pregnancy Sex Positions for Every Trimester, Illustrated, Healthline
- Bleeding During Pregnancy, WebMD
- Low Belly Pain When Pregnant: Causes and Treatments, Medical News Today
- Stomach pain in pregnancy, National Health Service
- Severe Morning Sickness (Hyperemesis Gravidarum), KidsHealth
- มีเพศสัมพันธ์ช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- คุณแม่ตั้งครรภ์กับการมีเซ็กส์, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567
บทความแนะนำ
คลอดลูก คุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อม...แบบที่ใช่
เพราะยิ่งช่วงเวลาใกล้ คลอดลูก น้อย สำหรับว่าที่คุณแม่หลายท่าน ส่วนใหญ่จะมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกสุขภาพ และการเตรียมของไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ควรเตรียมอะไรก่อนหรือหลัง และทำอะไรก่อนดี หากคุณเป็นหนึ่งในนั้นก็ไม่ต้องเครียดไป นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมก่อน คลอดลูก เตรียมร่างกายให้พร้อม..!!