ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

12.09.2024

ท้องแฝดหรือการตั้งครรภ์แฝด คือการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์มากกว่าครรภ์ปกติทั่วไป และอาจทำให้การตั้งครรภ์นั้นมีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดโรคต่าง ๆ การดูแลตัวเอง เตรียมพร้อมรับมือเมื่อตั้งท้องแฝดอย่างเหมาะสมถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณแม่นั้นไม่ควรละเลย

headphones

PLAYING: ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์จะมีลูกได้เพียงครั้งละ 1 คนเท่านั้น ซึ่งท้องแฝด หรือมีลูกแฝดเกิดจาก การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งเดียว แต่มีลูกพร้อมกันถึง 2 คน หรือ มากกว่า 2 คน
  • เนื่องจากฮอร์โมน เอชซีจี (hCG) นั้นเพิ่มขึ้นมากตอนตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่ท้องแฝดแสดงอาการมากกว่าคุณแม่ที่ท้องทารกคนเดียว มักจะมีอาการ คลื่นไส้มาก อาเจียนรุนแรง และจะมีขนาดของหน้าท้องที่อุ้มท้องลูกนั้นใหญ่มากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไป
  • การตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือท้องแฝดนั้น มี 2 ประเภท คือ ฝาแฝดเทียม เกิดจากไข่ 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 ตัว เข้ามาผสมพร้อมกันกับไข่ 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 ตัว แล้วมาอยู่ในท้องเดียวกัน ถุงการตั้งครรภ์คนละถุง สายรกคนละสาย แยกอวัยวะทุกส่วนออกจากกัน ส่วนฝาแฝดแท้ เกิดจากไข่ใบเดียวกัน เกิดจากที่อสุจิผสมกับไข่แล้วแบ่งตัว ทำให้เกิดเป็นแฝดที่มีหน้าตาเหมือนกัน และเพศเดียวกัน
  • คุณแม่ท้องแฝดที่มีลูกในครรภ์มากกว่า 2 คน ต้องดูแลครรภ์มากกว่าปกติ ยิ่งมีลูกในครรภ์มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ก็จะมีมากเท่านั้น การตั้งครรภ์แฝดจึงมีภาวะแทรกซ้อน เกิดความเสี่ยงมากกว่าครรภ์ปกติทั่วไป เช่น เสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ , เสี่ยงทารกในครรภ์เติบโตช้า หรือเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การตั้งครรภ์แฝดหรือท้องแฝด คืออะไร

ท้องแฝด หรือมีลูกแฝดเกิดจากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งเดียว แต่มีลูกพร้อมกันถึง 2 คน หรือ มากกว่า 2 คน ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์จะมีลูกได้เพียงครั้งละ 1 คนเท่านั้น การตั้งครรภ์แฝดหรือท้องแฝดแบบธรรมชาติจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 ใน 300 คน การตั้งครรภ์แฝดต้องระมัดระวัง ดูแลครรภ์มากกว่าปกติเพราะคุณแม่ต้องดูแลลูกน้อยในครรภ์มากกว่า 1 คน ยิ่งมีลูกในครรภ์มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ก็จะมีมากเท่านั้น

 

อาการของคุณแม่ท้องแฝด เป็นแบบไหน

อาการของคุณแม่ท้องแฝดนั้น มักจะแสดงอาการมากกว่าคุณแม่ที่ท้องทารกคนเดียว เพราะคุณแม่จะมีระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) สูงกว่าปกติ มักจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรง คลื่นไส้มาก อาเจียนรุนแรง เนื่องจากฮอร์โมน เอชซีจี (hCG) นั้นเพิ่มขึ้นมากตอนตั้งครรภ์ และจะมีขนาดของหน้าท้องที่อุ้มท้องลูกนั้นใหญ่มากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไป

 

แฝดแท้และแฝดเทียม ต่างกันอย่างไร

ฝาแฝดเทียม จะมีถุงการตั้งครรภ์คนละถุง สายรกคนละสาย มีความแข็งแรง ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ทารกฝาแฝดเทียม อาจตัวเล็กเนื่องจากมีพื้นที่ในครรภ์แม่น้อย ทำให้เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดเร็วขึ้น ส่วนฝาแฝดแท้นั้น ทารกในครรภ์ 2 คน จะมีสายรกสายเดียวกัน ซึ่งรกจะช่วยลำเลียงอาหารให้ทารก เนื่องจากมีสายรกสายเดียวกันอาจมีปัญหาในการส่งอาหารไม่ทั่วถึงกัน ทำให้ทารกคนหนึ่งอาจตัวเล็กได้รับอาหารน้อย และทารกอีกคนหนึ่งอาจได้รับอาหารมากทำให้ตัวโตกว่า

 

การตั้งครรภ์ลูกแฝด มีกี่ประเภท

การตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือท้องแฝดนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ฝาแฝดเทียม และฝาแฝดแท้

1. ฝาแฝดเทียม (Fraternal Twins)

เกิดจากไข่ 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 ตัว เข้ามาผสมพร้อมกันกับไข่ 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 ตัว แล้วมาอยู่ในท้องเดียวกัน ครรภ์ฝาแฝดเทียมจึงมีลักษณะคล้ายกับครรภ์เดี่ยว แต่มีลูกพร้อมกัน 2 คน ถุงการตั้งครรภ์คนละถุง สายรกคนละสาย แยกอวัยวะทุกส่วนออกจากกันเพราะเป็นคนละคน

 

2. ฝาแฝดแท้ (Identical Twins)

เกิดจากไข่ใบเดียวกัน เกิดจากที่อสุจิผสมกับไข่แล้วแบ่งตัว ทำให้เกิดเป็นแฝดที่มีหน้าตาเหมือนกัน และเพศเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องทางพันธุกรรม

 

ลูกแฝด เกิดจากปัจจัยไหนได้บ้าง

ปกติแล้วมนุษย์เรานั้นจะมีลูกได้เพียงครั้งละ 1 คนเท่านั้น การตั้งครรภ์แฝดหรือท้องแฝดแบบธรรมชาติจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 ใน 300 คน แต่ในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น โดยคุณแม่จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดลูกแฝดได้แก่

  1. เชื้อชาติ มักเกิดท้องแฝดในคนผิวดำสูงกว่าคนผิวขาว ที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณฮอร์โมน เอฟเอสเอช (FSH) ในแต่ละกลุ่มเชื้อชาติ
  2. พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติท้องแฝด
  3. อายุของฝ่ายหญิง คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปี มีโอกาสท้องแฝด เพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพไข่
  4. ประวัติการตั้งครรภ์ก่อนหน้า คุณแม่ที่เคยท้องแฝดมาก่อน
  5. การใช้ยาเพื่อการเจริญพันธุ์ การใช้ยากระตุ้นการกระตุ้นการตกไข่ ทำให้เกิดการตกไข่หลายใบพร้อม ๆ กัน
  6. เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น กระบวนการทำ IVF ทำปฏิสนธินอกร่างกาย แล้วใส่ตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวเข้าไปในมดลูกของแม่

 

ตั้งครรภ์ท้องแฝด เสี่ยงอันตรายมากไหม

การตั้งครรภ์แฝดที่มีลูกในครรภ์มากกว่า 2 คน ต้องระมัดระวัง ดูแลครรภ์มากกว่าปกติ ยิ่งมีลูกในครรภ์มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ก็จะมีมากเท่านั้น การตั้งแฝดจึงมีภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงมากกว่า ครรภ์ปกติทั่วไป เช่น

  • เสี่ยงความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องแฝดจะเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคุณแม่ท้องปกติทั่วไป โดยเฉพาะหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
  • เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด มักพบได้บ่อยในท้องแฝด ท้องแฝดมักจะคลอดก่อนกำหนด มากกว่าท้องทารกคนเดียว
  • เสี่ยงทารกในครรภ์เติบโตช้า คุณแม่ที่ท้องลูกแฝดเกือบครึ่งจะมีภาวะทารกในครรภ์เติบโตช้า น้ำหนักทารกแรกคลอดที่น้อย ต่ำกว่าเกณฑ์
  • ฝาแฝดแท้ที่ใช้รกเดียวกัน อาจเกิดภาวะทารกอีกคนมีเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ ขณะที่ทารกอีกคนมีเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป ซึ่งผลให้ทารกอีกคนซีด ทารกอีกคนมีเลือดเข้ม
  • เสี่ยงภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้ เนื่องจากแม่คุณแม่ท้องมีปริมาณฮอร์โมนจากรกมากกว่าท้องทารกปกติ
  • ตกเลือดหลังคลอด คุณแม่อาจมีอาการตกเลือดหลังคลอด ได้ เนื่องจากมดลูกมีการยืดขยายมาก และเกิดการหดรัดตัวไม่ดีหลังการคลอด
  • ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ มีปัญหาเรื่องซีด ควรได้รับธาตุเหล็กเพิ่ม

 

คุณแม่อยากท้องแฝด ทำยังไงได้บ้าง

 

อยากท้องลูกแฝด ทำยังไงได้บ้าง

แม้ว่าการตั้งครรภ์แฝดในทางการแพทย์ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมดลูกของคุณแม่มีหน้าที่รองรับการตั้งครรภ์ที่มีทารกได้เพียงครั้งละ 1 คน แต่อีกในมุมหนึ่ง ยังมีคู่สมรสหลายคู่ที่อยากมีลูกแฝด หรืออยากมีลูกครั้งเดียวพร้อมกัน 2 คน เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าต้องอุ้มท้องหลายครั้ง จึงศึกษาหาวิธีการในการท้องลูกแฝดโดยวิธีธรรมชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด เช่น

  • อาหารการกิน ผลงานวิจัยของ ดร.แกรี่ ไตน์แมน บอกไว้ว่า การทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม มากกว่าปกติ 5 เท่าจะมีโอกาสได้ท้องลูกแฝดได้มากกว่า
  • เคล็ดลับการมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ ท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์นั้นจะช่วยทำให้ท้องลูกแฝดได้
  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำให้มีโอกาสในการมีลูกแฝด เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In-Vito Fertilization) หรือ การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก IUI (Intra Uterine Insemination) เพื่อเพิ่มโอกาสการท้องลูกแฝด
  • ตั้งครรภ์หลังอายุ 30 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีปลาย ๆ จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่จะมีไข่มากกว่าหนึ่งใบในระหว่างการตกไข่ มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า คุณแม่ที่มีอายุ 35-40 ปี ที่เคยคลอดลูกมาแล้ว มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น

 

ท้องแฝด คลอดธรรมชาติได้ไหม

การคลอดท้องแฝดนั้นมีวิธีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ว่าจะเลือกวิธีไหนในการทำคลอด ซึ่งสูตินรีแพทย์จะคำนึงถึงสุขภาพคุณแม่และสุขภาพทารกท้องแฝด อายุครรภ์ ตำแหน่งของทารกแฝดเป็นหลัก วิธีคลอดของท้องแฝดมี 2 วิธีคือ

1. คลอดโดยวิธีธรรมชาติ

การคลอดธรรมชาติ ไม่เป็นที่นิยมในการคลอดท้องแฝด เพราะหากฝาแฝดแต่ละคนอยู่ในท่าที่ไม่ได้กลับตัวเตรียมพร้อมที่จะคลอด อาจเกิดเหตุฉุกเฉินในระหว่างการคลอดลูกฝาแฝดได้

 

2. คลอดโดยวิธีผ่าตัด หรือผ่าคลอด

การผ่าคลอด สูตินรีแพทย์จะคำนึงถึงสุขภาพคุณแม่ และสุขภาพทารกท้องแฝด อายุครรภ์ ตำแหน่งของทารกแฝดเป็นหลัก เช่น ทารกฝาแฝดอยู่ในท่าผิดปกติคลอดธรรมชาติไม่ได้ , ทารกฝาแฝดอยู่ในถุงน้ำเดียวกัน , ทารกฝาแฝดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต , มีทารกฝาแฝดมากกว่า 2 คน หรือ ปัญหาสุขภาพบางประการของคุณแม่

 

คุณแม่ท้องแฝด ต้องดูแลตัวเองแบบไหน

คุณแม่ที่มีท้องแฝดต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อทารกในท้อง ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานอาหารเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะเน้นแคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก คุณแม่ควรทานอาหารเพื่อให้ได้แคลอรีต่อวัน ให้เพิ่มขึ้นที่ 300 แคลอรี ต่อทารกในครรภ์ 1 คน เพราะต้องใช้สารอาหารมากกว่าครรภ์ปกติ นอกจากการทานอาหารแล้ว การนอนหลับ พักผ่อนที่เพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่ท้องแฝดได้ผ่อนคลาย และลดความเครียดที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ให้ตรงตามนัดทุกครั้ง

 

ท้องแฝด หรือครรภ์แฝด เป็นการตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการตั้งครรภ์ปกติ คุณแม่ท้องแฝดจึงควรระมัดระวัง ดูแลเอาใจใส่ตัวเองให้มากเป็นพิเศษ เพื่อเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่จะตามมา ควรไปพบสูตินรีแพทย์ ตรวจติดตามอาการให้ตรงตามนัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและลูกแฝดในครรภ์

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 


อ้างอิง:

  1. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘ครรภ์แฝด’, โรงพยาบาลพญาไท
  2. การตั้งครรภ์แฝดไม่ง่ายอย่างที่คิด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  3. การตั้งครรภ์แฝด ท้องแฝด (Multiple Pregnancy), MedPark Hospital
  4. ความเสี่ยงของครรภ์แฝด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. การตั้งครรภ์แฝด : Multifetal Pregnancy, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. 4 เคล็ดลับ ใครอยากได้ 'ลูกแฝด' มาทางนี้?, โรงพยาบาลราชสีมา ฮอสพิทอล
  7. เด็กหลอดแก้ว IVF (In-Vito Fertilization), โรงพยาบาลBNH
  8. รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI สามารถมีลูกแฝดได้หรือไม่, โรงพยาบาลนครธน
  9. Tips on How to Conceive Twins, Healthline
  10. การตั้งครรภ์แฝด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินรังนกได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินรังนกได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินรังนกได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินรังนก เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ รังนกดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินส้มตําได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินส้มตําได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินส้มตําได้ไหม คุณแม่ท้องกินส้มตำบ่อย จะอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า ต้องกินแค่ไหนถึงไม่อันตรายกับแม่ท้องและลูกในท้อง กินอย่างไรให้ลดความเสี่ยง ไปดูกัน

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม คุณแม่ท้องกินหมูกระทะบ่อย จะเสี่ยงติดเชื้อและอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า กินอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินอัลมอนด์ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า คุณแม่ท้องอยากกินอัลมอนด์ สามารถกินได้บ่อยแค่ไหน ควรกินเท่าไรถึงพอดีและได้ประโยชน์ ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก