ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

08.05.2024

ท้องไตรมาสที่ 3 นั่นหมายถึง ระหว่างช่วงสัปดาห์ที่ 29 ถึงสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ หรือนับโดยคร่าว ๆ คือช่วงเดือนที่ 7-9 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว ลูกน้อยจะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้คุณแม่อาจจะมีอาการไม่สบายตัว เช่น กรดไหลย้อน หรือ นอนไม่หลับ ซึ่งสามารถดูแลแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรืออาจปรึกษาแพทย์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องรู้ว่าควรดูแลตัวเองอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึงหลังจากนี้ หรือในกรณีที่ไม่คาดฝัน การคลอดก่อนกำหนด อาจสามารถเกิดขึ้นได้ การที่คุณแม่รับรู้สภาพร่างกายของตัวเอง รู้สัญญาณที่จะบ่งบอกถึงอาการไม่พึงประสงค์ จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายจากการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย

headphones

PLAYING: ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 นี้ ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพร่างกายของลูกน้อยที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และอาการต่าง ๆ ของคุณแม่จะเปลี่ยนไปจากช่วงไตรมาสที่ 2 ด้วยเช่นกัน เช่น อาการกรดไหลย้อน และนอนไม่หลับ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นจนอาจรบกวนการใช้ชีวิตได้
  • ลูกน้อยในท้องของคุณแม่ ไตรมาสที่ 3 จะมีขนาดตัวประมาณ 37.6 เซนติเมตร ในช่วง 28 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ เติบโตจนมีขนาดราว 50.7 เซนติเมตร ในช่วงสัปดาห์ที่ 39 หรือช่วงใกล้ครบกำหนดคลอด สมองยังคงเจริญเติบโต เพิ่มขึ้น ไตและปอดจะเริ่มพร้อมใช้งาน ผิวหนังจะเจริญเติบโตเต็มที่ และมีขนอ่อน ๆ งอกขึ้นมาบ้างแล้ว
  • การดูแลตัวเองของคุณแม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ยังคงใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสที่ 2 เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารประเภทโปรตีนและแคลเซียม ที่นอกจากจะเป็นสารอาหารสำหรับลูกน้อยแล้ว ยังช่วยส่งเสริมกระดูกของคุณแม่ในขณะที่ร่างกายมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย และต้องดูแลเพิ่มเติมในส่วนของการเตรียมตัวคลอด
  • ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเตรียมตัวคลอด ซึ่งประกอบไปด้วยการเตรียมเอกสารสำคัญต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ไปพบแพทย์ตามนัด และเตรียมสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมตลอดเวลา หากถึงเวลาคลอดหรือคุณแม่มีอาการของการคลอดก่อนกำหนดก็สามารถไปโรงพยาบาลได้ทันที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ช่วงท้องไตรมาสที่ 3 ร่างกายของคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง

ท้องไตรมาสที่ 3 หากคำนวณคร่าว ๆ ก็หมายถึงการตั้งครรภ์ในช่วง 29-40 สัปดาห์โดยประมาณ ซึ่งร่างกายของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และขนาดของทารกที่ใหญ่ขึ้น อาจทำให้คุณแม่มีอาการต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตต่ำ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการนี้จะบรรเทาเมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 รวมถึงอาการปวดหลัง อึดอัด ไม่สบายตัว เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่อาจจะต้องปรับท่านั่ง ท่าเดิน หรือท่านอนเพื่อให้สบายตัวขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการกรดไหลย้อนจากการที่ครรภ์กำลังขยายตัวต้องแบ่งพื้นที่กับอวัยวะอื่น ๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร และคุณแม่อาจมีอาการนอนไม่หลับ ขาเป็นตะคริว ปวดหลัง ปวดปัสสาวะบ่อยครั้งร่วมด้วย

 

ท้องไตรมาสที่ 3 ลูกน้อยในท้องเติบโตอย่างไรบ้าง

ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7 ถึง 9 ลูกน้อยของคุณแม่จะมีขนาดตัวประมาณ 37.6 เซนติเมตร และจะเติบโตขึ้นอีกในช่วงเดือนที่ 8 และ 9 โดยเปรียบเทียบได้ประมาณเท่ากับผักกาดหัวใหญ่ ๆ 

 

ทารกในท้องจะมีอวัยวะสำคัญที่เริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว เริ่มมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนังในช่วงเดือนที่ 7 และจะเริ่มกลับหัวลงไปทางปากมดลูกในเดือนที่ 8 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด 

 

พัฒนาการของลูกน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 มีดังนี้

  • มีขนาดตัวประมาณ 37.6 เซนติเมตร ขนาดพอ ๆ กับผักกาดหัวใหญ่ ๆ ในเดือนที่ 7 และจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้ประมาณ 50 เซนติเมตรในช่วงก่อนคลอด
  • อวัยวะสำคัญเริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว
  • ทารกจะเริ่มกลับหัว เพื่ออยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว ในช่วงเดือน 8 เป็นต้นไป

 

อาการที่คุณแม่ต้องประสบ ช่วงท้องไตรมาสที่ 3

อาการที่จะพบได้ในช่วงนี้ เช่น

  1. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. ปวดหลัง ปวดขา เพราะท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นจนทำให้คุณแม่อาจเดินเหินไม่สะดวก
  3. ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ
  4. เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ อึดอัด ไม่สบายตัว
  5. ปวดปัสสาวะบ่อยครั้ง
  6. ขาเป็นตะคริว
  7. อาจมีอาการกรดไหลย้อน

 

สภาวะอารมณ์ของคุณแม่ท้องไตรมาสที่ 3

นอกจากสภาวะไม่ปกติทางร่างกายแล้ว คุณแม่บางคนอาจจะมีอาการอารมณ์ไม่คงที่ วิตกกังวล เช่น กังวลเรื่องการคลอด กลัวการคลอด อาจทำให้สุขภาพของคุณแม่อาจแย่ลง ซึ่งส่งผลต่อลูกน้อยด้วยเช่นกัน การดูแลเอาใจใส่ของคุณพ่อ หรือผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวเป็นสิ่งที่สามารถช่วยดูแลสภาพจิตใจของคุณแม่ได้

 

สภาวะอารมณ์ของคุณแม่ท้องไตรมาสที่ 3

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าใกล้คลอด

สัญญาณที่ร่างกายคุณแม่แสดงขึ้นเพื่อเตือนหรือบ่งบอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว เช่น มีอาการท้องแข็ง น้ำคร่ำแตก มีอาการปวดท้องคลอด เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

 

การฝึกหายใจสำหรับเตรียมคลอด สำคัญอย่างไร

ปัจจุบัน การหัดฝึกการหายใจสำหรับตอนคลอด ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเตรียมตัวคลอดเช่นกัน แม้จะไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่การฝึกหายใจแบบนี้ มีส่วนช่วยให้คุณแม่รับมือได้ดีเมื่อถึงช่วงที่เจ็บท้องคลอดจริง ๆ จะได้ไม่ตกใจจนหายใจไม่เป็นจังหวะ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีความลำบากในการคลอดเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น การฝึกนี้ หากคุณแม่มีเวลาว่างก็สามารถเริ่มหัดได้ตามคำแนะนำของแพทย์

 

คุณแม่ท้องไตรมาสที่ 3 กับการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง

  1. ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น กายบริหารในท่าที่เหมาะสมกับคนท้องในไตรมาสที่ 3 หรือเดินเล่นเบา ๆ
  2. มองหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น ฟังเพลง ทำงานอดิเรก
  3. ควรพูดคุยกับคุณพ่อ และครอบครัวให้มาก เนื่องจากสามารถลดความวิตกกังวลได้
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาจจะแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละหลาย ๆ มื้อ เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน
  5. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
  6. นอนหลับให้เพียงพอ

 

ใกล้ถึงเวลาคลอด คุณแม่ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง

  1. เอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบฝากครรภ์รวมถึงประวัติการตรวจครรภ์ รวมไปถึงประวัติโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
  2. เบอร์โทรศัพท์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เบอร์โทรโรงพยาบาล หรือเบอร์โทรคุณหมอฝากครรภ์ เบอร์โทรญาติใกล้ชิด ไว้ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
  3. ของใช้เตรียมคลอด ที่จำเป็นของคุณแม่และลูก เช่น เสื้อผ้าไว้เปลี่ยน ผ้าสะอาดสำหรับเช็ด เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม เป็นต้น



สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การท้องไตรมาสที่ 3 ก็เป็นอีกช่วงเวลาที่ท้าทายความร่วมมือและความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ไม่มากก็น้อย เพราะร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้นทุกวันของลูกน้อย ดังนั้น การที่คุณแม่มีความรู้เกี่ยวกับอาการของร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการดูแลตัวเองและเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ไว้ เพราะจะช่วยให้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาคลอด หรือหากเกิดเหตุให้ต้องคลอดก่อนกำหนด คุณพ่อคุณแม่ที่เตรียมตัวพร้อม ย่อมจะสามารถรับมือได้ดี และส่งผลให้การคลอดปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. Third Trimester, WebMD
  2. Weeks 28, nhs
  3. Weeks 39, nhs
  4. The Third Trimester, Johns Hopkins Medicine
  5. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  6. ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ > 28 สัปดาห์), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  7. การฝึกหายใจ เพื่อเตรียมตัวคลอด, โรงพยาบาลเปาโล
  8. เก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  9. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  10. Low blood pressure during pregnancy, pregnancy birth and baby

อ้างอิง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567
 

 

บทความแนะนำ

คนท้องกินชีสได้ไหม ชีสชนิดไหนปลอดภัย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินชีสได้ไหม ชีสชนิดไหนปลอดภัย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินชีสได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินชีส เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ ชีสชนิดไหนกินได้ ดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินทับทิมได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินทับทิมได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินทับทิมได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินทับทิม เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ ทับทิมดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินพิซซ่าได้ไหม เท่าไหร่ถึงพอดี อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินพิซซ่าได้ไหม เท่าไหร่ถึงพอดี อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินพิซซ่าได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินพิซซ่า เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ พิซซ่าดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินมังคุดได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินมังคุดได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินมังคุดได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินมังคุด เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ มังคุดดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก