เช็กพัฒนาการการเรียนรู้ ทารกวัย 4-6 เดือน
หนูน้อยในวัย 4 เดือนขึ้นไป เริ่มมีพัฒนาการที่รุดหน้ากว่าช่วง 3 เดือนแรกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเด็ก ๆ จะทำอะไรบ้างนั้น เรามาเช็กพัฒนาการ และเสริมสร้างการเรียนรู้ของลูกน้อย ในวัย 4 – 6 เดือน กันต่อเลยค่ะ
พัฒนาการทารกวัย 4 เดือน
พัฒนาการตามเกณฑ์
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: ตั้งศีรษะตรงและนิ่ง และใช้แขนยันตัวพ้นพื้นได้ในเวลาสั้นๆ
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: มองตามสิ่งของที่เคลื่อนผ่านกลางลำตัวได้ในมุม 180 องศาได้
- การเข้าใจภาษา: ตอบสนองด้วยการมอง หรือส่งเสียงตอบเมื่อถูกเรียกได้
- การใช้ภาษา: ส่งเสียงในลำคอเพื่อแสดงความต้องการได้
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: ยิ้มทักคนใกล้ชิดทันทีที่เห็นหน้า
พัฒนาการอาจล่าช้า
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: ตั้งศีรษะนิ่ง ๆ ไม่ได้ และไม่สามารถใช้แขนดันตัวพ้นพื้นได้
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: มองตามสิ่งของได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
- การเข้าใจภาษา: เมื่อถูกเรียก ไม่สามารถตอบโต้ด้วยการมองกลับหรือส่งเสียงได้
- การใช้ภาษา: ไม่สามารถส่งเสียงใด ๆ ได้
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: จำหน้าคนใกล้ชิดไม่ได้
แนะนำให้ปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ หากคุณแม่สงสัยเรื่องพัฒนาการของลูก
วิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 4 เดือน
- เขย่าของเล่นที่มีเสียง ห่างจากตัวลูก 1 – 2 ไม้บรรทัด เพื่อกระตุ้นให้ลูกหันมองตาม
- ใช้นิ้วมือของคุณแม่สัมผัสเบา ๆ ตามใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ท้อง และเอว
- กระตุ้นให้ลูกยิ้มทักทายคนใกล้ชิด ด้วยการพานั่งใกล้ ๆ แล้วพูดชวนให้ลูกยิ้มให้ คุณพ่อ คุณตา คุณยาย
พัฒนาการทารกวัย 5 เดือน
พัฒนาการตามเกณฑ์
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: พลิกตัวจากท่านอนหงาย แล้วเหยียดแขนตรงยันตัวพ้นพื้นได้
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: เอื้อมมือคว้าวัตถุใกล้ตัวในท่านอนได้
- การเข้าใจภาษา: หันมองไปยังต้นเสียงที่เรียกได้
- การใช้ภาษา: เลียนแบบเสียงของผู้ใหญ่เป็นคำสั้น ๆ ได้ เช่น บา วา อา เป็นต้น
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: สนใจผู้คนรอบตัว และจ้องมองสิ่งของในมือของคนที่อยู่ใกล้ ๆ ได้
พัฒนาการอาจล่าช้า
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: ไม่สามารถยกศีรษะตั้งได้ 45 องศา หรือยกค้างไว้ได้สั้นกว่า 3 วินาที
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: นอนหงายและมองตามสิ่งของได้แค่กลางลำตัว
- การเข้าใจภาษา: มองหน้าคู่สนทนาได้น้อยกว่า 5 วินาที
- การใช้ภาษา: ไม่สามารถทำเสียงในลำคอได้
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับเมื่อมีคนยิ้มหรือทักทาย
แนะนำให้ปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ หากคุณแม่สงสัยเรื่องพัฒนาการของลูก
วิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 5 เดือน
- ฝึกให้ลูกลองนั่ง ด้วยการนำหมอนนิ่ม ๆ มาหนุนตัวและหลังไว้
- พูดคุยกับลูกด้วยคำสั้น ๆ ง่าย ๆ เพื่อให้ลูกจดจำ เป็นคลังคำในอนาคต
- เปิดเพลงให้ฟังบ่อย ๆ เพื่อปูพื้นฐานด้านภาษาและผ่อนคลายความเครียด
พัฒนาการทารกวัย 6 เดือน
พัฒนาการตามเกณฑ์
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: ยันตัวอยู่ในท่านั่งได้ด้วยตนเอง
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: เอื้อมมือคว้าวัตถุใกล้ตัวในท่านั่งได้
- การเข้าใจภาษา: เริ่มรู้ชื่อตัวเอง และหันตามเมื่อถูกเรียกชื่อ
- การใช้ภาษา: รู้จักแสดงออกเมื่อชอบใจหรือปฏิเสธ ด้วยการแสดงท่าทาง
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: สนใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
พัฒนาการอาจล่าช้า
- พัฒนาการการเคลื่อนไหว: ไม่สามารถนั่งได้ด้วยตัวเอง
- การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: ไม่สามารถคว้าจับสิ่งของใกล้ตัวในท่านั่งได้
- การเข้าใจภาษา: ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อ
- การใช้ภาษา: ไม่สามารถแสดงออกด้วยท่าทางได้
- การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: ไม่สนใจเหตุการณ์รอบตัว
แนะนำให้ปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ หากคุณแม่สงสัยเรื่องพัฒนาการของลูก
วิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 6 เดือน
- วางของเล่นสีสดไว้ไกลตัว เพื่อกระตุ้นให้ลูกขยับ และเอื้อมคว้าจับให้ได้
- ชวนลูกพูดคุยด้วยภาษาง่าย ๆ ที่สามารถเลียนเสียงได้
- อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษา
- ค่อย ๆ เปลี่ยนอาหารที่เหมาะสมกับวัย เช่น ผักบด ข้าวบด หรือผลไม้บด
ลูกรักจะสามารถเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน.. ขึ้นอยู่กับการทุ่มเท และเอาใส่ใจของพ่อแม่ หากครอบครัวให้ความสำคัญกับการกระตุ้พัฒนาการ ลูกน้อยเป็นประจำทุกวัน เด็ก ๆ ก็จะมีพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน คุณแม่สามารถเสริมอาหารบำรุงสมองให้ลูกน้อย เพื่อให้ลูกเติบโตได้อย่างแข็งแรง เพราะ #ทุกการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่เริ่มได้ใน1000วันแรกของชีวิต
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ