พัฒนาการ เด็ก 1 ขวบ 2 เดือน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
ในช่วง 3 ปีแรกของลูก เป็นช่วงเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้ลูกอย่างใกล้ชิด พัฒนาการนั้นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเด็ก เพราะเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่าง ๆ ในด้านวุฒิภาวะ และการทำหน้าที่ของอวัยวะร่างกาย ที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเรียนรู้ข้อมูลและสังเกตพัฒนาการของลูก หมั่นเสริมสร้างทักษะรอบด้านต่าง ๆ ให้กับลูก เพื่อเป็นการรับมือในการเลี้ยงดูในแต่ละวัยอย่างเข้าใจ และช่วยให้ลูกเติบโตไปอย่างมีประสิทธิภาพ
PLAYING: พัฒนาการ เด็ก 1 ขวบ 2 เดือน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
สรุป
- การสังเกตพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัยอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี หากพบว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูกไม่เป็นไปตามวัย ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อปรึกษาหาแนวทางส่งเสริมพัฒนาการ หรือเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากมีปัญหาทางสุขภาพใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างรวดเร็ว
- พัฒนาการของเด็กวัย 1 ขวบ 2 เดือน ส่วนใหญ่จะสามารถยืนด้วยตัวเองได้แล้ว และสามารถเริ่มเดินก้าวเท้าได้ 2-3 ก้าว ลุก และนั่งได้เองโดยไม่ต้องช่วย สามารถหยิบจับสิ่งของขึ้นมา หรือปล่อยสิ่งของออกจากมือเองได้ เรียกพ่อแม่ได้ พูดคำที่มีความหมายพยางค์เดียวได้ ใช้ช้อนตักอาหาร ดื่มน้ำเอง ตอบสนองต่อคำขอร้องง่าย ๆ ของพ่อแม่ ทำท่าชี้บอกความต้องการตัวเอง ใช้ภาษากายขั้นพื้นฐานได้
- คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยง สามารถช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการของลูก ช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผ่านการเล่น หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- พัฒนาการของเด็กในแต่ละคนอาจมีความช้าหรือเร็วแตกต่างกัน พ่อแม่ ผู้เลี้ยง ผู้ช่วยสามารถฝึกพัฒนาการทักษะต่าง ๆ ให้กับลูก ควรชวนลูกทำกิจกรรม ฝึกทักษะ ฝึกพัฒนาการด้วยความสนุก ไม่ควรกดดัน หรือบังคับลูก หมั่นชื่นชม ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกทำกิจกรรมนั้นด้วยตัวเองได้สำเร็จ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทำไมคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจพัฒนาการของลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ในแต่ละด้าน
- เด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ควรหนักเท่าไหร่
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ลูกทำอะไรเองได้บ้าง
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน แบบไหนที่เรียกว่าพัฒนาการช้าเกินไป
- ลูกมีพัฒนาการช้า ควรปรึกษาแพทย์ไหม
- กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน
ทำไมคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจพัฒนาการของลูก
พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย เป็นขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่าง ๆ ในด้านวุฒิภาวะ และการทำหน้าที่ของอวัยวะร่างกายของตัวบุคคล ที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย ทำให้ทำสิ่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านการสื่อสาร ด้านอารมณ์ เพื่อที่เด็กจะสามารถปรับตัวนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ สังเกตพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน และดูแลสุขภาพลูกในแต่ละช่วงวัยอย่างสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการของลูก ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการการเรียนรู้ในทุกด้านได้ดีขึ้น และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่าพัฒนาการของลูกนั้นไม่เป็นไปตามวัย หรือมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด จะได้หาแนวทางในการกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างถูกวิธี
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ในแต่ละด้าน
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
เด็กวัย 1 ขวบ 2 เดือน มีทักษะทางด้านร่างกายที่ดีขึ้น มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เดินเองได้ จูงมือเดินได้ สามารถยืนได้ด้วยตัวเองนาน 10 วินาที ยันตัวให้ลุกขึ้น หรือนั่งเองได้โดยไม่ต้องช่วย ดื่มน้ำจากถ้วยได้ ใช้ช้อนตักอาหารเอง แม้จะหกเลอะบ้างก็ตาม และสามารถใช้มือจับของลงในช่อง วางของซ้อนกันได้ 2 ชิ้น
พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
รู้จักชื่ออวัยวะต่าง ๆ ของใบหน้า และสามารถบอกได้ 1-3 ชื่อ ทำท่าเลียนแบบท่าทาง การเคลื่อนไหวของพ่อแม่ หรือคนเลี้ยง หยิบเอาวัตถุมาชนกัน ฟัง ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ สามารถแยกแยะ ใช้แก้วน้ำ สิ่งของได้ถูกต้อง หาของที่ซ่อนไว้เจอ มองไปที่สิ่งของหรือวัตถุที่คนเลี้ยงบอกชื่อได้อย่างถูกต้อง
พัฒนาการทางด้านการสื่อสาร
พูดคำที่มีความหมายพยางค์เดียวได้ ใช้ท่าทางเพื่อชี้บอกความต้องการได้ ใช้ภาษากายขั้นพื้นฐานได้ พูดทวนคำพูดที่พ่อแม่พูด ตอบสนองต่อคำขอร้องง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้
พัฒนาการทางด้านอารมณ์
เด็กจะติดพ่อแม่ คนเลี้ยง ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ คนเลี้ยงออกห่างจากตัว หรือเมื่อออกจากบ้าน รู้สึกอายคนแปลกหน้า เมื่อต้องการอยากให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังจะยื่นหนังสือให้ เมื่อแต่งตัวให้ก็จะรู้จักกางแขน ยกขา มีของเล่นชิ้นโปรดของตัวเอง ส่งเสียงซ้ำ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่หรือคนเลี้ยง เด็กจะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น ความกังวลและความกลัวชัดเจนขึ้น ตกใจกับเสียงเครื่องปั่นอาหาร เครื่องซักผ้า หรือเสียงแปลก ๆ
เด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ควรหนักเท่าไหร่
รายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO) เด็กวัย 1 ขวบ 2 เดือน เด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 10 กิโลกรัม ความสูงเฉลี่ย 78 เซนติเมตร และเด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 9 กิโลกรัม ความสูงเฉลี่ย 76 เซนติเมตร
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน ลูกทำอะไรเองได้บ้าง
พัฒนาการของเด็ก 1 ขวบ วัยนี้ส่วนใหญ่จะสามารถยืนด้วยตัวเองได้แล้ว เริ่มเดินก้าวเท้าได้ 2-3 ก้าว และในเด็กบางคนอาจจะยังต้องจูงมือเดิน เด็กบางคนเริ่มคลานขึ้นบันได จับปีนป่าย หรือเริ่มวิ่งเองได้แล้ว ขยับตัว ลุกขึ้นเอง นั่งเองโดยไม่ต้องช่วย เรียกคำพยางค์เดียวที่มีความหมาย เรียกพ่อแม่ได้ รู้จักชื่ออวัยวะต่าง ๆ ของใบหน้า และสามารถบอกได้ 1-3 ชื่อ ใช้ช้อนตักอาหาร ดื่มน้ำเอง ชี้ และแสดงท่าทางเพื่อบอกความต้องการได้ ใช้ภาษากายขั้นพื้นฐานได้ ตอบสนองต่อคำขอร้องง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้ สามารถหยิบจับสิ่งของขึ้นมา หรือปล่อยสิ่งของออกจากมือเองได้
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน แบบไหนที่เรียกว่าพัฒนาการช้าเกินไป
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือนของลูกให้ดี หากมีลักษณะหรืออาการต่อไปนี้ ควรรีบพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อตรวจติดตามอาการในด้านพัฒนาการต่อไป
- ลูกเคยทำบางอย่างได้ แล้วทำไม่ได้
- ลูกคลานเองหรือยืนเองไม่ได้
- ลูกไม่ชี้มือ
- ลูกไม่หาสิ่งของที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงเอาไปซ่อน
- ลูกไม่พูดคำง่าย ๆ พยางค์ง่าย ๆ
- ลูกไม่ใช้ภาษา ท่าทาง เช่น การโบกมือบ๊ายบาย หรือส่ายหน้าเพื่อปฏิเสธ
ลูกมีพัฒนาการช้า ควรปรึกษาแพทย์ไหม
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกในทุกช่วงวัยอย่างใกล้ชิด และหมั่นสังเกต ตรวจเช็กพัฒนาการลูกให้ดี หากพบว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูกไม่เป็นไปตามวัย อย่าชะล่าใจ ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อปรึกษาหาแนวทางส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากมีปัญหาทางสุขภาพใด ๆ จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน
1. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย
กระตุ้นให้ลูกได้เล่นของเล่นแบบลากดึง จนลูกสามารถลากของเล่นไปเล่นได้ด้วยตัวเอง ลองให้ลูกได้ตักอาหารรับประทานเอง ถามลูก เพื่อให้ลูกชี้ตอบส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และปล่อยให้ลูกได้เดิน ยืน ขยับตัวด้วยตัวเอง
2. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา
คุณพ่อคุณแม่ใช้ดินสอสี สีเมจิก หรือสีเทียนแท่งใหญ่ ขีดเขียนเป็นเส้นลงบนกระดาษให้ลูกดู แล้วค่อย ๆ จับมือลูกให้ลองจับสีแล้วขีด ๆ เขียน ๆ เริ่มจากลากเป็นเส้นไปมา จนลูกลากเส้นด้วยตัวเองได้
3. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสื่อสาร
ใช้ของเล่นหรือสิ่งของที่ลูกคุ้นเคย รู้จัก เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หยิบให้ลูกดู แล้วถามว่า “นี่อะไรเอ่ย” แล้วรอให้ลูกตอบด้วยตัวเอง หรือฝึกให้ลูกทำตามคำของ่าย ๆ ให้มองไปที่หน้าลูก แล้วถามลูกว่า “ช่วยหยิบตุ๊กตาพี่หมีให้แม่ได้ไหมคะ” เมื่อลูกทำได้ และหยิบของมาถูกต้อง ให้ชื่นชม ให้กำลังใจลูก หากลูกทำไม่ได้ ให้จับมือลูกแล้วไปหยิบของสิ่งนั้นมา
4. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์
ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้โดยการเล่นสมมุติ เช่น การแปรงฟัน เริ่มด้วยการจับมือลูกให้แปรงฟันก่อน แล้วปล่อยให้ลูกฝึกหยิบจับแปรง แล้วแปรงฟันด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้
กิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกทำด้วยความสนุก ผ่อนคลาย ไม่ควรกดดัน ทำน้ำเสียงเข้มดุ หรือบังคับเจ้าตัวเล็ก และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ คอยชื่นชม ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกทำกิจกรรมนั้นได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกต ดูแล เอาใจใส่พัฒนาการของลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยตรวจเช็กพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือนของลูกว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า ไปหรือเปล่า ลูกจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ หากพบว่าพัฒนาการของลูกผิดปกติ ไม่เป็นไปตามวัย หรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกายนั้นเกิดขึ้น ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา และหาแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างถูกวิธี
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- PlayBrain ยิ่งเล่น สมองยิ่งแล่น โปรแกรมฝึกฝนทักษะ EF พัฒนาสมองลูกน้อย
- โปรแกรม Baby Development เข้าใจพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย เพื่อการเตรียมพร้อมของคุณแม่
อ้างอิง:
- พัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงวัย (เด็กแรกเกิด - 6 ปี), โรงพยาบาลสมิติเวช
- พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
- ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- 3 ปีแรก จังหวะทองของการพัฒนาการ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ลูกพูดช้า แก้ได้, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- CHECKLIST ลูกคุณมีพัฒนาการสมวัยหรือเปล่า, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 1 ปี, UNICEF Thailand
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 2 เดือน, Hellokhunmor
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิง ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2567
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ
โภชนาการลูก วัย 2 - 3 ขวบ เด็กวัยนี้ต้องกินอะไรให้ฉลาดและแข็งแรง
หนึ่งในหลายปัญหาที่พ่อแม่ต้องเผชิญเมื่อลูกรักเข้าสู่วัย 2 – 3 ปี คือ ปัญหาด้านโภชนาการ เด็กวัยนี้เริ่มมีความเป็นตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร จึงค่อนข้างเลือกกิน และกินยาก ทำเอาพ่อแม่ต่างเป็นกังวลว่า ลูกจะกลายเป็นเด็กตัวเล็ก รูปร่างแคระแกร็น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาด้อยกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน