การปฏิสนธิ คืออะไร พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับคนอยากมีลูก

การปฏิสนธิ คืออะไร พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับคนอยากมีลูก

31.03.2024

การตั้งครรภ์แต่ละครั้ง เกิดจากกระบวนการที่อสุจิของเพศชายเข้าผสมกับไข่ของเพศหญิง ในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์คือ “ไข่” ซึ่งในแต่ละเดือนการตกไข่จะเกิดขึ้นเดือนละครั้งเท่านั้น วงจรการตกไข่จะสลับกันไปในแต่ละเดือน รังไข่ 2 ข้างจะทำหน้าที่สลับกันตกไข่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 14 วันของรอบเดือน ไข่ที่ถูกคัดเลือกแล้วจะหลุดออกมาจากถุงรังไข่ รอการปฏิสนธิอยู่บริเวณท่อนำไข่ เรียกว่า “การตกไข่” ดังนั้น หากวางแผนจะตั้งครรภ์มีบุตร ต้องมีการวางแผนให้ดีและมีเพศสัมพันธ์ในช่วงจังหวะที่ไข่ตกจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

headphones

PLAYING: การปฏิสนธิ คืออะไร พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับคนอยากมีลูก

อ่าน 8 นาที

สรุป

  • สำหรับผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ การนับวันตกไข่ มีความสำคัญอย่างมาก แต่ละเดือนจะมีการตกไข่เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งรังไข่จะทำหน้าที่สลับกันไปในการผลิตไข่ในแต่ละเดือน ในทุก ๆ 14 วัน หากไข่ไม่ได้รับการผสมของอสุจิ ผนังมดลูกที่รอรับการฝังตัวจะสลายตัวหลุดลอกออกทางช่องคลอดกลายเป็น “ประจำเดือน”
  • ข้อสังเกตว่านี่คือสัญญาณที่แสดงว่ากำลัง “ไข่ตก” เช่น มีมูกที่ปากมดลูกเพิ่มขึ้น ช่วงไข่ตกจะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณปากมดลูกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอารมณ์ทางเพศมากขึ้น อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเล็กน้อย มีอาการเจ็บคัดเต้านม
  • เมื่อคู่รักมีความพร้อมและวางแผนจะตั้งครรภ์ มีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ การเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจส่งผลให้เพิ่มโอกาสมีลูกตามธรรมชาติ เช่น มีเพศสัมพันธ์ในช่วงไข่ตก ลดความเครียด ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การปฏิสนธิ คืออะไร

การปฏิสนธิ คือ การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อไข่และอสุจิผสมกัน และไข่ที่ได้รับการผสมจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปฝังตัวที่ผนังมดลูก จากนั้นเซลล์ดังกล่าวจะเริ่มแบ่งตัวมากขึ้น ๆ เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน เนื้อเยื่อที่อยู่ด้านนอกจะพัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “รก” ซึ่งเป็นอวัยวะที่จะหล่อเลี้ยงให้ทารกในครรภ์อยู่รอดจนครบกำหนดคลอด

 

รู้จักกระบวนการของการปฏิสนธิ

การปฏิสนธิ คือ กระบวนการที่อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ เมื่อปฏิสนธิแล้วจะเกิดการตั้งครรภ์ การปฏิสนธิมีกระบวนการและขั้นตอน

  • การตกไข่ ผู้หญิงจะมีการตกไข่ สลับข้างกันไปในแต่ละเดือน โดยปกติจะเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่โตเต็มที่ จะยิ่งเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง
  • การเคลื่อนที่ของอสุจิ การปฏิสนธิเริ่มต้นเมื่ออสุจิเข้าสู่ช่องคลอดจะผ่านโพรงมดลูกไปยังท่อนำไข่และปีกมดลูก เมือกบริเวณปากมดลูกจะเป็นแหล่งกักเก็บอสุจิให้อยู่รอดนานขึ้น อสุจิจะเคลื่อนที่ได้เร็วจากปากมดลูกไปยังโพรงมดลูกที่มีความเป็นด่างมากกว่าความเป็นกรด
  • ลักษณะการเคลื่อนที่ของไข่ หลังจากไข่ตก ไข่จะเคลื่อนไปยังท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิภายในเวลา 24 ชั่วโมง หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ไข่จะเคลื่อนไปยังมดลูกและสลายตัวกลายเป็นประจำเดือนต่อไป
  • การพัฒนาเป็นตัวอ่อน หลังจากไข่ตก ไข่จะสามารถปฏิสนธิภายใน 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น หากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิ เกิดการปฏิสนธิจะพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน เมื่อเกิดการปฏิสนธิกับอสุจิแล้วไข่จะฝังตัวที่ผนังมดลูก และสร้างกลไกแปรสภาพไม่ให้อสุจิตัวอื่น ๆ เข้าไปฝังในไข่ได้อีก
  • การฝังตัว หลังจากการปฏิสนธิภายใน 24 ชั่วโมง จะเริ่มมีการแบ่งเซลล์ออกเป็นหลายเซลล์ และเคลื่อนที่ผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูก และฝังตัวที่ผนังมดลูก ในระหว่างนี้อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอดได้

 

ช่วงตกไข่ของผู้หญิง นับแบบไหน

ปกติแล้วผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอจะมีรอบเดือนมาทุก 28 วัน และวันไข่ตกจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 ของทุกรอบเดือน 

วิธีการคำนวณวันไข่ตก

การจดบันทึกวันที่ประจำเดือนมาจะช่วยทำให้การนับวันไข่ตกแม่นยำมากขึ้น การจดบันทึกในวันที่ประจำเดือนมาทุกเดือนเป็นระยะเวลา 8-12 เดือนแล้วนำมาคำนวณหาวันตกไข่  ดังนี้

  • เริ่มต้นหาความยาวของรอบเดือน โดยนับย้อนหลังไปวันแรกที่มีประจำเดือนล่าสุด ถึงวันแรกที่มีประจำเดือนในเดือนที่แล้ว เช่น มีประจำเดือนเดือนล่าสุด คือ วันที่ 8 มีนาคม มีประจำเดือน ในเดือนที่แล้ววันที่ 6 กุมภาพันธ์ เมื่อนับแล้วมีความยาวรอบเดือน 30 วัน
  • หาวันตกไข่ ความยาวรอบเดือน-ระยะที่ตกไข่  เช่น 30 วันถึง14 วัน เท่ากับ วันตกไข่ คือ วันที่ 16 ของความยาวรอบเดือน จากนั้นให้นำวันแรกของการมีประจำเดือนล่าสุด เช่น วันที่ 8 มีนาคม แล้วนับไป 16 วัน ก็จะได้วันไข่ตก คือ วันที่ 23 เมษายน สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันก่อนไข่ตก และหลังวันไข่ตกอีกประมาณ 2 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ไข่ได้รับการปฏิสนธิมากที่สุด

 

อาการของผู้หญิงที่สังเกตได้ในช่วงตกไข่

การตกไข่ของผู้หญิงจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง สัญญาณการตกไข่ สังเกตได้ ดังนี้

  • มูกที่ปากมดลูก เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้เกิดมูกที่ปากมดลูก มูกมีลักษณะคล้ายไข่ขาวดิบ มีลักษณะข้นเหนียว และยืดหยุ่น มูกจะช่วยนำพาให้อสุจิเดินทางเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น
  • อารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น ในช่วงไข่ตก จะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้น รวมถึงการสร้างของเหลวลื่นมากเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ง่ายขึ้น ส่งผลให้ในช่วงที่มีไข่ตกผู้หญิงจะมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้นด้วย
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ในช่วงที่มีการตกไข่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส สามารถวัดอุณหภูมิได้หลังตื่นนอนหากต้องการดูแนวโน้มที่ชัดเจนของวันตกไข่ ควรวัดอย่างน้อย 2-3 เดือน
  • ปากมดลูกเปลี่ยนตำแหน่ง ในช่วงวันตกไข่ จะทำให้ปากมดลูกเปลี่ยนตำแหน่งอยู่สูงขึ้น และมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ
  • คัดเต้านม แต่อาการเจ็บคัดเต้านมไม่อาจบ่งบอกวันไข่ตกได้ชัดเจนแม่นยำ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้
  • การทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการทดสอบผลึกน้ำลายด้วยกล้องจุลทรรศน์ กำลังขยาย 50 เท่า พบว่า ในช่วงวันตกไข่ เมื่อแตะน้ำลายลงบนเลนส์และทิ้งไว้ให้แห้ง หากอยู่ในช่วงวันไข่ตกผลึกน้ำลายจะมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์นอย่างชัดเจน เกิดจากความเข้มข้นของ Electrolytes ในน้ำลายนั่นเอง
  • ปวดท้องน้อยข้างเดียว ในช่วงไข่ตกผู้หญิงบางคนจะมีอาการปวดท้องน้อยข้างเดียว เนื่องจากไข่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อนทารก หากไม่มีการปฏิสนธิหรือไข่ไม่มีการผสมกับอสุจิ ผนังภายในรังไข่จะหลุดลอกออกมาส่งผลให้ปวดท้องน้อยได้

 

มีเพศสัมพันธ์ตอนไหน ช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิมากที่สุด

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตก ภายใน 24 ชั่วโมง มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่สม่ำเสมอ มีเพศสัมพันธ์แบบวันเว้นวัน หรือแบบสองวัน/ครั้ง การมีเพศสัมพันธ์ที่หักโหมจนเกินไป หรือมีเพศสัมพันธ์ทุกวัน ความเหนื่อยและความเครียดมีผลทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง และอสุจิไม่แข็งแรง

 

การปฏิสนธิ คืออะไร

 

อยากมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ให้ทำตามนี้

หากวางแผนมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ควรเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงความเครียด

ความเครียด รวมถึงความวิตกกังวลในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทำให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ ความเครียดส่งผลรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ในเพศหญิงเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ส่วนในเพศชายความเครียดทำให้อสุจิและระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลง

 

2. พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนเพียงพอ ช่วยให้จิตใจแจ่มใส และมีสุขภาพที่แข็งแรง เพิ่มโอกาสการมีลูกตามธรรมชาติได้

 

3. เน้นอาหารที่มีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกตามธรรมชาติ  มีดังนี้

  • ผักใบเขียวเข้ม แครอท อะโวคาโด ธัญพืชที่ขัดสีน้อย ขนมปังไม่ขัดสี ผักโขม ถั่ว ฟักทอง มะเขือเทศ ตับ ไข่แดง มีสารอาหารประเภทโฟเลต และวิตามินบีสูง เร่งการตกไข่ของฝ่ายหญิง และเพิ่มความแข็งแรงให้อสุจิ
  • ธัญพืชต่าง ๆ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก มีส่วนช่วยในการบำรุงมดลูก และการผลิตไข่ที่มีคุณภาพ
  • รับประทานปลา เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน ให้สารอาหารจำพวกโปรตีน วิตามินดี และไขมันต่ำ
  • อาหารที่มีแมงกานีส สังกะสี และเบต้าแคโรทีน เป็นสารอาหารที่ใช้ในการสร้างฮอร์โมน เช่น แครอท แอปริคอต ช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและระดับฮอร์โมนเพศโปรเจสเตอโรน
  • รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกทางเพศ ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ

 

4. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ ลดกาแฟ ลดเครื่องดื่มคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ส่งผลให้ปริมาณอสุจิลดลง และอสุจิไม่มีคุณภาพ ไม่แข็งแรง ฮอร์โมนทำงานไม่ปกติ ในฝ่ายหญิงลดโอกาสการตกไข่ นอกจากนี้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนส่งผลให้มีลูกยากขึ้น

 

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายสม่ำเสมอทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เพิ่มโอกาสการมีลูกแบบธรรมชาติได้

 

6. ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับวิตามินเตรียมตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายสำหรับคนอยากมีลูกแบบธรรมชาติ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเสริมวิตามินที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ตามธรรมชาติได้ วิตามินที่ช่วยเสริมร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อม มีดังนี้

  • กรดโฟลิก เป็นวิตามินที่สำคัญสำหรับผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ มีลูกตามธรรมชาติ ควรรับประทานกรดโฟลิกเฉลี่ยวันละ 400 มิลลิกรัม/วัน ล่วงหน้าประมาณ 1-3 เดือน ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางในช่วงตั้งครรภ์ได้
  • วิตามินซี ป้องกันหวัด และลดภาวะเลือดออกตามไรฟันในช่วงตั้งครรภ์
  • สังกะสี ทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไข่ที่ผลิตออกมาจากรังไข่ เป็นไข่ที่มีคุณภาพ
  • วิตามินบี 6 บรรเทาอาการแพ้ท้อง
  • ธาตุเหล็ก ลดภาวะโลหิตจางสำหรับผู้ที่วางแผนมีลูกตามธรรมชาติ
  • วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่มีบทบาทในการสร้างสารสื่อประสาทในสมอง มีส่วนช่วยเสริมทางด้านความรู้สึกทางเพศ
  • วิตามินบี 3 มีบทบาทช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกายให้ดียิ่งขึ้น

 

การปฏิสนธิจนเกิดการตั้งครรภ์ จะเกิดขึ้นได้ต้องเตรียมความพร้อมก่อนวางแผนมีลูก ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการนับวันไข่ตกเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ การปฏิบัติตนให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดความเครียด ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมีคาเฟอีน ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ รวมถึงการเสริมด้วยวิตามินที่จำเป็น เช่น โฟลิก วิตามินบี สังกะสี ธาตุเหล็ก มีส่วนช่วยให้มีลูกตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 


อ้างอิง:

  1. เพราะการมีอีกหนึ่งชีวิตในร่างกายของเรา...ถือเป็นความมหัศจรรย์, โรงพยาบาลเปาโล
  2. การปฏิสนธิ คืออะไร และมีขั้นตอนอย่างไร, hellokhunmor
  3. วิธีการนับวันตกไข่ สิ่งสำคัญของคุณแม่มือใหม่, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. นับวันไข่ตกอย่างไรไม่ให้พลาด, กรมอนามัย
  5. เทคนิคการมีลูกง่ายด้วยวิธีธรรมชาติ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  6. อยากท้องต้องทำยังไง เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคู่รักที่อยากมีลูก, โรงพยาบาลนครธน
  7. 9 อาหาร(เสริม) คนอยากมีลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไรคนท้องถึงไปงานศพไม่ได้ หากคนท้องไปงานศพจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีความเชื่อว่าคนท้องไม่ควรไปงานศพ ไปทำความเข้าใจพร้อมกัน

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คุณแม่ท้องอารมณ์ขึ้นๆ ลง เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณพ่อมือใหม่มีวิธีรับมือกับอารมณ์คนท้องระยะแรกของคุณแม่ได้อย่างไร ไปดูกัน

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน เกิดจากอะไร คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ ลูกมีโอกาสรอดแค่ไหน อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า พร้อมสัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทําหมันกี่วันหาย คุณแม่ทำหมันทันทีเลยได้ไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้คุณแม่เจ็บน้อยที่สุด พร้อมข้อดีและข้อเสียการทำหมัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก